ชีวิตที่พอเพียง 3291. ตามสาวไปเที่ยวสิงคโปร์ ๒. ชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ


 วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๑ วันอาทิตย์   เรานัดกันไปชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ()    ไปกัน ๔ คนเหมือนเมื่อวาน    แต่เมื่อเข้าไปชมได้เดี๋ยวเดียว แม็ปก็เบื่อประสาเด็ก    ใต้ต้องพาไปที่ภัตตาคารภายในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีภาพและสีให้เด็กเล่นระบายสีภาพ   หรือต่อเติมภาพ    จะเห็นว่าทางการสิงคโปร์จัดบริการสถานที่สาธารณะอย่างเอาใจผู้ใช้บริการอย่างดีมาก

เริ่มด้วยการขึ้นบันไดเลื่อนไปชมนิทรรศการประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ (Singapore History Gallery)    พอเข้าไปก็เห็นความอลังการ์ของ Abraham Ortelius map of South East Asia (1570)   ฉายอยู่บนจอยักษ์ พร้อมกับเคลื่อนไหวไปมา    เป็นแผนที่สมัยใหม่ชิ้นแรกของโลก    มีชื่อเมืองต่างๆ ละเอียดมาก  

 ประวัติของสิงคโปร์เริ่มจากยุคก่อนประวัติศาสตร์   มีหลักฐานเครื่องมือหินที่บอกว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่บริเวณนี้เมื่อสองสามพันปีมาแล้ว และมีศิลาจารึกเป็นอักษร Kawi มีคำสันสกฤต    พบที่ปากแม่น้ำในปี ค.ศ. 1819    และจากการศึกษาอายุพบว่าอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ ถึง ๑๔   ในช่วงนั้นมีหลักฐานจากเครื่องเคลือบดินเผาว่า มีการตั้งถิ่นฐานบนเนินเขาที่เวลานี้คือ Canning Hill    ในปลายศตวรรษที่ ๑๔ ถูกทำลายจากการรุกรานของข้าศึก    หลังจากนั้น เป็นที่อยู่ของชาวเล ที่ชาวมาเลย์เรียกว่า Orang Lau

ในสมัยโบราณคนมาเลย์เรียกบริเวณนี้ว่า สิงคปุระ   คนจีนเรียกว่า เทมาเส็ก    และตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Syonan-to  

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์ต่างจากของชาติอื่นๆ ตรงที่แสดงเรื่องราว (stories)    มากกว่าแสดงวัตถุสิ่งของ (artefacts)    และเรื่องราวที่มีก็เพียงช่วงที่อังกฤษมายึดครอง (1819 – 1941)  ช่วงญี่ปุนยึดครอง (1942 – 1945)   และช่วงเป็นเอกราช    ซึ่งสองปีแรกรวมอยู่กับมาเลเซีย  แล้วแยกตัวเป็นประเทศ   สร้างมหัศจรรย์จากประเทศที่ไม่มีทรัพยากร  กลายเป็นประเทศที่ร่ำรวย ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ดี   โดยมีการพัฒนาประเทศแบบเปลี่ยนยุคเป็นระยะๆ ดังได้เล่าไว้เมื่อผมไปดูงานในเดือนเมษายน ๒๕๖๑ ()    

เข้าต้นศตวรรษที่ ๒๐ คนสิงคโปร์จำนวนหนึ่งก็ร่ำรวยเป็น “เถ้าแก่” ส่งลูกหลานไปเรียนในอังกฤษ    มีชีวิตหรูหราแบบคนยุโรป    โดยที่เป็น “สังคมผู้ชาย” ได้แก่ คลับ  ห้องอ่านหนังสือ  โรงละคร  โรงแรมหรู   ศูนย์การค้า  โรงหนัง  และสระว่ายน้ำ    เศรษฐีรุ่นลูกที่ไปเรียนในอังกฤษ  หรือเด็กที่ได้รับทุน Queen’s scholarship กลับมาเป็นหมอ  นักกฎหมาย  เสมียน  ครู  และนักธุรกิจ    สมัยนั้นเรียกคนเหล่านี้ว่า WOG (Western-Oriented Gentlemen)    คนเหล่านี้พูดภาษาอังกฤษคล่อง    แต่งตัวตามสมัยนิยมในยุโรป  ใช้ชีวิตพักผ่อนหย่อนใจแบบคนยุโรป คือแข่งพายเรือ แข่งม้า  เล่นคริกเก็ต  เทนนิส  และไปงานค็อกเทลปาร์ตี้    สังคมค่อยๆ เปลี่ยนในหลากหลายด้าน

ความเจริญก้าวหน้าของสิงคโปร์ มาจากความเป็นเมืองท่า ศูนย์กลางการค้า    ซึ่งมาถึงตอนนี้เป็นที่รู้กันแล้วว่า ไม่ยั่งยืน    ที่จริงรัฐบาลสิงคโปร์ตกใจในความไม่ยั่งยืนของความเป็นเมืองท่าเรือในปี 1987 (หากผมจำไม่ผิด) ที่อัตราการเพิ่ม GDP ของประเทศตก  หลังจากเพิ่มในอัตราสูงมาเป็นเวลานาน    ผมจำได้แม่นยำจากการไปดูงานเมื่อเดือนเมษายน ตามบันทึกชุดนี้ ()     แต่ค้นไม่พบ    จึงขอเล่าจากความจำ (ของคนแก่ซึ่งผิดพลาดง่าย)    ว่าสัญญาณอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลด นำไปสู่การวาง positioning ของประเทศใหม่    จากเป็นเพียงเมืองท่าขนส่งสินค้า    เป็นเมืองอุตสาหกรรมการผลิตด้วย    ตามมาด้วยการเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการ    ลูกสาวและลูกเขยของผม (ทำงานในธุรกิจการเงิน) ย้ายจาก นิวยอร์ก ไปอยู่สิงคโปร์ก็ด้วยแรงดึงดูดนี้ 

ตอนลงจากเครื่องบิน เดินในสนามบิน Terminal 1 เราก็สัมผัสความมุ่งมั่น “เป็นที่ ๑” ในด้านความเป็น “เมืองท่า” สมัยใหม่ คือ ท่าอากาศยาน   สนามบินของเขากว้างขวาง สะอาด และบริการดี กว่าสุวรรณภูมิของเรามาก    ออกจากประตูเครื่องบินก็สัมผัสทางเชื่อมคุณภาพสูงกว่าของเรา    ทางเดินในสนามบินปูพรมทั้งหมด เป็นพรมที่ใหม่และสะอาดเอี่ยม

กลับมาที่พิพิธภัณฑ์ เขามีห้องนิทรรศการ การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเด็กผู้หญิง    ที่มีโอกาสเท่าเทียมกับเด็กผู้ชายขึ้นเรื่อยๆ     มีนิทรรศการ “เรื่องเล่า” ของผู้นำ gender equity สมัยโน้น   ว่าเธอต้องต่อสู้กับวัฒนธรรมประเพณีที่กีดกันกดขี่เพศหญิงอย่างไร    แปลกมากที่ผมเติบโตมาในสังคมชนบทไทย แต่ไม่รู้สึกว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ด้อยกว่าในด้านสติปัญญาเลย   

นิทรรศการ Surviving Syonan 1942-1945แสดงชีวิตและสังคมสิงคโปร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่โดนกองทัพญี่ปุ่นยึดครอง    โดยญี่ปุ่นยกพลขึ้นสิงคโปร์ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔   รบกันจนถึงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๕ กองทัพอังกฤษที่สิงคโปร์ก็ยอมแพ้    ญี่ปุ่นพยายามเปลี่ยนสิงคโปร์จากความเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ ให้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรญี่ปุ่น    ภายใน ๑ สัปดาห์หลังการยึดครอง โรงหนัง  โรงพยาบาล  อาคารราชการ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อญี่ปุ่นหมด     เวลาของสิงคโปร์ถูกกำหนดให้เร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เพื่อให้ตรงกับเวลาที่โตเกียว    ปีศักราช 1942 ก็เปลี่ยนไปใช้ศักราชโชวะ (Syowa) ๑๗ ตามปีครองราชย์ของจักรพรรดิญี่ปุ่น     หรือปีศักราช 2602 ของญี่ปุ่นที่นับตามการก่อตั้งประเทศญี่ปุ่นโดยจักรพรรดิ จิมมุ ในปีก่อน ค.ศ. 660    และธนบัตรก็เปลี่ยนไปใช้ธนบัตรที่ออกโดยกองทัพญี่ปุ่น  

ญี่ปุ่นเอาชนะอังกฤษด้านกองทัพได้    แต่ยังไม่พอ   ต้องเอาชนะใจคนสิงคโปร์ให้ได้ด้วย    จึงเกิดสงคราม propaganda war    กองทัพญี่ปุ่นตั้ง “กรมประชาสัมพันธ์” (Propaganda Department)  สื่อสารเรื่องราวที่กองทัพญี่ปุ่นต้องการบอกคนสิงคโปร์ ผ่านทางศิลปะ  ดนตรี  โรงละคร  ภาพยนตร์  วิทยุ  หนังสือพิมพ์  หนังสือ และวัสดุทางการศึกษา    เขาใช้คำว่า Nipponisation    มีการจัดตั้ง Greater East Asia Co-Prosperity Sphere     

สารพัดการทำลายและเปลี่ยนแปลง เพื่อ Nipponisation    แต่มหัศจรรย์ที่พิพิธภัณฑ์ the Raffles Museum ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น National Museum of Singapore ไม่ถูกเปลี่ยนแปลงเลย    เนื่องจากความร่วมมือระหว่างนักวิชาการสิงคโปร์และนักวิชาการญี่ปุ่น   น่ายินดีที่ในสถานะสงครามและการทำลายล้าง  วิชาการเพื่อปัญญาสากลยังได้รับคุณค่าร่วมกัน    มีการป้องกันไม่ให้ถูกทหารเข้าปล้นเอาทรัพย์สมบัติในพิพิธภัณฑ์ไป    และที่น่าแปลกใจยิ่งคือ ยังเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ตามปกติ   

ส่วนที่ก่อความทุกข์ยากแก่คนสิงคโปร์คือความขาดแคลนอาหาร ต้องมีการปันส่วนอาหาร      

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง    ก็เกิดกระแสเรียกร้องเอกราช    และการจัดระบบการเมือง    ที่นำมาสู่การเมืองสะอาด และมีผลงานสร้างประเทศเล็กๆ ที่ทันสมัย และพัฒนาต่อเนื่อง    โดย ลีกวนยู เป็นผู้นำในการวางรากฐาน  

 วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ย. ๖๑

1 สามสาวสามรุ่นกับภาพแสดงประวัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์

2 Abraham Ortelius map

3 ภาพวาดเมืองสิงคโปร์มองจาก Mount Wallich ในปี 1856

4 คนสิงคโปร์ในปี 1858

5 ของใช้เหล่านี้ผมคุ้นเคย

6 ลูกคิดและตาชั่งแบบนี้ สมัยผมเป็นเด็กเป็นของใช้ประจำวัน

7 รถลากแบบนี้ผมเคยเห็น แต่ไม่เคยนั่ง

8 อาคาร Empress Place อาคารสำนักงานราชการต้นศตวรรษที่ ๒๐

9 กองทัพ (ญี่ปุ่น) กองพลจักรยาน

10 สิงคโปร์สมัยสงคราม

11 โรงงานเย็บผ้าสมัยก่อน



12 หนุ่มลีกวนยูปราศรัยต่อฝูงชนที่ยืนอย่างเป็นระเบียบ



13 ชิ้นงานศิลปะ Wings of Manoeuvre



14 สภาพโรงหนัง drive-in 1971-1985



15 ภายในพิพิธภัณฑ์มีส่วนขายของที่ระลึก ร้านอาหาร และที่นั่งเล่นของเด็ก

16 ภายในร้าน

17 ชมจนหมดแรงก็มานั่งพักในร้าน

หมายเลขบันทึก: 656596เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2018 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ตุลาคม 2018 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท