Community Cohort เพื่อการวิจัยสุขภาพ


บ่ายวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๖๑ ผมไปร่วมประชุมวง SiCORE-M ตามปกติของบ่ายวันพุธสัปดาห์แรก    นอกจากเตรียมซ้อมนำเสนอ CORE Dengue(Research Excellence on Dengue and Emerging Pathogens) ต่อคณะที่ปรึกษานานาชาติ ที่จะประชุมในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๑ แล้ว ยังมีการนำเสนอเรื่อง จากหน่วย SiHP (Siriraj Health Policy Unit)  เรื่องการพัฒนา Community Cohort เพื่อศึกษาเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ และเรื่อง NCD   ในพื้นที่เขตบางกอกน้อย    ซึ่งถือว่าเป็น urban cohort   เพื่อขอรับฟังข้อคิดเห็น  

การประชุม CORE-M (Center of Research Excellence Management) ใช้สไตล์ สานเสวนา (dialogue) หาทางเลือกหลายๆ แบบ    ไม่ใช้การอภิปรายหาข้อยุติที่เรียกว่า discussion  

ที่จริงหน่วย SiHP เป็นหน่วยแยกต่างหากจาก SiCORE-M    แต่ก็ขอใช้เวทีประชุม core team ของ SiCORE-M เป็นที่ขอคำแนะนำ    เวทีประชุม core team ของ SiCORE-M เริ่มมีชื่อเสียงในด้านการคุยกันแบบเตลิดเปิดเปิง    ทำให้ฟุ้ง เพื่อหาแนวทางใหม่ๆ ที่มักจะคิดไม่ถึงหากประชุมกันตามปกติ 

ความหมายของคำว่า cohort อธิบายยาก    เปิดพจนานุกรมบอกว่าแปลว่า รุ่น   หรือกลุ่ม   มักอ้างความหมายจากประชากรศาสตร์   

เมื่อกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว สมัยผมเป็นผู้อำนวยการ สกว.   มีโครงการ T2   ที่ให้ทุน นพ. ปรีดา มาลาสิทธิ์ ๒๕ ล้านบาท    เพื่อทำ Dengue Clinical Cohort สอง cohort  คือที่ รพ. สงขลา กับที่ รพ. ขอนแก่น    และยังเก็บข้อมูลมาจนปัจจุบัน    Dengue Clinical Cohort นี้เก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ทั้งข้อมูลทางคลินิก  ข้อมูลผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษต่างๆ (มีรูปแบบข้อมูลที่ครบถ้วนแม่นยำทางวิชาการ)   มีตัวอย่างเลือด (น้ำเหลือง) เก็บไว้ใช้ได้ยาวนาน    Dengue Clinical Cohort นี้ ช่วยให้ทีมวิจัยไข้เลือดออกของ อ. หมอปรีดามีสเน่ห์ดึงดูดความร่วมมือจากนักวิจัยเก่งๆ ในโลก    ทำให้มีข้อค้นพบใหม่ๆ ที่มีความสำคัญ ตีพิมพ์ในวารสารที่มี impact factor สูงมากอย่าง Nature หลายชิ้นมาก 

การสร้าง cohort จึงเป็นเครื่องมือของการวิจัยระยะยาว    ที่จะตั้งโจทย์วิจัยในภายหลังได้อีกมากมาย     ในลักษณะของการสะสมสมบัติเอาไว้กินในระยะยาว   

การที่ทีม SiHP คิดสร้าง community cohort จึงเป็นความคิดที่ดียิ่ง    แต่เมื่อคิดจะใช้พื้นที่เขตบางกอกน้อย  ก็มีประเด็นที่จะต้องทำความเข้าใจเพิ่ม    เพราะทางศิริราชมีโครงการ “บางกอกน้อย โมเดล” เก็บข้อมูลด้านสุขภาพของคนในเขตบางกอกน้อยทั้งหมด    เป็นงานของฝ่าย CSR   ที่ทำงานได้ครอบคลุมเพียงประมาณร้อยละ ๑๐    และมีข้อจำกัดที่ทางศิริราชไม่รับให้บริการแก่คนที่อยู่ในเขต เพราะกลัวว่าจะมีคนป่วยหนักย้ายเข้ามาอยู่ในเขตเพื่อใช้สิทธิ์กันมาก    ซึ่งเรื่องนี้ผมว่าป้องกันได้ไม่ยาก    

ผมให้ความเห็นว่า    น่าจะพิจารณาทำ 2 cohort    คือ urban cohort  กับ rurual cohort เปรียบเทียบกัน    และควรพิจารณาเก็ยข้อมูลด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วย    โดยควรมีนักวิขาการด้านสังคมศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์มาร่วมด้วย   

วิจารณ์ พานิช

๔ ต.ค. ๖๑

หมายเลขบันทึก: 657821เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2018 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2018 20:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

May I suggest more common words like ‘partner/ship’, joint project, task force, (or a mouthful) collaboration to avoid explaining ‘cohort’ which can divert attention from the aim of joining forces.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท