ง่ายงามในความธรรมดา


คำว่าธรรมดา เป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้ง เพราะธรรมดา คือ ความเป็นธรรมชาติ ความเป็นเช่นนั้นเอง เป็นความสมบูรณ์แบบแบบเช่นนั้นเอง ไร้นัยยะแห่งการแข่งขันหรือเปรียบเทียบ ... ธรรมดาบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ในตัวเอง เป็นความเต็ม ความเปี่ยมศักยภาพ คนธรรมดาๆ จึงเป็นคนที่สมบูรณ์ คือ คนที่รู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง ค้นพบตัวเอง เป็นความเปี่ยมสมบูรณ์ในศักยภาพที่ตัวเองมี

ง่ายงามในความธรรมดา

วิจักขณ์ พานิช
 

...  
          “ ธรรมดา ” เป็นคำธรรมดาๆ ที่แสนจะยิ่งใหญ่ น้อยคนที่จะรู้ว่าคำๆนี้ มีรากศัพท์เดียวกันกับ “ ธรรมตา ” อันเป็นคำที่ใช้อธิบายธรรมชาติสูงสุดของสรรพสิ่ง ซึ่งก็คือสิ่งเดียวกันกับธรรมชาติของจิตใจ... ธรรมชาติของการรับรู้และเรียนรู้ อันเป็นธรรมชาติพื้นฐานที่แท้ของความเป็นมนุษย์

             คำว่าธรรมดา เป็นคำที่มีความหมายลึกซึ้ง เพราะธรรมดา คือ ความเป็นธรรมชาติ ความเป็นเช่นนั้นเอง เป็นความสมบูรณ์แบบแบบเช่นนั้นเอง ไร้นัยยะแห่งการแข่งขันหรือเปรียบเทียบ ... ธรรมดาบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ในตัวเอง เป็นความเต็ม ความเปี่ยมศักยภาพ คนธรรมดาๆ จึงเป็นคนที่สมบูรณ์ คือ คนที่รู้จักตัวเอง เข้าใจตัวเอง ค้นพบตัวเอง เป็นความเปี่ยมสมบูรณ์ในศักยภาพที่ตัวเองมี

          ก็เพราะการเรียนรู้ ถือเป็นกระบวนการที่ธรรมดาที่สุดของความเป็นมนุษย์ ลองสังเกตแววตาของเด็กที่เบิกกว้างเรียนรู้โลกอย่างใคร่รู้ อันเป็นแววตาที่แสนงดงามและบริสุทธิ์ อีกนัยหนึ่งก็แสนจะธรรมดา จิตใจที่ตื่นรู้เป็นจิตใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความธรรมดา หากเราได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง มองด้านในดูสภาวะของการรับรู้ที่ธรรมดานั้น เราก็จะตระหนักได้ว่า ความธรรมดาของจิตนี่เอง ที่ทำให้ชีวิตเกิดการงอกงาม ธรรมชาติของจิตใจมนุษย์ที่ไร้การปรุงแต่ง เป็นสิ่งที่มีความงามของมันอยู่แล้ว เป็นความงามที่แสนจะธรรมดา และสายธารแห่งความธรรมดาก็ไหลรินก็เป็นบ่อเกิดแห่งความเมตตา ความรัก ความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น

           ในโลกสมัยใหม่อันเป็นโลกแห่งการแข่งขัน เป็นโลกแห่งวิทยาศาสตร์วัตถุนิยม หรือแม้แต่ในเรื่องของศาสนาและจิตวิญญาณก็หนีไม่พ้นหน้ากากแห่งวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณที่ซับซ้อน กระแสของวัตถุนิยมนี่เองทำให้เราหลงมองสิ่งต่างๆรอบกายเสมือนว่าทุกสิ่งมีแก่นสารในตัวของมันเอง มองว่าสิ่งต่างๆมีดี มีเลว มีต่ำ มีสูง แยกขาดไร้การข้องเกี่ยวกับจิตใจของผู้มอง ส่งผลให้กระบวนการการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลายอันให้คุณค่ากับความคิดสร้างสรรค์ ถูกลดทอนความหมาย ใส่กฎ ใส่กรอบ จนหลงเหลือเพียงความหมายตายตัวเชิงวัตถุ เป็นเพียงแค่การท่องจำ รับความรู้ที่ตายแล้วต่อๆกันมาอย่างหลับใหล เมื่อการเรียนรู้และความรู้ถูกบิดเบือนจากการเป็นกระบวนการ ให้กลายเป็นเป้าหมายจุดปลายที่ยิ่งใหญ่ตายตัวด้วยความเชื่อต่อๆกันมา โลกจึงผันแปรสู่ยุคของการพัฒนา สู่ความแปลกใหม่ไม่ธรรมดา วิถีแห่งความธรรมดาจึงกลับถูกมองว่าเป็นความเก่าเชยล้าสมัย อย่างที่ไม่มีใครสามารถทนได้อีกต่อไป

          เราจึงเห็นได้ว่าผู้คนในสังคมสมัยใหม่ ต่างกำลังกระสันทยานอยาก กระหายไขว่คว้าในความไม่ธรรมดา ทุกสิ่งต้องสร้างความตื่นเต้น แปลกใหม่ สนองการรับรู้แบบลัดสั้น พุ่งสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของมายาภาพความไม่ธรรมดาที่เราต่างอุปโลกน์ขึ้น ดูข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ จึงเต็มไปด้วย เด็กวัยรุ่นอยากเป็นดารา นางแบบ อยากเป็นคนรวย เป็นคนโด่งดังมีชื่อเสียง นักเรียนนักศึกษาอยากเข้าคณะเด่นๆ มหาวิทยาลัยดังๆตามกระแส คนดังอยากเป็นนักการเมือง คุณนายอยากเป็นคุณหญิง เจ้าอาวาสอยากเป็นเจ้าคุณ และดูเหมือนจะไม่มีใครอยากเป็นตัวของตัวเองกันอีกต่อไป

          หรือว่าการไขว่คว้าที่ดูจะไม่มีที่สิ้นสุดนี้ จะเกิดขึ้นเพียงเพราะการมองข้ามความสมบูรณ์แบบของความธรรมดาที่เราทุกคนต่างมีกันอยู่แล้ว เราต่างยอมเหนื่อยล้าเพียงเพื่อหาภาพลวงของความมีตัวตนสมบูรณ์แบบ มาเติมเต็มความพร่อง...ความพร่องอันเกิดจากธรรมชาติของจิตใจที่ไม่เห็นคุณค่าอันแสนจะงดงามตามธรรมดาของมันเอง สื่อ ค่านิยมทางสังคม หรือแม้แต่ครอบครัวคนรอบข้าง ต่างก็ทับถมบ่มเพาะความอยาก มองข้ามความเป็นคนธรรมดาไปจนหมดสิ้น

             ทุกวันนี้ ผู้คนต่างก็สวมหมวก แต่งหน้า สวมหน้ากากกัน จนลืมหน้าตาที่แท้จริงของตนไป ลืมความงดงามตามธรรมชาติของจิตใจที่สัมผัสความสุขได้อย่างง่ายๆในชีวิต ลืมไปว่าเส้นทางแบบอย่างการดำเนินชีวิตนั้นมีให้เลือกมากมาย แล้วแต่จินตนาการ พรสวรรค์ และความคิดสร้างสรรค์ หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนเราทั่วไปกลับใช้ชีวิตตามกระแส แบบแผนและโครงสร้าง ราวกับชีวิตที่ตายแล้ว...การศึกษาแทนที่จะเป็นการจุดประกายให้เราได้เรียนรู้ชีวิต ด้วยความคิดและจินตนาการอันสร้างสรรค์ ผนวกกับความสามารถและพรสวรรค์อันติดตัวมาในแต่ละคน กลับกลายเป็นการศึกษาตามสูตรสำเร็จ เพื่อรองรับโครงสร้างตายตัวทางสังคม กลายเป็นการศึกษาที่ปิดกั้นศักยภาพอันหลากหลายของมนุษย์อย่างเลวร้ายที่สุด ปัญหามากมายจากทิศทางการศึกษาที่ผิด น่าจะทำให้เราได้ตระหนักว่า น่าจะถึงเวลาที่กระบวนการการเรียนรู้จะต้องหันกลับมามองย้อน ถึงพื้นฐานสำคัญของความเข้าใจความเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ กันให้มากขึ้น ก่อนที่การศึกษาจะเป็นเพียงแค่กระบวนการการพอกพูนเปลือกนอกอย่างผิวเผินของความเพ้อฝัน ความอยากเด่นอยากดัง อันทิ้งไว้ซึ่งความกลวงภายในในความไม่เข้าใจตัวเอง ไม่เข้าใจชีวิต ไม่รู้จักคุณค่าของการใช้ชีวิตในความธรรมดาที่แสนจะงดงามนั้น

           แม้เราต่างคนต่างก็มีหมวกของตน แต่หมวกเหล่านั้นก็ไม่สามารถกลืนคุณค่าของความเป็นคนธรรมดาที่เรามีร่วมกัน เราต่างเกิดมามีรอยยิ้ม น้ำตา และเสียงหัวเราะ ทุกคนอยากมีอิสรภาพและความสุข เมื่อคนแต่ละคนต่างทำหน้าที่ของตนด้วยความเข้าใจ ใช้ศักยภาพที่ตนมีเพื่อเรียนรู้และสรรค์สร้างสิ่งที่ดีงาม เพื่อสันติภาพและความผาสุกของสังคมโลก ใช้พื้นฐานของความธรรมดาในการเชื่อมสายสัมพันธ์กับผู้อื่น สังคมที่เราอยู่จะตื่นขึ้นได้ก็ด้วยภาวะแห่งความตื่นอันหลายหลายที่ถูกจุดประกายขึ้นในปัจเจก ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงด้านใน ในความธรรมดาของเราแต่ละคนในที่นี้ก่อนนั่นเอง...

             คุณค่าของความตื่น เกิดขึ้นได้ด้วยใจที่เปิดกว้างต่อการเรียนรู้ ข้ามพ้นกำแพงความคับแคบของความไม่ธรรมดาที่เราปรุงแต่งขึ้น ระบบใดที่หลับใหลจะค่อยๆกลายเป็นโครงสร้างอันเลวร้ายของอำนาจและความรุนแรง แต่ระบบใดที่ตั้งอยู่บนความเป็นธรรมชาติที่แสนธรรมดา โปร่งใส และง่ายงาม มีกระบวนการที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ การรับฟัง เพื่อเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยน ก็จะเป็นระบบที่ตื่น ที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมให้คุณค่าและความหมาย

             บางทีสิ่งที่เราแต่ละคนน่าจะเรียนรู้ อาจจะไม่ใช่เรื่องของการทำให้เกิดสิ่งที่เรียกกันว่าจิตวิวัฒน์ ในฐานะเป็นเรื่องนอกตัวอะไรใหญ่โต แต่อาจจะเป็นสิ่งธรรมดาๆ อย่างการรู้จักเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตที่มีพื้นฐานของการมองด้านใน ฟังเสียงด้านใน เรียนรู้เข้าใจตัวเองและผู้อื่น อันเป็นวิถีชีวิตที่แสนจะง่ายงามและธรรมดาเป็นที่สุด ...ก็ด้วยความเป็นธรรมดานี้เอง ที่จะส่งผลเป็นแรงบันดาลใจให้การวิวัฒน์เกิดขึ้นจากภายใน งอกงาม หอมหวน เบ่งบาน สอดประสาน ถักทอ ด้วยความสามารถที่หลากหลายของผู้คนที่รู้จักคุณค่าของตนเองในฐานะคนธรรมดาสามัญคนหนึ่ง ที่สมบูรณ์แบบในแบบที่เราเป็นอย่างแท้จริง

 


 
  ..................................................................................................
บทความจาก  http://www.semsikkha.org

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 65182เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2006 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท