ความอยากเป็นครูของผม - จะต้องเดินอย่างไร ในศตวรรษที่ 21


นอกจากการสอนในห้องเรียน คือต้องเป็นผู้ศึกษา ท้องถิ่นและชุมชน รักษาวัฒนธรรมและมีข้อแนะนำการใช้วัฒนธรรมทั้งในบริบทของการเรียนการสอน และปรับปรุง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้สร้างรายได้ หรือที่เรียกกันว่า Creative Economy ซึ่งเป็นความคิดสร้างสรรค์ จากฐานวัฒนธรรมในท้องถิ่น

บทบาทของครูต่อชุมชนในศตวรรษที่ 21 ควรเป็นไปในทิศทางใดบ้าง

              ผมคิดว่าครูต้องเป็นผู้บริหารจัดการห้องเรียน  ด้วยบริบทสังคมปัจจุบันเปลี่ยนไป มีการสื่อสารและแหล่งความรู้ที่ไร้พรมแดน เราในฐานะครูควรเป็นผู้แนะนำสารสนเทศอันเป็นประโยชน์ให้กับผู้เรียน เพื่อการพัฒนาศักยภาพของตัวเขาเอง ในบริบทของชุมชน ผมคิดว่า PLC คือการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งไม่ใช่แค่คณะครูในโรงเรียน หรือผู้ที่มีบทบาทในการศึกษาเท่านั้น แต่รวมถึงท้องถิ่น เช่น ผู้นำท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน วัด พระสงฆ์ หรือที่เรียกกันว่า “บวร” อันเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ ทั้งจากชุมชน และจากแหล่งสารสนเทศในโลกไร้พรหมแดน

                  บทบาทที่สำคัญของครู นอกจากการสอนในห้องเรียน คือต้องเป็นผู้ศึกษา ท้องถิ่นและชุมชน รักษาวัฒนธรรมและมีข้อแนะนำการใช้วัฒนธรรมทั้งในบริบทของการเรียนการสอน และปรับปรุง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้สร้างรายได้ หรือที่เรียกกันว่า Creative Economy ซึ่งเป็นความคิดสร้างสรรค์ จากฐานวัฒนธรรมในท้องถิ่น  ในฐานะเป็นครูภาษาไทย เครื่องมือที่เราสามารถนำมาเลือกเฟ้นองค์ความรู้เหล่านี้ คือองค์ความรู้ทางคติชนวิทยา นำมาสร้างสรรค์ เรียกตามศาสตราจารย์ ศิราพร  ว่า “คติชนสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์สินค้า วัฒนธรรมการท่องเที่ยว หรืออื่น ๆ จากข้อมูลทางคติชนวิทยาที่เรามีอยู่แล้ว องค์ประกอบเหล่านี้ เป็นสิ่งสำคัญที่ครูภาษาไทย ในศตวรรษที่ 21 ควรมี

                  ทั้งนี้มิใช่ว่าครูจะเป็นผู้พาชาวบ้านผลิตสินค้า หรือบริการดังกล่าว เพราะอาจจะเกินกำลังของตนมากเกินไป แต่สิ่งสำคัญที่ครูในศตวรรษที่ 21 ควรทำ ก็คือการให้คำแนะนำ สร้างองค์ความรู้ เป็นผู้นำในการวิจัยค้นคว้า รวมถึงเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงาน ให้ชุมชนได้ฉุกคิดถึงรากฐานทางวัฒนธรรมดังกล่าวในท้องถิ่นของตน

                  อีกประเด็นสำคัญก็คือ การปลูกฝังเยาวชนให้รักท้องถิ่น ชี้ให้เขามีสำนึกรักบ้านเกิด ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่ครูน่าจะบูรณาการได้ เช่น การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การทำเพจประชาสัมพันธ์ท้องถิ่น การทำชุดข้อมูลความรู้ สิ่งเหล่านี้ล้วนนำมาบูรณาการในห้องเรียน และครูเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียนได้ เมื่อนักเรียนได้เห็นถึงความสำคัญของท้องถิ่น รู้แง่มุมภูมิปัญญา และประวัติศาสตร์ความเป็นมาอย่างแจ่มแจ้ง แน่นอนว่าเขาจะรักท้องถิ่นของตนเอง เพราะรักด้วยใจ มิใช่เพียงการปลูกฝัง 

    ปัญหาที่พบในท้องถิ่น ครูจะแก้ปัญหาอย่างไร

                    ขอบคุณสำหรับคำถามครับผม ตัวผมเองคิดว่าปัญหาในท้องถิ่น หากเป็นปัญหาในการเรียนการศึกษาของนักเรียน เป็นสิ่งที่ครูควรทำอย่างยิ่ง  แต่หากเป็นปัญหาส่วนอื่น ๆ ในท้องถิ่น ตัวผมเองคิดว่าครูน่าจะต้องเป็นผู้ร่วมกับคนในท้องถิ่นแก้ปัญหามากกว่าครับ เนื่องด้วยเรื่องบางเรื่องอาจจะเกินกำลังของครู หรือครูอาจจะมีความรู้ในส่วนนั้นไม่ดีพอเท่ากับคนในท้องถิ่น หรือผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ นั่นเอง

                    ปัญหาในด้านการศึกษา ในฐานะที่ผมอยากเป็นครูในระดับมัธยมศึกษา ผมคิดว่ามีอยู่ 2 เรื่อง ที่สังคมไทย เราตั้งคำถามมาโดยตลอด ประเด็นแรกการเราจะแก้ปัญหาการท้องในวัยเรียนอย่างไร ? ประเด็นที่สองความเท่าเทียมทางการศึกษาของคนไทยเป็นจริงหรือไม่ ? ผมคิดว่าสองคำถามนี้มีปรากฎตลอดในสังคมไทย ผ่านเวทีและสื่อออนไลน์ต่าง ๆ มากมายให้เราได้พบเห็น

                    การแก้ไขปัญหาในประเด็นแรก ที่บอกว่าเราจะแก้ปัญหาการท้องในวัยเรียนอย่างไร ? ปัญหานี้ในมุมมองของผม คิดว่าการท้องในวัยเรียน มาจากนักเรียนไม่รู้จักป้องกันตนเอง รวมถึงครู ผู้ปกครองผู้หลักผู้ใหญ่มองว่าเรื่องเพศเป็นสิ่งที่น่าละอาย และไม่ควรนำมาพูดคุยกัน หากใครคนนั้นนำเรื่องดังกล่าวมาพูดคุย แสดงให้เห็นว่าบุคคลคนนั้นเป็นคนหยาบ ลามก ไม่รู้จักเรื่องควรสนทนาหรือไม่ควรสนทนา ทำให้การมีเพศสัมพันธ์ เป็นเรื่องในที่มืด หรือเป็นเรื่องในที่ลับ เมื่อเป็นเรื่องในที่ลับ แน่นอนว่ากระบวนการในกาพูดคุย แลกเปลี่ยน แนะแนว แนะนำจึงถูกปิดเงียบไปด้วย นักเรียนไม่กล้าพูดอย่างโจ่งแจ้ง ครูไม่กล้าสอนอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นกรอบบริบทของสังคมเป็นอย่างนี้ ผมจึงมองว่าการแก้ปัญหาจริง ๆ คือทำให้นักเรียนรู้จักการป้องกัน การพูดคุย และกล้าขอคำแนะนำจากครู หรือผู้ปกครอง สอนให้เด็กรู้จักพิจารณาความเหมาะสมของคนที่เขาจะสอบถาม เมื่อนักเรียนกล้าพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตามที่ได้กล่าวมา แน่นอนว่า ปัญหาการท้องในวัยเรียน เราจะสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที

                    ในส่วนของประเด็นที่สองปัญหาการเข้าถึงความเท่าเทียมทางการศึกษา ผมมองว่าหลักสูตรของส่วนกลาง หรือกิจกรรมใหญ่ ๆ มักถูกโรงเรียนใหญ่เข้าถึงก่อนเสมอ  ในท้องถิ่นชนบทมีโรงเรียนขยายโอกาสอยู่มาก  การเดินทางเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมหรือเข้าถึงกิจกรรมจึงเป็นไปได้น้อย หากผมได้ไปสอนในโรงเรียนดังกล่าว ตัวผมเองคิดว่าการจัดกระบวนการการเรียนการสอนเป็นสิ่งสำคัญ เราในฐานะครูอาจจะต้องเพิ่มคามเข้มข้นของรายวิชา ตลอดถึงหาลู่ทางในการเข้าถึงการพัฒนานักเรียนในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประกวดแต่งคำประพันธ์ ค่ายนักเรียนนักรู้ หรือกิจกรรมอื่น ๆ อันจะช่วยให้นักเรียนของเราได้เปิดโลกทัศน์ของเขามากขึ้น ในฐานะครูเราควรพาเด็กได้พัฒนาผ่านประสบการณ์จริงเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่ดีมาก ตลอดจนปัจจุบันนี้มีช่องทางของโลกออนไลน์ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้เราได้รับรู้อยู่ตลอดเวลา

                    ส่วนปัญหาในท้องถิ่นนั้น ตามที่ผมได้กล่าวไปแล้วในข้างต้น ครูควรเป็นผู้ร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งบทบาทของครูโดยเฉพาะครูภาษาไทย อาจเป็นส่วนหนึ่งในการเสนอแนวทาง ตลอดจนเป็นผู้จัดทำข้อมูลสารสนเทศให้กับชุมชนได้ เช่น การเรียบเรียงประวัติหมู่บ้าน การทำแบบสอบถาม หรือการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ครูควรกระทำ และวางตัวเมื่อเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาท้องถิ่น

      จังหวัดอุบลราชธานีมีจุดเด่นอย่างไรหากต้องกลับไปสอนที่บ้าน

                      จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญต่อภาคอีสานมากครับ จะเรียกว่าเป็นแอ่งอารยธรรมก็ได้ เพราะมีนักปราชญ์ นักคิด นักเขียนคนสำคัญของประเทศไทย หลายท่าน โดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ของภาคอีสาน ที่วิทยานิพนธ์อันเกี่ยวข้องกับภูมิภาคแห่งนี้ จะต้องมีชื่อท่านปรากฏในบรรณานุกรมเสมอ เช่น เติม วิพากพจนกิจ ปรีชา พิณทอง สวิง บุญเจิม ระลึก ธานี ท่านเหล่านี้ล้วนเป็นนักปราชญ์ที่รวบรวมตำรับตำรา แนวคิดของภาคอีสานเอาไว้อย่างมากมาย

                      ด้วยกรอบแนวคิด และบริบททางสังคมดังกล่าว จุดเด่นของจังหวัดอุบลราชธานี คือความเข้มข้นของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นครับ  ดังนั้นเราในฐานะครูหากจะพัฒนานักเรียน อาจจะต้องมองถึงภูมิปัญญาของอารยชนที่สั่งสมมาเหล่านี้ แล้วนำมาออกแบบกระบวนการเรียนการสอน ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ท้องถิ่นไปพร้อมกันด้วย

        ทำไมถึงอยากเป็นครู จะเป็นครูที่ดีได้อย่างไร

                        ความเป็นครูของผม เริ่มต้นขึ้นเมื่อผมขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ตัวผมเองคิดว่าการเป็นครู คือต้องเป็นผู้นำของนักเรียน ไม่ใช่แค่ผู้สอนอย่างเดียว กระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ อันเป็นต้นเหตุให้ผมอยากเป็นครู คือ การเรียนรู้แบบกระบวนกร หรือง่าย ๆ ก็คือ การเป็นโค้ช พานักเรียนร่วมทำกิจกรรม พร้อมกับการสะท้อนการเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้มันภาคภูมิใจ และรู้สึกปลื้มปิติ เมื่อวันหนึ่งนักเรียนของเรา หรือสมาชิกในกลุ่มเรา ประสบความสำเร็จ เขาสามารถพัฒนาตนเอง ให้เป้นมนุษย์ที่สมบูรณ์พร้อมด้วยคุณภาพต่อไปได้ครับ

          ทำไมครูถึงต้องมีจรรยาบรรณ

                          ตัวผมเองคิดว่ามนุษย์ทุกคนต้องมีจรรยาบรรณครับ เพราะจรรยา แปลว่า กิริยาหรือการกระทำ ส่วน บรรณ ก็คือบรรทัดฐาน ดังนั้นหากมนุษย์จะอยู่ในสังคมได้ดี มนุษย์ต้องมีบรรทัดฐานทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น ตามหลักพระพุทธศาสนาบรรทัดฐานของมนุษย์ก็คือศีล 5 ครับผม หากใครรักษาศีล 5 ได้ครบ ก็จะถือว่าเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  ครูถือเป็นวิชาชีพชั้นสูง เช่นเดียวกันกับวิชาชีพอื่น ๆ คือเราต้องมีบรรทัดฐาน ในการปฏิบัติตัว และวางตัวอยู่ในสังคมให้เหมาะสม หากใครปฏิบัติได้ ตามจรรยาบรรณครู ทั้ง 9 ข้อ ก็จะเป็นบุคลากรทางการศึกษาที่สมบูรณ์ และน่ายกย่องครับ

            ครูที่ดีในทัศนคติของเราเป็นอย่างไร

                            ครูที่ดีในทัศนคติของผม คือครูผู้ทรงความประพฤติอันบริสุทธิ์ทั้งภายนอกและภายในครับ  มีจริยาวัตรเหมาะแก่การเคารพของศิษย์ ซึ่งมีองค์ประกอบอยู่ 3 อย่าง ประกอบด้วย กายดี จิตใจดี ความคิดดี

                            กายดี ก็คือครูท่านนั้นสามารถเป็นแบบอย่างในการวางตัว การประพฤติปฏิบัติตนอันเป็นแบบอย่างในทางที่ดีให้กับศิษย์ได้ ทั้งการกระทำ คำพูด และกิริยามารยาท

                            จิตใจดี เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในคุณสมบัติของครูที่ดีในทัศนคติของผม ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงออกมาจากภายใน จะเรียกว่า จิตวิญญาณความเป็นครู ก็คงใช่ สิ่งที่เรียกว่าจิตใจดี คือจิตของท่าน เจตนาของท่าน ประกอบด้วยพรหมวิหาร 4 อิทธิบาท 4 และหิริโอตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อบาป ความเมตตา รักใคร่ศิษย์เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อครูมีจิตใจที่ประกอบไปด้วยภูมิธรรมดังกล่าว จะช่วยให้ครูมีจิตใจที่กล้าแข็ง และมีแรงปณิธานในการผลักดันให้ศิษย์ของตนเองประสบความสำเร็จ และดำรงตนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในสังคม

                            ประการสุดท้ายความคิดดี หมายถึง มีความคิดในการสร้างสรรค์ ผลิต และคิดค้นอะไรใหม่ ๆ มาใช้ในการเรียนการสอน ยกระดับความรู้ของนักเรียนในชั้นเรียน ทำให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมากขึ้น ตลอดทั้งเป็นโค้ชที่คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำนักเรียนของตน ให้มีกระบวนทัศน์ในการพัฒนาทักษะการทำงานมากขึ้นอีกด้วย

              บทบาทของครูในศตวรรษที่ 21 และบทบาทของนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ควรเป็นอย่างไร

                              ในศตวรรษที่ 21 ผมคิดว่ามีปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลงอยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ 1.สังคมโลกาภิวัตน์ 2.สังคมข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน 3.สังคมการแข่งขันเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์  ปัจจัยทั้ง 3 นี้คือโจทย์ของสังคมไทย ว่าเราจะพัฒนากันไปในทิศทางไหน ให้ก้าวไปพร้อมกับโลก ตัวผมเองคิดว่ารูปแบบการสอนของครูต้องเปลี่ยนไป และกระบวนทัศน์ของนักเรียนต้องเปลี่ยนใหม่ เปลี่ยนอย่างไร ผมขอเสนอเอาไว้อย่างนี้ว่า

                              รูปแบบการสอนของครูต้องเปลี่ยนไป ก็เนื่องด้วยครูมิใช่ผู้รู้แจ้งทุกเรื่อง ทุกองค์ความรู้ ดังนั้นในยุคที่การสื่อสารและข้อมูลสารสนเทศมากมายดังกล่าว ทำให้ผู้เรียนสามารถค้นคว้าและเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ บางครั้งนักเรียนอาจจะมีความรู้มากกว่าผู้สอนก็เป็นได้ หากเขาสนใจและเป็นทางที่นักเรียนชื่นชอบ จากประเด็นดังกล่าว เราในฐานะครูควรวางตัวเหมือนโค้ช ที่คอยแนะนำแนวทาง และช่วยเหลือนักเรียนในการศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติมของเขา เพิ่มทักษะและกระทัศน์ในการทำงาน ให้อิสระทางความคิดเพื่อให้เขาสร้างสรรค์สิ่งต่างได้ตามชอบใจ แต่ต้องอยู่ในกรอบบริบทของรายวิชา หรือข้อตกลงระหว่างครูกับนักเรียน ยกตัวอย่าง เช่นกิจกรรมโครงการวรรณคดีน่ารู้ ของสุนทรภู่ เรื่องพระอภัยมณี เราต้องให้เด็กกล้าตั้งคำถาม และมีโจทย์ทางความคิดของเขาเอง อาจจะเป็นโจทย์ให้นักเรียนหาร่วมกัน เช่น สุนทรภู่กับการเมือง  สุนทรภู่กับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร สุนทรภู่ทำไมเรียกกระฎุมพีของไทย เมื่อเด้กได้โจทย์ไป เขาสามารถไปค้นต่อในห้องสมุดหรืออินเทอร์เนตได้ แต่ครูต้องวางกรอบแหล่งข้อมูล มีการเชื่อมโยงให้เด็กเห็นว่าแหล่งข้อมูลไหนน่าเชื่อถือ แหล่งข้อมูลแบบไหนไม่น่าเชื่อถือ เช่น บทความทางวิชาการ วิจัยของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ในปัจจุบันหาโหลดได้ง่าย เมื่อนักเรียนรู้แหล่งข้อมูล หรือฐานข้อมูลในการค้นคว้า รู้ความน่าเชื่อถือของหลักฐานจะทำให้นักเรียน มีกระบวนการหาคำตอบ ซึ่งกระบวนการนี้ นักเรียนสามารถนำไปต่อยอดในการพิสูจน์ความคิด หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริง จากหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ด้วย นั้นเอง  

                 ถ้าคุณไปเป็นครูจะจัดการเรียนการสอนแบบใด ให้นักเรียนสนใจและสนุกสนาน

                                ผมคิดว่าการเรียนการสอนที่สนุกคือ การสอนที่ไม่สอน นั่นคือเราไม่อัดดุ้นวิชาการที่เป็นแท่ง ๆ เพราะหลายสถานการณ์ในการเรียนรู้ และการรับสาระความรู้ดังกล่าว ก็ไม่เหมาะมากนักและนักเรียนหลายคนก็ไม่อยากรับ เพราะมันหนักเกินไปสำหรับเขา  เราในฐานะครูต้องสร้างจุดหมาย หรือเป้าหมายให้นักเรียนเห็นเป็นคร่าว ๆ ก่อนเพื่อให้เขารู้ว่า ความรู้นี้เขาจะนำไปใช้อะไรได้บ้าง อย่างเช่นคนที่แบกไม้ไผ่จากป่า หากเขาแบกออกมาโดยไม่มีวัตถุประสงค์เขาก็คงทิ้งลงกลางทาง เพราะไม่เห็นว่ามีประโยชน์ แต่ถ้าเขาคิดว่าไม่ไผ่ลำนี้ เขาจะนำไปสานตะกร้า ไปสานกระบุง หรือสิ่งของเครื่องใช้ เขาก็ต้องพยายามแบกมา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้จงได้ ความรู้ของเด็กก็เช่นเดียวกัน เราต้องพาเด็กรู้เป้าหมายก่อน แล้วใช้เกม เพลง หรือวีดีทัศน์ที่ทำให้เขาสนุกสนานรื่นเริง ไม่เบื่อ มาเป็นสื่อในการสอน การเรียนแบบนี้จะทำให้นักเรียนเขารู้จุดมุ่งหมายการนำไปใช้ ทำให้มีความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญในรายวิชาดังกล่าว พร้อมกันนั้นครูเลือกใช้ความสนุกสนาน เล่นแบบมีความรู้จะทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ไปพร้อมกันแบบไม่รู้ตัว

                  หมายเลขบันทึก: 659351เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2019 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2019 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


                  ความเห็น (0)

                  ไม่มีความเห็น

                  พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
                  ClassStart
                  ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
                  ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
                  ClassStart Books
                  โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท