การประชุมประจำปี การพัฒนาการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ ครั้งที่ ๕ Reflection โดย ศ. นพ. ดร. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ : การเรียนรู้ร่วมชุมชน



            ท่านอาจารย์วิจารณ์ พานิช ทักผมตอนตักอาหารกลางวันว่า สุรศักดิ์จะเขียน reflection ประชุมให้ผมใช่ไหมครับ ผมนิ่งไปแป๊บหนึ่งแล้วตอบท่านอาจารย์วิจารณ์ไปว่าเดี๋ยวจะลองดูครับ เลยเป็นที่มาของการเขียนครั้งนี้

                เมื่อวาน (13 พ.ย. 2561) ผมได้รับเชิญไปเป็นผู้วิพากษ์ Session: Infusing Service-Learning in Health Professional Education ในการประชุมวิชาการระดับชาติ การพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ ครั้งที่ 5 โดยในปีนี้มีหัวข้อหลัก คือ ผนึกพลังภาคี ปฏิรูประบบสุขภาพ มีการจัดประชุมห้องย่อย 11 ห้องคู่ขนานไปด้วยกัน โดยตอนแรกผมว่าจะไปวิพากษ์ตามที่ได้รับเชิญ เสร็จแล้วก็จะฟังการจัดการเรียนรู้ในชุมชนเพื่อนำมาปรับใช้กับที่คณะผมจัดการเรียนรู้ในชุมชนอยู่    ก่อนการประชุมได้ลองสืบค้นหาความรู้เกี่ยวกับ service learning พบว่า service learning คือ กิจกรรมการจัดการเรียนรู้ในชุมชนโดยเกิดประโยชน์กับทั้งผู้เรียนและคนในชุมชน องค์ประกอบสำคัญของการจัด service learning คือ 1) ต้องเป็นกิจกรรมที่มีการจัดให้ผู้เรียนได้ลงมือทำจริง ไม่ใช่แค่ไปศึกษาดูงาน กิจกรรมดังกล่าวทำให้ผู้เรียนเกิด critical thinking และ problem-solving skills 2) ระยะเวลาการจัดกิจกรรมต้องเพียงพอ มีการเสนอตัวเลขที่เหมาะสมไว้ว่าต้องไม่น้อยกว่า 15-19 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้เรียนได้ซึมซับกับการร่วมกับชุมชนในการแก้ไขปัญหาที่พบ และ 3) หลังเสร็จกิจกรรมต้องมีการ reflection ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการพูด หรือเขียน    ตรงนี้ผมได้แทรกไปในที่ประชุมว่า reflection ที่ดีควรต้องถึงขั้น critical reflection    ซึ่งนอกจากทำ content reflection (สะท้อนถึงเนื้อหาที่ได้เรียนรู้)  process reflection (สะท้อนถึงกระบวนการที่ได้ทำ)  ยังต้องสะท้อนถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจากทำกิจกรรม    ซึ่งจะทำให้นักศึกษาสามารถเข้าใจตนเองและอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตนเองได้ สำหรับกิจกรรมที่ทำในชุมชนต้องทำโดยชุมชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุดเพื่อเกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป ประโยชน์ที่เกิดกับผู้เรียนมีทั้งการฝึกทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น   ฝึกการประยุกต์ความรู้มาใช้กับชีวิตจริง    ฝึกการเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม และได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อโลกหลังจากพบปัญหาสังคมที่แท้จริง    ประโยชน์ต่อชุมชน คือ ชุมชนมีการรวมตัวกันเพื่อจัดการเรียนรู้แก่นักศึกษา และแก้ไขปัญหาของชุมชนได้จากการมีส่วนร่วมด้วยกัน

                ใน Session: Infusing Service-Learning in Health Professional Educationเริ่มต้นด้วยอาจารย์จิโรจน์ รองคณบดีฯ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลได้กล่าวนำถึงความหมายของ service learning    จากนั้นท่านอาจารย์ดรุณี คณบดี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้นำเสนอการจัดการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย โดยคณะพยาบาลศาสตร์นอกจากจัดการเรียนรู้แบบ service learning แล้ว ยังจัดการเรียนรู้แบบ interprofessional education ด้วย โดยจัดร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมือง และนฤมิตศิลป์ นักศึกษาออกชุมชนลงไปทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในชุมชน โดยมีการทำงานร่วมกับแกนนำผู้สูงอายุของชุมชน กิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น มีการปรับที่นั่งให้เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุในการนั่งทำบุญที่วัด ปรับปรุงห้องน้ำที่บ้านของผู้สูงอายุ  ทำประตูให้เป็นแบบบานเลื่อนและโถส้วมเปลี่ยนเป็นแบบนั่งแทนนั่งยอง    และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของผู้สูงอายุ    กิจกรรมดังกล่าวนักศึกษาได้ร่วมกับผู้สูงอายุทำกิจกรรมตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้และภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนเองทำ     สำหรับชุมชนแกนนำผู้สูงอายุจะเป็นตัวเชื่อมโยงเพื่อส่งต่อ ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนด้วยกันต่อไป

                การนำเสนอต่อไป เป็นการนำเสนอของอาจารย์ผกาวลี คณบดีคณะกายภาพบำบัด วิทยาลัยเซนต์หลุยส์    ตอนผมเห็นชื่ออาจารย์ผกาวลีผมก็จำได้ว่าอาจารย์เคยมาเรียนปริญญาเอกที่คณะผมเมื่อแรกเริ่มเปิดหลักสูตรปริญญาโท-เอกของคณะ  ก่อนประชุมได้คุยแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ผกาวลี   อาจารย์เล่าให้ฟังว่าการที่จัดกิจกรรมเรียนรู้แบบนี้ เนื่องจาก ได้รับความรู้เรื่องชุมชนตอนสมัยเรียนปริญญาเอก ทำให้จิตใจผมพองโต (ตามสภาพอัตตาของตนเอง) ถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งจากเรา คณะกายภาพบำบัด วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ จัดวางแผนและจัดการเรียนรู้ service learning แบบครบวงจรตั้งแต่วางแผน การสร้างเครือข่าย สร้างความเป็นเจ้าของ ภูมิปัญญาฝังลึกของชุมชน การสะท้อนย้อนคิด เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ด้าน service learning ทางคณะกายภาพบำบัด วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ได้ให้อาจารย์ในคณะทุกคนต้องออกชุมชนร่วมกับนักศึกษา การออกชุมชนเลือกทั้งชุมชนในกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัด เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้หลากหลาย ในกิจกรรมที่ทำในชุมชนจะมุ่งเน้นกิจกรรมที่คนในชุมชนทำได้เอง (self-help activities) เพื่อจะได้ทำต่อไปเมื่อนักศึกษาออกจากชุมชนแล้ว     เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมมีการให้นักศึกษาทำ reflection สะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ และปรับพัฒนากิจกรรมในรอบถัดไป   

                การนำเสนอสุดท้ายใน session นี้ คือ การนำเสนอของแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดย อาจารย์สุกรี มีการออกชุมชนบางกอกน้อยรอบโรงพยาบาลศิริราช โดยฝึกการบริบาลในชุมชน เยี่ยมบ้าน และทำโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมมีทำ reflection นักศึกษาสะท้อนว่าได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไข้ ทำให้ดูแลคนไข้ได้ดีขึ้น  จะเห็นว่าจากตัวอย่าง service-learning ทั้ง 3 แห่งประโยชน์เกิดขึ้นกับทั้งนักศึกษาและชุมชนทันที   นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ และเบิกบานใจที่ได้นำความรู้ที่เรียนไปก่อให้เกิดประดยชน์ได้จริงทั้งที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่    และคนในชุมชนก็ได้รับผลประโยชน์จากการได้รับการแก้ไขปัญหา และมีกลุ่มคนในชุมชนที่จะสืบทอดการดูแลแก้ไขปัญหาต่อไป

                ช่วงบ่ายตอนแรกจะไปฟังการทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบการจัดการเรียนรู้ร่วมชุมชนที่มีคณะทำงานดำเนินการทบทวนงานวิจัยในต่างประเทศและในประเทศไว้มีของทุกสาขาวิชาชีพ กะว่าจะไปฟังของแพทย์ตอนบ่ายโมง ปรากฎว่าตารางจัดประชุมเปลี่ยนใหม่มีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวไปช่วงเวลาที่ผมไปวิพากษ์แล้ว เลยตัดสินใจไปฟังห้อง Teaching/learning skills for community-engaged education เพื่อไปให้กำลังใจพี่สรรัตน์ จากโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา และอาจารย์จุลจราพรจากคณะพยาบาลศาสตร์ ธรรมศาสตร์    เริ่มต้นด้วย พี่สรรัตน์ ผอ. ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา พูดถึงทั้งการจัดการเรียนรู้ในหลักสูตรและนอกหลักสูตร   ผมฟังมาหลายครั้งแต่ทุกครั้งจะได้อะไรใหม่ๆ เพิ่มเติมทุกครั้ง ครั้งนี้ก็เช่นกัน ที่มหาราช โคราช มีรายวิชาที่สลายความเป็นผู้เชี่ยวชาญของอาจารย์ อาจารย์แต่ละท่านไม่ว่าจะเชี่ยวชาญด้านไหนก็มาช่วยกันจัดการเรียนรู้ให้นักศึกษาในการดูแลคนไข้ในโรคที่พบบ่อย    นอกจากนี้ ในรายวิชาเฉพาะสาขาต่างๆ ก็มีการนำนักศึกษาลงไปเรียนรู้ในโรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริงที่ตนเองจะได้พบเมื่อจบไป    สำหรับกิจกรรมนอกหลักสูตรมีการจัดกิจกรรมค่ายใจอัศจรรย์ให้นักศึกษาเข้าใจตนเอง และเข้าใจผู้อื่นโดยกระบวนการจิตตปัญญา และมีค่ายฝึกประสบการณ์ในชุมชนที่นักศึกษาจัดกันเองทุก 2 เดือน จัดมาได้ 80 กว่าครั้งแล้ว ช่วงเช้าตรวจคนไข้แบบสหวิชาชีพ ช่วงบ่ายเยี่ยมบ้าน และปิดท้ายด้วย reflection

                ถัดมา อาจารย์เลิศยศ เล่าให้ฟังถึงการจัดการเรียนรู้ร่วมชุมชนของคณะเทคนิคการแพทย์ มหิดล     มีการจัดการเรียนรู้เทคนิคการแพทย์ชุมชนมาตั้งแต่ปี 2538 โดยท่านอาจารย์วีระพงศ์ ปรัชชญาสิทธิกุล อดีตคณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหิดล ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เห็นว่านักเทคนิคการแพทย์เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจอย่างดีเกี่ยวกับผลตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ การออกไปในชุมชน อธิบาย ให้คำแนะนำกับคนในชุมชนเกี่ยวกับผลดังกล่าวจะมีประโยชน์ต่อคนและชุมชนเป็นอย่างมาก    ตอนเริ่มต้นมีทั้งอาจารย์ในคณะและสภาวิชาชีพที่ไม่เห็นด้วย    แต่พอทำไปต่างเห็นว่ามีประโยชน์ จนในที่สุดมีการใส่เทคนิคการแพทย์ชุมชนไว้ใน มคอ. 1    การจัดการเรียนรู้เทคนิคการแพทย์ชุมชนมีการดำเนินการต่อเนื่องในพื้นที่สามพรานร่วมกับวิชาชีพอื่น โดยมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ อธิบายผล และจัดโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพตามผลทางห้องปฏิบัติการที่ตรวจพบ นอกจากนี้ ยังมีรายวิชา transformative learning for medical technology เพื่อให้นักศึกษาเข้าใจตนเอง และผู้อื่น โดยกระบวนการจิตตปัญญา และมีการจัดค่ายสร้างเสริมสุขภาพโดยนักศึกษาเองอีกด้วย

                สถาบันที่สามที่มาแลกเปลี่ยน คือ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ. ศิราณี ผู้ซึ่งออกตัวว่าตนเองสมัยเรียนก็ไม่เคยเรียนเกี่ยวกับชุมชน แต่ในเมื่อต้องมารับผิดชอบรายวิชาเกี่ยวกับเภสัชกรรมชุมชนก็ไปปรึกษาอาจารย์พยาบาลที่มีความชำนาญด้านชุมชน เป็นความน่ารักในการช่วยเหลือกัน คณะเภสัชศาสตร์ วลัยลักษณ์ จัดให้มีการเรียนรู้เภสัชชุมชนตลอดทุกชั้นปี โดยมีหลักการสำคัญ คือ ไม่ใช่แค่การเรียนการสอน/การรักษา แต่คือความผูกพัน (therapeutic relationship) นักศึกษาได้รับการมอบหมายให้ดูแลคนในชุมชนที่ถูกย้ายที่อยู่จากการตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยนักศึกษาจะมีซอยที่ตนเองรับผิดชอบ แต่ละซอยจะมีนักศึกษาแต่ละชั้นปีดูแล รุ่นพี่จะเป็นคนสอนรุ่นน้อง อาจารย์จะมีบทบาทเมื่อนักศึกษาไม่สามารถจัดการได้    การจัดกิจกรรมในชุมชนนอกจากการดูแลเรื่องการใช้ยาแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมร่วมกับคณะอื่นๆ เพื่อจัดการปัญหาสุขภาพที่พบ เช่น ร่วมกับกายภาพบำบัดในการลดการใช้ยาชุดด้วยท่าทางที่ช่วยอาการปวดเมื่อย ร่วมกับวิศวะในการปรับสภาพห้องส้วม อาจารย์ศิราณีทิ้งท้ายคำคมไว้ว่า "ผู้ป่วยไม่ได้ต้องการแค่ยา แต่ต้องการความใส่ใจจากหมอ"

                จากนั้น อาจารย์ภครตี คณะกายภาพบำบัด มหิดล เล่าถึงการจัดการเรียนรู้สำหรับนักศึกษากายภาพบำบัดในชุมชนใกล้ๆ ศาลายา โดยมีรายวิชากายภาพบำบัดชุมชน อิงหลักการ community-based rehabilitation ขององค์การอนามัยโลก มีการใช้เครื่องมือ 7 ชิ้นในการศึกษาชุมชน และทำกิจกรรมฟื้นฟูสภาพโดยอาศัยเทคโนโลยีที่เหมาะสมในชุมชน นอกจากนี้ยังมีรายวิชาจิตตปัญญาศึกษาให้นักศึกษาเข้าใจตนเอง เข้าใจคนไข้ มีการจัดกิจกรรม เช่น บทบาทสมมติว่าตัวนักศึกษาเป็นผู้พิการทางสายตา หรือต้องนั่งรถเข็นแล้วมีประสบการณ์ความรู้สึกอย่างไร

                ปิดท้ายด้วยอาจารย์จุลจราพร คณะพยาบาลศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เล่าประสบการเรียนรู้ transformative learning ของตนเองผ่านการรับการอบรมพยาบาลเวชปฏิบัติ 4 เดือน แล้วพบว่า ไม่มีหัวข้อการเรียนที่ทำให้ผู้เข้ารับอบรมแสดงบทบาทในการพัฒนาวิชาชีพ เมื่อสถาบันแห่งนั้นได้รับคำสะท้อนนั้นแล้วปีต่อมา สถาบันนั้นเชิญท่านอาจารย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ มาพูดเรื่อง transformative learning จึงเชิญอาจารย์จุลจราพรไปร่วมฟังด้วย จากการฟังดังกล่าวทำให้อาจารย์จุลเข้าใจ 10 ขั้นตอน transformative learning ของ Mezirow และเห็นความสำคัญของการตั้งปัญหา (dilemma) การฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) และการสะท้อนย้อนคิด (reflection) และนำมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ของนักศึกษาพยาบาลทั้งระดับปริญญาตรีและโท

                หลังพักอาหารว่างมีการล้อมวงระดมจิตใจ (mindstorming อาจจะไม่เหมือนต้นแบบก็ตามที) คุยกันว่าหลังจากฟังเรื่องราวแล้วเป็นอย่างไร อะไรเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของนักวิชาการศึกษาของมหาราช โคราช ถึงเบื้องหลังการจัดการเรียนรู้ และสิ่งที่ได้จากการทำ มีการแลกเปลี่ยนของนักศึกษากายภาพบำบัด มหิดลที่เห็นว่าการจัดรายวิชาจิตตปัญญาศึกษามีประโยชน์ แต่ควรมีความหลากหลายเพื่อสอดคล้องกับจริตนักศึกษา

เมื่อจบวัน ผมรู้สึกเบิกบานใจที่เห็นสิ่งดีๆ ที่อาจารย์จากที่ต่างๆ ได้ทำกันเพื่อประโยชน์กับทั้งนักศึกษาและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน จะมีการขยายผลต่อไปหรือไม่อย่างไรอาจไม่สำคัญสำหรับผม เพราะ เห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการมาร่วมวงกันดังกล่าวย่อมทำให้เกิดการเจริญงอกงามออกไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

                สำหรับการประชุมวิชาการนี้เป็นครั้งสุดท้ายตามแผนฯ ผมเห็นพัฒนาการการจัดประชุมมาเรื่อยๆ ทุกปี มีความร่วมมือร่วมใจจากอาจารย์ทุกสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพมาช่วยกัน ถึงแม้มีปัญหาอุปสรรคขลุกขลัก ต่างก็ช่วยกันผลักดันออกมา อนาคตการทำงานร่วมกันของทุกวิชาชีพจะออกมาในรูปใดยังไม่แน่ชัด แต่ผมเชื่อว่าจะมีการทำงานต่อเนื่องร่วมกันต่อไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ผมขอขอบคุณ ศ. นพ. ดร. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ แห่งสถานเวชศาสตร์ชุมชนและครอบครัว  คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ที่กรุณาเขียน reflection จากการไปร่วมประชุมให้อย่างรวดเร็ว     เชื่อว่าท่านผู้อ่านจะได้รับความรู้มากเช่นเดียวกันกับผม   

วิจารณ์ พานิช

๑๔ พ.ย. ๖๑


                 

หมายเลขบันทึก: 658796เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2018 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2018 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท