อย.จับมือเอกชนถก “ลดเค็ม” นำร่องอาหารกลุ่มเสี่ยง 4 ชนิด


"เราไม่ได้ห้ามให้เลิกทานเค็ม แต่ต้องรู้จักเฉลี่ยการบริโภคเกลือหรือโซเดียมต่อมื้อให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมของแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานอาหารจากร้านปรุงสด ซึ่งในส่วนนี้จะต้องรณรงค์ขอความร่วมมือไปยังร้านค้าให้ช่วยลดความเค็มลงด้วย"

อย.จับมือผู้ประกอบการหนุนขับเคลื่อนมาตรการรณรงค์ลดบริโภคเกลือและโซเดียมในอาหารสำเร็จรูป หลังพบเกือบ 30% ของการตายในประเทศไทยมาจากการกินเค็ม ตั้งเป้าให้คนไทยกินเค็มลดลงร้อยละ 30 ภายในปี 2030

                                                ขอบคุณที่มาภาพประกอบ :  http://healthierlogo.com/ลดเค็ม/

ในการประชุมชี้แจงหารือเพื่อจัดทำเป้าหมายเชิงสมัครใจในการลดปริมาณโซเดียมในอาหารสำเร็จรูป ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับองค์การอนามัยโลก สสส. และเครือข่ายลดบริโภคเค็ม โดยมีภาคเอกชน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป รวมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมเสนอแนะและรับฟังข้อคิดเห็น

นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ประเทศไทยมีการบริโภคเกลือสูงเกือบสองเท่าขององค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ 5 กรัมหรือ  1 ช้อนชาต่อวัน และจากการรับประทานอาหารที่มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน เกลือ หรือโซเดียม มากเกินกว่าปริมาณที่กำหนดในแต่ละวัน ส่งผลให้คนไทยป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และเป็นสาเหตุการตายเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับเครือข่ายลดการบริโภคเกลือ สสส. และองค์การอนามัยโลก จึงร่วมกันผลักดันการลดการบริโภคเกลือหรือโซเดียม ตามกรอบยุทธศาสตร์นโยบายลดเกลือและโซเดียมของประเทศไทย ปี พ.ศ.2559-2568 โดยมาตรการแรก คือ ขอความร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารในการลดปริมาณเกลือหรือโซเดียมลง เพื่อให้ปลอดภัยต่อสุขภาพของคนไทย มุ่งเน้นอาหารกลุ่มเสี่ยง 4 ชนิด ได้แก่ ขนมขบเคี้ยว อาหารกึ่งสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส อาหารแช่เย็นและแช่เข็ง โดยเฉพาะอาหารกลุ่มสำเร็จรูป บะหมี่และก๋วยเตี๋ยวสำเร็จรูป รวมทั้งกลุ่มผลิตภันฑ์โจ๊กข้าวต้มสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูปยอดฮิตของคนไทย ซึ่งมีโซเดียมอยู่ในปริมาณที่สูงมากเมื่อเทียบต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

ส่วนมาตรการทางด้านฉลากอาหาร ทาง อย. ได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการอาหารที่สามารถลดหวาน มัน เค็ม ติดฉลาก “ทางเลือกสุขภาพ” บนบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่า อาหารดังกล่าวนั้นอยู่ในเกณฑ์ไม่เป็นอันตรายและเหมาะกับสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจำนวน 633 ผลิตภัณฑ์ หากมาตรการต่างๆ ที่ออกมาแล้วยังไม่ได้ผล ภายใน 2-3 ปี ก็ต้องมาพิจารณาว่าควรจะออกกฎหมายมาบังคับใช้ได้หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องของภาษีเกลือและโซเดียม เหมือนอย่างประเทศทางยุโรปที่สามารถนำมาใช้ได้แล้ว

“อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้คนไทยลดการบริโภคเกลือและโซเดียมให้ประสบผลสำเร็จนั้น จำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภคได้รับรู้ตระหนักถึงอันตรายของการบริโภคเกลือและโซเดียมมากเกินไปและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในที่สุด อาจจะเริ่มตั้งแต่การสอนในรั้วโรงเรียน ซึ่งเป็นแนวทางทางที่เรากำลังบูรณาการร่วมกันกับกระทรวงศึกษาธิการ เพราะถือเป็นยุทธศาสตร์ของชาติเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกที่ต้องการลดการบริโภคโซเดียมในอาหารลงร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ.2030”รองเลขาธิการ อย. กล่าว

ด้าน ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายลดบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ได้มีนโยบายในการปรับลดค่าปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมในการบริโภคจากเดิม 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน เป็น 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน เพื่อลดสาเหตุการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

"เราไม่ได้ห้ามให้เลิกทานเค็ม แต่ต้องรู้จักเฉลี่ยการบริโภคเกลือหรือโซเดียมต่อมื้อให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมของแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานอาหารจากร้านปรุงสด ซึ่งในส่วนนี้จะต้องรณรงค์ขอความร่วมมือไปยังร้านค้าให้ช่วยลดความเค็มลงด้วย" ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าว

หมายเลขบันทึก: 660858เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2019 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2019 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท