กระต่าย กระต่าย กระต่าย


เคยได้ยินแต่กระต่ายหมายจันทร์ แล้วกระต่ายกับมะพร้าวเกี่ยวอะไรกันด้วยเนี่ย?

        วันนี้มีเรื่องเล่าแบบกระต่าย ๆ มาฝากกัน  กระต่ายในที่นี้ไม่ใช่กระต่ายน้อยน่ารักขนปุกปุยที่เห็นกันกระโดดโหยง ๆ  กันโดยทั่วไป   แต่เป็นกระต่ายที่ไม่ธรรมดา มีฟันแหลมคม ชอบกินมะพร้าว  

        ในสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็ก  ครอบครัวก็อยู่ในฐานะปานกลาง  ไม่ได้ร่ำรวยเหมือนคนอื่นเขา  ทำกับข้าว หรือทำขนมกินในครัวเรือนที่มีส่วนผสมของมะพร้าว สักที คุณแม่จะให้ขูดมะพร้าว  ต้องนำมะพร้าวในสวนมาขูดเอาเนื้อขาว ๆ ออกมาเป็นฝอย ๆ  ค่อย ๆ ขูดทีละนิดทีละน้อย  เมื่อถึงกะลามะพร้าวแล้วก็ต้องระวังไม่ให้ขูดเนื้อกะลาสีน้ำตาลลงไปปนกับเนื้อมะพร้าว เมื่อได้มะพร้าวที่ขูดแล้วก็ต้องเอาไปคั้นเอากะทิออกมาแล้ว เอาไปทำขนมหรือ กับข้าวที่ใช้กะทิ   การขูดมะพร้าวไม่ใช่ขูดกับเครื่องขูดมะพร้าวเหมือนในตลาด ที่ใช้ไฟฟ้า และมีมอเตอร์หมุนแกนหัวขูด แล้วเอามะพร้าวแก่ที่ผ่าซีกมาขูดกับเจ้าหัวขูดนี่แหล่ะ  มันน่าหวาดเสียวจะตายไป   

         แต่ฝีมือในระดับผู้เขียนไม่ต้องใช้เครื่องทุ่นแรงในการขูดมะพร้าวแบบนี้หรอกค่ะ  แต่ใช้เครื่องมือชนิดหนึ่งเรียกว่ากระต่ายขูดมะพร้าว  ชื่อน่ารักใช่มั้ยล่ะ  ภาษาใต้จะเรียกว่า  “เหล็กขูด”  แต่ผู้เขียนเรียก “กระต่ายขูดมะพร้าว”   เจ้ากระต่ายที่บ้านของผู้เขียนตัวนี้ คุณพ่อซึ่งเป็นช่างไม้ที่มีฝีมือดีคนหนึ่งพ่อเค้าทำได้ทำสารพัดอย่างที่เป็นงานไม้   กระต่ายขูดมะพร้าวตัวที่อยู่ในครัวที่บ้านนี่ก็ทำไว้ให้คุณแม่ใช้ขูดมะพร้าวในการทำกับข้าวกับปลาในครัวเรือนมานานหลายสิบปีทีเดียว  ซึ่งขอบอกว่าในปัจจุบันนี้ก็ยังใช้ขูดมะพร้าวในการทำอาหารหรือขนม อยู่ค่ะ  ที่บ้านไม่ถนัดซื้อกะทิกล่องหรือกะทิที่คั้นในตลาดมาทำอาหาร มันไม่ได้อารมณ์ในการทำอาหาร รู้สึกเสียรสชาด สู้กะทิสด ๆ ที่ขูดมะพร้าวเองไม่ได้  ในสมัยที่พ่อยังมีชีวิตอยู่นั้น พ่อเป็นคนมีน้ำจิตน้ำใจมีไมตรี  กับ เพื่อนบ้านด้วยกัน เพื่อนบ้านจะให้พ่อทำกระต่ายขูดมะพร้าวให้หลายคนทีเดียว

       เทคนิคในการขูดมะพร้าวนี่  ไม่ต้องพูดถึง ผู้เขียนไม่ได้ทำตามตำรา มันต้องประยุกต์บ้างนิดหน่อย แบบว่าทำอย่างไรก็ได้ที่เร็ว ไว ทันใช้งาน  คนโบราณสอนว่าการขูดมะพร้าวให้ได้ดีต้องไม่ใช้มือกดแรงเกินไป  ให้กดเบา ๆ แล้วเร่งสปีดให้เร็ว ขูดถี่ ๆ จะได้เนื้อมะพร้าวที่นุ่มมือเวลาใช้มือคั้นกะทิออกมา  การตำเครื่องแกงก็เช่นเดียวกัน ต้องตำในครกหิน ตำถี่ ๆ  เสียงดังไปแปดบ้าน สิบบ้าน  อ้อ !  สมัยโบราณเค้าก็ตำเครื่องแกงกันเองเหมือนกัน  (เสียงดังแสดงให้เห็นถึงความขยันขันแข็ง เค้าว่างั้นค่ะ)   

มาว่ากันเรื่องขูดมะพร้าวต่อ.....

       การขูดมะพร้าวนี่ต้องระวังไม่ให้เหล็กที่เป็นฟันกระต่ายมาโดนมือเรา  เพราะถ้ากระต่ายกัดเรานี่  จะเจ็บมาก ฟันคม ๆ ของกระต่ายนี่จะขูดเนื้อเราไปเหมือนขูดมะพร้าวเลยทีเดียว  ขอบอกว่า เลือดสาด  ผู้เขียนโดนเป็นประจำ เพราะเร่งขูดเร็ว ๆ เพื่อจะให้เสร็จไว้ ๆ โดยไม่ระมัดระวัง  

       เจ้ากระต่ายขูดมะพร้าวนี่  ก็มีคนช่างคิดช่างทำเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ กันไปเพื่อความสวยงาม และลูกเล่นของช่างแต่ละคนแสดงให้เห็นถึงอารมณ์คนทำ  เช่น บางคนทำเป็นรูปกระต่าย ทำเป็นตัวลิง  ก็มี  ส่วนเหล็กที่ใช้ขูดมะพร้าวนั่น ก็แล้วแต่จะประดิษฐ์ บางคนชอบสั้น บางคนชอบยาว  ก็ว่ากันไป

   กระต่ายขูดมะพร้าวประดิษฐ์เป็นรูปลิง  (สังเกตจากปั้นท้าย)

กระต่ายขูดมะพร้าว ทำเป็นตัวกระต่าย สวยงามมาก


กระต่ายขูดมะพร้าวแบบคอสั้น (เหล็ก)

กระต่ายขูดมะพร้าวแบบคอยาว 

     ในภาคใต้นั้น  ด้วยเหตุผลของการมีสวนมะพร้าวมาก   เมื่อมีงานในหมู่บ้าน นิยมนำมะพร้าวมาขูดแข่งขันกันเพื่อความบันเทิง ใครขูดได้มากที่่สุดภายในเวลาที่กำหนดก็ชนะไป

กระต่ายขูดมะพร้าวนานาชนิด  เตรียมไว้สำหรับแข่งขันขูดมะพร้าว

ก่อนขูดมะพร้าวต้องผ่ามะพร้าวออกเป็น 2 ซีก 

  ผู้เข้าแข่งขันขูดมะพร้าว


การแข่งขันขูดมะพร้าวถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านได้ชนิดหนึ่ง  ที่ว่าการละเล่นพื้นบ้าน เพราะต้องนั่งขูดมะพร้าวบนกระต่าย ซึ่งวางอยู่บนพื้น  แฮ่!

วันนี้รวบรวมกระต่ายขูดมะพร้าวมาให้ดูกันค่ะ   เป็นการจัดงานในชุมชนมีการแข่งขันการขูดมะพร้าวกันด้วยค่ะ  

หมายเลขบันทึก: 652092เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2018 22:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2018 08:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เหล็กขูดปัจจุบันแทบจะไม่มีให้เด็ก ๆ เห็นแล้วนอกจากในพิพิธภัณฑ์นะจ๊ะมาทักทายก่อนนอนจ้ะ

จริงค่ะคุณมะเดื่อ กระต่ายขูดมะพร้าวหาดูยากแล้วค่ะ เด็ก ๆ สมัยนี้ไม่รู้จักกันแล้วค่ะ น่าเสียดายภูมิปัญญาชาวบ้านนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท