คมคำสอนของเล่าจื้อ


นักการทหารนิยมอ่านสามก๊ก
นักการเมืองโกหกชอบศรีธนญชัย
นักธุรกิจสมัยใหม่อาศัยกูเกิ้ล
คนจีนเจริญมาก่อนเก่าเพราะเล่าจื๊อ

ศาสดาแห่งลัทธิเต๋า ชื่อ เล่าจื๊อ 
มีชีวิตร่วมสมัยกับขงจื๊อเมื่อ 2,600 ปีที่แล้ว 
ประวัติเท่าที่รู้น้อยมาก 
เคยดูแลห้องสมุดเมืองลั่วหยาง 
เมืองหลวงของราชวงศ์โจว

คำสอนอันเลื่องชื่อของเขาอยู่ในหนังสือชื่อ วิถีแห่งเต๋า
การปกครอง... เล่าจื๊อวางหลักไว้ว่า...
การปกครองชาติใหญ่เหมือนการต้มปลาตัวเล็ก 
ไม่ควรคนบ่อย เพราะปลาจะแหลก

การปกครองที่ดีที่สุด ประชาชนไม่รู้ว่าถูกปกครอง
การปกครองรองลงมา คือการปกครองที่ประชาชนสรรเสริญ
การปกครองลำดับที่สาม คือการปกครองที่ประชาชนหวาดกลัว
การปกครองที่แย่ที่สุด คือการปกครองที่ประชาชนรังเกียจ
ภาษีที่มากเกินไป ทำให้ประชาชนอดอยาก 
กฎและข้อบังคับมากเกินไป ทำให้ปกครองประเทศไม่ได้

ยิ่งมีข้อห้ามประชาชนยิ่งยากจน 
ยิ่งสร้างสิ่งใหม่ ประชาชนจะยิ่งโลภ
ยิ่งออกกฎหมาย ยิ่งมีขโมย

เล่าจื๊อสอนต่อว่า นักปกครองที่ฉลาด 
ยอมรับทั้งคนดีและคนเลว 
ดังนั้น ทุกคนจึงกลายเป็นคนดี 
ไว้ใจทั้งคนซื่อสัตย์และคนไม่ซื่อสัตย์ 
ดังนั้น ทุกคนจึงกลายเป็นคนซื่อสัตย์

นักปกครองที่ฉลาด ไม่เคยสิ้นหวังจากคนโง่ 
เพราะรู้วิธีให้การศึกษาแก่คนเหล่านั้น

ไม่มีสิ่งใดไร้ประโยชน์ 
เพราะรู้วิธีหาประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น

เมื่อชาติใหญ่ถ่อมตน จะชนะใจชาติเล็ก 
เมื่อชาติเล็กถ่อมตน จะได้รับการโอบอุ้มจากชาติใหญ่

ชาติใหญ่ควรถ่อมตนมากขึ้น 
ชาติเล็กถ่อมตนรักษาตัวได้ดีที่สุด
ชาติใหญ่ถ่อมตนจะชนะใจโลกทั้งโลก

เล่าจื๊อ ไม่เพียงสอนให้รู้จักเป็นผู้ชนะ 
ยังสอนให้รู้จักวิชาที่ยากยิ่งกว่า นั่นคือ วิชาของ "ผู้แพ้"

คำพูดจริงใจไม่ไพเราะ คำพูดไพเราะอาจไม่จริงใจ

ผู้ที่รู้ไม่พูดมาก ผู้ที่พูดมากไม่รู้ โลกไม่โต้เถียงกับผู้ที่ไม่โต้เถียง

จิตใจที่สงบและอดทน เป็นพื้นฐานแห่งชีวิตที่เป็นสุข

จงหยุดดีกว่าเติมน้ำจนล้นถ้วย
จงอย่าภูมิใจจนเกินไป มิฉะนั้นจะไม่มีสิ่งใดให้ภูมิใจ
จงอย่าแหลมคมจนเกินไป มิฉะนั้นจะเสียคม

บ้านเมืองที่เต็มไปด้วยทองคำ ยากจะปลอดภัย
บุคคลที่โอ้อวดความมั่งคั่ง เป็นผู้เชื้อเชิญหายนะให้มาเยือน

ชื่อเสียงกับชีวิต สิ่งใดมีค่าต่อท่านมากกว่ากัน
สุขภาพ หรือสมบัติ สิ่งไหนสำคัญต่อท่านมากกว่า
หากท่านรักชื่อเสียงมากเกินไป ท่านจะต้องจ่ายในราคาแพง
หากท่านครอบครองสมบัติมากเกินไป 
ท่านจะสูญเสียอย่างหนักในวันหนึ่ง
หากท่านไม่รู้ว่าจะหยุดตรงไหน ท่านจะประสบอันตราย

เล่าจื๊อทิ้งท้ายในคำสอนบทนี้ว่า 
หากรู้จักพอ ถอนตัวในเวลาเหมาะสม 
ท่านจะมีชีวิตอยู่ยาวนาน นี่คือ วิถีแห่งสวรรค์

คำสอนนี้ สอนเมื่อ 2,600 ปีที่แล้ว 
น่าอัศจรรย์ ถึงวันนี้...ก็ยังเป็นคำสอนที่ทันสมัย

ขอบคุณเจ้าของบทความมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ (ขออภัยที่ไม่ทราบนาม)
ขอบคุณภาพประกอบจาก www.neutron.rmutphysics.com

หมายเลขบันทึก: 660628เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2019 21:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2019 21:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท