“ชาวบ้านคลอง” ร่วมใจลดอุบัติเหตุทางถนน จัดการจุดเสี่ยง-สร้างความปลอดภัยในชุมชน


รณรงค์ลดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสีย

        รายงานสถิติคดีอุบัติเหตุจราจรในประเทศไทยนับวันจะเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี อย่าง อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะมีถึงปีละ 20 คนต่อแสนประชากร ในขณะที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าไม่ควรเกินปีละ 10 คนต่อแสนประชากร ซึ่งความสูญเสียนี้ถ้าตีมูลค่าทางเศรษฐกิจประเทศไทยสูญเงินไปกับอุบัติเหตุอันไร้สาระนี้มากถึง 300,000 ล้านบาท

            ด้วยเหตุนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นองค์กรด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้พยายามรณรงค์ลดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสีย โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นเอง ที่จะต้องช่วยกันหาทางป้องกัน เพราะตามสถิติที่ผ่านมานั้น มักพบการสูญเสียมากในอัตราที่สูงพอสมควร

            ดังเช่นที่ชุมชนหรรษนันท์ 5 ต.บ้านคลอง อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่เกิดอุบัติเหตุในชุมชนบ่อยครั้ง โดยเฉพาะบนสะพานก่อนข้ามคลองชลประทาน บริเวณที่เชื่อมกับประตู 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ส่วนทะเลแก้ว พบว่ามีมุมอับที่ทำให้ผู้สัญจรไปมาไม่สามารถมองเห็นรถที่กำลังขับมา จึงเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่า 30 กว่าครั้งต่อปี

            สภาพที่เห็นบ่อยครั้ง คือรถที่มาจากคันคลองชลประทาน ชนกับรถที่เร่งความเร็วขึ้นมาจากทางลาดชัน โดยเฉพาะช่วงเช้า เที่ยง และเย็น คนใช้รถใช้ถนนจะมาเป็นพิเศษ ประกอบกับเส้นทางนี้เป็นทางเลี่ยงจากโรงเรียนชายเข้าเมือง บางครั้งจึงเกิดอุบัติเหตุหนัก รถยนต์ชนกับมอเตอร์ไซด์ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส สูญเสียทั้งร่างกายและทรัพย์สิน รวมถึงระยะเวลาในการจราจรเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแต่ละครั้ง

            ณัฐพร ตั้งเจริญชัย ผู้ประสานงานโครงการจัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ในชุมชนหรรษนันท์ 5 เล่าว่า ทางผู้บริหารเทศบาลบ้านคลอง ซึ่งรับผิดชอบดูแลในจุดนี้ จึงได้หารือกันเพื่อหาทางออก และตัดสินใจเข้ารับการอบรมการจัดการจุดเสี่ยงในชุมชน กับวิทยากรของสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. เพื่อศึกษาปัญหา และพัฒนามาตรการสร้างความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุในชุมชน

            “หลังจากเข้ารับการอบรมการจัดการจุดเสี่ยงในชุมชน ก็กลับมาทำลูกระนาดชะลอความเร็ว ถูกเด็กโวยวาย อ้างทางออกจากประตู 3 เชื่อมมายังสะพานข้ามคันคลองชลประทาน เป็นทางชันขึ้นสูง จำเป็นต้องเร่งความเร็ว พอทำลูกระนาด ทำให้เสียจังหวะการเร่งเครื่องยนต์ แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนรู้สึกชินมากขึ้น และเป็นที่ยอมรับโดยอัตโนมัติว่าลูกระนาดดังกล่าว ช่วยลดอุบัติเหตุได้” ณัฐพร อธิบาย

            นอกจากนี้ เทศบาลยังได้งบจากทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาติดตั้งไฟกระพริบบริเวณเชิงสะพาน และจัดให้มีไฟส่องสว่างตอนกลางคืนอย่างเพียงพอ ติดป้ายเตือน พร้อมทาสีสะพานสะท้อนแสงให้ผู้สัญจรผ่านไปมาสามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัดทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในระยะหลังจึงห่างออกไปไม่ถึงปีละ 10 ครั้ง และยังลดระดับความรุนแรงลง เป็นเพียงการเฉี่ยวชนเล็กๆ น้อยๆ ไม่ถึงกับบาดเจ็บสาหัส

            ด้าน ชุมพล สุ่มนาคประธานโครงการการจัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ในชุมชนหรรษนันท์ 5 ต.เล่าว่า หลังจากแกนนำได้รับความรู้จากการอบรมจากวิทยากร ก็กลับมาประชุมกับชาวบ้านเพื่อวางแผนและกำหนดจุดเสี่ยงเพื่อทำการค้นหาข้อมูลทันที พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ต่อมาจึงจัดกิจกรรมอบรมความปลอดภัยทางท้องถนนให้กลุ่มแกนนำ และชาวบ้าน แล้วร่วมกันทำกิจกรรมแก้ไขจุดเสี่ยง-เสริมสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน เช่น การทาสีสะพานข้ามคลองชลประทานให้มองเห็นชัดเจนจากระยะไกล

            “พอเราลุกขึ้นมาทำงานในจุดนี้อย่างจริงจัง ชาวบ้านก็ตื่นตัว มองเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ต้องร่วมมือกันป้องกันแก้ไข และเกิดคณะทำงานที่มีความรู้ ความเข้าใจ ในการวิเคราะห์จุดเสี่ยง มีข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่สำคัญคือเกิดข้อตกลงร่วมของชุมชนในการแก้ไขจุดเสี่ยงได้อย่างสอดคล้องกับปัญหาในชุมชน รวมถึงปรับปรุงพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกด้วย” ประธานโครงการ กล่าวย้ำ

            ผลลัพธ์ในเชิงสถิติ ไม่เพียงแค่ชาวชุมชนหรรษนันท์ 5 หรือชาวบ้านคลอง จำนวน 395 คนเท่านั้น ที่ได้รับประโยชน์จากการจัดการจุดเสี่ยงในชุมชน หากคนนอกชุมชน ที่อาศัยสัญจรผ่านไปมา เช่น นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป ทั้งในเขตตำบลบ้านคลอง และนอกตำบล ยังพลอยได้รับประโยชน์อย่างถ้วนหน้า

หมายเลขบันทึก: 659145เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2019 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2019 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท