ชุมชนศิริสุข” สร้างสุขด้วยพลังผู้สูงวัย


สูงวัยอย่างสง่า ชราอย่างมีคุณภาพ

      เพราะต่างคนต่างที่มา ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดเดียวกัน แม้จะอาศัยอยู่หมู่บ้านเดียวกันมานาน แต่ความแปลกหน้าระหว่างกันก็ยังมีอยู่ ทำให้คนที่อยู่ชุมชนกลางเมืองใหญ่มักมีสัมพันธภาพร่วมกันน้อย ต่างจากสังคมชนบทที่มักพึ่งพาอาศัยกัน รู้จักกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ความกลมเกลียวหมู่มวลจึงมีมาก

            ที่ชุมชนศิริสุข ต.บางเมืองใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ถือเป็นชุมชนใหม่ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว โดยผู้อาศัยส่วนใหญ่มากกว่า 1,000 คน จำนวน 404 หลังคาเรือน จะเป็นคนต่างถิ่นที่อพยพมาทำมาหากินแล้วปักหลักปักฐานอยู่ที่นี่ บ้างก็ย้ายเข้าย้ายออก นั่นจึงทำให้คนในชุมชน ไม่ค่อยรู้จักกัน จะรู้จักในบ้านเรือนที่ใกล้ๆ ของตัวเองเพียงไม่กี่หลัง ทำให้คนในชุมชนเป็นไปในลักษณะของ “ต่างคนต่างอยู่” 

            หนุ่ม-สาว ก็ออกไปทำงาน ส่วนผู้สูงวัยเกือบ 200 ราย ก็จะถูกปล่อยอยู่บ้านเพียงลำพัง เกิดความเหงา เพราะไม่รู้จะไปพูดคุยกับใครได้ เพราะ “ไม่รู้จักกัน”

            หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป คนในชุมชนก็จะยิ่งห่างเหิน  ดังนั้นการลดช่องว่างและการเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้สูงวัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเตรียมพร้อมการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้นี้

            คณะกรรมการชุมชน จึงได้จัดกิจกรรมขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุชุมชนศิริสุขเข้ามามีบทบาท และร่วมขับเคลื่อนชุมชนมากขึ้น

            “ถ้าไม่มีกิจกรรมให้ทำ ผู้สูงอายุทุกคนก็จะต้องอยู่ติดบ้านแน่นอน แต่ตอนนี้ไม่ได้ว่างกันหรอก มีอะไรให้ทำตลอด” กอบกิจ สุริยะมณี ประธานชุมชนศิริสุข กล่าว

            เหตุที่ไม่ว่าง เพราะขณะนี้ผู้สูงอายุในชุมชนศิริสุขได้เขช้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ โดยใช้พลังของคนสูงวัยในชุมชนเป็นคนขับเคลื่อน

            นายกอบกิจ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า เริ่มจากสิ่งใกล้ตัว อย่างเช่น “ขยะ” น่าจะมาเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ในชุมชนได้ จึงส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนมีการคัดแยกขยะ นอกจากจะทำให้ชุมชนสะอาด เรียบร้อยแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ ขณะที่ส่วนหนึ่งเราขอรับบริจาคขยะ หากบ้านไหนไม่อยากขายก็ให้มาบริจาคกับทางชุมชนที่ลานเอนกประสงค์กลางหมู่บ้าน ทุกวันนี้ผู้สูงอายุที่มาช่วยงาน ก็ออกเดินเก็บขยะ ออกรณรงค์ ส่วนขยะที่ได้ก็จะรวบรวมไว้ขาย เป็น “เงินออมขยะ” ถือเป็นกองกลางของชุมชน

            “ที่ผ่านมาก็นำเอาเงินออมขยะที่สะสมไว้ 2 ปี ไปเป็นค่าใช้จ่ายในการติดกล้องวงจรปิดรอบชุมชน เพื่อเป็นหูเป็นตา รักษาความปลอดภัยให้กับสมาชิกทุกคน” ประธานชุมชนกล่าว

            ขณะที่ในปี 2561 ทางชุมชนได้จัดทำโครงการเสริมสร้างสุขภาพผู้สูงอายุชุมชนศิริสุข ขึ้น โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อจัดกิจกรรมการเสริมสร้างสุขภาวะให้ผู้สูงวัยทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ สังคม และปัญญา

            มณี สิงห์น้อย คณะกรรมการชุมชน กล่าวอย่างแรกที่ทุกคนต้องได้รับคือ สุขภาพทางกาย โดยทุกเย็นวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ผู้สูงอายุทุกคนจะมารวมตัวที่ลานเอนกประสงค์เพื่อออกกำลังกายร่วมกันอย่างน้อย 30 นาที ส่วนสุขภาพทางใจ ได้จัดกิจกรรมไหว้พระ สวดมนต์ ฟังเทศน์ฟังธรรม ทุกวันพระ ถวายเทียน 9 วัด ส่วนด้านสังคมและปัญญาก็จะมีผู้สูงอายุที่เป็นแกนนำคอยชักชวนคนอื่นให้ออก เพราะอยู่แต่บ้าน เต็มไปด้วยความเหงาและความเครียด ได้มาพบปะพูดคุย สนทนา ไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ โดยใช้ลานกิจกรรมเป็นสถานที่พบปะทุกๆ เย็น ผู้สูงอายุบางคนก็จะอุ้มลูกหลานมาเล่นด้วย เป็นภาพที่มีความอบอุ่นอย่างยิ่ง

            ส่วนผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง ซึ่งมีอยู่ 2 ราย พวกเราก็จะหากระเช้าเข้าไปเยี่ยมบ่อยๆ คอยไปให้กำลังใจ โดยนำทีม อสม. เข้าไปช่วยดูแลอีกทางหนึ่ง นอกจากสุขภาวะทั้ง 4 มิติจะได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เรามองเห็นความสำคัญเช่นกัน นั่นคือ การส่งเสริมการสร้างรายได้ให้ผู้สูงวัย โดยคณะกรรมการชุมชนจะคอยรับงานออเดอร์การติดป้ายฉลากสินค้าจากโรงงาน หรืองานจิปาถะต่างๆ มากระจายให้ผู้สูงอายุที่อยากทำ นอกจากนี้ยังมีการเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่งงานจะมีให้ตลอด แม้จะเป็นเงินที่ไม่เยอะ แต่อย่างน้อยก็เป็นรายได้อีกทางหนึ่ง และที่สำคัญ ได้ใช้เวลามาทำอะไร มานั่งจับกลุ่มทำร่วมกัน คุยสนุกสนาน เฮฮา ดีกว่าอยู่เฉยๆ เสียอีก

            “ตอนนี้เราเห็นว่าทุกคนมีความสุข แต่กว่าจะมีวันนี้ ไม่ง่ายเลย เพราะต่างคนต่างที่มา การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจึงต้องค่อยๆ สร้าง และต้องทำให้เขาเห็น จากที่เขาไว้ใจยาก เขาก็จะค่อยๆ คลาย เปลี่ยนจากการนิ่งเฉยมาเป็นแนวร่วมและพร้อมให้ความร่วมมือโดยไม่ต้องร้องขอเลย ตอนนี้เราเห็นภาพของความรักใครกลมเกลียว เจอหน้ายิ้มแย้มทักทายกัน” นางมณี กล่าว

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าชาวชุมชนศิริสุข มีความสุขมากขึ้นด้วยผู้สูงวัย ที่เข้ามีมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชน ซึ่งเป็นพลังที่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพและทรงคุณค่า สมกับสโลแกน “สูงวัยอย่างสง่า ชราอย่างมีคุณภาพ”

หมายเลขบันทึก: 659816เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2019 21:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2019 21:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท