คำนิยม หนังสือ น้องอยากรู้ HR อยากบอก



คำนิยม

หนังสือ น้องอยากรู้  HR อยากบอก

ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช

...................

           หนังสือ น้องอยากรู้  HR อยากบอก เล่มนี้ เป็นเสมือนคู่มือว่าด้วยการสมัครงาน เพื่อหางานทำ สำหรับคนสมัยใหม่   เน้นที่คนเพิ่งเรียนจบ  หรือคนที่ต้องการเปลี่ยนงาน    ให้คำแนะนำที่ละเอียดประณีตมาก    โดยเขียนจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน   

               ผมเป็นคนที่ไม่มีประสบการณ์ชีวิตในการหางานหรือสมัครงาน    แต่มีประสบการณ์มากมายในการคัดเลือกหรือสอบคัดเลือกคนเข้าทำงาน ในฐานะผู้บริหาร    ขอแสดงความชื่นชมว่า หนังสือเล่มนี้ มีประโยชน์ทั้งต่อผู้หางาน  และต่อผู้มีหน้าที่หาคนมาทำงาน    โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน

               ผู้หางานต้องการได้งานที่ดี ที่ตนเองถนัดและชอบ    จึงควรหาทางแนะนำตัวเองให้ชัดเจนและตรงกับตัวตนของตนเองให้มากที่สุด   ทั้งในเอกสาร และในตอนสัมภาษณ์    คุณวิรงรอง พานิช เขียนแนะนำรายละเอียด ลงไปถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำจากตัวอย่างเรื่องจริงที่อ่านแล้วนึกไม่ถึงว่าคนที่ไปสัมภาษณ์สมัครงานจะปฏิบัติตัวเช่นนั้น   

               เป้าหมายของการหางานคือ เพื่อให้ได้งานที่ใช่สำหรับเรา    คำแนะนำสำคัญคือ ต้องนำเสนอตัวเองให้ตรงกับความเป็นจริง    ไม่ “แต่งหน้าทาปาก” มากเกินไป    ยิ่ง “สวมหน้ากาก” ยิ่งต้องไม่ทำ    เพราะจะเป็นผลร้ายสองต่อ    ผลร้ายอย่างแรกคือ ไม่ได้งาน    เพราะทีมคัดเลือกจับได้หรือรู้ทัน    ผลร้ายอย่างที่สองคือได้งานแล้วไม่ผ่านการทดลองงาน   เพราะเราหลอกเขาได้ตอนคัดเลือก   แต่หลอกไม่ได้ตอนทำงานจริง    ที่จริงอาจมีผลร้ายประการที่สาม คือได้งาน แต่เมื่อทำแล้วเกิดความทุกข์  เพราะได้งานที่ไม่เหมาะกับตนเอง  

              นอกจากนำเสนอตัวเองต่อ HR  และทีมคัดเลือกแล้ว    สิ่งที่อาจสำคัญยิ่งกว่าคือการ “ถามใจตนเอง” ให้แน่ใจว่าตนเองอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร   มีความสุขและสนุกกับการทำงานแบบไหน    ควรลองจินตนาการว่าหากได้เข้าไปทำงานนั้น อีก ๕ ปี, ๑๐ ปี, ๒๐ ปี ชีวิตการงานของตนเองจะเป็นอย่างไร   ตรงกับเป้าหมายชีวิตของตนหรือไม่    แล้วนำไปเป็นคำถามในการสนทนากับผู้สัมภาษณ์ หากผู้สัมภาษณ์เปิดโอกาสให้ถาม   

             ผู้สมัครงานที่ถามผู้สัมภาษณ์ว่า หากทำงานนั้นมีเส้นทางก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างไรบ้าง    และต้องขวนขวายอดทนขยันขันแข็งอย่างไรบ้าง จึงจะบรรลุความก้าวหน้าในระดับดีมาก    น่าจะสร้างความประทับใจให้แก่ผู้สัมภาษณ์มากทีเดียว 

              การสมัครงานจึงมีคุณค่าไม่เพียงที่การได้งาน    แต่เป็นขั้นตอนเพื่อการบรรลุเป้าหมายชีวิต    ผู้ที่มีเป้าหมายชีวิตชัดเจนแน่วแน่    การสมัครงานจะง่ายหรือสะดวกขึ้น    และโอกาสประสบความสำเร็จในการสมัครงานจะมากกว่าคนที่ชีวิตเลื่อนลอย ไร้เป้าหมาย    

              คุณวิรงรอง ยังแนะนำว่า ผู้สมัครงานต้องศึกษางานที่จะสมัครให้เข้าใจถ่องแท้   ว่าเขาต้องการคนแบบไหน    ผมมองว่าเป้าหมายสำคัญที่สุดคือ เพื่อจะได้ไม่หลงไปสมัครงานที่ “ไม่ใช่” สำหรับเรา    แต่คำแนะนำที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ    ให้เตรียมตัวไว้ได้เลยว่า  เมื่อได้งาน จะพบสภาพที่งานบางอย่างหรือบางชิ้นที่ได้รับมอบหมาย ไม่ใช่งานที่เราชอบ   แต่ก็ต้องทำ    นี่คือสภาพชีวิตจริงของการทำงาน   ที่นอกจากต้องใช้ความสามารถแล้ว  ยังต้องมีความอดทน และมีการเรียนรู้ด้วย

             หากมีโอกาส  ผมแนะนำให้ผู้สมัครงานหาข้อมูลว่าหากได้ทำงานนั้น ตนจะต้องเกี่ยวข้องกับงานข้างเคียงอะไรบ้าง   ที่จะต้องรับงานส่งต่องานกัน   เพื่อจะได้เตรียมตัวสร้างความรู้ความเข้าใจงานข้างเคียงเหล่านั้นด้วย    เพื่อประโยชน์ในการสร้างความสัมพันธ์ในฐานะทีมงาน  ที่จะนำไปสู่ชีวิตการทำงานที่มีความสุขและความสำเร็จ    เป็นส่วนหนึ่งของ happy workplace และ happy work life    

             เป้าหมายแท้จริงของการหางาน ไม่ใช่แค่ได้งานทำ    แต่ต้องเพื่อได้งานที่เมื่อทำแล้ว นำไปสู่ชีวิตการทำงานที่มีความสุขและความสำเร็จ                         

            ผมขออวยพรให้หลานๆ ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้    ประสบความสำเร็จในการหางาน และในชีวิตการทำงาน

วิจารณ์ พานิช

๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒

วันแห่งความรัก


หมายเลขบันทึก: 660601เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2019 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2019 17:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท