“ปะกาเกอะญอ”ลดเสี่ยง ลดโรค ด้วยพืชผักอาหารปลอดภัย


ผลิตและบริโภคผักปลอดสารเคมีในครัวเรือน

ชาวปะกาเกอะญอ ในวิถีดั้งเดิมมีวิถีชีวิตเรียบง่าย อาศัยหาของป่ามาทำเป็นอาหาร และส่วนหนึ่ง คือ การเพาะปลูกพืชผักไว้กินเอง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมากนัก ทว่าหลังจากความเจริญ ทุนนิยมต่างๆ เข้าไปถึงหมู่บ้าน ส่งผลให้วิถีชีวิตของพี่น้องปะกาเกอะญอเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จากใช้ชีวิตเรียบง่ายก็เริ่มใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย เกิดหนี้สิน  และเกิดปัญหาด้านสุขภาพ

ขณะเดียวกันการปลูกพืชผักที่เคยแบบพออยู่พอกิน กลายเป็นการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ทั้งกินทั้งขายมีการใช้สารเคมีอย่างหนักเพื่อให้ได้ผลผลิตคราวละมากๆ ตลอดจนละเลยการดูแลสุขภาพส่งผลให้อัตราการเจ็บปวยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นทุกปี

บ้านทีกะเป่อ ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก เป็นชุมชนปะกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ใกล้เมืองมากที่สุด นั่นจึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว

วิถีบริโภคที่เปลี่ยนไปโรคภัยจึงถามหา

“มีผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดัน มากถึง 28 คน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการกิน โดยเฉพาะรสเค็ม” น.ส.ราตรี เทากมลเดช ผู้ใหญ่บ้านบ้านทีกะเป่อ ชี้ให้เห็ตถึงต้นตอแห่งปัญหาสุขภาพ  

วัฒนธรรมการกินของชาวปะกาเกอะญอชอบทานอาหารป่า กินผัก หรืออาหารที่ได้จากป่า ไม่ค่อยมีเครื่องปรุงมากนัก แต่มาสมัยนี้ทำอาหารก็ต้องใส่เครื่องปรุงเข้าไปหลายอย่าง จนพบว่า ส่วนใหญ่ติดรสเค็ม ขณะเดียวกันอาหารป่าที่เคยหาได้หรือผักที่ปลูกไว้กินเองก็ลดน้อยลง จึงต้องไปซื้อผักตลาดซึ่งเต็มไปด้วยสารเคมีมาทำอาหาร และยังได้รับสารเคมีจากการทำเกษตร เมื่ออาหารไม่สะอาดและไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพ หลายคนจึงเจ็บป่วยใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุข

ใช้หลัก 3อ 2ส เข้ามาแก้ปัญหา

ผญบ.ทีกะเป่อ บอกถึงวิธีการที่จะทำให้ทุกคนกลับมามีความสุขเหมือนในอดีตอีกว่า เราหันมารณรงค์ให้ทุกคนหันมาดูแลสุขภาพ ในการควบคุมอารมณ์ อาหาร ลดหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกาย ลดการสูบบุหรี่และดื่มสุรา โดยได้เข้าร่วมโครงการ “ร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)  ขับเคลื่อนแนวทางดูแลสุขภาพ “ลดเสี่ยง ลดโรค” อย่างจริงจัง

ผักแปลงใหญ่สู่ผักในครัวเรือน

โดย ผญบ.ทีกะเป่อ บอกว่า เมื่อพืชผักที่ได้จากตลาดไม่ปลอดภัย ป่าชุมชนก็อยุ่ไกลและของป่าก็เหลือน้อย จึงต้องส่งเสริมให้ทุกคนปลูกผักปลอดสารไว้กินเอง โดยเริ่มจากแปลงผักตัวอย่างกลางหมู่บ้านที่ทุกคนมาช่วยกันปลูก ดูแล และสามารถเก็บไปทำอาหารได้ เมื่อทุกคนเห็นตัวอย่างแล้วก็ให้นำกลับไปทำที่ครัวเรือนของตนเอง

“เมื่อเราดูแลตากหลัก 3อ2ส แล้ว ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ไม่พบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และที่เคยเป็นอยู่แล้วก็ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนแต่อย่างใด ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เราทุกคนนั้นช่วยกัน เพราะถ้าเราไม่ดูแลตัวเอง อนาคตต้องเป็นภาระให้ลูกหลานแน่นอน ดังนั้นจึงต้องกระตุ้นกันตั้งแต่ตอนนี้

นานสุพจน์ จักรแก้ว ที่ปรึกษาโครงการ พื้นที่เรามีการใช้สารเคมีในการปลูกผัก  เกิดโรค เราเอาไปขย

เช่นเดียวกับที่บ้านห้วยแห้ง ต.พระธาตุ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ที่นี่เป็นชุมชนชาวปะกาเกอะญอที่ไม่สามารถหลีกหนีระบบสังคมนิยมได้ เมื่อพื้นที่ทางการเกษตร ข้าวโพด มันสัมปะหลัง พึ่งพาสารเคมี ทำให้ดินและน้ำมีสารเคมีเจอปน และตกค้างมายังพืชผักที่ปลูกทุกชนิด

ดังนั้นชาวชุมชนจึงตกลงปลงใจว่า จะลดการใช้สารเมีภาคเกษตรลง โดยเริ่มจากการปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคในครัวเรือนก่อนเป็นลำดับแรก

นางบัวจันทร์ จรัสสกุลสุภัค ผู้รับผิดชอบโครงการการผลิตและบริโภคผักปลอดสารเคมีในครัวเรือน กล่าวว่า จากการใช้สารเคมีในภาคเกษตรส่งผลกระทบต่อพืชผักที่เราปลูกไว้บริโภค เราจึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันชาวบ้านไม่มีรายรับ จึงได้ขอรับทุนสนับสนุนจาก สสส. เพื่อจัดกิจกรรมและส่งเสริมให้ชาวบ้านห้วยแห้งหันมาปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

เราเน้นปลูกผักที่ใช้ในครัวเรือน และให้มีคสามหลากหลาย ขณะเดียวกันยังได้อนุรักษ์พันธุ์ผักพื้นบ้าน เช่น ผักอีลื่น ผักกาดจอ และผักกูด ซึ่งเริ่มลดน้อยลง จากที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติอยู่ในป่า เราก็เอามาปลูกที่บ้านเพื่อเป็นการขยายพันธุ์  เพราะถ้าเราไม่เก็บรักษาไว้ ในอนาคตหายหมดแน่นอน

      “เราคิดว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการลดการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม และต่อไปเราตั้งเป้าให้ทุกครัวเรือนสามารถผลิตผักปลอดสารออกไปจำหน่ายนำรายได้เข้าครัวเรือนอีกด้วย” บัวจันทร์ ในฐานะแกนนำคนสำคัญ กล่าวถึงเป้าหมายที่แท้จริง

            ขณะที่นางพิกุล คีรีราชตระกูล แกนนำอีกหนึ่งราย บอกถึงครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการว่า จะต้องเป็นคนที่รักในการจะปลูกผักจริงๆ และเรามีกฎ คือ ห้ามใช้สารเคมี โดยคณะกรรมการจะมาตรวจเยี่ยมที่แปลงผักเดือนละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย และหากพบมีการใช้สารเคมีก็จะปรับเงิน 100 บาท โดยมี 24 ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ


            การเรียนรู้และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม จากเรื่องใกล้ตัวเล็กๆ ของทั้งบ้านทีกะเป่อและบ้านห้วยแห้ง ที่หยิบยก “พืชผัก” จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสุขภาวะดีให้พี่น้องชาวปะกาเกอะญอได้อย่างยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 659141เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2019 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2019 10:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท