การพัฒนาคุณภาพภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้


ศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้

สรุปการแก้ปัญหาคุณภาพภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้

      ​จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสภาพสังคมและวัฒนธรรม อัตลักษณ์และวิถีชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีบริบทที่มีความแตกต่างๆจากภูมิภาคอื่นๆของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ภาษามาลายูท้องถิ่นในชีวิตประจำวัน ทำให้การใช้ภาษาไทยทั้งการพูด การอ่าน การเขียนและการฟัง รวมไปถึงการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารระหว่างกัน อันเป็นอุปสรรคในการดำเนินการกิจกรรมในสังคม ชุมชน ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของสถานศึกษาทุกสังกัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทยในพื้นที่

     ​ในปี 2561 กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดตั้ง ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.)เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่บูรณาการเชื่อมโยงโครงการ แผนงาน งบประมาณ รวมทั้งการปฏิบัติงานของหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นเอกภาพมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมทั้งได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทย ขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทยในพื้นที่ ตลอดจนเร่งรัดคุณภาพการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยทั้งในโรงเรียนของรัฐ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามให้มีคุณภาพ โดยบูรณาการกับสถานศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การศึกษานอกโรงเรียนและมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้(พ.ศ.2561-2580)​

     ภายใต้แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้(พ.ศ.2561-2580)ได้จัดทำแผนระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ซึ่งในห้วงที่ผ่านมาสามารถแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยในพื้นที่ไปแล้ว ดังนี้

1.)ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยขึ้น ในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด/อำเภอใน  5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน กำกับและติดตามประเมินผลการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาของรัฐ เอกชน และประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

    2.) ได้มีการประกวด Best Practice วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย ระดับชั้นปฐมวัย ระดับประถมศึกษา และด้านการจัดนิทรรศการ มีผู้มาเยี่ยมชม จำนวน 3,000คน พร้อมกับจัดพิมพ์เอกสารผลงานนวัตกรรม เผยแพร่ไปยังสถานศึกษาและสาธารณชน จากการประเมินผลโรงเรียนได้นำองค์ความรู้ไปต่อยอดในชั้นเรียนเกิดนวัตกรรมด้านภาษาไทยในพื้นที่​

    3.) ได้ดำเนินการประกวดการเขียนเรียงความนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเป็นระยะๆทุกเดือน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งด้านลายมือ ความรักชาติ และการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารที่ถูกต้องในโรงเรียนของรัฐ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และโรงเรียน ตำรวจตระเวนชายแดน มีการพัฒนาการใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้อย่างถูกต้อง

    4.) ในปีการศึกษา 2561 ได้มีการสอบวัดความรู้ภาษาไทยทั้ง 4 ด้าน ของนักเรียนชั้น ป.1-3ทุกโรงเรียน ( นักเรียน 130,167 คน)จำนวน 4 ครั้ง เพื่อตรวจสอบความรู้พื้นฐานและเป็นแนวทางให้ครูไปซ่อมเสริมให้ตรงกับทักษะที่ต้องปรับปรุง ซึ่งผลการสอบในแต่ละครั้งพบว่า อัตราเฉลี่ยของนักเรียนที่อยู่ในระดับปรับปรุงลดลงตามลำดับ ดังนี้​

    สอบครั้งที่ 1มีนักเรียนระดับปรับปรุง เฉลี่ยร้อยละ 13.98​

    สอบครั้งที่ 2 มีนักเรียนระดับปรับปรุง เฉลี่ยร้อยละ 12.27​

    สอบครั้งที่ 3 มีนักเรียนระดับปรับปรุง เฉลี่ยร้อยละ 11.88​

    สอบครั้งที่ 4  มีนักเรียนระดับปรับปรุง เฉลี่ยร้อยละ 10.23 

          จากค่าเฉลี่ยดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ของการแก้ปัญหาและการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างชัดเจน จากค่าเฉลี่ยที่ลดลงดังกล่าว จึงทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าในปีการศึกษา 2562 จะไม่มีนักเรียนระดับปรับปรุงในพื้นที่ ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ (เดิมกำหนดเป้าหมายไว้ในปีการศึกษา 2564)

    5.) ในปีการศึกษา 2561มีการพัฒนาครูผู้สอนภาษาไทย จำนวน 3,000 คนในปีการศึกษา 2561 จากครูที่มีข้อมูลนักเรียนในโรงเรียนที่มีผลการสอบชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3  อยู่ในระดับปรับปรุงเน้นการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย แบบแจกลูกสะกดคำ และการสอนแบบ Active learning โดยยึดหลัก “สอนเต็มที่ เต็มเวลา เต็มความสามารถ” และศาสตร์พระราชา

    6.) จัดตั้งคณะนิเทศอาสา จำนวน 290 คน โดยพิจารณาจากผู้บริหารและครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อลงไปนิเทศ ติดตามและ ให้คำปรึกษาแก่ครูภาษาไทยในพื้นที่​

    7.) พัฒนาห้องสมุดที่มีอยู่แล้ว ให้เป็น”ห้องสมุดคุณภาพ” โดยมีเป้าหมายใน ปี ๒๕๖๔ โรงเรียนสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม การศึกษาเอกชนและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกโรงจะต้องมีห้องสมุดคุณภาพ มีหนังสือประจำห้องสมุด ส่งเสริมการอ่าน ค้นคว้า โดยในปี 2561 มีโรงเรียนที่ได้รับโล่รางวัลและเกียรติบัตรว่าเป็นโรงเรียนที่มีห้องสมุดคุณภาพไปแล้ว จำนวน 140 โรง

         จากผลการดำเนินงานการพัฒนาคุณภาพภาษาไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานพบว่า การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย ได้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาโดยลำดับ อันเป็นผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาสังคม ชุมชน ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ผู้บริหารการศึกษาทุกระดับ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง และครูผู้สอนภาษาไทยทุกสังกัด โดยมีการระดมทรัพยากรในพัฒนาร่วมกัน อย่างมีเป้าหมายที่ระบุไว้ชัดเจน ผู้บริหารระดับสูงได้ติดตามการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ และให้ความสำคัญเป็นพิเศษในการพัฒนาคุณภาพในพื้นที่แบบบูรณาการ ดังจะเห็นได้จากการสอบวัดทักษะความรู้ภาษาไทยปีการศึกษา 2561 ที่ปรากฏผลว่าอัตราเฉลี่ยของนักเรียนที่มีการพัฒนาทักษะความรู้ภาษาไทยในแต่ละด้านเพิ่มขึ้นและอัตราเฉลี่ยของนักเรียนที่มีทักษะความรู้ภาษาไทยในระดับปรับปรุงลดลงอย่างเห็นได้ชัด การดำเนินงานผ่านกิจกรรมชั้นเรียนและห้องสมุดที่มีคุณภาพ มีแหล่งเรียนรู้ที่ดีทีสุดในโรงเรียน ครูได้รับการพัฒนาตามแนวทางการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ผ่านกระบวนการ PLC และกิจกรรม BBL ส่งผลให้ครู นักเรียน สถานศึกษา ชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการใช้ภาษาไทยได้ดีมีคุณภาพตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เกิดนวัตกรรมทางการศึกษาในพื้นที่ สอดรับกับการกำหนดให้ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และจังหวัดสตูล เป็นเขตพื้นที่นวัตกรรม นับเป็นความก้าวหน้าด้านการพัฒนาภาษาไทย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สำคัญยิ่ง ส่งผลต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและชุมชน อันนำไปสู่การดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมด้วยความรู้รัก สามัคคีและก่อให้เกิดสันติสุขอย่างยั่งยืน​

    หมายเลขบันทึก: 660603เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2019 17:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2019 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (0)

    ไม่มีความเห็น

    ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท