มาแกแต


แนวคิดเกี่ยวกับมาแกแตในชุมชนมลายูมุสลิม

*ผศ.มะดาโอะ ปูเตะ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

วัฒนธรรมประเพณีของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการทำบุญในพื้นที่ เช่น วัฒนธรรม “มาแกปูโละ” และ “มาแกแต” เป็นประโยคภาษายาวี “มาแกปูโละ” เป็นการไปร่วมรับประทานอาหารเพื่อช่วยเหลือทำบุญผู้ที่มีพิธีแต่งงานหรือขึ้นบ้านใหม่ (มาแก แปลว่า กิน, ปูโละ แปลว่า ข้าวเหนียว) ส่วนอาหารที่เลี้ยงรับรองนั้นก็เป็นอาหารข้าวเจ้าธรรมดา และไม่มีการเลี้ยงข้าวเหนียวแต่เขาเรียกว่า ไปกินเหนียว อีกวัฒนธรรมหนึ่ง “มาแกแต” เป็นภาษามาลายูถิ่นปาตานี แปลว่า “กินน้ำชา” คำว่า “มาแก” ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษามลายูกลาง จากคำว่า “Makan” ซึ่งแปลว่า “กิน” และคำว่า “Teh” ซึ่งแปลว่า “ชา” เมื่อเป็นสำเนียงภาษาพูดถิ่นปาตานีของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะออกเสียงเป็น “มาแกแต” เป็นการกินน้ำชาหรือการเลี้ยงหรือดื่มน้ำชา ซึ่งเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่มีความหมายเหมือนกัน แต่มีวัตถุประสงค์ในการจัดต่างกันบ้างเล็กน้อย (สันติ อัลอิดรุส, 2537, น. 115). “มาแกแต” ถือเป็นกิจกรรมหรือประเพณีหนึ่งของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นการแสดงออกถึงน้ำใจโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการหาเงินเนื่องในกรณีต่างๆ เช่น หาเงินเพื่อสร้างโรงเรียน มัสยิด สุเหร่า ศาสนสถาน ศาลา ฯลฯ ซึ่งเป็นสาธารณสถานต่างๆ หาเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเมกกะ หาเงินไปใช้จ่ายในกรณีต่างๆ เช่น ต้องคดีความ หรือประสบความเดือดร้อนต่างๆ ดังนั้น วัฒนธรรมการกินน้ำชาของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นวัฒนธรรมหนึ่งเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกันให้เกิดความรักความสามัคคี จัดเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งในการแสดงความมีน้ำใจให้แก่กัน (ชนาธิป กฤษณสุวรรณ พงษ์พิพัฒน์ จินดาศรี และ สมศักดิ์ หุ่นงาม, 2548) จะเห็นได้ว่า ประเพณีมาแกแตหรือกินน้ำชาของชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเป็นกุศโลบายในการเชิญชวนผู้ที่มากินน้ำชาที่มีจิตใจบริสุทธิ์ พร้อมที่จะสละเงินบริจาคให้แก่ผู้ที่ยากไร้หรือลำบากกว่า จัดเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น วัฒนธรรม “มาแกแต” ของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการบูรณาการหลักการศาสนาอิสลามเรื่องของ “การบริจาค” ในรูปของการสร้างสัมพันธ์ไมตรี รักษาความเป็นพี่น้องในอิสลามและชุมชน มีการช่วยเหลือและดูแลซึ่งกันและกัน เรื่อง “มาแกแต” ไม่ค่อยมีหนังสือที่เขียนเจาะจง แต่จะเน้นที่การปฏิบัติ การมีส่วนร่วมในการเข้าร่วมจัดงานและร่วมบริจาค โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการรวบรวมเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายตามความจำเป็น ส่วนรูปแบบของกิจกรรมมาแกแต ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ชุมชนหรือมัสยิดว่าจะจัดการอย่างไร จะจัดเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน หรือตามความจำเป็นที่ต้องใช้เงินก็ได้ มาแกแตจะไม่มีการกำหนดว่าต้องบริจาคจำนวนเท่าใด โดยปกติแล้วกิจกรรมจะมีการเตรียมอาหาร เมื่อผู้ร่วมงานรับประทานอาหารเสร็จก็จะนำเงินบริจาคหยอดใส่ไว้ในตู้รับบริจาค ไม่จำเป็นที่ต้องเขียนหรือระบุ ชื่อ ที่อยู่ และจำนวนเงินบริจาค เนื่องจากในอิสลามถือว่า “การบริจาค” เสมือนการให้ของมือขวาแต่มือซ้ายไม่รู้ว่าบริจาคจำนวนเท่าใด


หมายเลขบันทึก: 659419เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2019 22:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2019 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท