ชีวิตที่พอเพียง 3392. Systems Redesign ของระบบการศึกษาบุคลากรสุขภาพ และระบบบริการสุขภาพ



สาระจากการประชุมกลุ่มสามพรานเช้าวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒   นำมาสู่บันทึกนี้    โดยที่มีตัวอย่าง redesign การทำงานของโรงพยาบาลน้ำพอง  และโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เป็นตัวอย่างของ District Health System Redesign   เชื่อมโยงกับนวัตกรรมการสร้างพยาบาลชุมชนกลับมาทำงานในอำเภอ   

นพ. วิชัย อัศวภาคย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลน้ำพอง เสนอ การขับเคลื่อนการปฏิรูปโรงพยาบาลชุมชนของชุมชนเพื่อชุมชน  จับประเด็น การทำงานด้วยยุทธศาสตร์สร้างนำซ่อม และทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายในพื้นที่    มีการพัฒนาเจ้าหน้าที่ในรูปแบบใหม่ๆ และจ้างงานในรูปแบบใหม่ๆ    มีการระดมทุนในพื้นที่เพื่อสุขภาพของคนในชุมชน    ทั้งหมดนั้นเน้นสร้างระบบ PPP (Public, Private, People) ร่วมกันทำงานและระดมทรัพยากร    ไม่รอทรัพยากรจากภาครัฐเท่านั้น และมีระบบ governance ในอำเภอ ที่เป็น PPP      ในเรื่องบุคลากร เสนอ ผลิต “นักบริบาลชุมชน” หลักสูตร ๖ เดือน   สำหรับทำงาน ๑ คนต่อหนึ่งหมู่บ้าน    โดยมีระบบให้ทุนเรียน และทำงานในช่วงแรก   ผลิตนักกายภาพบำบัด/แพทย์แผนไทย ทำงานและมีรายได้และความมั่นคงในชีวิตในรูปแบบใหม่ๆ     เป็นต้น

นพ. อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูรผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์  เสนอ ปฏิรูปประเทศ  ปฏิรูประบบสุขภาพ  ปฏิรูปโรงพยาบาลชุมชน  มีมุมมองที่กว้างและครอบคลุมไปถึงการทำมาหากิน และการสร้างสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน     ขยายจากภาพที่เสนอโดย นพ. วิชัย     

ในที่ประชุม มี นพ. สมชาย ธรรมสารโสภณผู้อำนวยการ สบช. (สถาบันพระบรมราชชนก) มาร่วมด้วย    โดยที่ สบช. กำลังอยู่ระหว่างร่างกฎหมาย ยกฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข    ผมจึงมองว่า เป็นโอกาสที่ สบช. ในภพภูมิใหม่จะได้ทำหน้าที่ redesign ระบบการศึกษาของบุคลากรสุขภาพในส่วนที่สถาบันรับผิดชอบ    ให้สถาบันการศึกษาในสังกัดมี engagement กับระบบบริการสุขภาพใกล้ชิดยิ่งขึ้น    ร่วมกันทำ systems redesign ทั้งของระบบบริการ และของระบบการศึกษา ไปพร้อมๆ กัน  หรือให้เกิด synergy กัน    

น่ายินดีที่การริเริ่มสร้างสรรค์พัฒนาระบบสุขภาพระดับอำเภอมีหลากหลายวง  เช่น DHS/DHML, เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนร่วมผลิตบัณฑิตแพทย์ ()  ()  เป็นต้น

ในที่ประชุมมี ศ. พญ. วณิชา ชื่นกองแก้วและทีมงาน ศสช.อยู่ด้วย    เพื่อร่วมมือกับโรงพยาบาลชุมชนในเครือข่าย  สบช.  และวงการนักพัฒนาระบบของสุขภาพของประเทศ ขับเคลื่อน systems redesign ตามแนวทาง HPER ต่อไป     

จะเห็นว่า ประเทศไทยมีหน่ออ่อนของการริเริ่มสร้างสรรค์สังคม  ที่ดำเนินการจากฐานของระบบสุขภาพอยู่มาก    รอโอกาสที่จะได้ขยายสู่ systems redesign ต่อไป    

ข้อน่าสนใจสำหรับผมคือ วงเสวนากลุ่มสามพราน เป็นวงสำหรับนักปฏิบัติที่มีจินตนาการเพื่อสังคม มานำเสนอว่าตนทำอะไรไปแล้วบ้าง    อยากทำอะไรต่อบ้าง    เพื่อหาภาคี ทรัพยากร และ/หรือกติกา สนับสนุน    รวมทั้งได้รับการตีความเชิงระบบ เชิงทฤษฎี เพื่อให้นักปฏิบัติมีความมั่นใจ และนำไปตีความคิดสร้างสรรค์ต่อเนื่อง   

ศ. นพ. ประเวศ วะสี บอกที่ประชุมว่า กำลังจะเกิด “วงสวนสามพราน” ของพระ    ซึ่งหมายถึงวงเสวนาพระสงฆ์เพื่อสังคม

วิจารณ์ พานิช

๙ ก.พ. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 660602เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2019 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2019 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

This is truly a good news of social development.

(And a good break from fabricated news on Election62 ;-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท