[review] รีวิว Stepford Wives (2004) เมืองนี้มีแต่ยอดภรรยา



[ review ] รีวิว Stepford Wives (2004) เมืองนี้มีแต่ยอดภรรยา หนังแนวเสียดสีสังคม และอุดมคติของเพศชาย ได้อย่างเจ็บแสบ มีแนวคิดที่ดีและการนำเสนอที่น่าสนใจ ที่สำคัญนิโคล คิดแมนสวยมาก

The Stepford Wives ดัดแปลงมาจากหนังสือในชื่อเดียวกันเขียนโดย Ira Levin ออกวางจำหน่ายในปี

1972 และเคยสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว

ผมได้มีโอกาสชมหนังในเวอร์ชั่นที่ออกฉายในปี 2004 นี้ เมื่อดูหนังจบก็รู้สึกแระทับใจรีบหาหนังสือมาอ่าน ขอบอกไว้ก่อนว่าหากใครยังไม่สัมผัสหนังเรื่องนี้ แนะนำให้ดูหนังก่อนแล้วค่อยไปอ่านหนังสือ การดำเนินเรื่องราวนั้นจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ปรัชญาของเรื่องก็ยังพูดในประเด็นเดียวกัน จะมีต่างกันบ้างก็ตรงที่เนื้อหาส่วนย่อยและตอนจบของเรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าหากคุณอ่านหนังสือไปก่อนชมภาพยนตร์อาจจะทำให้ผิดหวังกับภาพยนตร์บ้างเล็กน้อย แต่ผมโชคดีที่ผมดูหนังก่อนแล้วค่อยไปอ่านหนังสือจึงทำให้รู้สึกไม่ค่อยผิดหวังอะไรมากมายนะ

Stepford Wives ว่าด้วยเรื่องราวของ โจแอนน่า เอเบอร์ฮาร์ต (นิโคล คิดแมน) ญิงสาวที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในด้านอาชีพการงานโดยเฉพาะการทำงานโทรทัศน์ แต่ด้วยการทำงานที่ผิดพลาด เธอจึงถูกให้ออกจากสถานีโทรทัศน์ วอลเตอร์ (แมททิว บรอเดริก)สามีของเธอจึงตัดสินใจลาออกจากงานที่ทำ พาเธอและลูก ๆ ย้ายบ้านไปอยู่ในเมืองเล็กๆที่ห่างไกลชื่อว่า Stepfoed

Stepford คือชุมชนหนึ่งที่มีแต่ความสวยงามและความสมบูรณ์แบบ เพียบพร้อมไปด้วยบรรยากาศที่สวยงาม สิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ปลอดอาชญากรรม ปลอดยาเสพติด ทุกคนในชุมชนใช้ชีวิตอย่างสวยหรู ทุกคนที่อยู่ในชุมชนก็มีแต่คนหน้าตาดีแต่งตัวดีๆ ใช้ชีวิตแบบดี ๆ มีสีสัน เรียกว่าไม่มีจุดบกพร่องใด ๆ เลย ทุกอย่างนั้นเป็นไปตามทัศนคติของผู้ชายคาดหวัง เปรียบเสมือนได้เข้าไปในความคิดของผู้ชาย เพื่อรับรู้ว่าพวกเขานั้นต้องการอะไร และแน่นอนที่สุดสิ่งที่ผู้ชายต้องการมากที่สุดคือภรรยาที่มีความเพียบพร้อม ความสวยงาม การดูแลเอาใจใส่ การบริการชั้นเลิศ ในด้านชีวิตความเป็นอยู่รวมถึงเซ็กส์

วอเตอร์ สามีโจแอนน่า ได้เข้าร่วมกับสมาคมชายของ Stepfoed เขารู้สึกว่าภรรยาของสมาชิกแต่ละคนนั้นล้วนแต่มีความสมบูรณ์แบบ และเมื่อเขาได้เข้าร่วมกิจกรรมกับของเมืองมากขึ้นเท่าไหร่เขาก็รู้สึกว่า โจแอนน่า ไม่ได้เป็นเหมือนภรรยาของผู้คนในชุมชนนี้เลย เขาทะเลาะกับภรรยาของตัวเองและในที่สุดเขาตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้ภรรยาของเขามีความสมบูรณ์แบบเป็นไปตามแบบฉบับของภรรยาในอุดมคติที่ Stepfoed ต้องการให้จะเป็นและสิ่งที่จะเปลี่ยนไปคืออะไรนั่นคือความลับของชุมชนนี้ที่คนดูต้องค้นหาด้วยตนเอง

ขยายความความต้องการผู้ช่ายตามอุดมคติที่หนังต้องการเล่าเช่น ผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบต้องทำอาหารได้ ทำงานบ้านเรียบร้อย ดูแลเด็กได้ เป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดี ต้องสวย ต้องดูดีตลอดเวลา ต้องไม่จู้จี้ ไม่ขี้บ่นไม่ขี้วีน ไม่ขี้โวยวาย สามารถปฏิบัติสามีอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง โดยเฉพาะในเรื่องเซ็กส์ ซึ่งผู้หญิงจะต้องตอบสนองได้อย่างดีที่สุด และที่สำคัญมากที่สุดคือผู้ชายต้องสามารถควบคุมผู้หญิงได้ราวกับกดรีโมท ซึ่งในหนังทำให้เราเห็นความต้องการของผู้ชายในลักษณะเช่นนี้ไว้หลายจุด เช่นในฉากสโมสรของผู้ชายที่มีการบังคับหุ่นยนต์แข่งกัน ทั้งนี้เพราะ ผู้ชายไม่ชอบผู้หญิงเก่ง ทำงานเก่ง เรียนเก่ง หน้าที่การงานดีกว่า ผู้ชายมีศักดิ์ศรีไม่อยากเป็นสายลมใต้ปีก ไม่อยากเป็นช้างเท้าหลัง

ในขณะเดียวกัน แม้ผู้หญิงบางคนจะพยายามพัฒนาปรับปรุงตัวเองให้กลายเป็นผู้หญิงที่ดีตามทัศนคติของผู้ชาย และตามลักษณะของเมือง Stepford ที่มี แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วก็ยังมีบางสิ่งที่บกพร่องไม่มีความสมบูรณ์แบบอย่างเต็มที่และความไม่สมบูรณ์แบบเพียงน้อยนิดนั้น ก็ทำให้ผู้ชายผิดหวังได้

หนังเสียสีจิกกัดแนวคิดและทัศนคติเหล่านี้ได้เก่ง สะท้อนออกมาเป็นภาพได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือหมาตัวหนึ่งในครอบครัวซึ่งเป็นหมาที่น่ารัก แต่หนังก็เลือกที่จะทำให้เป็นหมาแบบหุ่นยนต์

ข้อดีอย่างหนึ่งที่เราจะได้รับจากหนังเรื่องนี้คือแนวคิดในการ การจัดระเบียบโลก ให้ออกมาในด้านบวกแบบสุดโต่ง สังคมโลกที่มีแต่ความสวยงามความพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและสวัสดิการที่ดี ผู้คนมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ไม่มีสิ่งใดเป็นภาพลบเลย ซึ่งแน่นอนว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นไม่อาจทำได้

หนังเรื่องนี้ยังได้สอนให้เราได้รู้จักข้อดีของการไม่สมบูรณ์แบบของชีวิตคู่ เพราะความไม่สมบูรณ์แบบทำให้ชีวิตคู่เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การปรับตัวการปรับนิสัยเข้าหากัน ไม่มีชีวิตคู่ไหนที่มีความสมบูรณ์แบบ เพราะความสมบูรณ์แบบทำให้ความรักนั้นไม่ยืดยาวอย่างแท้จริงนั้นเอง

ชอบบรรยากาศของหนัง ที่ทีมสร้างและผู้ออกแบบได้ใส่กลิ่นอายของยุค 50s ถึงยุค 70s ลงไป รวมถึงการออกแบบ เสื้อผ้าหน้าผมของนักแสดงการออกแบบอุปกรณ์ประกอบฉากการออกแบบบรรยากาศของสถานที่ มันเป็นการย้อนกลับไปในช่วงที่ว่าเพศหญิง ยังไม่ได้มีบทบาทสิทธิหน้าที่เหมือนในโลกของปัจจุบัน เป็นการสะท้อนว่าเพศหญิงยังอยู่ในกรอบของประเพณีการเป็นแม่บ้านแม่เรือนไม่ใช่ผู้หญิงที่มีความเก่งกาจและมีความเป็นผู้นำสูงในโลกแห่งปัจจุบันอย่างนี้

หนังมีความสะดวกดูเพื่อ ดูเพลิดเพลินสบายหูสบายตา มีการใช้สีสันที่สวยงามสดใส มีเพลงประกอบที่ดีเข้ากับบรรยากาศของหนัง มีการวางเนื้อเรื่องชวนสงสัย แต่ก็ไม่ได้เข้มข้นจนเกินไปนักเพราะหนังไม่ได้ต้องการจะนำเสนอถึงการค้นหาคำตอบ มากไปกว่าหัวใจของเรื่องคือ การนำเสนอขั้วตรงกันข้ามระหว่างความสมบูรณ์แบบและความไม่สมบูรณ์แบบมากกว่า

นิโคล คิดแมน เธอสวยมาก หุ่นดีมาก และการแสดงก็ดีมากเช่นกัน

โดยส่วนตัวผมแล้ว หากจะมีจุดที่ไม่ชอบอยู่บ้างตรงที่หนังเรื่องจะให้มีจุดจบเช่นนี้ หากมีจุดจบที่สอดคล้องและเป็นไปตามแนวทางที่หนังต้องการเสนอผมเชื่อว่ามันจะยังค้างคาอยู่ในใจ และทำให้ประทับใจมากกว่านี้

กล่าวโดยสรุป Stepford Wives คือภาพยนตร์ที่มีสีสันจิกกัดสังคมอเมริกัน จิกกัดแนวความคิดของเพศชาย แต่ก็ตบท้ายด้วยสัจธรรมของชีวิตที่ว่า "สิ่งที่สมบูรณ์แบบที่สุดคือความไม่สมบูรณ์แบบนั่นเอง"

8/10

วาทิน ศานติ์ สันติ

#MovieStation #สถานีหนัง

#หนังแนวลึกลับซับซ้อน #หนังปรัชญา

#หนังจิกกัดสังคม #หนังเสียดสีสังคม

หมายเลขบันทึก: 661056เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2019 20:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 เมษายน 2019 20:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท