๙๐๐. ทักษะชีวิต..ทักษะอาชีพ


ส่วนทักษะอาชีพ..ช่วยปลูกฝังให้รักงานและภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่น นักเรียนจะรู้จักช่องทางทำมาหากิน ไม่เห่อเหิม ฟุ้งเฟ้อ..แต่กลับเพิ่มความขยันหมั่นเพียร ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

        ผมไม่รู้ว่าชีวิตจะยืนยาวไปได้นานสักแค่ไหน แต่ถ้าชีวิตราชการ หากว่าสุขภาพร่างกายยังแข็งแรงอยู่อย่างนี้..ผมจะอยู่ไปได้อีก ๔ ปี เพื่อรอวันเกษียณ..

    การรอของผมเต็มไปด้วยความสุข เพราะผมจะสนุกกับการทำงาน ทำอย่างสบายใจ แบบที่ไม่ต้องมีเงื่อนไขว่าจะต้องได้ดีเด่นดัง แต่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในตัวนักเรียน..

        โรงเรียนต้องมีพัฒนาการเกิดขึ้นเป็นลำดับ รองรับการเจริญเติบโตในด้านการศึกษา จากความคิดเชิงบวกของผม..ทำให้มีความเชื่อว่า..

        ถึงเวลาต้องหยิบยื่นสองสิ่งนี้ให้นักเรียน นั่นก็คือ..ทักษะอาชีพและทักษะชีวิต เพราะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน..จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งปลูกฝัง..

        เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้เพื่อต่อยอด เมื่อเข้าเรียนมัธยมหรือไปต่อในระดับอาชีวะศึกษา..

        นั่นหมายถึงทั้งสองอย่างสมควรต้องฝึกปฏิบัติไปพร้อมๆกัน ทักษะชีวิตถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ทักษะอาชีพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ..

        การเรียนการสอนจึงต้องเน้นอย่างจริงจัง งานวิชาการยังคงเป็นงานหลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจจะไม่ได้หวังผลเลิศเลอ แต่ก็ไม่ละเลยเรื่องการส่งเสริมให้นักเรียนรักการอ่าน..เพราะการอ่าน..จะช่วยให้นักเรียนแก้ปัญหาและพัฒนาตนเองตลอดชีวิต..

        การอ่าน..จะช่วยส่งเสริมกระบวนการคิดให้นักเรียนมีชีวิตที่หลากหลาย เข้าใจตนเอง มองตนออกและบอกตนเองได้ว่า..จะเดินไปในทิศทางใด..

        ส่วนทักษะอาชีพ..ช่วยปลูกฝังให้รักงานและภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่น นักเรียนจะรู้จักช่องทางทำมาหากิน ไม่เห่อเหิม ฟุ้งเฟ้อ..แต่กลับเพิ่มความขยันหมั่นเพียร ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

        ผมให้นักเรียนเข้าใจและเข้าถึงกระบวนการทอผ้ามาตลอดสัปดาห์ ขอบคุณกรรมการสถานศึกษาที่มาช่วยถ่ายทอดความรู้ ด้วยวัสดุอุปกรณ์ทอผ้าแบบดั้งเดิม ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่านักเรียนจะตระหนัก ถึงความอดทนและความเพียร..กว่าจะเป็นผ้าทอสัก ๑ ผืน

        การนวดแผนไทยก็เช่นเดียวกัน เป็นงานที่สำคัญที่สามารถสร้างรายได้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป..ผมหวังเพียงให้นักเรียนนำทักษะที่ได้ไปนวดให้ผู้ปกครอง เพื่อตอบโจทย์ “ความกตัญญูกตเวที” แล้วต่อจากนี้ไป นักเรียนจะเรียนเสริมเป็นอาชีพ ก็แล้วแต่โอกาสและความสนใจของนักเรียนเอง..

        ผมพานักเรียนไปเก็บผักตบชวา..เพื่อมาเลี้ยงปลาและไก่ อย่างน้อยก็ช่วยประหยัดค่าอาหาร นำผักตบมาทำปุ๋ยและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของสระน้ำโรงเรียน ทักษะการทำงานแบบนี้ นักเรียนจะจดจำนำไปใช้ได้มากกว่าการเรียนรู้จากตำรา..

        นักเรียนช่วยกันปลูกตะไคร้ เอาไว้เปิดเทอมใหม่ ครูจะต้มน้ำตะไคร้ใบเตย ให้นักเรียนดื่มแทนน้ำอัดลม ปลูกตะไคร้ที่ริมสระ จะช่วยให้ดูแลง่ายและเป็นไปได้ว่าจะงอกงามดี

        ผมพอมีเวลาจึงพานักเรียนถีบจักรยานไปบนท้องถนนของหมู่บ้าน แวะเก็บขยะที่ถูกทิ้งรายเรียงอยู่สองฟากถนน การนำนักเรียนออกไปทำงาน ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าวเช่นนี้ ก็เพื่อฝึกให้เขาอดทนและเสียสละ

        เมื่อนักเรียนเติบโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ในชุมชน เขาจะเข้าใจในบทบาทของการเป็น “ผู้ให้” โรงเรียนจึงควรปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ โดยดำเนินการผ่านกิจกรรม และสร้างให้เกิดงานที่มี “คุณค่า” มากกว่าการใช้เวลาอยู่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว..

        ดังนั้น..โรงเรียนจะต้องมีกิจกรรมที่หลากหลาย ภายใต้แนวคิดที่ว่า..ทักษะอาชีพและทักษะชีวิต..เรียนรู้ควบคู่กันได้ เพื่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันทั้งปัจจุบันและอนาคต...

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๘  มีนาคม  ๒๕๖๒

หมายเลขบันทึก: 660336เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2019 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2019 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผอ.ดีๆ มีอุดมการณ์ ต้องอยู่นานๆ นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท