๗๕๔. เด็กชายวินัย...


ผมเชื่อว่า..ทุกเรื่องคุณธรรมที่นำเสนอโดยครูหรือเด็ก..ผ่านการแสดงออกด้วยคำพูดและภาษาท่าทาง โดยมีการถ่ายทำบันทึกภาพไว้ จะเป็นก้าวใหม่ในวงการศึกษา เป็นสื่อใกล้ตัวที่น่าไขว่คว้า..และน่าเรียนรู้ ฉากหรือโลเกชั่นก็หาไม่ยาก

        ในบางวันที่คิดได้และมีโอกาสลงมือทำ เป็นความสุขแบบหนึ่ง เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ความสำเร็จแต่อยู่ที่ประสบการณ์การเรียนรู้

    อย่างเช่นวันนี้..คิดถึงเรื่องการสอนคุณธรรมและการนำโทรศัพท์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เชื่อมโยงไปสู่การจัดกิจกรรมบทบาทสมมุติ

        บทบาทสมมุติหายไปจากโรงเรียนนานแล้ว..ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็เคยอยู่ในใจและรู้ซึ้งถึงคุณค่าภาษาท่าทาง..ที่ช่วยเสริมต่อการเรียนรู้ได้อย่างมากมาย..

        จุดเริ่มต้น..อยู่ที่อัตลักษณ์คุณธรรมประจำโรงเรียน ประกอบด้วย “ความสามัคคี ความมีวินัยและความพอเพียง..”

        คิดว่า..จะสอนอย่างไร? เด็กถึงจะมีวินัย..ผมเหลือบไปเห็นนักเรียนกำลังยืนซื้อขนมหน้าห้องสหกรณ์ มีทั้งเข้าแถวและไม่เข้าแถว..

        ผมเขียนบทคร่าวๆทันที วันนี้หนังสั้นๆ จะต้องเกิดขึ้น..โดยมีผมเป็นผู้กำกับ เครื่องมือคือโทรศัพท์ ผู้ช่วยผู้กำกับคือครูธุรการและเป็นคนถ่ายทำ...

        แรงบันดาลใจอยู่ตรงไหน..ทำไมถึงต้องรีบดำเนินการ..ผมตอบตัวเองได้ว่า .ผมอยากรู้จักเด็กและรู้จักตัวเอง..ว่าจะออกแบบการสอนได้มากน้อยแค่ไหน?

        การให้เด็กได้แสดงออก เราจะเห็นตัวตนของเด็ก แล้วถ้าเด็กเป็นผู้แสดงแล้วการแสดงถูกบันทึกภาพ..เมื่อเขาได้ดูภาพเคลื่อนไหว เขาจะจดจำและประทับใจ..

        หนังสั้นผ่านจอคอมพิวเตอร์..คือบทเรียนและข้อคิด..คือการสอนแบบไม่ต้องสอน..สิ่งที่ได้ตามมาก็น่าจะเป็นกระบวนการคิด นักเรียนสามารถคิดต่อยอดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด...

        ผมเริ่มถ่ายทำตอนเที่ยง..ให้นักเรียนซ้อม ๑๐ นาที โดยมี “เด็กชายวินัย” เป็นตัวเอก..แบบที่ไม่มีวินัย..ไม่ชอบการยืนต่อแถวแต่ชอบแซงคิว

        เห็นเพื่อนและน้องยืนต่อแถวซื้อขนมหน้าห้องสหกรณ์ ว่าแล้วเด็กชายวินัยก็วิ่งไปอยู่หัวแถวโดยที่ไม่เกรงใจใคร เพื่อนเตือนก็ไม่ฟัง..ต้องให้ประธานนักเรียนมาเตือนและใช้มาตรการแจ้งครุประจำชั้น..

        ผมยังเขียนบทได้ไม่ดีนักและมีเวลาซ้อมน้อย..แต่ภาพที่ออกมาก็สามารถสอนเรื่องระเบียบวินัย..จากเด็กชายวินัยที่น่าจะมีวินัย แต่กลับไม่มี..แต่ในท้ายที่สุดก็คิดได้..

        หนังสั้นๆ..ทำให้ผมคิดถึงบทบาทสมมุติในหลักสูตรเก่าที่นำพาเด็กไปสู่จิตใจที่งดงาม เพราะทุกเรื่องที่เด็กแสดง..จะจบในใจเด็กเสมอ..

        หนังสั้นๆ..หรือจะเรียกอะไรก็ตาม ใช้เครื่องมือที่เรียกว่าโทรศัพท์มือถือ ที่ครูทุกคนพกพา..สามารถสื่อสารให้เป็นสื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพ ง่ายและประหยัด

        หนังสั้นๆ..แสดงโดยเด็กแล้วเด็กได้ดู..ความสุขในการเรียนรู้จะเกิดขึ้น และเรื่องราวดีๆที่จะช่วยปั้นแต่งเด็กให้เป็นเด็กดี..จะตามมา

        ผมคิดว่า..ครูกับเด็กได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวรรณกรรมหลายเรื่อง บางเรื่องมาสร้างเป็นบทบาทสมมุติ..แล้วขยายไปสู่การทำหนังสั้นๆได้

        หากมีพัฒนาการก็คงก้าวไปถึงจุดสูงสุดได้เลย..โดยให้นักเรียนเขียนบทเอง แสดงกันเองแล้วถ่ายทำ นำเสนอโครงงานส่งครู

        ผมเชื่อว่า..ทุกเรื่องคุณธรรมที่นำเสนอโดยครูหรือเด็ก..ผ่านการแสดงออกด้วยคำพูดและภาษาท่าทาง โดยมีการถ่ายทำบันทึกภาพไว้ จะเป็นก้าวใหม่ในวงการศึกษา เป็นสื่อใกล้ตัวที่น่าไขว่คว้า..และน่าเรียนรู้ ฉากหรือโลเกชั่นก็หาไม่ยาก

        ถ้าถ่ายยังไม่ดีพอ ก็ลบทิ้งแล้วถ่ายทำใหม่ จะถ่ายกี่ครั้งก็ได้แล้วตัดต่อ สะดวกง่ายดาย..และคุณค่าก็มากมาย จะสอนคุณธรรมเด็กเรื่องวินัย ซึ่งเป็นเรื่องของนามธรรม..นำหนังสั้นมาใช้กันนะครับ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๗  ธันวาคม  ๒๕๖๑

หมายเลขบันทึก: 658798เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2018 21:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2018 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท