แอ่วเหนือ.....ตามทหารเรือไปดูงาน


             ทหารเป็นอาชีพหนึ่งที่หลายคนใฝ่ฝันอยากจะเป็นโดยเฉพาะเด็กผู้ชาย แต่มีอีกหลายคนเมื่อพูดถึงทหารแล้วเป็นส่ายหน้าไม่อยากเข้ามาใกล้ เคยได้ยินเขาเล่าว่าลำบาก ต้องฝึกหนักไม่ได้กลับบ้าน ยิ่งถ้าเป็นทหารเกณฑ์ด้วยแล้วอย่าพูดถึงเลยดีกว่าหากเลือกได้ไม่ขอจับทั้งใบดำใบแดงนั่นแหละ ที่จริงแล้วทหารเกณฑ์ในปัจจุบันแต่ละเหล่าทัพก็เปิดโอกาสให้ หากใครมีคุณวุฒิตรงตามความต้องการของกองทัพ ก็สามารถสมัครเป็นทหารอาชีพได้ หรือใครที่มีการศึกษาน้อยระหว่างรับใช้ชาติอยู่นั้นทางกองทัพก็จัดการให้ได้เรียนจนจบชั้นมัธยมปลายหากเขามีความต้องการ เมื่อใกล้ปลดประจำการก็จะจัดหาบริษัทที่มีความต้องการพนักงาน มาเปิดรับสมัครงานโดยตรงซึ่งเป็นความต้องการของหลายไบริษัท เนื่องจากจะได้พนักงานที่มีความรับผิดชอบและมีวินัยในการทำงานดี
               ส่วนทหารอาชีพ พวกนี้จะจบจากโรงเรียนนายร้อย นายเรือ นายสิบ จ่าทหารเรือ จ่าทหารอากาศ แม้กระทั่งผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัยและสอบคัดเลือกเข้ามาเป็นข้าราชการทหารได้ ตามสายวิชาชีพของตนเองเช่นทหารแพทย์ ทหารวิทยาศาสตร์ ทหารพระธรรมนูญ ทหารการเงิน พวกที่จบจากมหาวิทยาลัยส่วนมากจะบรรจุในหน่วยสนับสนุนการช่วยรบ  สำหรับพวกที่จบจากโรงเรียนทหารโดยตรง ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นมักจะบรรจุในหน่วยกำลังรบหลัก แต่ยามเกิดมีเหตุการณ์สู้รบไม่ว่าจะจบมาจากที่ใดก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ซึ่งตนได้รับมอบหมายให้เต็มความสามารถ  แม้จะรู้ว่าความตายรออยู่ก็ต้องท่องให้ขึ้นใจไว้เสมอว่า " ตายในสนามรบ เป็นเกียรติของทหาร
                ในภาวะปกติไม่มีศึกสงครามหลายท่านมักมองว่าทหารเป็นส่วนเกิน ทำให้ต้องสูญเสียเงินภาษีของชาติโดยไม่จำเป็น แท้จริงแล้วไม่ว่าจะในช่วงสถานการณ์เช่นไร ทหารก็ยังมีภารกิจที่ตนเองต้องกระทำและอีกหลายภารกิจที่หน่วยงานอื่นขอร้องให้ทหารช่วยทำ อย่างเช่นการปราบโจรสลัด การขนน้ำมันเถื่อน การขนของหนีภาษี การปราบปรามยาเสพติด ฯลฯ สำหรับงานในหน้าที่ทหารในยามปกติ ทหารหน่วยรบก็ต้องฝึกทางยุทธวิธี และพละกำลังความชำนาญในอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา หน่วยสนับสนุนการช่วยรบก็ฝึกความชำนาญในวิชาชีพของตน เช่นแพทย์-พยาบาล ก็ดูแลรักษาผู้ป่วยไป ทหารวิทยาศาสตร์ก็วิเคราะห์วิจัยงานที่สนับสนุนกองทัพ แม้กระทั่งการเตรียมป้องกันสงครามนิวเคลียส์ ชีวะ เคมี ให้แก่กำลังพลของกองทัพ นายทหารพระธรรมนูญก็ดูแลเรื่องเกี่ยวกับคดีความและทำหน้าที่ทนายว่าความให้แก่กองทัพ โดยเฉพาะนายทหารการเงินด้วยแล้วนับเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง กองทัพแทบจะทำอะไรไม่ได้เลยหากขาดงบประมาณและความมั่นใจจากประชาชน
                  ด้านการศึกษาของทหารนั้นจะมีอย่างต่อเนื่องตามแนวทางการรับราชการ เช่น หลักสูตรระดับ ผบ.ร้อย หลักสูตรผบ.พับ หลักสูตรเสนาธิการ หลักสูรนายทหารอาวุโส และหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณจักร แม้ในระดับรากหญ้าของกองทัพก็จะมีหลักสูตรเพื่อพัฒนาองค์บุคคลเช่นกัน เหล่านี้ยังไม่รวมหลักสูตรการศึกษาในต่างประเทศที่ได้รับทุนจารัฐบาลของประเทศที่ให้การสนับสนุน เรียกว่าใครใคร่เรียน...เรียน จึงเป็บประกันได้ว่าใครที่เข้ามาเป็นทหารแล้วโอกาสที่จะเป็น  Dead wood นั้นน้อยมาก และสำหรับการศึกษาในแต่ละหลักสูตรนั้นจะมีการศึกษาดูงานในภูมิประเทศเพื่อให้เกิดสภาพความคุ้นเคย มองการณืไกลและทันต่อเหตุการณ์ ได้รับทราบปัญหาข้อขัดข้อง แนวทางการปฏิบัติและการพัฒนาจากผู้ปฏิบัติการจริงในพื้นที่
                   ระหว่างวันที่ ๒๖ พ.ย. ๔๙ ถึง ๑ ธ.ค. ๔๙ ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสติดตามคณะนายทหารนักเรียน โรงเรียนนายทหารอาวุโส สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง ไปดูกิจการและศึกษาภูมิประเทศภาคเหนือ โดยเริ่มด้วยการฟังบรรยายสรุปภารกิจ นรข.ที่สถานีเรือเชียงแสน นรข.เขตเชียงราย
                   ฟังการบรรยายสรุปการจัดส่วนราชการและการบริหาร ของจังหวัดเชียงใหม่โดยผู้บริหารและคณะวิทยากร ที่โรงแรมพรพิงค์ จ.เชียงใหม่
                   ฟังการบรรยายสรุปภารกิจสถานีวัดความสั่นสะเทือน ของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ที่ จ.เชียงใหม่
                   และวันสุดท้ายเข้าฟังการบรรยายสรุปภารกิจของกองทัพภาค ๓ ที่ จ.พิษณุโลก       
                    การดูกิจการทั้งหมดที่กล่าวมาได้มีการซักถามและตอบข้อสงสัยให้แก่คณะจนเป็นที่พอใจและเหมาะควรกับเวลา ก็คงได้ความชัดเจนในหลายเรื่องแต่ที่แน่ๆนั่นก็คือได้รับทราบว่ามีเพื่อนทหารของเราตลอดจนเพื่อนข้าราชการในต่างจังหวัดได้ทุ่มเทกำลังกายและใจเพื่อสนองคุณแผ่นดินถิ่นเกิด สนองคุณในหลวงและพระราชินีเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและประเทศชาติ ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้การต้อนรับ
                   ของฝากที่นำมาฝากชาว Go to know ก็คงเป็น Power Point ภาพการศึกษาดูงานและการบรรยายสรุปภารกิจของ นรข.บางส่วนค่ะ
                   ติดตามได้ที่ Link เหล่า นี้นะคะ  http://gotoknow.org/file/chuanpis/Nrk+1.pdf

                                                              http://gotoknow.org/file/chuanpis/Nrk+2.pdf

                                                             http://gotoknow.org/file/chuanpis/Nrk+3.pdf

หมายเลขบันทึก: 65603เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2006 20:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท