วิ่งสร้าง(สุข)ภาพ.........พิชิตฟูลมาราธอน 42.195 กิโลเมตร (ตอนที่ 2)


ผมเท้าความเรื่องราวของการวิ่ง ต้นสายปลายเหตุและเรื่องราวของวิ่งสร้าง(สุข)ภาพไว้ในบันทึก 660162 >>> https://www.gotoknow.org/posts/660162   แต่ยังไม่ได้กล่าวถึงการพิชิตฟูลมาราธอน 42.195 กิโลเมตร อย่างที่ตั้งชื่อบันทึก

ผมวิ่งแบบออกกำลังกายมาโดยตลอด ไม่เคยคิดจะสมัครวิ่งในรายการใด ๆ เลย  จำได้ว่าตอนรับปริญญาตรี น้อง ๆ สายรหัสจะซื้อของขวัญให้ หลายคนได้ทองได้ของใช้ ผมบอกน้องรหัสว่าเอาชุดกีฬากับรองเท้าวิ่งก็ได้ครับ... สายรหัสผมจึงซื้อเสื้อ กางเกงและรองเท้าวิ่งให้ผมไว้ใช้  จึงน่าจะเป็นตัวชี้วัดหนึ่งว่าผมวิ่งอยู่ประจำ... ยังมีกัลยาณมิตรหลายท่านที่เจอกันบนเส้นทางวิ่งบ่อยครั้ง จนค่อย ๆ หายไปทีละท่าน ด้วยวัยและด้วยงาน หลายท่านเกษียณไปบนเส้นทางชีวิต

ผมเป็นกรรมการจัดงานขอนแก่นมาราธอนนานาชาติมาหลายปี ไม่เคยคิดว่าจะสมัครวิ่งเลย จนเมื่อปี 2560 ปีโป้ชวนวิ่งในรายการวันศรีนครินทร์ในระยะ 5.7 กม. แล้วรู้สึกว่าการวิ่งในรายการมันก็สนุกดี ผมจึงตัดสินใจสมัครวิ่งในรายการขอนแก่นมาราธอนนานาชาติ 2018 ที่จะวิ่งในปลายเดือนมกราคม 2561... แม้จะต้องวิ่งไปถึงเส้นชัยแล้วต้องแปลงร่างสวมชุดปรกติขาวเพื่อเชิญถ้วยพระราชทานในการมอบรางวัลแก่นนักวิ่งที่ได้รับรางวัลชนะเลิศก็ตามที ลองดูสักครั้ง เพราะหลายคนบอกว่าผมเป็นพวก “ใกล้เกลือกินด่าง” คนจากทั่วประเทศและหลายประเทศมาวิ่งถึง มข. แต่คน มข. จำนวนมากไม่เคยวิ่งในรายการนี้เลย...

แล้วหลังจากนั้นก็เริ่มใช้ Application  Strava มาช่วยบันทึกการวิ่ง เริ่มหาข้อมูลการวิ่งและหาช่องทางการสมัครวิ่ง เริ่มเข้าไปอยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊ครายการวิ่ง และแอบเรียนรู้การวิ่งหรือมองหาแรงบันดาลใจในการวิ่งที่จะค่อย ๆ ขยับระยะวิ่งให้ยาวขึ้น และวิ่งให้เร็วขึ้น จนสมัครวิ่งในรายการต่าง ๆ มากขึ้น จนในปี 2561 สมัครวิ่งในรายการไป 9 ครั้ง 1 ฟันรัน 7 มินิ 1 ฮาล์ฟ พอผ่านฮาล์ฟแรกได้ก็ได้พลังทางความคิดดีนะ ครั้งนั้นวิ่งที่เชียงคาน ทำให้ได้เรียนรู้วิธีกำหนดลมหายใจ คล้าย ๆ การภาวนา ระหว่างวิ่งต้องรู้จักลมหายใจตนเอง พิจารณาให้รู้ว่าลมที่เข้ากับที่ออกสมดุลกันไหม เข้ามากออกน้อยก็ไม่ได้ เข้าน้อยออกมากก็ไม่พอใช้ รู้แม้กระทั่งว่าลมที่สูดเข้าไปเดินทางถึงไหนแล้วจากจมูกถึงช่องท้อง วิ่งไป ภาวนาไป สนุกดี

มีช่วงก่อนไปวิ่งฮาล์ฟแรกที่เชียงคาน รุ่นน้องที่เขาวิ่งในรายการบ่อย ๆ ก็ขู่ไว้ว่ามันอย่างนั้น อย่างนี้ก็ทำให้วิตกพอสมควร แต่แล้วมันก็ผ่านไปได้ จนปลายปี 2561 ผมจึงตัดสินใจลงฮาล์ฟในรายการขอนแก่นมาราธอนนานาชาติ และจะไปวิ่งที่บุรีรัมย์มาราธอนบ้านเกิดสักครั้ง รายการบุรีรัมย์มาราธอนถือเป็นสนามที่สมัครยาก เพราะต้องยื้อแย่งในเวลาเพียงไม่ถึงชั่วโมง จึงให้น้องโด้สมัครให้ เพราะวันนั้นต้องเดินทางไปต่างจังหวัด โด้บอกว่าสมัครมินิและฮาล์ฟไม่ได้แล้ว เหลือแค่ระยะฟูล 42 กิโลครับ ผมไม่รีรอบอกโด้ว่าสมัครเลย เพราตั้งใจจะไปวิ่งที่บุรีรัมย์และอยากเป็นศิษย์เก่าของสนามบุรีรัมย์ เพราะเขาจะให้สิทธิ(ศิษย์)คนเก่าได้สมัครก่อนรอบทั่วไปในปีถัดไป... พอโด้สมัครและชำระเงินค่าสมัครให้เสร็จ ผมก็นั่งทบทวนระหว่างเดินทางไปลงพื้นที่ที่มหาสารคามว่า “เอาจริงไหม 42 กิโลเลยนะภาส” และคำถามนี้ก็ดังขึ้นในใจผมมาหลายเดือน

ผมได้สมญานามว่าเป็นลุงยอดสายจ้วด วิ่งเพซ 5 เวลาซ้อมและวิ่งมินิมาราธอน... ผมทำงานและเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยครั้ง ไม่ค่อยอยู่กับที่ การฝึกซ้อมวิ่งแบบยาว ๆ จึงไม่มีให้เห็น อย่างมากก็แค่ 15 กิโลเมตร  จึงแอบกังวลใจมาตลอดว่าจะเอาอะไรไปสู้เขาในรายการ 42 กิโลที่บุรีรัมย์มาราธอน... เพราะคนนั้น คนนี้รีวิวการวิ่งฟูลมาราธอนมามากมายหลายสาย หลายคำตักเตือน หลายวิธีพิชิต หลากคำขู่ และหลากกำลังใจ...

ผมจบฟูลมาราธอน 42.195 กิโลเมตรที่บุรีรัมย์ “ฟูลแรก” ของชีวิตได้ด้วยเวลา 5 ชั่วโมงครึ่ง วิ่งด้วยเพซ 6-7 ไปจนถึงกิโลเมตรที่ 33 ได้สบาย มาตกม้าตายเมื่อตะคริวเริ่มรับประทาน มือแขนชา แวะพักให้พยาบาลช่วยนวดช่วยคลายเส้น  เหลืออีก 12 กิโลเมตร ถ้าเป็นปกติคงประมาณชั่วโมงหน่อย ๆ คงถึงเส้นชัย แล้วใจก็สู้วิ่งไปสักระยะก็ไม่ไหว ตะคริวถามหา จึงต้องเดิน ๆ วิ่งๆ ไปเรื่อย 5 กิโลเมตรสุดท้ายมันช่างดูยาวไกลเหลือเกิน จนมาถึง 3 กิโลเมตรสุดท้าย เจอพยาบาลพอดี เลยเดินไปถามว่า แขนผมชามากไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร พยาบาลก็จับชีพจร แล้ววินิจฉัยว่า ร่างกายขาดเกลือแร่ แล้วเขาก็ชงเกลือแร่ในขวดน้ำขวดเล็ก ๆ ให้ถือติดมือเพื่อจิบไปตลอดระยะทาง 3 กิโลเมตรสุดท้าย... แล้วทำให้มา “อ๋อ” ว่าทำไมตอนวิ่งมักจะรู้สึกเย็นชาที่แขนอยู่บ่อยครั้ง เหตุเพราะไม่ค่อยชอบไปจิบเกลือแร่ที่แจกให้ตามระยะทางวิ่งด้วย 2 สาเหตุ คือ คนแย่งกันเยอะ ขี้เกียจหยุดต่อแถว และเกลือแร่บางยี่ห้อมันซ่าไม่ถูกคอไม่ถูกใจ และที่สนามบุรีรัมย์ก็มีแต่ยี่ห้อนั้นด้วย

เมื่อจบฟูลมาราธอน 42.195 กิโลเมตร ทำให้เห็นว่า การวิ่ง จริง ๆ แล้วไม่มีสูตรสำเร็จ เพียงแต่นักวิ่งรุ่นพี่จะมีข้อแนะนำต่าง ๆ นานาเพื่อให้นักวิ่งมือสมัครเล่นหรือนักวิ่งรุ่นน้องได้เป็นแนวทางจากประสบการณ์ของรุ่นพี่ หรือมีหลักวิชาการจากผู้ที่เชี่ยวชาญนำเสนอและแนะนำการจัดการให้ถูกหลักเพื่อให้สามารถวิ่งได้อย่างถูกวิธีและปลอดภัยเมื่อวิ่งในระยะต่าง ๆ แล้วไม่เป็นโทษต่อตนเอง

หลังวิ่ง 42.195 กิโลเมตรสำเร็จ ผมก็เอ่ยปากบอกคนรอบตัวว่าคงไม่สมัครวิ่งฟูลอีกในเร็ววันนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่วิ่งฟูล แต่ระยะที่ผมสามารถวิ่งยาวและมีความสุข ได้วิ่งกับเพื่อน ๆ และไม่ลำบากร่างกายมากนักคือระยะ 21 กิโลเมตร “ฮาล์ฟ” จึงเป็นระยะที่ผมคิดว่าน่าจะสนุกและสร้างสุขสำหรับผม เพราะผ่านมา 3 ฮาล์ฟแล้ว เพื่อให้เข้ากับความตั้งใจแรกเริ่มเดิมทีของผมคือ “วิ่งสร้าง(สุข)ภาพ”

ผมตั้งใจว่าปี 2562 นี้ จะวิ่งนายการเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้งก็คงพอ เพราะปี 2561 วิ่งไป 9 ครั้ง ... เป้าหมายของผมยังคงใช้แนวคิดเดิม เพื่อสร้างสุขภาพ เพื่อสร้างภาพ และไม่เป็นทุกข์จากการไปวิ่ง.... เพราะการลงรายการ หลายครั้งก็สร้างความวิตกแก่ตนเองอยู่เหมือนกัน กังวลว่าจะซ้อมพอไหม กังวลว่าจะพักผ่อนพอหรือเปล่าก่อนวิ่ง ในคืนก่อนวิ่งก็กังวลว่ากลัวไม่ตื่นไปวิ่ง ทำให้นอนไม่พอก็หลายครั้ง... แต่สิ่งที่ได้มันก็งดงาม เชื่อว่าคนที่วิ่งในรายการ จะเข้าใจกันดีกว่าการวิ่งออกกำลังกายทั่วไป... ผมอาจจะหลงใหลการวิ่งในรายการอยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับเห่อ แม้หลายคนในเมืองไทยจะมีพี่ตูน เป็นไอดอลการวิ่งก็ตาม แต่ผมไม่ หากแต่ชื่นชมพี่ตูนในฐานะผู้กล้าหาญในการวิ่งเพื่อระดมทุนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์...เพราะแม้ไม่มีพี่ตูน ผมก็วิ่งออกกำลังกายของผมอยู่แล้ว

การจะวิ่งให้สำเร็จ ทั้งเรื่องระยะทาง ความเร็ว หรือความสุขของการวิ่ง สิ่งสำคัญคือการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ... ผมได้ทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสิน เป็นที่ปรึกษา หรือเป็นผู้จัดการทีม มาหลายเวทีหลายรายการ และหลายต่อหลายครั้งก็มักจะบอกนักเรียน นักศึกษาว่า ไม่ว่าจะแข่ง ประกวดหรือทดสอบอะไรก็ตาม การฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอจะเป็นตัวช่วยให้การแข่งขันนั้น ๆ ประสบผลสำเร็จ... เมื่อผมวิ่ง 42.195 กม. เสร็จสิ้นลง ก็ได้คำตอบเช่นเดียวกันคือ การฝึกซ้อมวิ่งบ่อย ๆ  น่าจะเป็นตัวช่วยที่ดีที่ทำให้ผมวิ่งถึงเส้นชัย หากไม่นำเรื่องตะคริวจากการขาดเกลือแร่มาพูดถึง ก็น่าจะเป็นความสำเร็จที่งดงาม สำหรับฟูลมาราธอนรายการแรก... เขียนมาเสียยืดยาว เอาเป็นว่าสรุปจบแค่นี้ก็แล้วกันครับว่า...

ผมจึงยังคง “วิ่งสร้าง(สุข)ภาพ”  ต่อไป ทั้งการวิ่งเพื่อสร้างสุขภาพ วิ่งเพื่อสร้างภาพ และวิ่งเพื่อสร้างสุข และคงจะสมัครวิ่งในรายการบ้างตามสุขภาพเงินในกระเป๋าจะอำนวย เพราะกลัวเหรียญวิ่งจะไม่มีที่แขวน ... จริง ๆ โดยนิสัยแล้ว ไม่ใช่เป็นคนชอบทำอะไรแบบสุดโต่งมากนัก จนหลายครั้งก็คิดว่าตัวเองเป็นพวกเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ

หมายเลขบันทึก: 660234เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2019 15:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2019 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท