จิตอาสาจากเรื่องใกล้ตัว : ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน


ไม่มีถังน้ำก็อย่าซื้อ ให้เพื่อนถือถังน้ำ หรือกะละมังมาจากหอพัก ไม่มีผ้าเช็ดก็อย่าซื้อให้เอาที่มีอยู่มาใช้ ประหยัดได้ให้ประหยัด เพราะถ้าทำเหมือนที่ผมบอก มันคือการสร้างการมีส่วนร่วม เหมือนออกจากบ้านห่อข้าว แบกจอบแบกเสียมไปช่วยงานเพื่อนบ้านนั่นแหละ

สืบเนื่องจากบันทึกก่อนหน้านี้  "ตักบาตร-บริจาคโลหิต : ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน"  ผมได้เขียนถึงกิจกรรมในภาคเช้า 2 กิจกรรม คือการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 9 รูปและการบริจาคโลหิต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในวันที่ 13 ตุลาคม 2561 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ท่าน -

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ  อีกจำนวนหนึ่ง  นั่นคือ (1)  ลงตีตีเส้นจราจรบริเวณอาคารพัฒนานิสิต (2) ทำความสะอาดศาลาอาเซียน (3) จัดทำม้านั่งรอรถเมล์ (รถราง) ภายในมหาวิทยาลัย


โดยหลักๆ แล้วกิจกรรมเหล่านี้นิสิตก็คิดและออกแบบกิจกรรมกันเอง  เป็นวิถีกิจกรรมนอกหลักสูตรในแบบฉบับ “โดยนิสิตเพื่อนิสิตและสังคม)  หรือในอีกมิติอันเป็นวาระนี้ก็คือ “ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน”  นั่นเอง

กรณีดังกล่าว  เดิมนิสิตประสงค์จัดกิจกรรม 2 กิจกรรม  คือ การตีเส้นจราจรและการทำม้านั่ง  ผมได้เสนอแนะให้นิสิตทำความสะอาดเช็ดถูล้างพื้นศาลาอาเซียน  ด้วยเหตุผลสู่การรองรับการเป็นที่นั่งในการแข่งขันกีฬาเปตอง  เนื่องในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยฯ (รอบคัดเลือก) โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


กิจกรรมครั้งนี้ก็เหมือนกิจกรรมอื่นๆ  กล่าวคือ  ผมยังคง “เปิดพื้นที่ทางความคิด” ให้กับนิสิตอย่างเต็มที่  ตั้งแต่การเลือกกิจกรรม  การวางแผนที่ว่าด้วยบริหารงาน บริหารคน  การให้จับจ่ายใช้สอยงบประมาณด้วยตนเอง  การประชาสัมพันธ์กิจกรรมด้วยกระบวนการ หรือวิธีการที่นิสิตถนัด

สิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรพิเศษมากไปกว่าต้องการสร้างการเรียนรู้ว่าด้วยกิจกรรมนิสิตให้กับพวกเขาโดยตรง  รวมถึงการส่งเสริมเกื้อหนุนให้เขาเรียนรู้ที่จะเป็น “นักเรียนรู้” หรือ “นักออกแบบการเรียนรู้”  ด้วยตนเอง  เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ว่าด้วย “ทักษะ” ต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้

กระนั้น  พองานผ่านไปสักระยะ  ผมก็ให้นิสิตส่งแบบของม้านั่งและพื้นที่ของการลงสีจราจรมาให้ดู  ซึ่งเดิมทีเขาไม่ได้จัดทำแบบไว้ 

กรณีเช่นนี้  ผมอธิบายให้เขาฟังว่า  “... มันสำคัญมาก  ผมอยากให้มีแบบร่างมาให้ดู เพื่อแลกเปลี่ยน หรือขออนุญาต หรือขอคำแนะนำต่อผู้รู้ และผู้บริหาร ...”


ครับ – ผมไม่เพียงสื่อสารเรื่องแบบที่จะต้องทำอย่างเดียวเท่านั้น  แต่ผมกำลังสอนในเรื่องของการทำงานอย่างมีระบบ  สอนให้เห็นโครงสร้างการทำงานที่มีแบบแผน มีกระบวนการ ขั้นตอน  มิใช่จะทำอะไรก็เป็นเสรีภาพไปเสียทุกเรื่อง  ทุกสิ่งอย่างต้องมีกติกาของมันเอง  ต้องมีการขออนุมัติจากผู้ที่มีอำนาจต่อสิ่งนั้นๆ

แน่นอนครับ – ผมสื่อสารในประเด็นนี้อย่างชัดแจ้ง  เพราะวันหนึ่งเมื่อจบออกไป  เขาจะได้ตระหนักถึงในแนวทางการทำงาน หรือวัฒนธรรมองค์กรไปในตัว  ซึ่งในท้ายที่สุด  ผมก็พานิสิตที่เป็นแกนนำเข้าพบผู้บริหาร  โดยนำแบบร่างที่ว่านั้นเข้าไปหารือ และขออนุญาตที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่ตรงนั้น !


นอกจากนั้นในวันที่จัดเตรียมพื้นที่  ผมก็พูดคุยกับแกนนำว่าต้องทำอย่างไร  แต่ที่แน่ๆ  ผมแนะนำประมาณว่า “...ต้องล้างพื้นหรือไม่  ต้องขูดสีเก่าออกก่อนทาสีใหม่หรือไม่  อุปกรณ์มีเพียงพอหรือยัง  จะใช้คนหลักกี่คน  ขนาดความกว้างความยาวของเส้นอันเป็นช่องจอดรถจักรยานยนต์ขนาดเท่าไหร่ ...”

ครับ – ก็ยังเน้นที่การถามทักเพื่อให้เกิดประเด็นการเรียนรู้มากกว่าการให้คำตอบ หรือสั่งการ –

เช่นเดียวกับเรื่องการทำความสะอาดศาลาอาเซียนก็เช่นเดียวกัน  ผมก็ตั้งคำถามการเรียนรู้ในทำนองเดียวกัน  เพียงแต่เรื่องศาลาอาเซียนผมลงลึกไปแบบไม่ให้เสียเวลาคิด  ประมาณว่า “ ...อย่าคิดว่าล้างเช็ดกวาดถูไปก็เท่านั้น  เพราะสุดท้ายลมแล้งก็หอบฝุ่นมาอยู่ดี  หรืออย่าคิดว่าทิ้งไว้เป็นภาระให้งานกีฬา มาทำเองจะดีกว่า ...”


หรือ “... ไม่มีถังน้ำก็อย่าซื้อ  ให้เพื่อนถือถังน้ำ หรือกะละมังมาจากหอพัก  ไม่มีผ้าเช็ดก็อย่าซื้อให้เอาที่มีอยู่มาใช้  ประหยัดได้ให้ประหยัด  เพราะถ้าทำเหมือนที่ผมบอก  มันคือการสร้างการมีส่วนร่วม  เหมือนออกจากบ้านห่อข้าว แบกจอบแบกเสียมไปช่วยงานเพื่อนบ้านนั่นแหละ...”

และที่สำคัญ คือ “... อย่าทำงานเหมือนปักป้ายถ่ายรูป  เรื่องนี้ต้องดูกันยาวๆ  รณรงค์กันยาวๆ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของคนร่วมกัน  ซึ่งอาจต้องทำโครงการขึ้นมาหนุนเสริมอีกรอบอย่างจริงจัง...”


นี่คืออีกหนึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันรำลึกการจากสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 และการทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดินสู่แผ่นดินรัชกาลที่ 10  ซึ่งไม่เพียงแค่การถวายเป็นพระราชกุศลเท่านั้น  แต่ยอมรับว่าได้ออกแบบเพื่อการเรียนรู้ในเรื่องจิตอาสา  หรือการทำงานอาสาสมัครเล็กๆ ไปในตัวด้วยเช่นกัน 

และต้องขอบคุณศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาทำดีเพื่อสังคม (ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อสังคม)  และเครือข่ายนิสิต ๙ต่อ Before After ที่มุ่งมั่นและไม่สั่นไหวกับแนวทางที่ตนเองคิดและลงมือทำ 

รวมถึงเครือข่ายอื่นๆ และนิสิตทั่วไป  หรือกระทั่งผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ที่ไม่ดูดายและเปิดพื้นที่ให้นิสิตได้เรียนรู้ที่จะทำความดีจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวในแบบที่นิสิตสนใจ และถนัด –


หมายเหตุ

ภาพ : เครือข่ายนิสิตจิตอาสาทำดีเพื่อสังคม (ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อสังคม)/เครือข่ายนิสิต ๙ต่อ Before After/กองประชาสัมพันธ์และกิจการต่างประเทศ
เขียน : จันทร์ที่ 22 ตุลาคม 2561

หมายเลขบันทึก: 656107เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2018 11:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2018 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับอาจารย์-“อย่าทำงานแบบปักป้ายถ่ายรูป”-จงทำให้เต็มที่ แล้วเชื่อว่าป้ายจะมาปักเองครับ…-จะเป็นป้ายอะไรก็ไม่เท่ากับการได้ติดป้ายในใจของผู้ลงมือปฏิบัตินะครับอาจารย์-เห็นกิจกรรมของน้องๆ แล้วก็ชื่นใจครับ-จิตอาสาทำในสิ่งใกล้ๆ ตัวนั้น ทำได้ง่ายและทำได้ตลอดนะครับ-อาสาทำดี จงทำดีต่อไป-ขอบคุณครับ

ขอบพระคุณครับ อ.เพชรน้ำหนึ่ง

ขอบพระคุณกับวาทกรรม “ติดป้ายในใจของผู้ลงมือปฏิบัติ”

ชอบมากๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท