สุข สนุกด้วยภาษาไทย เปิดอนาคตให้เด็กบ้านห้วยระพริ้ง


การเรียนรู้ภาษาไทยสำหรับเด็กกะเหรี่ยง

กลางผืนป่าแม่ละเมาเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ มีชุมชนชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่หลายป๊อกหลายหมู่บ้าน  บ้านห้วยระพริ้งก็เช่นกันที่ซ่อนตัวอยู่ในผืนป่าแห่งนี้ จากถนนสายแม่สอด-ตาก กว่า 10 ก.ม. การเดินทางเข้าหมู่บ้านต้องใช้เวลาบนถนนลูกรังร่วม 45 นาที

        ที่นี่เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงอายุไม่น้อยกว่า 100 ปี  ประชากรราว 300 คน ใน 90 หลังคาเรือน ดำรงชีพด้วยการทำไร่ หาของป่า และออกไปรับจ้างในเมือง

            โรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดนบ้านห้วยระพริ้ง เป็นสถานที่ให้ความรู้ เปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆ และยังเป็นที่พึ่งของชาวชุมชน

            แม้ว่าชุมชนจะอาศัยอยู่ในป่าหากินใช้ชีวิตสมถะ แต่ทุกคนก็ไม่อาจปฏิเสธความเจริญ และการติดต่อกับสังคมภายนอกได้ ดังนั้นการใช้ภาษาไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญ

“ถ้าพูดไม่ชัด ก็จะเขียนไม่ชัด อ่านไม่ออกก็ยิ่งหนักไปใหญ่ นี่เป็นปัญหาของเด็กกะเหรี่ยง เกิดมาพ่อแม่ก็พูดภาษากะเหรี่ยง พอโตมาเข้าโรงเรียน ได้ใช้ภาษาไทยกับครูเท่านั้น พอกลับไปบ้านก็ใช้ภาษาถิ่น ทำให้เด็กที่นี่เรียนรู้ภาษาไทยได้ค่อนข้างช้า” ดาบตำรวจวรพงศธร ดวงรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนศาสตราจารย์สำเภา – ไพวรรณ วรางกูร (ร.ร.ตชด.บ้านห้วยระพริ้ง) เกริ่นถึงสภาพปัญหาการใช้ภาษาไทยของเด็กๆ

นอกจากวัฒนธรรมการใช้ภาษาแล้ว ปัจจัยที่ทำให้การเรียนรู้ภาษาไทยเป็นปัญหาสำหรับเด็กกะเหรี่ยง คือ การแปลความหมายทั้งการพูดและการเขียน ซึ่งภาษากะเหรี่ยงจะเป็นการแปลจากข้างหลังมาหน้า เมื่อมาใช้ภาษาไทยเขาก็จะสับสนใช้คำสลับตำแหน่งผิดเพี้ยนจนความหมายเปลี่ยนไป

“เด็กป.1 ซึ่งต้องเริ่มเรียนวิชาภาษาไทย ถ้าพื้นฐานไม่ได้ก็ไปต่อในวิชาอื่นๆ ไม่ได้ อ่านหนังสือ อ่านข้อสอบไม่ได้ เราจึงต้องหาวิธีการจัดการสอนเสียใหม่ และเสริมวิชาภาษาไทยให้เข้มข้นยิ่งขึ้น” ดาบตำรวจวรพงศธร ย้ำถึงความสำคัญของการเรียนภาษาไทยในเด็กชนเผ่า

การปัดฝุ่นนำหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาแบบดั้งเดิมที่ใช้ระหว่างปี พ.ศ.2521-2537 มาใช้ร่วมกับหลักสูตรล่าสุดของ สพฐ.  ซึ่งเป็นนโยบายของ โรงเรียน ตชด.ทุกแห่ง พร้อมทั้งจัดทำโครงการจัดการเรียนรู้ภาษาไทยสำหรับเด็กด้อยโอกาสในถิ่นทุรกันดารชนเผ่ากะเหรี่ยง สสส. เป็นกระบวนการที่ทางโรงเรียนเสริมขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนภาษาไทยเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

ผอ.ร.ร.ตชด.บ้านห้วยระพริ้ง อธิบายถึงกระบวนการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่นี้ ว่า เริ่มจะคัดแยกเด็กออกเป็นกลุ่มตามความรู้ความเข้าใจภาษาไทย จากนั้นหลังเคารพธงชาติในแต่ละวันเด็กเรียนแต่ละกลุ่มจะต้องมาเรียนภาษาไทยหลักสูตรเข้มข้นเป็นเวลา 1 ชม.หมุนเวียนกันไป ซึ่งเด็กๆ ได้เรียนภาษาไทยด้วยการสะกดคำแบบดั้งเดิม ว่าแต่ละคำเป็นมายังไง เริ่มจากพยัญชนะมาผสมตัวสะกดหรือสระจนได้คำหนึ่งคำ

หากเรียนแบบปกติเด็กจะเรียนเหมือนกัน แต่อย่าลืมว่ามีทั้งที่เก่งและไม่เก่ง มันยิ่งเป็นปัญหาคนที่ไม่เก่งก็ตามเพื่อนไม่ทัน เราจึงต้องคัดกรองแยกออกมาเป็นกลุ่มๆ

หลักสูตรเดี๋ยวนี้ออกมาให้เด็กอ่านเป็นคำๆ ไม่รู้ที่มา ไม่รู้หลักการผสมคำ พอเด็กสะกดไม่ได้ก็อ่านไม่ได้ แต่การสะกดแบบดั้งเดิมจะทำให้เด็กเข้าใจเร็วขึ้น จากนั้นเด็กจะค่อยๆ ไต่ระดับการเรียนรู้ตามหลักสูตรในคู่มือจนสามารถสอบผ่านจึงไม่ต้องมาเรียนหลักสูตรเข้มข้นอีก

“จากการทดลองการเรียนการสอนภาษาไทยหลักสูตรเข้มข้นควบูค่กับหลักสูตรของ สพฐ.มา 2 ปี พบว่าเด็กมีผลการเรียนที่ดีขึ้น เด็กเราแค่พออ่านออกเขียนได้ ไม่จำเป็นต้องเก่ง อยู่ในสังคมได้ สื่อสารกับคนภายนอกได้ และเปิดโอกาสให้ไปเรียนต่อกลับมาพัฒนาชุมชนตัวเองได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย เด็กหลายคนไปเรียนมัธยมต่อเกือบ 100% แต่จบน้อยมาก หลายคนยอมแพ้ สู้ไม่ได้ เพราะภาษาตัวเองยังไม่แข็งแรง ก็กลับมาบ้านช่วยพ่อแม่ทำงาน ถึงแม้จะเรียนต่อในระบบไม่ได้ เราขอให้เรียน กศน. ก็ยังดี

การใช้เทคนิคและความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้สอนเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้เด็กๆ บ้านห้วยระพริ้ง เรียนรู้ภาษาไทยได้เข้าใจและรวดเร็ว

ส.ต.ท.อาภร เจษฎากุลกนก หรือ “ครูจอย” เล่าถึงวิธีการสอนว่า บางอย่างเราก็ต้องอธิบายเป็นภาษากะเหรี่ยงก่อนเพื่อให้เขาเห็นภาพแล้วจึงตามด้วยภาษาไทย  บางทีก็ต้องใช้บัตรคำ และรูปแบบมาช่วยสอน เพราะบางอย่างเป็นเรื่องไกลตัวเด็กมาก เด็กๆ ไม่เคยเห็น เราก็ต้องใช้รูปภาพมาเป็นตัวช่วยจดจำคำศัพท์ เช่นเดียวกับแผ่นชาร์ตภาษาที่คัดลอกมาจากคู่มือสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานไม่ต้องมคอยเขียนใหม่เหมือนเขียนบนกระดาน

เด็กคนไหนที่เรียนไม่ได้จริงๆ ก็จะเรียกมาติวเป็นกรณีพิเศษอีกครั้งหนึ่ง และจะมีการประเมินทุกๆ สัปดาห์     

ขณะที่นายเจร คีรีพิสุทธิ์ ครูอัตราจ้างประจำชั้นอนุบาล 3 บอกถึงปัญหาภาษาไทยในเด็กกะเหรี่ยงอีก ว่า การเขียนน่าจะเป็นปัญหาอย่างแรก เพราะเขาจะเขียนตามคำพูด แต่เขาจะแปลมาจากรูปประโยคภาษาถิ่นทำให้เขียนมาแล้วความหมายผิดเพี้ยน

ฉะนั้น ป.1 เป้าหมาย คือ อ่านออก เขียนได้ ในคำศัพท์พื้นฐาน เช่น แม่ ก. กา ซึ่งไม่มีตัวสะกด เน้นใช้คำง่ายๆในชีวิตประจำวัน เพื่อฝึกให้เด็กได้สื่อสาร อย่าใช้คำที่มีความหมายเยอะ เพราะจะยิ่งทำให้เด็กเครียดและปฏิเสธการเรียน คำไหนที่ไม่เข้าใจ เราก็แปลเป็นภาษาถิ่นให้เขาฟัง ถ้ามัวแต่พูดภาษาถิ่น เขาจะไม่กล้าพูดต่อไป อนาคตก็ลำบาก

 การใช้ภาษาที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นเหมือนใบเบิกทางให้เด็กๆ บ้านห้วยระพริ้ง ได้มีโอกาสทางการศึกษา เปิดโลกทัศน์ ต่อสู้กับสังคมภายนอก และอยู่กับสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ได้ และนำสิ่งที่ดีกลับมาพัฒนาชุมชนของตัวเองต่อไป

หมายเลขบันทึก: 659139เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2019 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2019 09:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท