ชีวิตที่พอเพียง 3401. วิชาการว่าด้วยความรับผิดรับชอบ (accountability)


บ่ายวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ในการประชุมวิชาการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล (PMAC 2019) ผมฟัง Prof. Katie Dain นำเสนอเรื่อง A New Era of Accountability โดยเน้นที่ความรับผิดรับชอบในการควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD)  ด้วยความตื่นตาตื่นใจว่าฝรั่งเขามีการริเริ่มวิจัยได้ทุกโจทย์    รวมทั้งเรื่อง accountability   ทำให้มีการนำเสนอแนวคิด และมิติใหม่ๆ ว่าด้วยความรับผิดรับชอบ    ซึ่งในวงการการเมือง และวงการราชการ ที่เป็นกิจการสาธารณะ ของไทย มีความอ่อนแอมาก   เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร   

ท่านบอกว่า หลักการ accountability มีการสร้างขึ้นมาเพื่อกดดันรัฐบาล และองค์การระหว่างประเทศให้ไม่เพียงพูดหรือประกาศหลักการ ต้องดำเนินการให้เกิดผลด้วย    ผมชอบจริงๆ ที่มีการทำงานวิชาการเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นเครื่องมือกดดันรัฐบาล    อยากให้มหาวิทยาลัยหรือวงการวิชาการไทยทำอย่างนี้กันมากๆ    ที่มีอยู่ยังน้อยเกินไป

ผมขอเติมว่า เมื่อนักวิชาการทำงานวิชาการเพื่อเสนอประเด็นเชิงนโยบายเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ได้ผลการวิจัยชัดเจนน่าเชื่อถือแล้ว ต้องร่วมมือกับนักขับเคลื่อนสังคม    นำไปบอกประชาชน    ให้ประชาชนไปกดดันผู้มีอำนาจรัฐ    ตามทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ของ อ. หมอประเวศ      

นิยามของ accountability โปรดดูภาพที่ ๒   หมายถึง ข้อผูกมัดผู้มีอำนาจ ให้รับผิดชอบต่อการกระทำของตน    โปรดสังเกตนะครับว่า ในนิยามนี้ความหมายมันสวนทางกับที่เราเข้าใจกันในสังคมไทย     ในความหมายนี้ สังคมโดยรวมผูกมัดผู้มีอำนาจ    แต่ในความหมายของสังคมไทย ผู้มีอำนาจผูกมัดผู้อยู่ใต้อำนาจ  

Prof. Dain นิยาม ผู้มีอำนาจ ว่าหมายถึง ผู้มีอำนาจทางการเมือง ทางการเงิน หรืออำนาจด้านอื่นๆ    รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ของบริษัทธุรกิจ  ขององค์การการเงินระหว่างประเทศ  รวมทั้งขององค์กรภาคประชาสังคม  

ในมุมมองนี้ accountability เป็นมากกว่าการตรวจสอบ    คือเป็นเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ (ภาพที่ ๓)    เป็นเรื่องอำนาจปกครองสูงสุดของประเทศ  ที่ไม่ใช่แค่รับผิดรับชอบโดยรัฐบาลเท่านั้น  ต้องรวมภาคธุรกิจเอกชน  เอ็นจีโอ และอื่นๆ (ผมขอเติมภาคประชาชน) ด้วย   

เป็นกลไกให้มั่นใจว่า นโยบาย  การตัดสินใจ โครงการ ที่กำหนดโดยเจ้าหน้าที่สาธารณะ มีการนำไปปฏิบัติให้เกิดผลต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง   

เป็นกลไกให้ประชาชนมีเสียงต่อการกำหนดนโยบาย  กำหนดบริการ หรือการลงทุน

เป็นเรื่องของการทำให้เห็นว่ากิจกรรมหรือการลงทุน นำไปสู่ผลที่เป็นรูปธรรม    และมีผลดีในระยะยาว   

เป็นเรื่องที่ผู้นำทางการเมือง และผู้นำองค์กร มีความกล้าหาญที่จะรับฟัง และเรียนรู้จากความผิดพลาด    และดำเนินการเพื่อไม่ให้ผิดซ้ำ    และในทางตรงกันข้าม หากประสบความสำเร็จก็เฉลิมฉลอง และนำวิธีการไปใช้พัฒนาต่อเนื่อง  

เป็นเรื่องที่เลยจากการกาเครื่องหมายลงในช่องดัชนีชี้วัดว่าดำเนินการแล้ว (หรือยังไม่ได้ทำ) ไปสู่การเปลี่ยนแปลงพลวัตทางอำนาจและความไม่เสมอภาค ที่ทอดทิ้งคนจำนวนมากไว้ข้างหลัง   

เป็นวงจร monitor – review – remedies and action – monitor วนเวียนไม่รู้จบระหว่างสองวงจรคือ วงจรโลก (หรือภูมิภาค) กับวงจรประเทศ โปรดทราบว่า ในการประชุมนั้นเป็นเรื่อง Global Health ด้าน Political Economy of NCD    วงจร accountability จึงมีสองวงเชื่อมกันดังกล่าว (ดูรูปที่ ๔)

Key Success Factors ของ accountability อยู่ในรูปที่ ๕   (ซึ่งในกรณีนี้ เสนอในบริบทของ ความรับผิดรับชอบของรัฐบาล ในการควบคุมและป้องกันโรค NCD)   ได้แก่  (๑) ภาวะผู้นำ และความเป็นเจ้าของเป้าหมายในระดับชาติ  (๒) ขีดความสามารถในระดับประเทศในการติดตาม ทบทวน และประเมิน  (๓) การรายงานต้องไม่เป็นภาระเกินไป  (๔) กระบวนการของ accountability เป็นกระบวนการอิสระ แยกออกจากรายงานที่เป็นทางการ  (๕) เป็นกระบวนการที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วม (inclusive)  รวมทั้งภาคประชาสังคม  (๖) มีแรงหนุนทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในวงกว้าง 

ย้ำอีกที กระบวนการรับผิดรับชอบในที่นี้ เน้นที่การตาวจสอบกดดันผู้มีอำนาจ    ในการทำตามข้อตกลง หรือตามกติกา เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์ส่วนรวม    เพื่อลด know – do gap

วิจารณ์ พานิช

๖ มี.ค. ๖๒

1

2

3

4

5

หมายเลขบันทึก: 660848เขียนเมื่อ 2 เมษายน 2019 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 เมษายน 2019 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Do we need ‘transparency’ and ‘freedom of information’ laws to make ‘accountability’ work?

Corruption is easy without these ‘criminal’ transparency, freedom of information and accountability laws (with strong penalties and righteous legal mechanisms).

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท