๘๒๕. กลองเราไม่ยาวขนาดนั้น..


ผมรู้สึกภูมิใจ ถึงแม้กลองยาวเราจะไม่ก้าวยาวๆไป แต่เราก็เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ไม่ได้เป็นโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล แต่เราก็สามารถสร้างความสนุกสนานให้ชุมชนใหญ่ๆเสมอมา..

        แปดโมงเช้า..รีบไปช่วยงานบวช แต่รำหน้าขบวนแห่นาคไม่ถึงรอบก็ต้องรีบยื่นซองทำบุญให้เจ้าภาพ แล้วรีบขับรถเข้าโรงเรียน คนขับรถหกล้อรออยู่พร้อมนักเรียน ๒๒ คน ช่วยกันขนเครื่องดนตรีขึ้นรถ..เป้าหมายปลายทางคือวัดโบสถ์เก่า

    เครื่องดนตรีดุริยางค์พร้อมกลองยาว ขึ้นสู่ศาลาการเปรียญ เก้าโมงพอดิบพอดี ผู้คนมาทำบุญกฐินสามัคคียังมีไม่มาก แต่ผมบอกเด็กๆให้โหมโรงได้เลย..

    ผมโห่ ๓ ลา นักเรียนเป็นลูกคู่คอย ฮิ๊ว เหมือนจะบอกผมว่า “หิว” เลยรีบรัวกลองยาวพร้อมฉิ่งฉับกรับโหม่ง จากนั้นก็บรรเลงผ่านไมโครโฟน สร้างบรรยากาศให้คึกคักต้อนรับคณะกฐินที่มาจากกรุงเทพและต่างจังหวัด..

        สลับด้วยเพลงจากดุริยางค์อีกพักนึ่ง จากนั้นก็ให้เด็กๆไปหาของกินตามเต็นท์ที่เรียกว่า “โรงทาน”ที่มีมากมายเกือบ ๕๐ ร้าน ชาวบ้านใจบุญมาเลี้ยงฟรีกันทุกปี..

        เด็กๆของผมก็มากินฟรีเป็นปีที่ ๓ แล้ว พระคุณเจ้าผู้ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสท่านใจดี ท่านให้ผมพาเด็กมาเล่นให้ฟรีทุกปี เท่ากับสร้างประสบการณ์ชีวิตให้แก่เด็กๆ

        สิ้นปี..ท่านก็จะนำทุนการศึกษาไปให้ พร้อมข้าวสารอาหารแห้ง แพงกว่าค่าว่าจ้างกลองยาวเสียอีก งานนี้ก็เลยเป็นการตอบแทนกันไปมา แต่เด็กๆก็สนุกและอิ่มหนำสำราญพอให้มีแรงได้ตีกลองยาวรอบพระอุโบสถ

        แต่กว่าจะได้เวียนโบสถ์ ก็ต้องบรรเลงคั่นเวลาบนศาลาหลายครั้ง คนเริ่มเต็มศาลา บ้างก็มาขอถ่ายรูปถ่ายคลิ๊ป ถามว่าอยู่โรงเรียนไหน? บางคนก็นำขนมและน้ำหวานมาหยิบยื่นให้ นักดนตรีของผมก็เลยมีกำลังใจ ใส่กันเต็มที่

        ผมต้องบอกให้เบาๆมือ เก็บแรงไว้บ้าง ก่อนจะพักเอาแรง คนเฒ่าคนแก่ที่รักในเสียงกลองยาว ก้าวออกมาขยับแข้งขารำฟ้อนไปมาอย่างงาม ถามผมว่ารำเป็นเพื่อนยายหน่อยได้ไหม? ผมคิดในใจ..ยายถามถูกคนแล้วล่ะ...

        เที่ยงตรง..พิธิกรประกาศให้เจ้าภาพกฐินสามัคคีจากทุกสายเตรียมตัว จัดริ้วขบวน ผู้คนเดินกันแน่นศาลาการเปรียญ จนล้นออกมานอกศาลา คณะกลองยาวของผมออกมารอข้างนอกตั้งท่าอยู่ตรงถนนพักใหญ่ ผมเริ่มใจคอไม่ดี..

        อากาศเริ่มร้อนอบอ้าว กลองยาวก็หนัก เด็กจะรอดหรือจะล่ม ปีก่อนเคยเป็นลมหยุดตีไปซะเฉยๆ ผมต้องรีบบอกก่อนจะเริ่มโห่ ให้นักเรียนตีกลองไม่ต้องแรง ช่วยกันตีพร้อมกันเดี๋ยวก็ดังไปเอง..

        เด็กปฏิบัติตามเป็นอย่างดี ผมเคยตีฉิ่งวันนี้ให้ชาวบ้านช่วยตีแทน ผมขออยู่ใกล้เด็กๆ คอยลุ้นและให้กำลังใจ เพราะรู้ดีว่าการตีกลองสำหรับเด็กนั้น นั่งเป็นวงกับเดินตีมันต่างกันมากมาย

        รอบแรกผ่านไป..ไม่น่าเชื่อสายตา ผมเห็นคณะที่มางานบุญกฐินท้ายขบวนยังอยู่บนถนนใหญ่ยังไม่ได้เวียนโบสถ์เลย..ปีนี้สายธารศรัทธาเยอะจริงๆ

        รอบสองเด็กเริ่มมืออ่อนขาอ่อน เพราะนางรำคอยเชียร์ให้ตีเร้าใจ รอบสามรอบสุดท้าย เด็กของผมมีเหงื่อเม็ดใหญ่ไหลรินเป็นทาง แต่ก็ยังยิ้มได้สุดท้ายก็มายืนบรรเลงที่หน้าโบสถ์เพื่อรอให้ทุกคณะเวียนครบทั้งสามรอบ

        คนเฒ่าคนแก่เดินมาหาเด็กๆ ขอบอกขอบใจยกใหญ่และบอกว่าตีเก่งจริงๆ ใครสอนเนี่ย เด็กๆชี้มาที่ผม..ซึ่งกำลังยืนหอบหลังผ่านช่วงเวลาลุ้นระทึกไปอีกปี

        ผมกับเด็กๆ ขึ้นไปเก็บเครื่องดนตรีดุริยางค์เตรียมจะกลับโรงเรียน..หัวหน้าคณะที่เป็นเด็ก ป.๖ มาบอกว่ามีคนให้มาขอนามบัตรผม เผื่อจะได้ติดต่อขอไปเล่นงานต่างๆ..

        ผมไม่ได้ให้นามบัตรเขาไปหรอก..เพราะประเมินความสามารถของผมและเด็กๆแล้ว เราทำได้แค่จิตอาสามาช่วยวัด เรามีขีดจำกัดที่ไปได้ไม่ไกลขนาดนั้น..

        ผมรู้สึกภูมิใจ ถึงแม้กลองยาวเราจะไม่ก้าวยาวๆไป แต่เราก็เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ไม่ได้เป็นโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล แต่เราก็สามารถสร้างความสนุกสนานให้ชุมชนใหญ่ๆ เสมอมา

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๑  พฤศจิกายน  ๒๕๖๑

หมายเลขบันทึก: 657828เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2018 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2018 21:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ประสบการณ์ที่เหลือภาพในหัวชัดเจนเรื่องหนึ่ง คือเป็นสมาชิกวงดุริยางค์ของโรงเรียนนี่แหละครับ … ขอบคุณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท