๘๘๓. เรียนรู้สู้งาน...


งานที่ผมทำก็เท่ากับได้ลงมือปฏิบัติจริง หลายสิ่งหลายอย่างผมไม่รู้เพราะไม่ได้เรียนมา จึงต้องรักที่จะเรียนรู้และสู้งาน..ทำความเข้าใจในงานให้ลึกซึ้ง เข้าถึงเนื้องานอย่างถ่องแท้ เพื่อจะได้นำไปสอนนักเรียน พัฒนาผู้เรียนให้เกิดการต่อยอดต่อไป

        วันนี้ผมเขียนป้ายเพื่อนำไปติดตามแหล่งเรียนรู้ ข้อความที่เขียนก็คือ “ความพอดี..งดงามเสมอ” เขียนเสร็จก็ถามตัวเองว่า “พอดี”จริงหรือเปล่า? คำตอบแบบตรงไปตรงมาบอกได้เลยว่า..พอดี

    เพราะงานที่ผมทำในวันหยุด..เป็นงานเล็กๆ อาจจะต้องทำหลายอย่างแต่ก็สร้างความเพลิดเพลินจึงไม่รู้สึกเหนื่อยแต่อย่างใด..

        บางคนมองผมว่าเป็นคนขยัน จริงๆก็ไม่ได้ขยันสักเท่าไร เพียงแต่เรี่ยวแรงดีมีน้ำอดน้ำทนในการทำงานมากกว่าเขา และผมก็รู้สึกว่าเป็นคนที่แข็งแรงเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น..

        ผมออกกำลังกายเกือบทุกวัน วิ่งวันละ ๒ กม.อย่างน้อยก็ ๕ วันต่อสัปดาห์ ทานอาหารที่มีคุณค่าอย่างเพียงพอ และพักผ่อนอย่างพอเพียง ตลอดจนพักอาศัยอยู่ในสวนที่มีต้นไม้มากมาย จึงสูดอากาศที่บริสุทธิ์อยู่เสมอ.

        การทำงานที่ชอบในสถานที่ใช่ ก็ช่วยให้ผมมีอารมณ์ดี สดชื่นและแจ่มใสอยู่เสมอ เข้าบ้านก็ดูหนังฟังเพลง..ชีวิตก็คงมีเพียงเท่านี้

        ในส่วนของงานที่ผมทำจะมีความพอดีในบริบทของโรงเรียน ไม่ต้องลงทุนสูง เรียบง่ายและมีประโยชน์ต่อครูและเด็ก ในการใช้เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนและช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่น่าเรียน..

        งานที่ผมทำก็เท่ากับได้ลงมือปฏิบัติจริง หลายสิ่งหลายอย่างผมไม่รู้เพราะไม่ได้เรียนมา จึงต้องรักที่จะเรียนรู้และสู้งาน..ทำความเข้าใจในงานให้ลึกซึ้ง เข้าถึงเนื้องานอย่างถ่องแท้ เพื่อจะได้นำไปสอนนักเรียน พัฒนาผู้เรียนให้เกิดการต่อยอดต่อไป

        ผลของการทำงานแต่พอดีพองาม ทำให้เข้าใจงานได้ไม่ยาก เมื่อจะให้นักเรียนเข้าถึงบ้าง? ผมจะตั้งคำถามให้เด็กตอบอยู่เสมอว่า..เธอทำอะไร? ทำอย่างไร?และทำแล้วได้อะไร?..เหมือนที่ผมถามตัวเองและลงมือทำอย่างพอดีและพอเพียงอยู่ทุกวัน..

        ขณะที่ทำก็ต้องสังเกตไปด้วย..อย่างเช่นการให้อาหารไก่และเก็บไข่ จะพบว่าเล้าไก่สมควรเปลี่ยนแกลบและฟางได้แล้ว เพราะมูลไก่คลุกเคล้าจนฟางเปื่อยยุ่ย และสังเกตพบว่าไข่ไก่ฟองใหญ่ขึ้น น่าจะเป็นเพราะไก่กินผักตบชวาเป็นอาหารเสริม..

        จากนั้น..ไปรดน้ำแปลงผักที่กำลังเจริญเติบโตอย่างสวยงามทุกแปลง เป็นจังหวะที่ต้องใช้ “น้ำหมัก” ที่ไหลออกมาจากถังแก๊สชีวภาพข้างโรงครัว เวลาใช้ต้องผสมน้ำเพื่อลดความเข้มข้น เท่าที่สังเกตน้ำหมักไม่มีกลิ่นเหม็น ผมจึงนำใส่แกลลอนเก็บไว้ เผื่อว่ามีใครสนใจและต้องการใช้..จะได้แบ่งปันกันไป..

        น้ำหมักชีวภาพ.ที่ผมขยายหัวเชื้อครบ ๗ วันพอดี ผมเปิดฝาก็พบฝ้าขึ้นขาวอยู่ด้านบนก็แสดงว่า..ใช้ได้แล้ว พรุ่งนี้จะให้นักเรียนเทใส่ขวดต่อไป..

        ผมให้เวลากับงาน “เกษตรอินทรีย์”ค่อนข้างเยอะ เพื่อลดการใช้สารเคมี และตั้งแต่โรงเรียนมีแก๊สชีวภาพก็รู้สึกว่างานเกษตรเริ่มดูดีมีระบบครบวงจร คงเหลือแต่งานซ่อมบำรุง โดยเฉพาะท่อน้ำเริ่มสึกกร่อนและรั่วซึมบ่อย..ต้องคอยดูแลและซ่อมแซมอยู่เสมอ..

        “โรงเห็ด” ปลายปีการศึกษา ยังมีดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานให้ยลโฉม วันนี้เริ่มผลิดอกให้เห็น..อีก ๒ – ๓ วัน ก็คงนำเข้าสู่โรงครัวเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน...

        ผมใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ทุกที่ทุกทางดูเรียบร้อยสวยงาม ว่าแล้วก็เลยทาสีที่แปลงเกษตรให้ดูสดใส..แปลงสีขาวเข้ากันได้ดีกับผักสีเขียว...

        เสร็จสรรพกลับบ้านเพื่อเตรียมตัวออกวิ่ง..ก่อนวิ่งแวะไปดู “ปุ๋ยน้ำ”หลังบ้านที่ผมทดลองทำดู ผ่านไป ๑๐ วันก็น่าจะใช้ได้แล้ว เป็นจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงที่ทำได้ง่ายมากๆ

        สัปดาห์นี้..ผมจะสอนนักเรียนให้รู้จักขยายหัวเชื้อ ซึ่งต้องมีส่วนผสมของน้ำสะอาด ไข่ไก่ น้ำปลาและผงชูรสอย่างละหนึ่งช้อน ก็สามารถผลิตปุ๋ยน้ำได้อย่างพอเพียง ที่สำคัญใช้กำจัดปลวกได้ด้วย..

        ขอตัวไปวิ่งก่อนนะ....

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๓  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๒

หมายเลขบันทึก: 659653เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2019 20:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2019 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นี่เองที่ผมเข้าใจว่าเป็น ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ความประสงค์สุดท้ายของฝนหลวง ร.๙ ที่อยากให้สร้างขึ้น

ขอบคุณครับอาจารย์..ทำให้มั่นคงและยั่งยืนน่ะครับ โรงเรียนจะได้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทรงคุณค่ามากขึ้น..ไม่ต้องรอให้เป็นต้นแบบ แต่เป็นในแบบของเรา พอดีและพอเพียง..สักวันอาจสร้างมูลต่าเพิ่มให้โรงเรียนขนาดเล็ก..มิใช่เป็นตัวเลือกสุดท้ายอยู่ร่ำไป..ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท