สิบพรรษาที่บ้านเกาะตาเถียร ชุมชนสงบสุขเมื่อปลอดเหล้า


สิ่งใดเกิดจากเหตุก็ให้ตัดที่เหตุ อย่าไปตัดที่ผล

        วัฒนธรรมการดื่มเหล้าในสังคมไทยดูจะกลายเป็นเรื่องปกติในปัจจุบัน ไม่ว่าจะงานสังสรรค์ งานมงคล งานศพ งานบุญประเพณีต่างนิยมเอาสุรามาเลี้ยงดูปูเสื่อแขก ยังไม่รวมถึงการดื่มเป็นประจำทุกวัน ส่งผลให้ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีการดื่มสุราสูงสุดในลำดับต้นๆ ของโลก

            การทำให้คนลด ละ เลิกการดื่มสุรา เป็นไปได้ยาก แต่ยังพอมีแนวทางอยู่บ้าง อย่างเช่น การงดเหล้าในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งหลายคนมักอาศัยช่วงนี้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มสุรา

            สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และองค์กรภาคี ได้รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษามาตั้งแต่ปี 2546 กระทั่งในปี 2551 รัฐบาลได้เห็นชอบประกาศกำหนดให้วันเข้าพรรษาของทุกปีเป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ จึงทำให้การงดเหล้าเข้าพรรษาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

            ชุมชนบ้านเกาะตาเถียร ต.ไม้งาม อ.เมือง จ.ตาก เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ได้รณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษา” มาอย่างยาวนาว มากกว่า 10 ปี และเป็นชุมชนแรกๆ ของ จ.ตาก ที่ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง โดยมีวัดเกาะตาเถียร เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน

            พระครูประทีป จันทรังษี เจ้าอาวาสวัดเกาะตาเถียร กล่าวถึงชุมชนบ้านเกาะตาเถียรว่า เป็นชุมชนกึ่งเมืองที่มีความเจริญ ฐานะความเป็นอยู่ปานกลางไม่ถึงกับลำบาก ต้องยอมรับว่าการดื่มสุราถือเป็นเรื่องปกติของคนที่นี่ ไม่ว่าจะงานบุญ งานศพ งานประเพณีเขาก็ดื่มกัน อย่างเมื่อก่อนที่ยังไม่มีกฎหมายห้ามดื่มและจำหน่ายสุราในวัด เวลามีวัด หรือชาวบ้านมาใช้สถานที่จัดงานประเพณีต่างๆ ก็จะมีการดื่มเหล้ากันอย่างเอิกเกริก สุดท้ายก็มีแต่เหตุทะเลาะวิวาทล่าตีกันพังทุกงาน

            “ปัญหาการเกิดอุบัติจากการดื่มสุรา การทะเลาะวิวาทในชุมชน ปัญหาลักเล็กขโมยน้อย และปัญหาความรุนแรงและความแตกแยกในครอบครัว เมื่อพ่อแม่ดื่มและเกิดความมึนเมา ก็จะตามมาด้วยการตบตีกัน กระทบกับหน้าที่และคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัว ซึ่งมีให้เห็นตลอด จนเป็นภาพชินตา เราจึงคิดว่าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไม่ได้อีกแล้ว” พระครูประทีป เผยถึงสาเหตุของการแก้ปัญหาสุราอย่างจริงจัง

            เริ่มจากการระดมความร่วมมือจากแกนนำชุมชน รวมไปถึงเครือข่ายจิตอาสา ช่วยกันเผยแพร่และรณรงค์ให้ทุกคนลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และทุกปีจะจัดกิจกรรม “งดเหล้าเข้าพรรษา” ด้วยการเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมลงชื่อถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และฟังเทศน์ นั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรมทุกวันอาทิตย์ตลอด 3 เดือนของช่วงเข้าพรรษา

            พระครูประทีป กล่าวว่า เมื่อทุกคนรู้ว่าเหล้ามันไม่ดีก็ต้องตัด ดังเช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สิ่งใดเกิดจากเหตุก็ให้ตัดที่เหตุ อย่างไปตัดที่ผล” แต่อยู่ดีๆ เราจะไปบอกให้เลิกดื่มคงเป็นไปได้ยากเพราะวัฒนธรรมการดื่มมันฝังรากไปแล้ว แต่ถ้าถ้าเลิกดื่มเฉพาะช่วงเข้าพรรษาล่ะ มันก็ยังพอมีทางเป็นไปได้บ้าง อย่างน้อยๆ ได้พักตับพักร่างกายใน 3 เดือนนี้ ไม่ใช่ว่าโหมดื่มไปทั้ง 12 เดือน เราชวนให้เขามาเลิกเหล้าเข้าพรรษาเป็นการสร้างโอกาส เขาจะได้ให้โอกาสตัวเองในการปรับพฤติกรรมเสียใหม่ ถ้าใครจะเลิกได้หลังจากนั้นอีกก็ยิ่งดี

            “การลด ละ เลิกการดื่มสุรา อยู่ที่ใจ ไม่ต้องบังคับ ยิ่งถ้าเขาอยู่ตัวคนเดียวก็เป็นไปได้ยาก เพราะเขาไม่คิดถึงใคร แต่ถ้าเขามีครอบครัวเขาก็จะได้คิดถึงคนอื่นก็จะเลิกได้ง่าย การเลิกเหล้าได้ก็จะเป็นผลบุญที่เขาได้สร้างด้วยตัวเอง” พระครูประทีป กล่าว

            ผลจากการ “งดเหล้าเข้าพรรษา” มานานนับ 10 ปี และมีผู้ร่วมกิจกรรมมากกว่า 50 คนในทุกปี ทำให้ชุมชนเกาะตาเถียรเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ชุมชนมีความอยู่เย็นเป็นสุข คนในชุมชนต่างมีรอยยิ้มเบิกบานที่ออกมาจากใจ

            ธมนวรรณ กระเทศ แกนนำชุมชน กล่าวถึงสิ่งเปลี่ยนแปลงของชุมชนหลังรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษามาอย่างต่อเนื่อง ว่า แม้จะเป็นการณรงค์ให้คนลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเข้าพรรษา แต่สิ่งที่เห็นได้ชัด ช่วยลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยใน 3 เดือนนี้คนที่เข้าร่วมโครงการจะไม่แตะต้องของมึนเมาเลย ช่วยประหยัดเงินไปได้มาก เมื่อรายจ่ายลดลงก็เท่ากับมีเงินเพิ่มขึ้น ไม่ต้องเครียดเรื่องปากท้อง ลดความรุนแรงหรือการทะเลาะอันเกิดจากสถานะทางเศรษฐกิจในครอบครัวได้ ขณะเดียวกันพ่อแม่ลูกก็ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทำให้ครอบครัวอบอุ่น

            ท้ายสุด คือ สุขภาพ ที่คนเข้าร่วมโครงการนั้นดีขึ้น พอสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรงทุกคนก็มีรอยยิ้ม พร้อมออกไปร่วมกิจกรรมกับชุมชนมากขึ้น เพราะทุกคนสุขภาพดีไม่ต้องพะวงกับการเจ็บป่วย คนในชุมชนจึงมีความสุขรักใคร่กลมเกลียวกันไม่มีเรื่องขัดแย้งเหมือนแต่ก่อน

          ในปี 2561 นี้ ชุมชนบ้านเกาะตาเถียร ได้เข้าร่วมโครงการงานบุญ งานประเพณี ปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของ สสส. เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนมาตรการ ลด ละเลิก เครื่องดื่มแอกอฮอล์ในชุมชนให้เข้มข้นมากขึ้น โดยตั้งเป้าสู่การเป็นชุมชนต้นแบบให้ได้ในเร็ววัน

หมายเลขบันทึก: 659821เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2019 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2019 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท