บริบทสังคมไทยที่ถ่วงยุทธศาสตร์ชาติ


บริบทสังคมไทยที่ถ่วงยุทธศาสตร์ชาติ

11 มกราคม 2562

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]


ปัญหาระบบงานต้องมารองรับระบบโครงสร้าง

ยุทธศาสตร์ชาติเชื่อมโยงให้มีท้องถิ่นร่วม แต่ไม่ได้เน้นว่า อปท. เป็นเรื่องจริงที่หน่วยงานทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจไม่ใส่ใจนัก เพราะถือตนว่าเป็นองค์กรที่ใหญ่สำคัญกว่า ไม่ว่ากรมชลประทาน หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) [2]ก็ยิ่งเป็นองค์กรที่ใหญ่มากขึ้น เป็นการแก้ปัญหาที่ขาดเอกภาพ เป็นความล้มเหลวของหน่วยงานรัฐ กล่าวคือ พบข้อเท็จจริงว่า “ระบบงานราชการต้องมารองรับระบบโครงสร้าง” เพราะที่จริงต้องกลับกันกล่าวคือ “ระบบโครงสร้างต้องมารองรับงานหรือกิจกรรม” [3]   

อุปสรรคเรื่องความเชื่อมั่นศรัทธา

เท้าความเก่าช่วงเปิดประเทศสมัยรัตนโกสินทร์ [4]มีคำว่ากุศโลบาย นโยบาย สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง เบอร์นี อำนาจนิยม (ยอมขึ้นกับผู้มีอำนาจเหนือกว่า) คานอำนาจ สร้างดุลยอำนาจ สนธิสัญญาสงคราม ขบวนการกู้ชาติ เสรีไทย ภาษีเหยียบหัวเรือ ร้อยชักสาม จิ้มก้อง จังกอบ เกาะชายผ้าเหลือง พึ่งใบบุญ พึ่งบารมี ตลอดจนคำพังเพย เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง ไพร่สองบ่าว ท้าวสองนาย มันบ่งบอกได้ว่า คนในสังคมเขาคิดกันอย่างไร เชื่อมั่นเชื่อใจผู้นำได้ระดับไหน การได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง แบบยึดอำนาจ ใส่ร้ายป้ายสี เลือกตั้งแบบหลอกล่อ ซื้อเสียง แลกเปลี่ยน สัญญา ซื้อขายตำแหน่ง ตามมาด้วยความล้มเหลว ขาดความเชื่อถือ แบ่งแยกพวกเพราะตามผลประโยชน์ถือมั่น ล้วนเป็นปัญหาของการเขียนกติกาแล้วก็ล้มล้างแล้วก็เขียนใหม่ โดยไม่ได้บอกว่าปัญหาเกิดมาจากการใช้กติกา หรือคนต้องทำตามกติกา ซึ่งลงโทษด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญไป จนกฎหมายเก่าต้องปรับให้เข้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่เรื่อยไป ลองมาดูว่าใช่ประเด็นเหล่านี้หรือไม่ เพราะหากยังเป็นอยู่เช่นเดิม ถือเป็นอุปสรรคตัวใหญ่ในยุทธศาสตร์ชาติที่จะก้าวเดินต่อไป

(1) โครงสร้างของสังคมไทย แบบดั้งเดิมเป็น แบบเครือญาติ เพื่อนบ้าน และแบบชุมชนใหม่ บ้านจัดสรร นิคม สร้างตนเอง ครอบครัว อพยพ สร้างถิ่นฐานใหม่ (2) กติกาข้อตกลงสังคมที่ถูกหักล้าง บิดเบี้ยว หลอกลวง หรือ ไม่น่าเชื่อถือ (3) ความเชื่อถือในกติกา ขาดความเชื่อมั่นศรัทธาในข้อตกลง หรือสัญญาส่วนรวมในอดีต (4) ความอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอก ไม่เป็นตัวของตัวเอง ถูกอิทธิพล ถูกชักจูง ล่อลวงฯ (5) การสร้างความอ่อนแอแก่สังคมด้วยระบบอุปถัมภ์ที่ผ่านมา ทำให้สังคมไทยบอบซ้ำ สังคมพิการ บั่นทอนความเข้มแข็งของสังคม (Stronger Society) สังคมถูกตัดแขนขา หรือไม่เพียงใด

สามเหลี่ยมเหล็กญี่ปุ่นสังคมเขาคานอำนาจกัน

ทฤษฎี “สามเหลี่ยมเหล็ก” (Iron Triangle) [5] ของญี่ปุ่นนำมาใช้กับไทยไม่ได้ เป็นการคานอำนาจ 3 ฝ่าย คือ (1) ฝ่ายการเมือง (2) ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และ (3) ฝ่ายประชาชน (รวมบริษัทห้างร้าน กลุ่มทุนด้วย) ที่ต่างฝ่ายไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร มีข้อดีว่า เป็นระบบการค้า ที่ผู้ผลิตกำหนดราคาเองได้ แต่ต้องรับรองคุณภาพตัวเอง ไม่ต้องรอ อย. หรือ มอก. แบบไทย เพราะความเชื่อถือกัน ดูกันที่ผู้ผลิต(รวมถึงตระกูล) อาชีพคนญี่ปุ่นจึงสืบทอดด้วยระบบหุ้นส่วนครอบครัว ไม่ต้องมีหน่วยงานราชการมารับรองแบบไทย ไม่ต้องมีกฎหมายออกมามาก ถือจารีตสำคัญกว่า นักคิดนักประดิษฐ์ดูจากสภาพความเป็นอยู่สังคมเป็นหลัก เน้นประโยชน์ใช้สอย ไม่เน้นหรูหราอาหารเครื่องใช้ จึงพอดีกับคนและเหตุการณ์ ไม่เผื่ออะไรไว้มาก ถนนก็ไม่กว้างใหญ่เท่าไทย รถบรรทุกก็เล็กกว่า การซ่อมถนนหนทาง ก็ซ่อมเป็นจุด ไม่ไถดะแบบไทย โคมไฟฟ้าส่องสว่าง ก็ไม่สว่างมากเท่าของไทย เอาเท่าที่จำเป็น ถนนไม่ได้ขุดรื้อตามอารมณ์แบบไทย เพราะคนไทยคิดว่าเป็นพื้นที่ของใครคนนั้นต้องไปหางบเอาเอง นั่นคือวิธีคิดในการจัดสรรเงินงบประมาณ ฉะนั้นจึงเกิดความไม่เท่าเทียมกันในการพัฒนาพื้นที่ ทำให้ อปท. บางแห่งได้งบประมาณอุดหนุนมาก บางแห่งกลับไม่ได้เลย นอกจากนี้คนไทยมักเอาเรื่องส่วนตัวมาปะปนเรื่องส่วนรวมแบบแยกไม่ออก

ประชารัฐไทยกับการสร้างสามเหลี่ยมเหล็ก

ที่ไม่เหมือนสามเหลี่ยมเหล็กของญี่ปุ่น คือ (1) ฐานจากรัฐ (2) ฐานจากประชาชน 3) ฐานจากนายทุน ในกรณีของไทยฐานแรก อำนาจรัฐกับระบบราชการจะผูกติดกัน รัฐคือผู้บงการระบบราชการ อาจรวมองค์กรอิสระแต่ไม่อิสระด้วย คือ อำนาจรัฐกับอำนาจราชการจะรวมกันแยกกันไม่ออก ไม่ใช่กินรวบรวมแบบฮุนเซน หรือ แบบทหารพม่า แต่ระบบราชการไทยกลับมีการคัดเฟ้น “บุคคลเป็นอย่างดี” (เกินคาด) ที่ต้องมาเป็นทาสรับใช้ของผู้มีอำนาจรัฐที่ฉ้อฉล หรือ “การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย” (Policy Corruption) รวมถึง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” (COI- Conflict Of Interest) ดูว่าไทยเป็นรัฐอิสระแต่ไม่อิสระ เพราะมีระบบทุนบงการอุปถัมภ์อยู่เบื้องหลัง มีข้อสังเกตว่าการดำเนินคดีนายทุนกับชาวบ้านอาจแตกต่างกัน ชาวบ้านหาเช้ากินค่ำต้องตกอยู่ในระบบส่วยถูกรีดไถด้วย แต่นายทุนใหญ่ทำอะไรก็จะง่ายกว่า

ปัญหาเรื่องสังคมชอบสร้างภาพ

ทุกนโยบายดีหมดหากมิใช่เพื่อส่วนตนและพวกพ้อง ไม่ว่า “ประชานิยม” (Populism) หรือ “ประชาสังคม” (Civil Society) หรือ “ประชารัฐ” (Civil State) หรือ “ไทยนิยม” [6] บรรดานักการเมืองไทยมักสร้างภาพ สร้างความหวังที่เป็นจริงยาก เสมือนการโกหกประชาชน เช่น ไปเป็นประธาน “เปิดการรณรงค์ขี่จักรยาน” แต่เสร็จงานขี่รถเบ๊นซ์กลับ หรือ ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แต่กลับเป็นเจ้าของธุรกิจปุ๋ยเคมีรายใหญ่ ถือเป็น “การสร้างภาพ” ประชาสัมพันธ์ตนเองเท่านั้น หรือ กรณีภาคราชการตรวจสอบเข้มเอกชนและท้องถิ่น แม้องค์กรอิสระ แต่ลืมตรวจสอบตนเอง ฉะนั้น จึงยังเห็นภาพการใช้งบประมาณในการสร้างภาพ ที่เรียกว่า “ประชานิยม”

ระบบอุปถัมภ์ไทยสะท้อนออกมาที่โครงการ “ไทยนิยมประชานิยม” เช่น หมู่บ้านนวัตวิถี เอสเอ็มอี เป็นเวทีสร้างภาพ เพราะชาวบ้านจริงยังต้องขวนขวายในการตลาดและเรื่องทุนกันอยู่ ความคุ้มค่าในงบประมาณก็ต้องมีการศึกษาประเมินแก้ไขปรับปรุง ไม้งั้นจะกลายเป็นว่า “ยิ่งทำ ยิ่งทำให้สังคมประชาชนยิ่งอ่อนแอ” เพราะชาวบ้านจะทำอะไร ก็จะถูกควบคุมหากไม่ทำตามคำแนะนำ ถูกมองแง่ผิดแง่ลบหมด แม้หน่วยแบบจิตอาสา กู้ภัยต่าง ๆ ก็ยังสร้างภาพ ที่หาความแท้จริงของบริบทไม่ได้ [7]อาทิ เอาเรือมาบัญชาการช่วยเหลือชาวบ้านแต่เข้าไม่ถึงชาวบ้าน ต้องรอให้ชาวบ้านมาหาเรือ หรือ การแข่งกันเอาหน้ากะเกณฑ์ประชาชนมาร่วมงานประกอบฉากที่ไม่ได้เป็นไปตามปกติธรรมชาติ

การเอื้อประโยชน์แก่นายทุนแต่ละเลยชาวบ้าน

การทำเมกกะโปรเจคท์ผูกพันงบประมาณยาวนานต้องทำยุทธศาสตร์ เช่น โครงการทางด่วน รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า รถลอยฟ้า สะพานใหญ่ ๆ สนามบิน เพราะมีประสบการณ์โครงการโฮปเวล ทางมอเตอร์เวย์  บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ล้มเหลวเสียค่าโง่ [8]ยกตัวอย่าง “โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” (Eastern Economic Corridor -EEC) [9] ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 1 ใน 8 แห่ง ที่ คสช.ประกาศ กำหนดเป็นพื้นที่เดียวที่มีความคืบหน้า เพราะมีเขตอุตสาหกรรม และท่าเรือมาก่อนนานแล้ว มีท่าเรือสัตหีบรองรับเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างรถไฟฟ้า แอร์พอร์ทลิ้งค์ การเวนคืนที่จากชาวบ้านบางน้ำเปรี้ยวเพื่อสร้างโรงเก็บรถไฟฟ้า และโกดังสินค้า

การแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร จำนำข้าว ทุกรัฐบาลมีหลักการดีหมด แต่เมื่อจัดสรรงบประมาณลงไปปรากฏว่ามักควบคุมการแสวงประโยชน์จากพวกพ้องและบริวารไม่ได้ เกิดความไม่คุ้มค่าไม่มีประสิทธิภาพอยู่ทั่วไป ซึ่งหาก อปท.เป็นผู้ทำโครงการนี้ก็คงปรากฏเป็นผลงานของ ป.ป.ช. ไปแล้ว สมัยก่อนไทยเน้นการแข่งขันทางการค้า การลงทุน กับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ปัจจุบันเน้นการพัฒนาประเทศเข้าสู่ยุค 4.0 แต่ระบบราชการยังคงใช้ระบบ “สั่งการ ครอบงำ ปิดกั้น” แล้วจะพัฒนาไปได้อย่างไร

ธุรกิจปลาใหญ่กินปลาเล็กตัวเล็กแย่

ธุรกิจของผู้ประกอบการนายทุนมีเพดานสูงสุด เมื่อธุรกิจขยายขึ้นถึงเพดานแล้ว ก็จะไปควบคุมครอบงำธุรกิจรายเล็กกว่าไม่ให้โตขึ้น นอกจากตกเป็นบริวารในเครือข่าย หากผู้มีอำนาจในภาครัฐรวมฝ่ายการเมืองเป็นพวกเดียวกับนายทุนใหญ่ก็จะมีปัญหาเช่นเดียวกันคือก็จะครอบงำกันเป็นทอดๆ ลักษณะเช่นนี้เกิดปัญหาว่าคนเก่งด้านช่าง วิศวกร ล้วนแต่เป็นลูกจ้างของธุรกิจใหญ่ 

ไทยเน้นการแข่งขันด้านการค้า การผลิต การลงทุน การอุตสาหกรรมเศรษฐกิจโลกมาก แต่กลับละเลยภาคการเกษตร และอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย ซึ่งเป็นโครงการที่ทำได้ และควรจะต้องทำ เท่ากับเป็นการผลักดันให้เกษตรกรเป็นประชากรชั้นสอง ไปเห่อการพัฒนาตามโลกอุตสาหกรรม การลงทุน การใช้เครื่องจักร แบบนำเข้า เทคโนโลยีที่ต้องซื้อและพึ่งพาจากต่างชาติทั้งเทคโนโลยี และนำฐานภาษีนี้มาหล่อเลี้ยงประเทศและใช้หนี้ แต่มันสมองและเทคโนโลยีภูมิปัญญาชาวบ้านของคนไทยกลับไม่ส่งเสริม บรรดานักวิชาการก็ถูกระบบทุนจ้างดึงตัวไปเป็นพวกหมด คนรู้มากรู้ทันเข้าถึงจะถูกกีดกัน ลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) ได้แผ่ขยายจากนายทุนไปที่เหยื่อเป้าหมายที่นายทุนต้องการ พวกรู้ทันถูกระบบทุนกีดกันออกไป นี่เป็นเหตุผลว่า ในระบบสังคมจึงมีแต่ “คนหัวอ่อนคล้อยตาม” ที่จะได้ตำแหน่งสูงไปครองเป็นบำเหน็จ

การรองรับระบบทุนก่อให้เกิดหนี้สาธารณะที่รัฐสร้างขึ้นโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมหรือได้ประโยชน์แบบตรง ๆ แต่ในระยะยาวต้องมาร่วมรับผิดชอบด้วยเหตุผลเดียวเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตทันโลก เพราะ การก่อหนี้ของรัฐบาลดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อระบบทุนโดยตรง แต่ชาวบ้านต้องมาร่วมรับภาระชดใช้หนี้นั้นด้วย ในรูปของค่าบริการ ราคาสินค้า ภาษี ฯลฯ เป็นต้น กระทบไปหมดถึงข้าราชการบำนาญที่ตกยุคตามไม่ทันด้วย เป็นการดำเนินการพัฒนาที่นอกขอบเขตแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “ศาสตร์พระราชา” มากไปหรือไม่ [10]

คนในสังคมจะเชื่อมั่นยุทธศาสตร์ชาติเพียงใด

เมื่อมองโครงสร้างของสังคมไทยแล้ว ก็หันมามองยุทธศาสตร์ ที่กำหนดจุดหมายใหญ่ของชาติ ว่าคนในสังคมจะเชื่อมั่น จะปฏิบัติตามกันได้ เพียงใด เพราะว่าหากทำได้ ความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนย่อมเกิดได้ มีประเด็นพิจารณาตรวจสอบ ได้แก่

(1) การจัดโครงการพัฒนา การจัดสรรเงินงบประมาณ การปรับปรุงระเบียบปฏิบัติ เอื้อ หรือขัดขวางการจัดทำโครงการ มีมากน้อยเพียงใด (2) กระบวนการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ระหว่างกลุ่มประชาชน ไปด้วยกัน เข้ากัน เสริมกันได้ดีเพียงใด  (3) ผลประโยชน์ลงไปถึงส่วนรวมเท่าใด มีตัวการตักตวงผลประโยชน์หรือไม่ (4) ระบบติดตามตรวจสอบ แจ้งปัญหา ทันเหตุการณ์ มากน้อยเพียงใด (5) ต้องมีมาตรการเพื่อให้งบประมาณโครงการไม่สูญเปล่า ไม่ปล่อยคนผิดลอยนวล คนเสียภาษีมองเห็นคุณค่าของงบประมาณ (6) การจัดทำโครงการใหญ่ต้องกู้เงินทุกครั้งหรือกู้มากเพียงใด ถึงจะทำโครงการได้จนแล้วเสร็จ (7) เรื่องซุกซ่อน ซ่อนงบ งบลับ ต้องตรวจสอบความคุ้มค่าได้ ไม่โกหก หลอกล่อ เอาตัวรอดไปวัน ๆ (8) ทำโครงสร้างระบบให้ได้ คือ Input Process, Output Process, Feedback ทำให้ได้สมบูรณ์ก่อน (9) ผลประโยชน์ทับซ้อน การผันงบมีเอี่ยว การแย่งชิงงบประมาณ การวิ่งเต้นโครงการ การมีพฤติการณ์ฉ้อฉลหักหัวคิวโครงการไม่ว่าในระดับใด การล็อกสเปคพัสดุงานจ้าง ควรหมดไป

เหล่านี้เป็นบริบทรวมๆ ของสังคมไทยที่อาจเป็นตัวบั่นทอนยุทธศาสตร์ชาติได้

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 11 มกราคม 2562 & สยามรัฐออนไลน์, Siamrath Online, 11 มกราคม 2562, https://siamrath.co.th/n/60718   

[2]กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Ministry of Natural Resources and Environment) เป็นหน่วยงานราชการไทย ประเภทกระทรวง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการสงวน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และดูแลหน่วยงานราชการอื่น ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

, จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 99 ก วันที่ 2 ตุลาคม 2545 หน้า 21-22, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00102282.PDF      

[3]พิจารณาเชิงระบบ (System) สภาพปัญหาของระบบราชการไทยที่สำคัญ สามารถจำแนกพิจารณาออกเป็นด้านต่างๆ ได้ดังนี้

(1) ด้านปัจจัยนำเข้า (Inputs)ปัญหาเกี่ยวกับข้าราชการ ปัญหาเกี่ยวกับงบประมาณ (แยกเป็นปัญหาขั้นตอนของการจัดทำแผน ปัญหาในขั้นตอนของการอนุมัติงบประมาณ และ ปัญหาขั้นตอนในการควบคุม)

(2) ด้านระบบราชการ (Process) ได้แก่ปัญหาความล่าสมัยหรือล้าหลังของระบบ กล่าวคือ โดยระบบราชการไทยยังคงยึดถือโครงสร้างการบริหารหลัก ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แบ่งการปกครองแผ่นดินออกเป็นการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น โดยศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง มีกระทรวงและกรมเป็นศูนย์สั่งการ

(3) ด้านการผลิต (Outputs) ผลลัพธ์ (Outcomes) จากความย่อหย่อนประสิทธิภาพของระบบ ระบบราชการที่เป็นอยู่ไม่สามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การทำงานล่าช้าแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทำงานผิดพลาด ไม่ประหยัด ทำงานไม่คุ้มค่า สิ้นเปลือง ไม่มีการพัฒนาระบบเตือนภัย ทั้งไม่มีกำลังความสามารถและความรวดเร็วเพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้ทันท่วงที

(4) ด้านข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) นับได้ว่าเป็นปัญหาหลักอีกประการหนึ่งซึ่งมักจะถูกมองข้าม กล่าวคือ ระบบราชการไทยมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญของการติดตามประเมินผล วัดความสำเร็จ หรือผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงาน       

[4]ดู การต่างประเทศต้นสมัยรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 1 - รัชกาลที่ 3), Posted By Plookpedia,5 กรกฎาคม 2560, https://www.trueplookpanya.com/blog/content/60555

& การต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394 - 2411), Posted By Plookpedia, 5 กรกฎาคม 2560, https://www.trueplookpanya.com/blog/content/60556       

[5]สามเหลี่ยมเหล็ก (Iron Triangle) หมายถึง ระบบที่เป็นการรับผลประโยชน์ร่วมกันระหว่าง ข้าราชการ นักการเมือง และ นักธุรกิจ โดยผูกพันเป็นรูปสามเหลี่ยม โดยนักธุรกิจให้เงินต่อนักการเมืองให้ออกกฎหมายที่เอื้อกับผลประโยชน์ของตน และ ข้าราชการก็เอากฎหมายไปใช้ ซึ่งในญี่ปุ่นนั้น ได้รับระบบนี้มาจากสหรัฐอเมริกา โดยนำมาปรับใช้ในญี่ปุ่น  

ดู เบื้องหลังย่านจิโยดะ (2) : ระบบสามเหลี่ยมเหล็ก, Pantip, 30 กรกฎาคม 2559, https://pantip.com/topic/35437440       

[6]บทวิเคราะห์ : เช็กนโยบายประชานิยม 5 พรรค พปชร.ใจถึง มัดจำแสนล้าน ปชป.ชูสวัสดิการ-พท.ตอกย้ำต้นตำรับ, 6 มกราคม 2562, https://today.line.me/TH/pc/article/joqOMa?utm_source=lineshare#7s8d6f87       

[7]ลองเทียบดูใน Kriengsak Chareonwongsak, รู้ทันพวก “หลงตัวเอง เก่งสร้างภาพ”, ใน งานวันนี้ ปีที่ 16 ฉบับที่ 723 วันที่ 3-10 ก.พ. 2558, 6 กุมภาพันธ์ 2558, http://www.kriengsak.com/Cognizant%20of%20the%20narcissistic%20good%20visualization        

[8]ย้อนรอย “ค่าโง่คลองด่าน” บทเรียน 3 หมื่นล้าน ราคาที่คนไทยต้องจ่าย, ไทยพับลิก้า, 22 พฤศจิกายน 2558, https://thaipublica.org/2015/11/klongdan-21-11-2558/        

[9]โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor -EEC), 30 มิถุนายน 2559, http://pr.prd.go.th/chaiyaphum/ewt_news.php?nid=11091&filename=index

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ร่วมกับกระทรวงคมนาคม (คค.) กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาจัดทำรายละเอียดโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

มีพื้นที่ดำเนินการ ดำเนินการใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยแบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม เขตพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเขตพัฒนาเมือง       

[10]ดู “ฉันทมติภูมิพล” (The Bhumibol Consensus)ที่เป็น “ทุนนิยมที่เติบโตอย่างไม่สมดุลโดยถ่วงทานไว้ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” โดย เกษียร เตชะพีระ มองการต่อสู้-เดิมพันในการเลือกตั้ง 2562 ใน เลือกตั้ง 2562 : “หลังเลือกตั้งเราจะเห็นความผิดหวังที่เพิ่มทวีขึ้น” เพราะผู้กำกับกรอบการเลือกตั้งที่ดื้อรั้น, เรื่องโดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย, วิดีโอโดย พริสม์ จิตเป็นธม ผู้สื่อข่าววิดีโอ, 2 มกราคม 2562, https://www.bbc.com/thai/amp/46698245?fbclid=IwAR3UmB20L6nZJeXDXkp6DVjFRTd3rssa1EyWA7eYHsHVjJ8ht39jjkwCo4g

ที่จะมาเกี่ยวพันกับคำว่า "ผลประโยชน์แห่งชาติ" (National Interest) ที่เป็นเป้าหมายใหญ่ของยุทธศาสตร์ชาติ



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท