คติความเชื่อเรื่องเรือส่งวิญญาณ


#บทความ

คติความเชื่อเรื่องเรือส่งวิญญาณ

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (5 มกราคม 2562)

เวลาที่เราชมภาพยนตร์ระดับ blockbuster เช่น The Lord of The Rings และ Thor : The Dark World จะเห็นฉากการประกอบพิธีศพบุคคลสำคัญด้วยการนำศพลงเรือและให้ล่องไปในแม่น้ำหรือทะเล อาจมีการเผาศพขณะอยู่ในเรือด้วย นั้นคือการนนำเสนอพิธีกรรมปลงศพของคนในสมัยโบราณที่มีลักษณะเช่นเเดียวกันในหลายวัฒนธรรม

วันนี้ผู้เขียนขอนำเสนอพิธีกรรมการปลงศพด้วยการใช้่เรือส่งวิญญาณดังนี้

คติความเชื่อเรื่องเรือส่งวิญญาณ ความเชื่อดังกล่าวปรากฏตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยในชุมชนที่อยู่ใกล้ลำน้ำหรือใกล้ทะเล นิยมเคลื่อนศพไปทางน้ำด้วยเรือส่งศพ เรียกว่าเรือนาค เพื่อส่งวิญญาณกลับไปสู่โลกเดิมคือบาดาลหรือนาคพิภพ ผู้ที่จะนำวิญญาณกลับไปได้อย่างปลอดภัยต้องเป็นนาคเท่านั้น (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2551, หน้า 28) เรือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวข้องกับคติความเชื่อหลังความตาย อย่างน้อยราว 2,500 ปีมาแล้ว ชาวโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์จะทำหัวเรือเป็นรูปหัวงู ท้ายเรือเป็นรูปหางงู เชื่อว่างูเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์สามารถคุ้มครองป้องกันและบันดาลความอุดมสมบูรณ์มาให้

เอเดรียน สนอดกราส (ภัทรพร สิริกาญจน และธรรมเกียรติ กันอริ บรรณาธิการ. 2541, หน้า 338 - 339) อธิบายหน้าที่เชิงสัญลักษณ์ของงูหรือนาคว่า เป็นสัญลักษณ์ของหนทาง หรือสะพานเชื่อมระหว่างโลกกับสวรรค์ ทอดข้ามแม่น้ำหรือมหาสมุทรของอันตภาพ สะพานนี้เชื่อมดินแดนระหว่างฝั่งสังสาระคือดินแดนแห่งการการเวียนว่ายตายเกิด ส่วยฝั่งนิพพานคือดินแดนแห่งอมตะ งูยังถูกสมมติให้เป็นโลงศพ

คนโบราณนำท่อนไม้มาถากเป็นรางวางศพเหมือนท้องงู พร้อมทั้งใส่เครื่องมือเครื่องใช้เพื่อให้คนตายนำติดตัวไปยังโลกหลังความตาย ชาวบ้านเรียกเรือว่าโลง (สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2544, หน้า 16 – 20) แล้วจึงนำโลงศพไปไว้ในถ้ำหรือสถานที่ศักดิสิทธิ์ เช่นที่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น คติความเชื่อเรื่องเรือศักดิ์สิทธิ์ส่งวิญญาณปรากฏลวดลายซึ่งทำเป็นรูปเรือพิธีกรรมที่กลองมโหระทึก พบที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

กลองมโหระทึกถูกพบในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า เวียดนาม ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น สันนิษฐานว่า มีการผลิตครั้งแรกในวัฒนธรรมดองซอน ประเทศเวียดนาม ใช้มาตั้งแต่สมัยตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่าพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการติดต่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น พิธีกรรมขอฝน พิธีกรรมผ่านภาวะเช่น พิธีกรรมในการฝังศพ หรือพิธีกรรมในการรักษาโรค เป็นต้น ปัจจุบันยังมีการใช้ในการประกอบพระราชพิธีเช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัล แรกนาขวัญ เป็นต้น กลองแต่ละใบมีการสลักภาพไว้หลายลายเช่น ภาพเรือ ภาพนก ภาพดวงดาว พระอาทิตย์ เป็นต้น

จากที่กล่าวมาเป็นเพียงหนึ่งในพิธีกรรมการปลงศพแบบใช้เรือส่งวิญญาณเท่านั้น ในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย ยังมีพิธีกรรมการปลงศพแบบฝัง การเผา และการฝังศพครั้งที่สองด้วย ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงวิธีใดวิธีเดียว

หลังจากประเทศไทยได้รับอิทธิพลทางศาสนาพุทธ คติความเชื่อเรื่องการปลงศพได้พัฒนามีความซับซ้อนมากขึ้น พิธีจะประกอบขึ้นภายใต้ปรัชญาและความเชื่อในพุทธศาสนา คือการเผาศพ และเมื่อรับวัฒนธรรมหลายศาสนาก็มีพิธีกรรมการปลงศพที่ต่างกันไปเช่น ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ รวมถึงคติตามวัฒนธรรมจีนใช้การฝัง

เอกสารประกอบการเขียน

ภัทรพร สิริกาญจน และธรรมเกียรติ กันอริ บรรณาธิการ. (2541). สัญลักษณ์แห่งพระสถูป / เอเดรียน สนอดกราส. กรุงเทพฯ : อมรินทร์วิชาการ. พิมพ์ครั้งที่ 2

.

สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. (2550). เรือพระราชพิธี และแห่เรือมาจากไหน?. กรุงเทพฯ :

โพสต์ พับลิชชิง.

สุจิตต์ วงษ์เทศ, บรรณาธิการ. (2551). พระเมรุ ทำไม? มาจากไหน. กรุงเทพฯ: เรือนแก้ว

การพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 2

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีรวงศ์. (ม.ป.ป.). กลองมโหระทึก (Bronze Drum). สืบค้นเมื่อ 5 มกราคม 2562 จาก http://www.finearts.go.th/ mahavirawongmuseum/parameters/km/item/ กลองมโหระทึก-bronze-drum

#ภาพประกอบ ลายเส้นเรือศักดิ์สิทธิ์ ข้างกลองมโหระลึก ราว 3,000 ปีมาแล้ว พบที่วัดตลิ่งพัง (ศีรีวงการาม) ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ค้นจาก มารีนเนอร์ไทยดอทคอม. http://www.marinerthai.net/ sara/viewsara1163.php อ้างใน กลองมโหระทึกในประเทศไทย เมธินี จิระวัฒนา สำนักพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรมศิลปากร 2546.ค้นเมื่อ 5 มกราคม 2562

หมายเลขบันทึก: 659356เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2019 05:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มกราคม 2019 05:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท