ตักบาตร-บริจาคโลหิต : ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน


ผมไม่มีความรู้แจ่มชัดเท่านิสิตหรอกนะครับ แต่ตั้งประเด็นให้นิสิตใคร่ครวญร่วมกัน แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน โดยผมก็ถือโอกาสเรียนรู้ไปด้วย แต่ที่แน่ๆ คือเน้นย้ำถึงรูปแบบอันเรียบง่าย สมถะ ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย หรือระมัดระวังมิให้ทะลุนอกกรอบจากชุดความรู้ หรือจารีตประเพณีอย่างที่ควรจะต้องเป็น เพราะนี่คือฐานคิดอันเป็นศาสตร์พระราชาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ส่งมอบเป็นมรดกทางความคิดที่ประกอบด้วย “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา”

การตักบาตรและเลี้ยงพระ 9 รูป  รวมถึงการบริจาคโลหิตในวันที่ 13 ตุลาคม 2561 คือส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต “ในหลวงรัชกาลที่ 9

กิจกรรมดังกล่าว หลักๆ แล้วริเริ่มโดยนิสิต  ประกอบด้วยทีมหลักจาก “เครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม”(ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน) “เครือข่ายนิสิต ๙ต่อ Before After และอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง เช่น ชมรมเดินตามรอยเท้าพ่อ ชมรมอาสายุวกาชาด สภานิสิต องค์การนิสิต


ผมไม่ค่อยได้มีส่วนกับการบริหารจัดการอะไรเกี่ยวกับการงานในครั้งนี้มากมายนัก   เพียงเพราะตั้งใจที่จะ "เปิดพื้นที่" ให้นิสิตได้ "คิดรูปแบบ" กันเอง  ดังนั้นจึงจัดวางบทบาทตัวเองผ่านการให้ "คำปรึกษาและติดตามงาน" เป็นระยะๆ เสียมากกว่า   

นอกจากนั้นก็เน้นการเรียนรู้ในสิ่งที่พวกเขาได้ “คิดและทำ”  ผ่านคำถามเรียบง่ายใยแบบฉบับของผม  เช่น  ทำอะไร ทำเพราะอะไร ทำอย่างไรทำถึงไหนแล้ว ใครมาช่วยทำบ้าง อยากให้ช่วยทำอะไรบ้า –


กรณีดังกล่าว ถือได้ว่านิสิตได้ทำในสิ่งที่คิดและออกแบบไว้ค่อนข้างมาก  ขณะที่ผมปักหลักให้คำปรึกษาและหนุนเสริมเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น  แม้กระทั่งการติดต่อระบบภายในมหาวิทยาลัย  ผมก็แค่ชี้เป้าว่าอะไรอยู่ที่ไหน  นิสิตต้องติดต่อใคร  ซึ่งส่วนใหญ่ผมจะให้นิสิตจัดการเองเกือบทั้งหมด ยกเว้นก็แต่ระบบหนังสือราชการเท่านั้นที่ผมยังต้อง “ทำให้กับนิสิต” ด้วยมือของผมเอง  จากนั้นจึงให้นิสิตนำไปยื่นต่อส่วนงานที่เกี่ยวข้อง 

สิ่งเหล่านี้คือการสอนให้นิสิตเรียนรู้ระบบการติดต่อประสานงานกับส่วนราชการ  ฝึกการสื่อสารทั้งในระบบกิจกรรมและในฐานะมนุษย์หรือพลเมืองของสังคม 

หากแต่ในบางกรณีเหลือบ่ากว่าแรงที่นิสิตจะจัดการได้  ผมถึงจะยกสายประสานตรงไปยังผู้บริหาร  หรือลงแรงพุดคุยกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง  ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่เกี่ยวโยงกับกองอาคารสถานที่ที่ว่าด้วยเครื่องเสียง ไฟสปอร์ตไลท์ ฯลฯ


กรณีของการทำบุญตักบาตรและเลี้ยงพระ  นิสิตติดต่อกราบนิมนต์พระสงฆ์กันเอง  ซึ่งกราบนิมนต์ 4-5 วัดเลยทีเดียว  ดำเนินการเสร็จแล้วค่อยมาแจ้งผมให้ทราบ  พอผมรับรู้ก็ตกใจอยู่มากพอสมควร  แต่ก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจ ชวนพูดคุยหลากมุมมองเกี่ยวกับการงานเหล่านี้  แต่ทั้งปวงก็ยัวงให้เป็นไปตามสิ่งที่เขาได้ตัดสินใจ  เพราะมิอาจรื้อถอนอันใดได้แล้ว  รวมถึงพินิจดูก็มิใช่เรื่องที่จะเสียหายอะไร-

เช่นเดียวกับการทำหน้าที่ “โค้ช”  อีกรอบด้วยการสร้างประเด็นให้เรียนรู้ร่วมกัน เช่น  ทำไมกระจายไปตามวัดมากมายปานนั้น  แถมกราบนิมนต์ข้ามนิกายอีกต่างหาก  เพราะพระสงฆ์ต่างนิกายต่างมีเวลาการฉันภัตตาหารที่ต่างกัน  ผูกโยงกระทั่งว่ารถยนต์รับส่งพระสงฆ์มีกี่คัน จะวิ่งวนอย่างไร  จะเช้ามืดเกินไปหรือเปล่า  หรือจะทันเวลาหรือไม่  

ทั้งปวงนั้น เป็นเพียงคำถามที่นำไปสู่การเรียนรู้เป็นหัวใจหลัก มิใช่โบยตี หรือกระทั่งระงับ รื้อถอน


เช่นเดียวกับการตั้งประเด็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดเตรียมสถานที่รองรับ  ทั้งศาสนพิธีและการถวายรำลึกสู่การถวายเป็นพระราชกุศลว่าต้องทำอย่างไร  ห้วงเวลาใดคือเวลาที่เหมาะสม  

สิ่งเหล่านี้ผมไม่มีความรู้แจ่มชัดเท่านิสิตหรอกนะครับ  แต่ตั้งประเด็นให้นิสิตใคร่ครวญร่วมกัน  แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน โดยผมก็ถือโอกาสเรียนรู้ไปด้วย  แต่ที่แน่ๆ คือเน้นย้ำถึงรูปแบบอันเรียบง่าย สมถะ ไม่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย  หรือระมัดระวังมิให้ทะลุนอกกรอบจากชุดความรู้ หรือจารีตประเพณีอย่างที่ควรจะต้องเป็น  เพราะนี่คือฐานคิดอันเป็นศาสตร์พระราชาที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ส่งมอบเป็นมรดกทางความคิดที่ประกอบด้วย “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา”

เช่นเดียวกับการเน้นย้ำถึงระบบงานทั้งวันที่ไม่ได้มีแต่เฉพาะ 2 กิจกรรมนี้  โดยให้นิสิตแบ่งสันปันส่วนงานให้ดี  กระจายงานไปให้ทั่วถึง  และมอบการทำงานให้ตรงกับความสามารถและความสนใจของแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น  ทีมใดจะรับผิดชอบเรื่องตักบาตร  ทีมใดตะรับผิดชอบเรื่องบริจาคโลหิต  ทีมใดจะประสานผู้บริหาร  ทีมใดจะจัดเตรียมนิทรรศการ  ทีมใดจะวางระบบและบริหารจัดการเรื่องแปรอีกษรภาพ

ส่วนกรณีกิจกรรมบริจาคโลหิตนั้น  เดิมเรามีปฏิทินในมือคือวันที่ 8  ตุลาคม 2561  แต่ด้วยความที่จะผนึกมาเป็นกิจกรรมถวายเป็นพระราชกุศล  ผมจึงมอบให้เจ้าหน้าที่ประสานตรงไปยังโรงพยาบาลมหาสารคามเพื่อปรับเปลี่ยนกำหนดการ –

ใช่ครับ เป็นการมอบหมายภารกิจให้เจ้าหน้าที่หนุนเสริมการทำงานแทนนิสิต  เพื่อให้นิสิตได้มีสมาธิในการออกแบบส่วนที่เหลืออย่างเต็มที่ 


สิ่งหนึ่งที่เราวิเคราะห์ก็คือกิจกรรมวันที่ 13 ตุลาคม 2561 ตรงกับวันเสาร์ แถมยังมีวันหยุดชดเชยพ่วงเข้ามาอีก หลายคนวิตกว่าจะมีคนมาบริจาคโลหิตค่อนข้างน้อย 

แต่พอประสานไปยังโรงพยาบาล ได้รับข่าวสารว่า “ขาดเลือด”  เรายิ่งรู้สึกว่าต้องทำอะไรมากกว่าการประชาสัมพันธ์ทั่วไป  ด้วยเหตุนี้จึงสำทับกับชมรมอาสายุวกาชาด และเครือข่ายนิสิต ๙ต่อBefore After  ให้สื่อสารเชิงรุกให้มากขึ้น พร้อมๆ กับการเชื่อมข้อมูลเข้ากับกลุ่มที่พักในหอพักของมหาวิทยาลัย  เพื่อให้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมจิตอาสาร่วมกัน –

และในงานนี้  ชมรมเดินตามรอยเท้าพ่อก็จัดทำพวงกุญแจสัญลักษณ์ เลข ๙  เป็นของที่ระลึกสำหรับผู้บริจาคโลหิตด้วยเช่นกัน  ซึ่งเป็นผักตบชวาจากกิจกรรมที่นิสิตน้อมนำพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 มาขับเคลื่อนการบำบัดน้ำเสียในสระของมหาวิทยาลัย -

สรุปแล้ววันนั้น (13 ตุลาคม 2561)  มีคนมาบริจาคโลหิต จำนวน 130 คน  (52,000 CC.)  ซึ่งถือว่ามากอย่างน่าภาคภูมิใจ  เป็นจำนวนที่เท่าเทียมหรือมากกว่าการจัดแต่ละครั้งในบางครั้งเลยทีเดียว –

โดยสรุปแล้ว  กิจกรรมทั้งสองอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้  ผมเชื่อเหลือเกินว่าทุกคนมี "ความสุข"  ต่อการได้ “ทำดี” เพื่อ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” และการสานต่อคำพ่อสอนสู่แผ่นดิน “ในหลวงรัชกาลที่ 10”


ในส่วนกระบวนการเรียนรู้นั้น  ผมก็เชื่อว่าบรรดาแกนนำนิสิตทั้งหลายจะได้เรียนรู้ว่าด้วยความรู้และทักษะอะไรๆ ในตัวไปพร้อมๆ กัน  เช่น 

  • การได้รู้ว่าหน่วยงานมหาวิทยาลัยมีอะไรบ้างที่สัมพันธ์กับการจัดกิจกรรมนอกหลักสูตรที่นิสิตต้องรับรู้และเรียนรู้ 
  • การได้คิดรูปแบบกิจกรรมร่วมกัน และทำกิจกรรมที่คิดร่วมกัน  เสมือน "กล้าคิด กล้าทำ กล้ารับผิดชอบ"
  • การได้ฝึกฝนการประสานงานและสื่อสารทั้งในระบบโครงสร้างองค์กรของมหาวิทยาลัย และทีมงานของตนเอง  รวมถึงการสื่อสาร-ประสานงานกับ “ชุมชน”
  • การได้เรียนรู้เรื่องศาสนพิธีและพิธีที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
  • การได้เรียนรู้ที่จะมอบหมายงาน การเลือกใช้คน  การกำกับคนและกำกับงาน
  • การได้เรียนรู้เรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
  • การได้เรียนรู้บริหารงบประมาณอย่างสมถะพอเพียง  
  • ฯลฯ

นี่คือบางประเด็นที่ผมเจตนาซ่อนซ้อนไว้ในเวทีของการจัดกิจกรรม  ไม่ใช่แค่สร้างพื้นที่ให้นิสิตได้รำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือวิถีการงานจิตอาสา-อาสาสมัครเท่านั้น  ทว่าทำแล้วต้องเกิดการเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ไปด้วย

ยืนยันว่าคิดและออกแบบไว้ล่วงหน้าเช่นนั้นจริง  ๆ  มิใช่งานจบแล้วค่อยมาเชื่อมโยง ลากความเข้าหากันว่า “คิดและออกแบบการเรียนรู้ไว้แล้วตั้งแต่ต้น” 

ครับ- ยืนยันว่า “คิดและออกแบบไว้ล่วงหน้าเช่นนั้นจริงๆ”


หมายเหตุ :

ภาพ : เครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม / ๙ต่อBefore After
เขียน : เสาร์ที่ 20 ตุลาคม 2561

หมายเลขบันทึก: 656029เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2018 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2018 10:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เด็ก ๆ ยิ้มน่ารักจริงจัง ;)…

อนุโมทนาบุญด้วยค่ะ สาธุ

อนุโมทนา…สาธุ..กับการทำความดีของทุก ๆ คนจ้ะ

ครับ อ.Wasawat Deemarn

รอยยิ้มของนิสิต เป็นรอยยิ้มของเช้าชื่นแห่งชีวิต ครับ

ขอบพระคุณครับ KwansudaB… ขอผลบุญนี้มีผลต่อสังคมร่วมกัน ครับ

ครับ พี่มะเดื่อ

นี่คือความดีงาม และความสุขที่สัมผัสได้อย่างไม่ยากเย็น ครับ

นิสิตได้ลงมือทำเอง คิดก่อนและหลังทำ ได้ความรู้ต่าง - เพิ่ม - ต่อยอด เป็นชุดความรู้พื้นฐานการทำงานเป็นทีม - เครือข่าย ที่ดีต่ออนาคตทั้งนั้น … Event นำมาซึ่งการ “สร้างคน” นะคะ

ยินดีกับ Super coach ด้วยค่ะ … ถึงขนาดลงมือทำหนังสือราชการเองเลยทีเดียว ^_,^

สวัสดีครับ พี่หมอ ธิ

ที่จริงแลเว ผมฝึกให้นิสิตทำหนังสือราชการด้วยนะครับ ทำแล้วส่งไฟล์มาให้ผม แต่จริงๆ ผมทำรอไว้เรียบร้อยแล้ว จากนั้น พอหนังสือออกเลขเสร็จ ก็ให้เดินเอง และให้สำเนาหนังสืออีกชุดเอาไปจัดเก็บไว้ที่พวกเขาเอง เพื่อเป็นกรณีศึกษาแบบไม่ต้องมาให้เราต้องสอนซ้ำซ้อนอีก

นั่นคือสิ่งที่ผมทำ หรือสอนเขาในแบบฉบับของผม ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท