งานแข่งขันเรือยาวขึ้นโขนชิงธง สุดยอดแห่งสายน้ำหัววัง - พนังตัก


ด้วยพระเมตตาบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น

                        ย้อนเวลาไป 30 ปี  ที่ผ่านมาโดยประมาณ  เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 จังหวัดชุมพรประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ในอำเภอเมืองชุมพร  อำเภอปะทิว  และอำเภอท่าแซะ   จากพายุไต้ฝุ่นเกย์ ทำให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเรือน  ทรัพย์สิน  ไร่นา  รวมทั้งชีวิตของประชาชนชาวจังหวัดชุมพรเป็นอย่างมาก 

                        เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ได้พระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยให้แก่ชาวจังหวัดชุมพร โดยการขุดคลองเพื่อช่วยให้น้ำระบายออกจากแม่น้ำท่าตะเภา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดชุมพร  จากจุดบ้านหัววัง  ตำบลบางลึก  อำเภอเมือง  จังหวัดชุมพร  ลงสู่ทะเลบริเวณอ่าวพนังตัก  ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร  ระยะทางทั้งหมดประมาณ 8.1 กิโลเมตร  โดยเริ่มทำการขุดคลองในปี 2536  ต่อเนื่องกันมาหลายปี  ก็ยังไม่เสร็จตามพระราชประสงค์  เนื่องจากต้องเจอปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย  และยังเหลือระยะทางที่ยังขุดไม่เสร็จอีกประมาณ 1.5  กิโลเมตร  

                        ในวันที่ 18-22 สิงหาคม 2540  จังหวัดชุมพรต้องประสบปัญหากับอิทธิพลของพายุโซนร้อนซีต้า ที่ขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน  ทำให้มีฝนตกหนัก และเกิดน้ำท่วมฉับพลันในจังหวัดชุมพร บางพื้นที่น้ำสูงมากกว่า 2 เมตร สัตว์เลี้ยงต่าง ๆ เช่น หมู วัว ควาย สุนัข ที่หนีน้ำไม่ทันก็ต้องจมน้ำตาย หรือลอยไปกับน้ำอย่างไม่รู้ชะตากรรม   น่าสงสารมาก  ชาวบ้านต้องอาศัยอยู่บนหลังคาบ้านก็มี  นับเป็นความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวจังหวัดชุมพร   รวมมูลค่ามหาศาล น่าเวทนาเป็นยิ่งนัก 

                    ต่อมาไม่นานในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ได้มีพายุลินดา ซึ่งเป็นพายุที่มีลักษณะก่อตัวเหมือนพายุไต้ฝุ่นเกย์ ที่เข้าฝั่งที่จังหวัดชุมพรเมื่อ 8 ปี (ในปี 2532)    ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่รุนแรงมากที่จังหวัดชุมพรได้ประสบ และเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ว่าจะมีความรุนแรงใกล้เคียงกันกับพายุไต้ฝุ่นเกย์  และจะขึ้นฝั่งบริเวณจังหวัดชุมพร   ทำให้พี่น้องชาวจังหวัดชุมพรตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก

                    เมื่อความทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร   พระองค์ทรงห่วงใยถึงความเดือดร้อนของประชาชนชาวจังหวัดชุมพร  และได้โปรดเกล้าฯ ให้จังหวัดชุมพรเร่งการขุดคลองหัววัง – พนังตัก  ในส่วนที่ยังมีอุปสรรคโดยการพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 800,000 บาท  ให้ดำเนินการจนสามารถขุดคลองสำเร็จ ในคืนวันที่ 2 พฤศจิกายน 2540  ก่อนที่พายุใต้ฝุ่นลินดาจะเข้าฝั่งเพียง 1 วัน เท่านั้นทำให้น้ำไม่ท่วมจังหวัดชุมพร เหมือนที่ผ่านมา  เมื่อพายุเข้าฝั่ง ได้ปล่อยน้ำจากประตูน้ำราชประชานุเคราะห์ 1 ระบายน้ำออกจากหนองใหญ่ ลงทะเลผ่านคลองหัววัง-พนังตัก  น้ำจึงไม่ท่วมตัวเมืองชุมพรและพื้นที่ใกล้เคียง  ตั้งแต่วันนั้นจนตราบถึงทุกวันนี้ นอกจากพระองค์ทรงห่วงใยราษฎรชาวชุมพรเรื่องปัญหาอุทกภัยแล้ว แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถด้านภูมิศาสตร์ของจังหวัดชุมพรอย่างมหัศจรรย์ยิ่งนัก

                     ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2541  พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานเปิด “โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริจังหวัดชุมพร”  ทรงทอดพระเนตรและติดตามงานการขุดคลองหัววัง-พนังตัก  ขณะที่ขบวนเสด็จบนสะพานอาภากร ถนนสายชุมพร – หาดทุ่งวัวแล่น  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับสั่งว่า “น่าจะจัดการแข่งขันเรือบริเวณนี้  เพราะมีคันคลองเป็นชั้นเหมือนอัฒจันทร์” 

                     นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541  เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน   จังหวัดชุมพรได้จัดให้มีการแข่งขันเรือยาวประเพณีขึ้นโขนชิงธงติดต่อกันมาตลอด ยกเว้นปี 2559 ที่เป็นปีมหาวิปโยคที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรเสด็จสวรรคต ที่ไม่ได้จัดแข่งขันเรือลักษณะงานรื่นเริง แต่จัดงานในรูปแบบนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน สำหรับในปีนี้  เป็นการจัดงานครบรอบ 20 ปี  ซึ่งได้กำหนดจัดงานในวันที่ 13 – 16 กันยายน 2561  ณ  คลองหัววัง – พนังตัก  ต.นาชะอัง  อ.เมือง จ.ชุมพร เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา   เพื่อแสดงออกถึงการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  ที่มีต่อประชาชนชาวจังหวัดชุมพรอย่างหาที่สุดมิได้

                    การแข่งขันเรือยาวขึ้นโขนชิงธง ของจังหวัดชุมพรมีลักษณะพิเศษกว่าการแข่งขันเรือยาวทั่ว ๆ ไป ตรงที่เมื่อใกล้จะถึงเส้นชัย  นายหัวเรือ จะต้องไต่ขึ้นไปบนโขนเรือซึ่งต้องใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ  เพื่อดึงธง  ณ  จุดเส้นชัย   โดยที่นายหัวเรือไม่ตกน้ำ   หากฝ่ายใดขึ้นโขนเรือและดึงธงได้ก่อนและไม่ตกน้ำถือว่าเป็นฝ่ายชนะ    การแข่งขันเรือยาวเป็นกีฬาทางน้ำที่แสดงถึงความสามัคคีกลมเกลียวของทีม  ต้องมีความอดทน  เพราะกว่าจะลงแข่งได้ฝีพายจะต้องหมั่นฝึกซ้อมพายเรือให้มีความพร้อมเพรียงกัน  ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือนทีเดียว

                  สำหรับในปีนี้ การจัดงานสิ้นสุดไปด้วยดีอีกครั้งหนึ่งด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ทุกคนล้วนสำนึกในพระเมตตาบารมีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร  ดังคำกล่าวที่ว่า “ด้วยพระเมตตาบารมี  ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น”                

                  ตามมาชมบรรยากาศของการจัดงานกันค่ะ   

ถ้วยรางวัลพระราชทาน

นายหัวเรือกำลังขึ้นโขนเรือเพื่อเข้าจุดเส้นชัย

มื่อใกล้ถึงจุดเส้นชัย (โป๊ะกลางน้ำ) นายหัวเรือ จะทำหน้าที่ขึ้นโขนเรือ เพื่อช่วงชิงธงที่ผูกติดกับหวาย  แล้วสอดเข้าไปในท่อเล็ก ๆ ให้ธงโผล่ออกไปทั้ง 2 ฝ่าย  เป็นความสามารถเฉพาะบุคคลจริง ๆ


บรรยากาศอีกมุมหนึ่ง


บริเวณโป๊ะเรือ จุดเข้าเส้นชัยที่เรือทุกลำ หวังที่จะช่วงชิงชัยชนะ สังเกตว่าจะมีธงสีแดงอยู่ด้านข้างปลายท่อด้านหน้าทั้งสองข้าง จุดนี้ที่นายหัวเรือจะต้องแข่งขันกัน ใครดึงธงได้ก่อนถือเป็นฝ่ายชนะ


หน่วยรักษาความปลอดภัยทางน้ำ  เมื่อมีเหตุฉุกเฉินทางน้ำ จะได้ช่วยเหลือกันทันเหตุการณ์ 

ภาพชัด ๆ เมื่อเรือเข้าเส้นชัย  นายหัวเรือจะทำหน้าที่ขึ้นโขนและชิงธง  นับเป็นผู้มีความสามารถจริง ๆ  ภาพนี้ต้องขอขอบคุณช่างภาพที่ถ่ายภาพออกมาได้อย่างสวยงาม


หมายเลขบันทึก: 653101เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2018 14:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2018 18:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท