วัยทำงาน ฟันดีดี มีบัตรทอง : Situation Assessment in planning Health promotion project


วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๖๒ เข้าประชุมที่ห้องประกายเพชร โรงแรมเอเชีย (ราชเทวี) กทม.

ช่วงเช้าเป็นวิทยากรกระบวนการพาผู้เข้าประชุมทำกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์

ผู้จัดตั้งชื่อกิจกรรม … รู้จักฉัน รู้จักเธอ เพราะผู้เข้าประชุมมาจากโครงการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากเฟสแรกส่วนหนึ่ง อีกส่วนใหญ่กว่ามาจากเฟสสองที่เพิ่งมารู้จักกันครั้งแรกวันนี้

^_,^

พี่จิ๋ม  ทพญ.สุขจิตตรา  วนาภิรักษ์  สสจ.แพร่  เกริ่นนำจากเฟสแรกที่โครงการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากวัยทำงาน  กลุ่มที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือถือบัตรทอง  มี ๑๑ โรงพยาบาลที่ยังไปต่อ  และชวนเพื่อน ๆ มาร่วมในเฟสสองในวันนี้

เพื่อทดลองรูปแบบ Node and network  ขยายจำนวนพื้นที่จากรูปแบบหนึ่ง  หรือไม่ขยายพื้นที่แต่เพิ่มเนื้องานให้ครอบคลุมมิติสร้างเสริมสุขภาพ  ที่โครงการได้มาตรฐานการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากวัยทำงานมา ๗ หมวด

มีการสนับสนุนให้พวกเราทำวิจัยและพัฒนางาน (R2R) ยังคงวัตถุประสงค์โครงการในเฟสแรก  เพิ่มให้ประชาชนกลุ่มวัยงานมี Self-care ด้านสุขภาพช่องปาก  และเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปาก

^_,^

ผู้เขียนขึ้นเวทีอีกรอบ  ทพ.วีระ  อิสระธานันท์ (คุณหมอกล้วย) โรงพยาบาลแม่จัน  เชียงราย Core team ที่ดำเนินการมาตั้งแต่เฟสแรก  ดำเนินการอภิปราย  

เล่าโครงการที่ทำสั้น ๆ  ถอดบทเรียนว่าได้เรียนรู้อะไร  และมีจุดที่เป็นด้านลบอึดอัดใจ  

นอกจากอำเภอสระใคร หนองคายแล้ว  เพื่อน ๆ บางอำเภอที่มาเล่า  น้ำพอง  ขอนแก่น  อ่าวลึก  กระบี่  และอำเภอลอง  จังหวัดแพร่

พอให้เพื่อน ๆ ที่มาใหม่เข้าเฟสสองได้เห็นภาพ  รับทราบเรื่องราวโดยสรุป  และข้อที่ควรระวังในการขยายต่อ

^_,^

ภาคบ่ายเป็นบรรยาย System thinking  โดย ทพญ.นนทินี  ตั้งเจริญดี  สำนักทันตสาธารณสุข  กรมอนามัย

เข้าใจความเป็นระบบย่อย  เชื่อมโยงกัน  และเชื่อมโยงกับระบบใหญ่  ที่มีวัตถุประสงค์เป็นตัวบอกว่าอยู่ในระบบเดียวกัน

ที่เข้าใจมากขึ้น คือ การเปรียบเทียบกับภูเขาน้ำแข็ง  ที่มองเห็นว่าปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ มีที่มาหรือสาเหตุได้หลายสิ่ง  หลายชั้น  เช่น  Patterns หรือ Trends  ชั้นถัดไป Systemic structures  และที่ชั้นล่างสุดเป็นพื้นฐานของสังคมหนึ่ง ๆ คือ Mental models

ได้เครื่องมือช่วยให้มองขอบเขตการทำงานของเรา  อยู่ส่วนใดของระบบสุขภาพ  ของระบบสังคมในพื้นที่ที่เราทำงาน  เห็นความเชื่อมโยงของโครงสร้างองค์กร  โครงสร้างสังคมที่เราทำงานด้วย เป็นต้น

ลองเปิดดู Slide สั้น ๆ จากวิทยากรนะคะ  จะเข้าใจมากขึ้น    นาน ๆ ลืมเลือนไป  กลับมาเปิดดูได้เรื่อย ๆ

20190204151859.pdf

(ผู้เขียนเคยเข้า workshop เรื่องนี้ ๒ รอบ  ประมาณ ๑๕ และ ๑๐ ปีที่แล้ว  โดยเฉพาะครั้งแรกนั่น ... มึนงงมาก  ครั้งที่สอง  คลี่คลายขึ้น)

กว่าวัน  เวลา  ประสบการณ์  จะช่วยทำให้เรื่องที่เราเรียนมาง่ายขึ้น  มองเห็นว่างานที่เราทำอยู่  ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่  ขอบเขตขีดวงแค่ไหน  เพียงเราทำให้ตนเองเข้าใจว่าเชื่อมโยงกับระบบใหญ่ตรงไหน  ระบบอะไรบ้าง  

และงานจะง่ายขึ้นมาก  ถ้าเราทำให้ทีมของเรา  ทีมทำงานย่อยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแต่ละระบบ  รู้  เข้าใจ  และส่งมอบผลผลิตงานให้กันและกันแต่ละระบบย่อย ... อย่างเข้าใจกัน  มีความสุข  

รู้ว่างานของทีมระบบย่อยที่ตนเองเกี่ยวข้องนั้น  มีคุณค่าให้ผลงาน  วัตถุประสงค์ของระบบใหญ่บรรลุ ... เพื่อปวงประชา  อย่างไร

^_,^

ต่อด้วยการบรรยาย โดย ทพญ.สุรัตน์  มงคลชัยอรัญญา  สำนักทันตสาธารณสุข  กรมอนามัย เรื่อง Situation Assessment in planning Health promotion project

เคยเรียน  เคยฟัง  เคยประเมินสถานการณ์ก่อนวางแผนโครงการด้วยวิธีอื่นมาบ้าง ... (Risk Assessment, SWOT,  แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์,  การวางแผนปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม A-I-C,  ค่ากลาง, outcome mapping,  PAR : Participatory Action Research, community-based development)

มีความเหมือน  คล้าย  และให้น้ำหนัก  เพิ่มรายละเอียดบางสิ่ง

วิเคราะห์ได้รอบด้าน  เข้าใจความต้องการ  ความจำเป็นของกลุ่มคนที่แตกต่าง  เราก็จะเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ตรงเป้ากับเรื่องที่อยากทำ  ไม่สะเปะสะปะ  เลือกชุดข้อมูลสำคัญ  วิธีการจัดการข้อมูลที่ตอบวัตถุประสงค์ได้อย่างน่าเชื่อถือ  ตั้งแต่ก่อนเริ่มลงมือทำโครงการ  โดยบริหารทรัพยากรเหมาะสม  คุ้มค่า  ซึ่งมิเพียงจากรัฐ  เอกชน  ภาคท้องถิ่นเท่านั้น  หมายรวม  ทรัพยากร  ภูมิปัญญาของชุมชนเป็นหลัก

ทักษะสำคัญที่ยังต้องฝึก  การสื่อสารกับบุคคลสำคัญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  ทั้งระดับนโยบายที่จะอนุมัติโครงการ  และบุคคลสำคัญ  กลุ่มผู้นำด้านต่าง ๆ ของชุมชน  ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกใช้กลยุทธ์  วิธีการ  กิจกรรมของโครงการที่ตรงกับความสนใจ  เป็นที่ต้องการของ  stakeholders   ก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของผู้คนในชุมชน  สังคมที่เราทำงานด้วย ... ได้ในที่สุด  ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

จะดีมากไหม  หากการสื่อสารที่ดีทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าใจ  พอใจ  ยินดีไปด้วยกันตั้งแต่แรก ... เดินร่วมทางไปด้วยกันอย่างมีความสุข

ดู Slide ไปก่อนนะคะ

เอาไปใช้เมื่อไหร่  ผสมผสานความรู้เดิม  กรองและเลือกทำที่เป็นไปได้ ... แล้วค่อยเล่าว่าผลการใช้เป็นอย่างไรนะคะ

20190203231927.pptx

^_,^

ปิดท้ายด้วย พี่ปิ  ทพญ.ปิยะดา  ประเสริฐสม  ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข  กรมอนามัย  core team ที่ช่วยร่างโครงการ  เสนอขอทุนมูลนิธิทันตสาธารณสุข  และ สสส.  สนับสนุนน้อง ๆ ดำเนินการมาในเฟสแรก

มาเชื่อมโยงว่า ๒ หัวข้อที่พี่ ๆ บรรยายภาคบ่าย  จะช่วยให้เราวางแผนงาน  จุดเล็กน้อย  จุดใด  แต่ต้องเห็นปลายทางว่าเชื่อมกับระบบใหญ่อย่างไร  ... think local, act global

หนึ่งวัน  เนื้อหาอัดแน่น  ... กลับมาค่อย ๆ ย่อย

จะเอามาใช้วางแผนการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากกลุ่มวัยทำงาน (บัตรทอง) ให้บริบทอำเภอแบบเรา ... อย่างไรจะดีงาม  มีความสุขของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกส่วน

โปรดติดตามต่อนะคะ

ขอบคุณมากค่ะที่สนใจ

สวัสดีค่ะ

^_,^





ความเห็น (2)

ขอบคุณ​วิทยากรกิตติมศักดิ์​มากๆเลยจ้า

ขอบคุณพี่จิ๋มและพี่ ๆ มากค่ะที่ให้โอกาสพาผู้เข้าประชุมแบ่งปันความสุข ทำความรู้จักกัน ^_,^ ยินดีค่ะยินดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท