การใช้ดุลพินิจของฝ่ายบริหารแบบรวบอำนาจได้เสีย


การใช้ดุลพินิจของฝ่ายบริหารแบบรวบอำนาจได้เสีย

18 มกราคม 2562

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ต้องติดตามกระแสโลกอย่างใกล้ชิด

กระแสโลกมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงมานานแล้ว แต่กรณีของไทยความเปลี่ยนแปลงช้า บ้างก็ว่านี่คือวัฒนธรรมไทยที่ปฏิบัติกันมาช้านานที่ควรยึดปฏิบัติต่อไป เป็นเรื่องของวิธีคิด หรือ กรอบความคิดที่ต่างกัน เป็นกระแสที่ “ฉาบฉวย” ต่างฝ่ายอยากเปลี่ยนนั่นเปลี่ยนนี่ อยากทิ้งวัฒนธรรมเดิม แต่ในความอยากไม่ว่าอยากแบบไหน กลับไม่ได้พูดถึงปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข เป็นปัญหาในการขับเคลื่อนสังคมมาตลอด เพราะ หากอีกฝ่ายจะก้าวหน้า อีกฝ่ายก็มาดึงให้ถอยซ่อนเงื่อนหาประโยชน์ส่วนตนนั้น เช่น ประเด็นการเปลี่ยนเครื่องแบบนักเรียนที่ไม่ได้มีผลโดยตรงใดที่ทำให้เด็กนักเรียนเรียนดีขึ้นหรือแย่ลง [2]เป็นต้น

การจัดสรรทรัพยากร คนไทยต้องได้ประโยชน์ อย่างเป็นธรรม สำคัญไม่น้อยไปกว่า รัฐสวัสดิการ และอาจจะดีกว่าที่ คนได้รู้สึกว่าตนก็สำคัญ สามารถลดความเหลื่อมล้ำไปได้มาก และจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ มากกว่าการกุมอำนาจไว้ส่วนกลาง แล้วขายสัมปทาน รวมการให้เช่า แก่ต่างชาติ แล้วก็มาโทษกันไปมาระหว่างขั้วอำนาจต่างๆ ซึ่งในทางรัฐศาสตร์เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “อีลิท” [3]

Elite (อีลิท) ในที่นี้มีผู้แปลว่า “ชนชั้นนำ” หรือ “ชนชั้นอภิสิทธิ์” (คำนี้แรงไป) หรือ “ผู้มากลากดี” มิได้หมายถึงเพียงชนชั้นนำที่เป็น “ชนชั้นสูง” (Ruling class, Upper class) แต่เปรียบว่า หมายรวมกลุ่มคนชนชั้นรุ่นใหม่ที่สามารถก้าวมาสู่สถานะนี้ได้ด้วย คือสมัยนี้ เพิ่มรวมนักการเมือง นักวิชาการ นักธุรกิจ และพวกหัวก้าวหน้า เข้าไปด้วย แม้พระสงฆ์, สื่อมวลชน, นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน, คนดังมีชื่อเสียงเป็นดารา, ผู้ทรงแนวคิดที่ทรงอิทธิพล, นักเคลื่อนไหว (Activist) ฯลฯ ก็เป็น Elite ได้ เพราะคนเหล่านี้จะกลายเป็น “ชนชั้นนำทางความคิดของสังคม” เป็นกลุ่มคนที่มีพลังอำนาจไปกำหนดทิศทางและการเปลี่ยนแปลงสังคมได้

ปัจจุบันนักวิชาการรัฐศาสตร์ท่านหนึ่งกล่าวว่า หมายถึง กลุ่ม “อีลิทเก่า” และ กลุ่ม “อีลิทใหม่” ที่กำลังต่อสู้แย่งอำนาจกันการบริหารประเทศ [4]แต่ก่อนแยกเป็นกลุ่ม “อีลิทอนุรักษ์นิยมเจ้า” กับ กลุ่ม “อีลิทนักธุรกิจการเมือง” ที่กล้าได้กล้าเสีย ที่พยายามยกระดับ ธุรกิจไปสู่ทุนข้ามชาติมากขึ้น โดยไม่แยแสชาตินิยมผูกขาดอนุรักษ์

นอมินีกับหลักนิติธรรม

มีคำถามประมาณ 4 ข้อในตอนนี้ว่า (1) “อำนาจอธิปไตยยังเป็นของปวงชนชาวไทยอยู่หรือไม่” ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 3 [5] ที่บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย...” (2) การบังคับใช้กฎหมายยังเป็นธรรม หรือเป็นไปตาม “หลักนิติธรรม” (The Rule of Law) อยู่หรือไม่ [6] (3) การใช้อำนาจแบบสั่งผ่าน “นอมินี” (Nominee) [7] และ “อำนาจนอกระบบ” ยังคงครอบงำระบบฯ [8] อยู่หรือไม่ เพียงใด ตัวตายตัวแทนมีมาก ตัวจริงลอยนวลใช่หรือไม่ (4) การมอบอำนาจในทางปกครองทางบริหารเป็นไปตามเจตนารมณ์จริงหรือไม่

คำถามดังกล่าวจะมาเกี่ยวข้องใน 3 ประเด็น คือ (1) การเป็นตัวแทน (นอมินี) ในการทำสัญญาการเงิน สัญญารับจ้างงาน สัญญาตัวแทนต่าง ๆ ฯลฯ (2) การเข้าไปมีส่วนได้เสียไปล็อบบี้หรือสมยอม (ฮั้ว) ในผลประโยชน์ต่าง ๆ โดยกลุ่มผลประโยชน์ (3) การเข้าไปมีผลประโยชน์ทางตรงทางอ้อม หรือเป็นคู่แข่งกับคู่อริ ประเด็นเหล่านี้ “ล้วนเป็นปัญหาการใช้ดุลยพินิจ” หรือ การใช้อำนาจตัดสินใจทางการเมือง การบริหาร และ ทางปกครอง ทั้งสิ้น

ถือเป็นปัญหา “การใช้ดุลพินิจของฝ่ายบริหารแบบรวบอำนาจได้เสีย” เป็นประเด็นเป็นทั้งในทางการเมือง ในราชการรัฐวิสาหกิจห้างร้านฯบริษัทเอกชน และ ใน อปท. ซึ่งทางทฤษฎีตามหลักกฎหมายแล้ว “ถือเป็นเรื่องปกติตามระเบียบแบบแผนของราชการ” แต่ในทางความเป็นจริง หรือทางปฏิบัตินั้นเป็นปัญหา เพราะ “การใช้อำนาจดุลพินิจ” (Discretion) มักผิดปกติ เป็นไปตามอำนาจนอกระบบเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น จากกลุ่มการเมืองของฝ่ายบริหาร หรือนายทุน หรือ จากแรงโน้มน้าว อิทธิพลชี้นำสั่งการที่เหนือกว่า หรือมีผลประโยชน์ชักนำ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางตรง ทางอ้อม หรือทับซ้อนก็ตาม

ดุลยพินิจที่เป็นการตัดสินใจร่วมมีปัญหา

“ดุลยพินิจที่เป็นการตัดสินใจร่วม” ถือเป็นปัญหามากในเรื่องกระบวนการใช้ดุลยพินิจ ในรูปแบบระเบียบ กฎหมาย มีปัญหา การไม่เข้าใจถ่องแท้ หรือเพิกเฉย โดยเฉพาะ การตัดสินใจขั้นสุดท้าย หากมีเสียงก้ำกึ่ง อาจเกิดการตัดสินใจที่ก็ไม่เอาตามดุลยพินิจร่วมได้ หนักที่สุดก็คือ กลุ่มคนที่ใช้ดุลยพินิจร่วมล้วนแล้วแต่เป็นนอมินีทั้งหมด

น่าเป็นห่วงว่า ตำแหน่งทางการเมืองและตำแหน่งราชการที่สำคัญได้กลายเป็นนอมินี (Nominee) กันเสียส่วนมาก น่าเป็นห่วงวัฒนธรรมแบบนี้ที่ยังคงยั่งยืนยงอยู่ในสังคมไทยไปอีกนาน ฝากให้คิดด้วยว่าจะแก้ไขกันได้อย่างไร

การรวมศูนย์อำนาจที่สวนทางยุทธศาสตร์ชาติ

การตั้งหน่วยงานใหม่ 52 หน่วยที่กำลังเป็นประเด็นในตอนนี้ เป็นการสวนทางยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ มีผู้ไม่เห็นด้วยค้านว่า สิ้นเปลืองงบประมาณและไม่สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ [9] เห็นว่า ในเรื่องจำนวนหน่วยงานควรปรับลด หรือ “รวมกัน” (ควบรวม) และ ควรเสริมสร้าง “กระบวนการ” ในการจัดทำ ปรับปรุง แบบมีส่วนร่วม (People Participation) ให้มากขึ้น  

แม้เดิมมีความเชื่อประณามการทำรัฐประหารว่าเลวร้าย แต่สถานการณ์ที่ผ่านมาบังคับให้ทหารทำรัฐประหารถึง 2 ครั้ง กลายเป็นว่า “ทหารก็มีสิทธิ์ธรรมชาติที่จะทำรัฐประหารได้” [10] เช่น การมีประชาธิปไตยจอมปลอมที่ไม่ยึดหลักกฎหมายในการปกครองประเทศ ฯลฯ สาเหตุข้ออ้างหนึ่งของการยึดอำนาจปฏิวัติรัฐประหาร เพราะกลุ่มชนชั้น หรือ อีลิทที่ขัดผลประโยชน์กัน มีกลุ่มฐานประชาชนที่จัดเกณฑ์กันมาร่วมกิจกรรม เพื่อสร้างความชอบธรรมแก่กลุ่มชนชั้น คนที่มาก็จะได้รับค่าจ้างประโยชน์ตอบแทนฯไป โดยไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงในการตัดสินใจทางการเมือง อันเป็น “หัวใจของประชาธิปไตย” ที่ต้องตัดสินใจร่วมในเรื่องส่วนรวม

ใน “การกระจายอำนาจ” (Decentralization) ต้องกระจายกระบวนการการมีส่วนร่วม (Political Participation) จริง ๆ ไม่ใช่มากระจุกอำนาจไว้ สร้างฐานอำนาจใหม่ ลงท้ายด้วยการซื้อเสียง นักเลง เกทับ คู่แข่ง หากเป็นเช่นนี้พนักงานส่วนท้องถิ่นก็แตกกันได้หลายกลุ่ม เพราะต่างทำงานเพื่ออำนาจกลุ่ม ไม่ใช่พัฒนาบ้านเมือง ทำให้องคาพยพต่าง ๆ ด้านสังคม ด้านการศึกษา และอื่น ๆ ก็มีผลกระทบตามกันไปหมด  

พลังอำนาจแห่งชาติ

เป็นประเด็นมากว่า “ฝ่ายบริหาร” หรือผู้มีอำนาจในการบริหารราชการบ้านเมืองนั้น มักมีพฤติกรรมที่ไม่สอดคล้องกับ “การพัฒนาบ้านเมือง” หรือจะเรียกว่า “ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์แห่งชาติ” (National Interest) หรือ “ไม่สอดคล้องกับประโยชน์โดยรวมหรือประโยชน์สาธารณะ” (Public Interest) ซึ่งเป็นที่น่าห่วงใยว่า คนไทยเราได้คำนึงผลประโยชน์แห่งชาติกันมากน้อยเพียงไร ในคำตอบจากปากของหลายคนว่า “ไม่”

แนวคิดการทำ “ยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นการใช้ “พลังอำนาจแห่งชาติ” เพื่อให้เกิดผลประโยชน์แห่งชาติ ในโครงสร้าง 3 เรื่อง คือ (1) ผลประโยชน์แห่งชาติ (2) พลังอำนาจแห่งชาติ และ (3) กระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ภายใต้องค์ประกอบ 3 องค์ประกอบ คือ (1) Ends (2) Ways และ (3) Means เพื่อตอบคำถาม 3 ประการ คือ (1) เราจะไปที่ไหนกัน “Where are we going ?” (2) สภาวะสภาพแวดล้อม คืออะไรที่มาเกี่ยวข้องบ้าง “What is the environment ?” (3) เราจะไปที่นั่นได้อย่างไร “How do we get there ?” [11]

ผลประโยชน์แห่งชาติ (National Interest) เป็น “ความต้องการหรือความปรารถนา” (Want & Need) อันสำคัญยิ่งของประชาชนส่วนรวม (หมายถึงชาติ) ซึ่งความต้องการนั้นจึงมีลักษณะกว้างและค่อนข้างถาวร และเมื่อได้ “พิจารณากำหนดขึ้นแล้ว” ก็จะต้องมุ่งกระทำโดยต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุผล ซึ่งในมิติของการจำแนกแยกแยะผลประโยชน์แห่งชาตินั้น แยกได้หลายลักษณะ เช่น (1) จำแนกตามลักษณะความสำคัญ (Degree of Primacy) (2) จำแนกตามลักษณะความยืนยงถาวร (Degree of Permanent) (3) จำแนกตามลักษณะความเจาะจงหรือทั่วไป (Degree of Generality) [12]  

เหตุผลการรวมศูนย์อำนาจในยุทธศาสตร์ชาติ

มีเหตุผลชอบธรรมที่รองรับ “การรวมศูนย์อำนาจ” (Centralization) ที่สวนทางใน “การกระจายอำนาจ” ว่า (1) เพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ (National Unity) เนื่องจากรัฐบาลส่วนกลางเป็นสถาบันเดียวที่สามารถกระทำการในนามของผล ประโยชน์ส่วนรวม การมีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็งย่อมเป็นสิ่งสำคัญ หากรัฐบาลกลางอ่อนแอ ย่อมจะนำไปสู่การต่อสู้ขัดแย้งระหว่างส่วนต่าง ๆ ในสังคม และปราศจากซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (2) เพื่อความเป็นแบบแผนอันเดียวกัน (Uniformity) เนื่องจากว่ามีแต่เพียงรัฐบาลกลางที่สามารถวางหลักกฎหมายและระบบบริการสาธารณะต่าง ๆ ที่เป็นแบบแผนและมาตรฐานเดียวกันได้ ย่อมทำให้เกิดการยึดโยงชุมชนที่อยู่ในส่วนต่าง ๆ ของประเทศเข้าไว้ด้วยกัน (3) เพื่อความเสมอภาคภายในชาติ (Equality) เนื่องจากการกระจายอำนาจมีจุดอ่อนตรงที่รัฐบาลที่อยู่นอกศูนย์กลางออกไปถูกผลักให้ตนเองต้องอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ภายในท้องถิ่นหรือภูมิภาคของตนเป็นหลัก จึงมีแต่เพียงรัฐบาลกลางที่สามารถแก้ไขความไม่เท่าเทียมอันเกิดจากความแตกต่างในทรัพยากรระหว่างชุมชนต่าง ๆ ภายในรัฐ (4) เพื่อความมั่งคั่งของชาติ (Prosperity) ที่ผ่านมา การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการรวมศูนย์อำนาจมักจะไปด้วยกันเสมอ การมีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็งย่อมทำให้สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาหรือการวางแผนในทางเศรษฐกิจของชาติได้ อันจะนำไปสู่การระดมทรัพยากรจากส่วนต่างๆ ภายในสังคม [13]

ความมั่นคงของชาติและผลประโยชน์แห่งชาติ

ซึ่งในแนวคิดการรวมศูนย์อำนาจในยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่ผิดอะไร เพราะมีจุดหมายที่แน่นอนแล้ว ในแนวคิดแบบทหาร ก็คือ “แนวคิดแนวอุดมคติ” ความบรรลุเป้าหมาย เป็นเรื่องของ “ความมั่นคงของชาติ” (National security) แน่นอนว่าในมุมมองนี้ ต้องมีผลประโยชน์แห่งชาติ (ของชาติหรือเพื่อชาติ) ซึ่งก็คือ “ยุทธศาสตร์ชาติ” เพราะ คงไม่มีชาติไหนที่ไม่ต้องการความเจริญก้าวหน้าเพื่อประโยชน์แก่ชาติของตนเองที่มีประชาชนเป็นเป้าหมาย

แต่แนวคิดในยุทธศาสตร์ชาตินั้นต้องไปในแนวทางเดียวกันได้ทั้งหมด ไม่ขัดแย้ง ไม่ถ่วงกันและกัน แต่แนวคิด ประชาสังคม แนวคิดการมีส่วนร่วม แบบ อปท. นั้น เน้นที่ “ความเป็นเจ้าของร่วม” ในเรื่องสาธารณะ ในเรื่องของส่วนรวม (Sense of Public Interest belonging) ไม่ใช่การรักษาส่วนรวมไว้เพื่อให้ใคร คนกลุ่มใด ชนชั้นใด อภิสิทธิชนใด มาเก็บเกี่ยวเอาประโยชน์ส่วนรวม หรือมาใช้ประโยชน์เฉพาะกลุ่มนั้น และ แนวคิดการกระจายอำนาจ ก็มิใช่การทำลายสถาบันสำคัญ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยังคงเทิดทูนรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นองค์อธิปัตย์ รัฐาธิปัตย์ หรือ ประมุขของประเทศ ไว้อย่างเหนือประโยชน์อื่นใดทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ประชาสังคม หรือกระบวนการการมีส่วนร่วม ก็ไม่ยินยอม ไม่ยินดีให้คนใดกลุ่มใดมาแอบอ้างถึงความจงรักภักดี การปกป้องสถาบัน องค์อธิปัตย์ของชาติ ว่ากลุ่มของตนเหนือกว่ากลุ่มอื่น เพื่อลดความได้เปรียบ ความชอบธรรม และการไปข่มขู่กลุ่มอื่นที่อ่อนด้อยกว่า หรือในทางกลับกันก็มิใช่ไม่ปกป้องไม่จงรักภักดี กล่าวอย่างชัดก็คือ การแอบอ้างเอาอำนาจองค์อธิปัตย์ มาใช้ประโยชน์ให้แก่ตนเอง กลุ่มตนเอง หรือพวกพ้อง ให้มีอำนาจบารมีสร้างความชอบธรรมแก่ตนเองนั่นเอง

    กำลังจะบอกว่าปัญหา “การใช้ดุลพินิจของฝ่ายบริหารแบบรวบอำนาจได้เสีย” ในสภาพที่กำลังเดินหน้า “ยุทธศาสตร์ชาติ” อยู่หมาด ๆ ถือว่าเจอ “อุปสรรคตัวฉกาจ” อีกตัวเข้าแล้ว จิ้งจกตัวน้อยทักสิงโตตัวใหญ่จะฟังไหม

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2562

[2]เครื่องแบบประชาธิปไตย, โดย เปลว สีเงิน, ไทยโพสต์, 12 มกราคม 2562, https://www.thaipost.net/main/detail/26341  

[3]elite [N] กลุ่มคนที่ร่ำรวยกว่าคนอื่น, See also: กลุ่มคนที่ฉลาดกว่าคนอื่น, Syn. ruling class, upper class : Longdo dict

[4]เลือกตั้ง 2562 : “หลังเลือกตั้งเราจะเห็นความผิดหวังที่เพิ่มทวีขึ้น” เพราะผู้กำกับกรอบการเลือกตั้งที่ดื้อรั้น, เรื่องโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย, วิดีโอโดย พริสม์ จิตเป็นธม ผู้สื่อข่าววิดีโอ, 2 มกราคม 2562, https://www.bbc.com/thai/amp/46698245?fbclid=IwAR3UmB20L6nZJeXDXkp6DVjFRTd3rssa1EyWA7eYHsHVjJ8ht39jjkwCo4g    

[5]มาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม  

[6]วิทิต มันตาภรณ์, หลักนิติธรรมกับประชาธิปไตย, ใน Isranews, 7 พฤศจิกายน 2558, https://www.isranews.org/isranews-article/item/42544-law_42544.html?fbclid=IwAR2XFTeV20LJU9Ag_cJrg9bMft18F4DBoOEHWHQ_UrjSuOHAoZBBnVzgeEQ#.Vj2y0YmOFWw.facebook

“หลักนิติธรรมประชาธิปไตย ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ความหมายของรัฐเท่านั้น แต่ต้องเริ่มจากที่บ้านและห้องเรียน เพื่อเข้าสู่หลักประชาธิปไตยในภาพกว้างขึ้นในรูปแบบการเลือกตั้งอย่างเป็นอิสระ และการมีส่วนร่วมของกลุ่มการเมืองหลากหลาย รวมไปถึงความอดทน อดกลั้นในการเจรจา ต่อรอง เคารพเสียงของคนส่วนมาก การไม่ใช่วิธีการรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้าม”   

[7]นอมินี (nominee)หมายถึง (1) ผู้ได้รับเสนอชื่อ, ผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อการต่าง ๆ เช่น รับรางวัล แต่งตั้ง ฯลฯ (2) ตัวแทนอำพราง, บุคคลที่ถูกผู้อื่นเชิดให้ปฏิบัติการต่าง ๆ ไม่ว่ายินยอมหรือโดยปริยาย โดยเฉพาะในทางการเมืองหรือธุรกรรม และโดยเฉพาะเพื่อเลี่ยงกฎหมาย เช่น คนต่างด้าวจ้างผู้ถือสัญชาติประเทศหนึ่งให้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศนั้นให้ เพราะตนถูกกฎหมายประเทศนั้นจำกัดอยู่ เป็นต้น, อ้างอิง : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  

[8]อำนาจครอบงำหรือครอบนำ (hegemony)

[9]รุมค้าน!เบื้องหลัง ครม.ทวนตั้ง 52 หน่วยงานใหม่ เปลืองงบ-ไม่สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ, 13 มกราคม 2562, https://www.isranews.org/isranews/72881-isranews_72881.html  

ดู “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คืออะไร”, 19 กรกฎาคม 2560, https://ilaw.or.th/node/4570

The 20-Year National Strategy is a national development plan, setting out frameworks and directions for the all public sectors to follow. All this to be completed in order to achieve the vision of “Thailand, a nation of Stability, Prosperity, and Sustainability, is a developed nation according to the economic philosophy”, or to achieve as the slogan of “Stability, Prosperity, Sustainability”. The plan will be enforced for 20 years, from 2017 – 2036.

[10]เขียน ธีระวิทย์, อ้างจาก จิตกร บุษบา, คอลัมน์การเมือง - ไม่ใช่เรื่อง 'คนนอก-คนใน' แต่เป็นเรื่องว่า 'อะไรคือกติกา', 28 สิงหาคม 2559, https://www.naewna.com/politic/columnist/26022  

[11]การทำยุทธศาสตร์ชาติ:ความรู้และความคิดที่ได้จากการไปเรียน วปอ., ดร. ดิศกุล เกษมสวัสดิ์, 8 มีนาคม 2559, https://www.gotoknow.org/posts/603151   

[12]จิระเดช มิลินทแพทย์, ผลประโยชน์แห่งชาติ : เรื่องที่เราไม่เคยรู้และคำนึงถึง, 24 ตุลาคม 2551, https://www.gotoknow.org/posts/218646  

[13]โชคชัย อาษาสนา, แนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจ, GotoKnow, 24 มิถุนายน 2554, https://www.gotoknow.org/posts/445644    



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท