ผู้เขียนได้ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวในการถ่ายโอนอำนาจการจัดการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะที่เป็นคนกลางและไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องดังกล่าวจึงขอนำเสนอแนวทางและข้อคิดเห็นหากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามควรแก่กรณี
การถ่ายโอนอำนาจการจัดการศึกษา เคยมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน
เดิมการศึกษาเคยอยู่ในรั้วในวังเท่านั้น
ต่อมามีโรงเรียนเอกชนของหมอสอนศาสนา
และมีการจัดการเรียนการสอนขึ้นตามวัดวาอาราม
ซึ่งเด็กผู้ชายมีโอกาสไปเรียนกับพระสงฆ์ที่วัด
ส่วนเด็กผู้หญิงจะเรียนรู้การบ้านการเรือนฝึกการเป็นกุลสตรีแม่ศรีเรือนที่บ้านจากนั้นสมัยรัชกาลที่
6 เริ่มจัดตั้งโรงเรียนสายสามัญขึ้นเป็นแห่งแรก
ชื่อโรงเรียนวัดมหรรณพารามและมีโรงเรียนอื่นๆขยายไปตามหัวเมืองต่างๆอยู่ภายใต้การปกครองดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เรียกว่าโรงเรียนประชาบาล ผมยังจำคำขวัญได้ว่า
"โรงเรียนประชาบาลเป็นของประชาชน"
เมื่อปี 2523
ได้มีการถ่ายโอนอำนาจการจัดการศึกษาจากโรงเรียนประชาบาลมาอยู่กับสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ
(สปช.) กระทรวงศึกษาธิการ
สมัยนั้นมีครูบางส่วนออกมาเคลื่อนไหวไม่อยากมาอยู่กับ สปช.
บางส่วนอยากไป แต่จนแล้วจนรอดก็ไปด้วยดี
ถึงวันนี้บ้านเมืองได้มีการปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจ
สังคม การเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกานุวัตน์
รัฐบาลจึงได้บัญญัติตัวบทกฎหมายให้มีการถ่ายโอนอำนาจการจัดการศึกษา
บางส่วนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยแบ่งเบารับภาระในการจัดการศึกษา
ซึ่ง กทม. เทศบาล และเมืองพัทยา ได้แสดงบทบาทหน้าที่
ความรับผิดชอบให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถจัดการศึกษาได้
บางแห่งจัดได้ดีกว่าด้วย
ในฐานะที่เป็นนักการศึกษา
อยากจะเห็นก้าวย่างทางการปฏิรูปการศึกษาเป็นไปอย่างมีเอกภาพและภราดรภาพขอความกรุณาท่านผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายตั้งสติก่อน"วางธง"
ไม่ใช่ "ฟันธง"
ธงของการจัดการศึกษาอยู่ที่ "ตัวผู้เรียน"
วันนี้เราวางยุทธศาสตร์การศึกษาชาติ ต้องการเห็นเด็กและเยาวชนไทย
"เป็นคนดี มีปัญญา และมีความสุข"
ใครก็ตามที่อาสาเข้ามารับผิดชอบหน้าที่ในการจัดการศึกษา
เราถือว่าบุคคลหรือหน่วยงานเหล่านั้นต่างก็มีคุณูปการต่อแผ่นดิน
ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ เพราะงานการศึกษาเป็นงานใหญ่
เป็นงานที่ต้องการการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
การจะเดินไปถึงเป้าหมายความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา
ต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับผู้เรียนเป็นคำตอบสุดท้าย
ฉะนั้นการจะถ่ายโอนหรือไม่ถ่ายโอนอำนาจในการจัดการศึกษาขอให้คำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ