เราปั๊มหัวใจให้คนท้อง


“ไม่มีเค้าสักคน ผมคงอยู่ไม่ได้หรอกครับหมอ เราอยู่ด้วยกันมาตลอดตั้งแต่แต่งงานกันมา ผมติดเค้า เค้าก็ติดผม” เพียงได้ยินคำบอกเล่าจากผู้เป็นสามีมาอย่างนี้ มันก็ทำเอาผมน้ำตาคลอเบ้า แต่ก็ต้องรีบกลืนลงไปอย่างรวดเร็ว

พวกเราถูกฝึกมาให้ปล่อยวางจากความทุกข์ในการดูแลคนไข้มาตลอด แต่เมื่อเจอสภาวะการอย่างที่ต้องถูกเรียกไปดูแลผู้ป่วยรายนี้ มันก็ทำให้เราทำใจปล่อยวางความทุกข์ลงได้ยากเหมือนกัน

.................

“อาจารย์ขา นี่ปุ่นนะ ที่ ER ตอนนี้มีคนท้องหัวใจหยุดเต้น ปั๊มมาตั้งแต่นอกโรงพยาบาล หนูยังไม่ทราบรายละเอียด ตอนนี้กำลังวิ่งลงไป ER ค่ะ” เสียงตามสายรายงานมาอย่างนี้

ผมขนลุกซู่ คนท้องที่มีอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันแบบนี้ ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือด หรือ amniotic fluid embolism ซึ่งหมายถึงส่วนใหญ่มักจะไม่รอด 

“บู้ เอ้ มีคนท้อง arrest ที่ ER เธอ ๒ คนไปกับพี่หน่อย ตอนนี้เลย พี่เปิ้ลอยู่ไหน” ผมรีบลุกขึ้นและออกตัววิ่งออกจากภาควิชาในทันทีพร้อมกับออกปากชวนอาจารย์รุ่นน้องทั้งคู่ที่กำลังเสวนาด้วยอยู่ให้ลงไปพร้อมกัน

“อาจารย์เปิ้ล lecture อยู่ครับ” เสียงอาจารย์บู้ตะโกนไล่หลังมา

“พี่จินครับ พี่ไปช่วยผมที่ ER ตอนนี้เลย คนท้องของเรากำลังถูก CPR อยู่ครับ” ผมวิ่งไปและยังไม่ลืมนึกถึงคนเก่งของเราอีกคน ผมวิ่งไปพลางคว้าโทรศัพท์กดหาเธอ นั่นคืออาจารย์จิตเกษม

และเพียงอึดใจเราก็มาถึงที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล 

“หัวใจมาแล้วครับ แต่มี SVT” 

มีหมอหลายคนกำลังรุมช่วยชีวิตคนไข้ตั้งครรภ์ท้องแก่ของเรา ซึ่งหลังจากที่เธอหัวใจหยุดเต้นในทันทีทันใดตั้งแต่ในรถขณะที่กำลังมาโรงพยาบาล หมอที่นั่งมาด้วยก็เริ่มต้นทำการกดนวดหน้าอกหรือ CPR มาตลอดทาง โดยใช้เวลาระยะหนึ่งเธอก็มาถึงมือพวกเรา และก็ถูก CPR ต่ออีก ๕ นาที

“ทุกคนถอยครับ ผมจะ cardiovert” คำสั่งให้ถอยเสียงดัง เพียงเพื่อการช๊อตที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับทีม 

“หัวใจเด็กเต้น ๙๐ ครับอาจารย์” คุณหมอหวดบอกผม ซึ่งหมายความว่า มันดูแย่มากๆ สำหรับการอยู่ในมดลูกแม่ขณะนี้

“เราจะผ่าเอาเด็กออกเลยมั้ยครับอาจารย์” อาจารย์บู้ถาม พร้อมๆกับที่อาจารย์เจ๊จินวิ่งมาถึงพอดี

“ไม่ ถ้าเราทำตอนนี้ เราอาจจะไม่เหลือใครไว้เลย อาการของแม่ยังไม่คงที่” ผมตอบ 

“ถ้าจะตายก็ตายไปพร้อมกัน” ผมพูดช้าๆชัดๆ แต่ในใจแม่งสลายไปเรียบร้อยเมื่อเหลือบตามองเห็นคนไข้เราดูตัวคล้ำๆ ยาหลายชนิดถูกฉีด เลือดอีกหลายหลอดถูกส่งไปตรวจหาค่าของสารต่างๆ ทั้งเพื่อการวินิจฉัยโรคและการประเมินการช่วยชีวิต

ระหว่างที่พวกเรากำลังมะรุมมะตุ้มคนไข้ต่อไปอยู่นั้น ผมก็แยกตัวออกมาคุยกับสามีของเธอ

“หัวใจกลับมาเต้นแล้วนะครับ แต่อาการยังไม่คงที่ คุณครับ ถ้าเราพาแม่ไปผ่าท้องคลอดตอนนี้ เราอาจจะไม่เหลือใครเลย รอนะครับ ถ้าจะไม่ไหวก็ให้เค้าไปด้วยกัน” ผมบอกออกไปแบบนี้

“ครับหมอ” เขาตอบมา ในแววตาแห้งผาก

แต่เรื่องราวทางการแพทย์มันเปลี่ยนได้นาทีต่อนาที

“น้องแป๊ะ พี่ว่ามันดูดีขึ้น หัวใจเด็กเริ่มเต้นดีขึ้น ตอนนี้ ๑๒๐ ครั้งต่อนาที อาการของแม่เริ่มคงที่” อาจารย์เจ๊จินบอกมา

“อาจารย์ครับ เอายังไงดี” ผมต่อสายหาอาจารย์ฐิติมาอีกคน เพื่อขอความเห็นเพิ่มเติม

“ผ่าเลยน้องแป๊ะ ตอนนี้น่าจะเป็นโอกาสทอง” นั่นคือสัญญาณปล่อยตัวให้เราเตรียมออกรบอีกรอบ

“ประสิทธิ์ครับ พี่คิดว่า เราอาจจะต้องพาคนไข้ไปผ่าท้องในเวลาไม่นานนี้นะครับ” ผมบอกหัวหน้าทีมห้องฉุกเฉินไป 

“ครับพี่แป๊ะ ผมขอเวลาแทงสายหลอดเลือดที่ข้างคอนิดหนึ่ง ตอนนี้มีเลือด และน้ำเหลืองรอไว้เรียบร้อยแล้วครับพี่ เสร็จแล้วเดี๋ยวจะส่งขึ้นไปเลย พี่ไปรอได้เลยนะครับ” อาจารย์ประสิทธิ์ส่งเสียงมา แล้วผมก็รีบกึ่งวิ่งกึ่งเดินไปห้องผ่าตัดในทันที

......................

อาจารย์พี่เปิ้ลเมื่อได้รับการติดต่อ เธอก็สั่งการทางโทรศัพท์มาอีกยาวเหยียดว่าต้องทำต้องเตรียมอะไรบ้าง เธอคล่อง เพราะประสบการณ์เรื่องแบบนี้เธอมีมากที่สุดในภาควิชาของเรา และเธอก็มาถึงห้องผ่าตัดก่อนเราเสียอีก เธอเรียกหมอแผนกอื่นมาช่วยเราอีกจำนวนหนึ่ง 

“ทุกคนเงียบนะครับ” ผมส่งเสียงดังๆออกมาเพื่อเรียกสติของทีม (และของตัวเองด้วยกระมัง)

“ผมจะผ่าเอาเด็กออกมาก่อน พยาบาลเตรียมคีมคีบเอาไว้ให้พร้อมใช้ จากนั้นให้ระวังเรื่องตกเลือด เตรียมยาให้พร้อม เลือดมาถึงแล้วใช่ไหม และขอให้ปิดแอร์ด้วย หมอเด็กมาถึงแล้วใช่ไหมครับ” นั่นคือการ time out ของผม และทุกอย่างที่ผมขานออกมานั้น มันถูกเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว

และเพียงไม่ถึง ๕ นาทีหลังจากหมอดมยาให้สัญญาณมา เด็กก็คลอด เรารีบส่งเด็กไปยังหมอเด็กที่มารออยู่แล้ว

“ตัวสีชมพูเลย ใจชื้นขึ้นมาหน่อย” เจ๊จินพึมพัม

การผ่าตัดดำเนินไปอีกราว ๑๒ นาที เราก็เย็บมดลูกและเย็บแผลเสร็จ

หมอไอซียูมายืนรอรับผู้ป่วยถึงในห้องผ่าตัด

“เดี๋ยวขอเวลาหนูทำ echo ดูหัวใจก่อนนิดหนึ่งนะคะ” อาจารย์ตะเกียง หมอดมยาคนเก่งมายืนบัญชาการอยู่ข้างๆ พร้อมๆกับเริ่มสอดสายตรวจผ่านเข้าทางปากและหลอดอาหารคนไข้ มันคือการทำ transesophageal echocardiography 

หัวใจดูดี มองไม่เห็นก้อนเลือดอุดตันในหลอดเลือดปอดที่อาจจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของเรื่องราวทั้งหมดได้

“เป็นโรคของพวกเรานั่นแหละน้องแป๊ะ amniotic fluid embolism” อาจารย์เจ๊จินบอกออกมา มันคือ น้ำคร่ำอุดหลอดเลือด กลุ่มอาการที่ส่วนของน้ำคร่ำมันเข้าสู่หลอดเลือดปริมาณหนึ่ง และร่างกายเกิดปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรง เลือดไม่ไหลเข้าปอด ร่างกายขาดออกซิเจน หลอดเลือดทั้วร่างกายขยายตัว ความดันเลือดต่ำรุนแรง เลือดไม่แข็งตัว และหัวใจหยุดเต้น

ไอ้กลุ่มอาการนี้นี่เอง ที่พวกเราเหล่าหมอสูติทั้งหลายเกรงกลัวกันนักหนา เพราะมันมักจะตามมาด้วยการสูญเสียที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยจริงๆ

ผมจินตนาการไปถึงสิ่งที่กำลังรอเราอยู่ข้างหน้า

พวกเราแปลกใจเล็กน้อย ว่าทำไมมันไม่มีอาการตกเลือด หรือเลือดออกไม่หยุดเหมือนรายอื่นๆ หรือว่าเธออาจจะมีปัญหาโรคหัวใจซ่อนอยู่ มีคนกระซิบมาอย่างนั้น แต่ยังไงก็ตาม ตอนนี้เราก็ทำไ้ด้เพียงแค่ พยุงอาการและสัญญาณชีพ รอ เฝ้าดู และร่วมกันสวดมนต์ (เอ่อ..อันหลังนี่ คงมีผมคนเดียวกระมังที่ทำเช่นนั้น)

.............................

วันนั้นผมเหนื่อยใจทั้งวัน เราเรียกเคสแบบนี้ว่า “เคสดูดวิญญาณ”

ฝีมือทางการแพทย์ของทีมพวกเรามันเยี่ยมมาก 

เห็นไหม ผมไม่ต้องดูแลคนไข้คนเดียว ไม่ต้องตัดสินใจอะไรคนเดียว การเข้าไปผ่าตัดก็มีอาจารย์อาวุโสฝีมือดีเข้าไปช่วย การดูแลคนไข้ต่อเนื่องก็มีทีมแพทย์ไอซียู หมอหัวใจ และหมอระบบประสาทมาช่วย นี่ยังต้องนับรวมไปถึงทีมหมอ ER ที่ปั๊มคนไข้จนหัวใจเธอกลับมาเต้นได้อีกครั้ง และพยุงอาการเอาไว้จนเราสามารถเข็นเธอไปผ่าตัดได้ และหมอเด็กที่อุ้มเจ้าหนูน้อยนั่นออกไปจากมือเราเพื่อดูแลต่อ

แต่อย่างไรเสีย ผมเองก็ต้องสารภาพออกมาด้วยเช่นกัน ว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยพยุงใจหมอก็คือ “สาธุ สาธุ คนไข้ต้องรอด ต้องปลอดภัยนะครับ สาธุ” ผมอธิษฐานแบบนี้ตั้งแต่วิ่งลงไปห้องฉุกเฉินแล้ว

ธนพันธ์ ชูบุญหัวใจสั่นระริกระรัว

สงวนวันที่ ๒๕๖๑

…............................

วันที่ ๗ หลังเกิดเหตุ เธอยังไม่ตื่น สมองไม่รับรู้และไม่มีการตอบสนองใดๆ ไข้สูงปรี๊ด ซึ่งน่าจะเกิดจากการติดเชื้อในปอด 

วันที่ ๑๐ หลังจากนั้น ลูกเธอสามารถดูดนมจากขวดได้เก่ง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น วันนี้กำลังจะได้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ส่วนเธอนั้นไข้เริ่มลดลง เริ่มตอบสนองต่อความเจ็บปวด สามีเธอเล่าให้ฟังว่า ภรรยาเขาเริ่มดูมีแววตา 

เฮ้ย..ผมนี่เฝ้ารอการกลับมาของเธอเลย

แต่..อย่าเพิ่งดีใจไป อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอนะครับ

“ไม่เป็นไรครับหมอ ผมคิดว่า ถึงตอนนี้ เรากำไรแล้วครับ” เขาบอก

“ในตอนแรก เราคิดว่าสาเหตุทั้งหมดน่าจะเกิดจากภาวะน้ำคร่ำอุดตันในปอดนะครับ แต่มาถึงตอนนี้ บอกตรงๆ ว่าเราก็ไม่ทราบแน่ชัดนัก ไอ้ภาวะแรกนั้นน่ะ เวลาผ่าตัด คนไข้มักจะเลือดออกไม่หยุด” ผมหยุดนิดหนึ่ง แล้วพูดกับสามีเธอต่อ

“หมอด้านหัวใจค่อนข้างจะมั่นใจ ว่าเธอน่าจะมีปัญหาด้านหลอดเลือดหัวใจครับ เพียงแต่ตอนนี้ เราไม่มีความจำเป็นต้องรู้ เรารอเธอกลับมาก่อนก็แล้วกันนะครับ” ผมบอกตามที่รู้มา

“ครับ” คราวนี้ แววตาเขามิได้แห้งผากเหมือนวันนั้น เขายังคงมีความหวัง (เหมือนกับเรา)

วันที่ ๑๔ หลังเกิดเหตุ ผมขึ้นไปเยี่ยมเธออีกครั้ง สามีเธอยังคงยืนเฝ้าอยู่เช่นเคย

“เป็นไงบ้าง” ผมถามออกไป

“ทรงๆครับ ไข้เป็นๆหายๆ การตอบสนองคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงครับ” เขาตอบ

ผมสัมผัสตัวเธอ ลูบแขน ขา และกุมมือเธอเอาไว้ ใช้วิธีการสื่อสารโดยการสัมผัส

“แล้วคุณรู้สึกยังไงบ้าง” ผมเปลี่ยนเป็นการสอบถามเรื่องจิตใจของคนเฝ้าบ้าง

“ดีครับ อย่างน้อยก็ยังไม่ได้มีอะไรแย่ลง ลูกยังอยู่ เมียผมก็ยังอยู่ ตอนนี้ลูกกินนมเก่งมากเลยนะครับหมอ” เขายิ้ม

แล้วพวกเราก็ยังคงเฝ้ารอกันต่อไป

ผ่านมา ๑ เดือน

ทุกอย่างเหมือนเดิม เธอยังคงไม่ตอบสนองต่อโลกภายนอก การหายใจด้วยท่อที่ถูกสอดผ่านหลอดลมบริเวณคอดูราบรื่นดี

ครอบครัวจัดห้องสำหรับเธอที่บ้านเรียบร้อยแล้ว 

รออย่างเดียว เมื่อไหร่จะได้กลับบ้าน ลูกรออยู่

..................

จนถึงเวลานี้ เธอได้กลับบ้านแล้ว ด้วยสภาพที่เราคาดเดาเอาไว้

ผมไม่ได้เจอทั้งคู่อีกเลย แต่ก็ยังคงระลึกถึงอยู่เสมอ

“เค้ากลับบ้านแล้วนะพี่แป๊ะ” เสียงจากเจ้าน้องสาวผมส่งมา และผมก็เข้าใจว่า นั่นคือ “จิต”

“คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ กว่าเธอจะทำใจได้นะพี่” เธอยังคงเล่ามาเป็นฉากๆ

“เธอเคยสัญญากับสามีไว้ ว่าจะเลี้ยงลูกด้วยกัน จะไปเที่ยวด้วยกันพร้อมๆครอบครัว พ่อ แม่ ลูก แต่นี่เธอเป็นฝ่ายที่ไม่สามารถรักษาสัญญาได้” เจ้าน้องยังคงเล่ามาประหนึ่งการถ่ายทอดข้อความจากคนหนึ่งมาถึงผมโดยตรง

“แล้วยังไงล่ะน้อง” ผมข้องใจ

“ท้ายที่สุด ก็คือกรรมค่ะพี่ ทุกอย่างลงตัวตามเรื่องราวของมันค่ะ” เธอจบการอธิบาย

วันหนึ่งผมถามสามีเธอว่า ผมเขียนบันทึกเรื่องราวและเอามาลงให้คนอื่นอ่านได้ไหม

เขาตอบว่า “ได้”

แต่ผมก็ใช้เวลาเกือบ ๒ เดือน ในการจัดการอารมณ์ตัวเองและจบเรื่องของทั้งคู่ในวันนี้

งานผมจบ แต่งานของคนบางคนเพิ่งเริ่มต้นขึ้น และท้ายที่สุดผมก็ทำได้เพียงแค่การส่งผ่านความปรารถนาดีไปให้ และปล่อยวาง เพียงเพื่อจะได้ทำจิตใจให้ว่าง ใช้ชีวิตต่อและเตรียมพร้อมสำหรับการดูแลผู้ป่วยรายอื่นๆร่วมกับทีมที่ผมเชื่อว่า “ดีที่สุด” ต่อไป

ธนพันธ์ ชูบุญจบข่าว

๒๕ พย ๖๑

หมายเลขบันทึก: 658781เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2018 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2018 15:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมเชื่อและเห็นจริงในคำพูดนี้ “เรื่องราวทางการแพทย์มันเปลี่ยนได้นาทีต่อนาที” และเห็นใจทั้งหมอ คนไข้ และญาติคนไข้ครับ ขอบคุณบันทึก คนบันทึก และผู้ที่อนุญาตให้นำมาบันทึก ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท