การศึกษา การพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาประเทศ


คุณภาพการศึกษาไทยปัญหาอยู่ที่ไหน?

ถ้าคิดว่าการศึกษาคือหัวใจของการพัฒนาประเทศ แสดงว่ารัฐบาลต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง แลัวปัญหาของการศึกษาไทยจริงๆอยู่ที่ไหน? แล้วตอนนี้เราแก้ปัญหากันถูกจุดหรือเปล่า? ตอนนี้เราคิดว่าปัญหาอยู่ที่ครูและสถาบันการผลิต เราเลยทุ่มงบประมาณพัฒนาครูและวางกรอบมาตรฐานในการผลิตครูให้กับสถาบันการผลิต

โดยลืมปัญหาของโรงเรียนและการบริหารโรงเรียน ถ้าครูหนึ่งคนยังต้องสอนนักเรียน ๒ ชั้นเรียนในเวลาเดียวกัน หรือพร้อมกัน และถ้ายังมีครูไม่ครบชั้นเรียนและครบทุกสาระ ผมคิดว่าก็คงยากในการพัฒนาการศึกษาไทย และเด็กไทยให้มีความรู้และทักษะที่เท่าเทียมกับนานาประเทศ ถึงแม้ว่าเราจะใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆมาช่วยในการศึกษาก็ตามเถิด ก็คงไม่สามารถทำให้ปัญหาของการศึกษาลดน้อยลง การแก้ปัญหาโดยการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กก็ไม่ใช่วิธีการในการแก้ปัญหา แต่เป็นการเพิ่มและสร้างปัญหา เราต้องขยายโอกาสทางการศึกษา

แต่กลับปิดกั้นโอกาสทางการศึกษา เหมือนระบบสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนหรือศึกษาต่อ เด็กที่ไม่ได้เรียนต่อไม่ได้ศึกษาต่อจะด้วยเหตุผลสอบไม่ได้ ไม่มีทุนเรียนต่อ หรือด้วยเหตุผลฯลฯต่างๆ จะทำอย่างไร? เด็กกลุ่มนี้ ประชาชนกลุ่มนี้จะทำอย่างไร? แล้วอนาคตเขาจะเป็นอย่างไร?เด็กทุกคนมีเก่งความฉลาดในเรื่องที่ตนเองสนใจ ไม่ใช่เก่งทุกเรื่อง และก็ไม่ใช่รู้ทุกเรื่อง แต่เด็กจะรู้เฉพาะเรื่องที่เด็กสนใจ แต่กระบวนการสอน มาตรฐานความรู้ เด็กไม่ได้กำหนด แต่เป็นผู้ใหญ่เป็นผู้กำหนดว่าเด็กจะต้องรู้อะไร ทั้งๆที่ความรู้นั้นอาจจะไม่จำเป็นต่อชีวิตของเขาเลย การศึกษาไทย มุ่งพัฒนาความรู้ให้เด็กแบบเป็นบล๊อค พัฒนาโดยไม่ดูรายละเอียด ไม่ได้มุ่งพัฒนาความรู้เด็กเป็นรายบุคคล ตามท้องถิ่นของเด็ก แต่เรามุ่งพัฒนาเด็กส่งเข้าเมือง ส่งเข้าจังหวัด ส่งเข้ากรุงเทพ โดยลืมคิดไปว่าบริบทของชุมชนเมือง หรือบริบทของแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน เราผลิตคนโดยไม่คิดว่าจะให้เขาอยู่พัฒนาท้องถิ่น และท้องถิ่นต้องการได้เด็กหรือคนแบบไหนมาช่วยในการพัฒนา หรือก็คือการพัฒนาคนโดยไร้ทิศทาง หรือการพัฒนาคนโดยลืมคำนึงถึงบริบทความเป็นจริงของประเทศไทย- ปัจจุบันเราบอกว่าทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เรียนรู้ได้ตลอดเวลาผ่านระบบออนไลน์ แล้วถามต่อไปว่าจะมีสักกี่คนที่ได้เข้าถึงการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งต้องอาศัยเครือข่ายอินเตอร์เน็ตซึ่งต้องเสียค่าบริการราคาแพงซึ่งไม่ต้องพูดถึงคนที่หาเช้ากินค่ำ จะมีสักกี่ครอบครัว จะมีสักกี่คนถ้าคิดเป็นอัตราส่วน ซึ่งเป็นประชาชนโดยส่วนมาก ผมเรียกการศึกษาที่เท่าเทียมแบบไม่เท่าเทียม ความเท่าเทียมกันทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันการประกันคุณภาพการศึกษา ก็ไม่ใช้วิธีการในการแก้ปัญหาให้โรงเรียนมีคุณภาพ เป็นแค่กระบวนการหรือวิธีการที่ทางภาครัฐใช้ในการตรวจสอบคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาเท่านั้น ถามว่าทำให้คุณภาพการศึกษาของโรงเรียนดีขึ้นทั้งหมดไหม? ผมว่าไม่ใช่ทั้งหมด การประกันคุณภาพการศึกษา จะทำให้รู้ว่าปัญหาของการศึกษา หรือ ปัญหาของโรงเรียน หรือสถานศึกษาแต่ละแห่งอยู่ที่ไหน? แล้วรัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยอย่างไร? จะวางแผนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับประเทศอย่างไร?- ปัจจุบันครู ๑ คนในโรงเรียนขนาดเล็ก หรือโรงเรียนขนาดกลาง สอนไม่น้อยว่า ๒๕ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ต้องช่วยงานโรงเรียนทุกอย่าง มีงานมีโครงการ ๑๐๘ โครงการ จาก ๑๐๘ หน่วยงาน นำโครงการเข้าไปสู่โรงเรียนตามนโยบายของหน่วยงานต่างๆ ทั้งระดับเขตพื้นที่ ของทั้งระดับจังหวัด ของทั้งระดับภาค ของทั้งระดับประเทศ แล้วคิดว่า ครูจะมีเวลาไหนในการพัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพตามที่เรามุ่งหวังไว้ ครูจะมีเวลาไหนในการมาพัฒนานวัตกรรมในการสอน หรือจะมีเวลาไหนในการต่อยอดความรู้จากการที่ได้รับการอบรมพัฒนาความรู้และทักษะทางวิชาชีพ ครูไทยไม่ใช่ไม่เก่งแต่ครูไทยขาดเวลาในการพัฒนาตนเอง เพราะเวลาทั้งหมดใช้ไปกับการสอน การตรวจงาน การทำโครงการ การเสนอโครงการ การสรุปโครงการ งานมอบหมายต่างๆ และขาดช่องว่างของเวลาในการคิดและในการพัฒนา

มีคำถามหนึ่งเกิดขึ้นในใจอีกหนึ่งคำถามซึ่งเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกัน คือ เราหรือประเทศเราต้องถามตัวเองว่าเราต้องการให้เด็กมีความรู้หรือทักษะ หรือทั้งความรู้และทักษะ แล้วสัดส่วนความรู้อะไรบ้าง? แล้วทักษะอะไรบ้าง? แล้วเด็กทุกคนทั่วประเทศต้องมีความรู้และทักษะเหมือนกันทั่วประเทศใช่ไหม? หรือความรู้และทักษะอะไร?ที่ต้องมีและที่ต้องรู้ และความรู้และทักษะอะไร?ที่เด็กทุกคนไม่ต้องรู้เหมือนกันก็ได้ หรือไม่จำเป็นต้องรู้ หรือสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องสอนแต่อาจจะเรียนรู้ผ่านกิจกรรม/โครงการ/วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น หรืออาจจะเรียนรู้ผ่านสื่อและนวัตกรรมอื่นๆก็ได้ แล้วเรื่องไหนต้องรู้ตอนไหน? ช่วงชั้นหรือระดับชั้นไหน? และจุดเน้นของช่วงชั้นหรือระดับชั้นคืออะไร?ให้ชัดเจน และส่วนไหนต้องกำหนดลงในหลักสูตร ส่วนไหนไม่ต้องกำหนด เปิดกว้างๆไว้ ให้โรงเรียน ท้องถิ่น และเด็กเป็นผู้กำหนด โดยครูจะเป็นผู้สังเกตและพัฒนาผู้เรียนตามความถนัด ตามความรัก ตามความชอบ และตามความสนใจของผู้เรียน ซึ่งเป็นธรรมชาติและเป็นความเป็นจริงของเด็กและธรรมชาติในการเรียนรู้ของเด็กหรือนักเรียน

ความคิดเห็นนี้อาจจะไม่ใช่ความคิดเห็นที่ถูกทั้งหมด แต่ก็จากมุมมองหนึ่งของคนสายการศึกษา

หมายเลขบันทึก: 653106เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2018 14:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ธันวาคม 2018 22:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท