วงศ์วานเครือญาติด้ำ ‘ปู่’


  

 

(ภาพปรับปรุงจากนิตยสารทางอีศานฉบับแฮกหมาน)

หนังสือเล่มสำคัญล่าสุดของศาสตราจารย์ ชลธิรา สัตยาวัฒนา เรื่อง ‘ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไท’ สาวรกรากต้นตอ คนไท ชุมชนไท-ลาว และความเป็นไท/ไต/ไทย/สยาม (ทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการ, สำนักพิมพ์ชนนิยม, พ.ศ.๒๕๖๑) ได้ทำการสืบค้นตีความควานหารากเหง้าด้วยวิธีทางมานุษยวิทยาชนิดหลังสมัยใหม่ (Post Modern) ซึ่งเน้นลงไปที่การศึกษาพฤติกรรมการเกิดซ้ำของเหตุการณ์ต่างๆ แต่ครั้งอดีต อันเป็นแนวทางที่นับว่าสดใหม่ในแวดวงมานุษยวิทยาของเมืองไทยเลยทีเดียว ดังที่อาจารย์ชลธิราได้ให้คำนิยามชื่อนามไว้ในชั้นต้นว่า ‘อรรถปริวรรตกรรม’ (Generative Anthropology)

ในบทที่ ๖ ของหนังสือเล่มนี้ ว่าด้วยการ ‘สาวด้ำปางบรรพ์: ‘ด้ำนาย-ด้ำปู่’’ (หน้า ๑๑๗-๑๒๕) โดยโคตรวงศ์ ‘ด้ำปู่’ ถือเป็นบรรพชนรากเหง้าที่สำคัญในสังคมไท-ลาว-สยามเป็นอย่างยิ่ง เช่นเนื้อความที่คัดยกมาว่า:

“ในทางมานุษยวิทยาสังคม (Social Anthropology) คำว่า "ปู่" เป็น "คำสำคัญ" จัดว่าเป็น "Keyword" ในการศึกษาสังคมไท-ลาวในเชิงโครงสร้าง เพื่อถอดรหัสทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง ของพหุสังคมอุษาคเนย์ 

ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Economy) คำว่า "ปู่" มีความสำคัญยวดยิ่งในการศึกษา วิวัฒนาการสังคมไท-ลาว ตามแนวมาร์กซิสต์ ว่ามีการเคลื่อนตัวอย่างไรในอดีต และถูกนำมาใช้ขับเคลื่อนและผลิตซ้ำเชิงอุดมการณ์อย่างไรในสังคมปัจจุบัน

ในแง่ของอักษรศาสตร์ การศึกษาชุดถ้อยคำ "ผีปู่ย่า" ของทางเมืองเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่ เปรียบเทียบกับ "ผีปู่ตา" ของทางอีสาน และ "ผีตายายโนรา" ไม่อาจดำเนินไปอย่างบรรลุมรรคผลหากใช้เพียงวิธีวิทยาของสำนักภาษาศาสตร์โครงสร้าง

ต้องใช้มานุษยวิทยาสังคม มานุษยวิทยาวัฒนธรรม และเศรษฐศาสตร์การเมือง มาขยายมุมมอง จึงจะสามารถทำความเข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกอย่างมหัศจรรย์พันลึกของชุดคำไทดั้งเดิมง่ายๆ เพียง ๔ คำนี้ คือ ปู่ ย่า ตา ยาย  อะไรจะปานนั้น !

ในตำนานพื้นเมือง ศิลาจารึก พงศาวดาร ราชวงศ์ปกรณ์ เอกสารใบลาน สมุดข่อย และประวัติศาสตร์นิพนธ์ยุคต้นๆ  คำว่า "ปู่" ในเอกสารเหล่านี้ คือคำที่มีนัยยะทางการเมืองเรื่องเพศสภาพ (Politics of gender) เข้มข้นที่สุด ในการปักหมุดหมายเขตแดน (Landmark) ของห้วงเวลาที่ผู้ชายครองความเป็นเจ้า (Hegemony)  เป็นห้วงเวลายาวๆ ห้วงหนึ่งแต่ครั้งผู้คนในพหุสังคมอุษาคเนย์สมัยดึกดำบรรพ์ อยู่ร่วมกันเป็นสังคมชุมชนบรรพกาล-ช่วงปลาย ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันสมัย  นั่นคือห้วงเวลาแห่ง "ลัทธิปิตาธิปไตย" หรือลัทธิพ่อเป็นใหญ่ ผู้ชายเป็นผู้นำ  ผู้หญิงเป็นผู้ตาม ผู้ชายเป็นผู้พูด (เสียงดังได้) ผู้หญิงเป็นผู้ฟัง (และต้องคล้อยตาม)” 

ในจารึกวัดศรีชุม อายุปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ จารชื่อ ‘ปู่พระยาศรีนาวนำถุม’ ผู้เป็นขุนใหญ่ ควบคุมอำนาจทั้งเมืองศรีเสชนาไลและเมืองสุโขไท ดังคัดถ้อยคำปริวรรตโดย ยอร์ช เซเดส์ จากฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มาความว่า:

“๘. ง พระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี

เกิดในนครสรลวงสองแคว(๗) ปู่ชื่อพระยาศรีนาวนําถุม

เป็นขุน เป็นพ่อ”

ในจารึกปู่ขุนจิดขุนจอด อายุไม่ห่างต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ มีการสบถสาบานกล่าวยก ‘ปู่’ อัญเชิญมาเป็นสักขีพยานในหลากหลายชื่อไม่หวาดจำ คัดคำปริวรรตโดย ฉ่ำ ทองคำวรรณ จากฐานข้อมูลจารึกฯ เช่นเดียวกัน มาความว่า:

“๑. ------------- (ส)บถด้วยกันนี้จุ่งให้ได้แก่

๒. ------------- (อารัก)ษ์ทั้งหลายอันมีในน้ำในถ้ำ

๓. ------------ (ว)วศาหน(๑) พระยาผู้ปู่(๒) ปู่พระยา

๔. ------------- ปู่เริง ปู่มุง ปู่พอง ปู่ฟ้าฟื้น

๕. ------------ (ผ)ากอง ปู่พระยาคำฟู

๖. ------------ (พระ)ยาผากองเท่านี้ ดําพงศ์กําว

๗. ------------ (ผี)สิทธิแล แต่นี้ดำพงศ์ ผีปู่ผาคำ

๘. ------------ (ฝู)งผู้หวาน(๓) ปู่ขุนจิด ขุนจอด ปู่พระยาศ

๙. ------------ (รีอินทราทิ)ตย์ ปู่พระยาบาน ปู่พระยารามราช

๑๐. ---------- (ส)งคราม ปู่พระยาเลอไทย ปู่พระยางัวนำถม ปู่ไสส

๑๑. ---------- (พระ)ยามหาธรรมราชา พ่องำเมือง พ่อเลอไทย แ”

 

ในคำร่ายโองการแช่งน้ำอันเก่าแก่ในคราวแรกสถาปนากรุงศรีอยุธยา ก็พบการเอ่ยอ้างอัญเชิญชื่อผีในชั้นดึกดำบรรพ์เรียก ‘พระกำปู่เจ้า’ กับ ‘ปู่สมิงพราย’ ดังคัดจากห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ ความว่า:

“๏ เชือกบาศด้วยชันรอง           ชื่อพระกำปู่เจ้า[๗]

ท่านรังผยองมาแขก                 แรกตั้งขวัญเข้าธูปเทียน ฯ”

และในอีกท่อน:

“๏ เจ้าผาดำผาเผือกช่วยดู         หันเหย้าวปู่สมิงพราย

เจ้าผาหลวงผากลายช่วยดู ฯ”

ในพงศาวดารล้านช้างตำนานแถน แม้เนื้อความมีการปริวรรตแล้ว ก็พบชื่อ ‘ปู่ลางเชิง’ หนึ่งในขุนพลมือขวาของแถนหลวง ผู้ถูกส่งตรงจากเมืองฟ้าให้ลงมาปกครองและสั่งสอนฝูงคนบ่หลวกทั้งหลายที่เมืองลุ่ม คัดบริเฉทที่ ๒ จากวิกิซอร์ซมาดังนี้:

“๏ ดูราสปุริสทั้งหลาย ดังเราจักรู้มามีในกาลเมื่อก่อนเถ้าเก่าเล่ามา เปนคำปรำปราสืบ ๆ มาว่าดังนี้ กาลเมื่อก่อนนั้น ก็เปนดินเปนหญ้าเปนฟ้าเปนแถน ผีแลคนเที่ยวไปมาหากันบ่ขาด เมื่อนั้นยังมีขุนใหญ่ ๓ คน ผู้หนึ่งชื่อว่าปู่ลางเชิง ผู้หนึ่งชื่อขุนคาน อยู่สร้างบ้านเมืองลุ่ม กินปลาเฮ็ดนาเมืองลุ่มกินเข้า”

หรือในตำนานการสร้างบ้านแปงเมืองของพวกไทดำ  ‘ความโทเมือง’ (The Black Tai Chronicle of Muang Mouay) โดย James R. Chamberlain (ค.ศ.๑๙๘๕) ก็ปรากฏชื่อด้ำบรรพชนรุ่นสร้างโลก ‘ปู่เจ้าช่อโค้มฟ้า’ ผู้หาญกล้าตัดสายขึงฟ้าจนทำให้แถนหลวงโกรธเกรี้ยวบันดาลให้เกิดความแห้งแล้งไปทุกหัวระแหง จนต้องทำพิธีกรรม ‘เอยด’ บวงสรวงเซ่นไหว้ใหญ่โต เพื่อขอให้แถนหลวงส่งฝนลงมาบ้าง ถัดจากนั้นในชั้นหลังซึ่งเป็นรุ่นสร้างบ้านแปงเมืองขยับขยายดินแดน ก็ปรากฏชื่อลูกชายของขุนลอคือ ‘ปู่ตาลุก’ กับ ‘ปู่ตาเลา’ ตามถึงรุ่น ‘ปู่ลับไล’, ‘ปู่ลางงาง’ จนถึงลูกล่าลูกลุน ‘ปู่ลานเจือง’ ผู้ไม่มีเมืองมีนาในครอบครอง จนต้องขอความช่วยเหลือจากบรรดาญาติพี่น้องให้ออกไปต่อตีเข้ากินเมือง 

สังเกตว่าความเป็น ‘ปู่’ ในจารึก คำร่าย พงศาวดาร และตำนานเรื่องเล่าของพวกไท-ลาว-สยาม นอกไปจากคำกล่าวของอาจารย์ชลธิราที่ว่าเป็นการแสดง ‘นัยยะทางการเมืองเรื่องเพศสภาพ (Politics of gender) เข้มข้นที่สุด’ ของความเป็นผู้นำโดยเพศชายในสังคมเมืองลุ่ม ขยายขึ้นไปจนถึงตำนานชั้นฟ้ารุ่นสร้างโลกของพญาแถนหลวงปู่ลางเชิงปู่เจ้าช่อโค้มฟ้าแล้ว อีกแง่มุมหนึ่ง ยังสะท้อนอย่างลึกซึ้งถึงนัยยะวิถีแห่งการสืบสานวัฒนธรรมอันเก่าแก่ในการแสดง ‘ความเคารพยำเกรงต่อเหล่าบรรพชน’ นับตั้งแต่แรกคำสั่งสอนของแถนหลวง (แม้ว่าโดยเพศสภาพแล้วตัวแถนหลวงในตำนานจะอยู่ในฐานะของเพศผู้ก็ตาม) เช่นในพงศาวดารล้านช้าง บริเฉทที่ ๒ ความว่า:

“เมื่อนั้นแถนจึงใช้ให้มากล่าวแก่คนทั้งหลายว่า ในเมืองลุ่มนี้กินเข้าให้บอกให้หมาย กินแลงกินงายก็ให้บอกแก่แถน ได้กินขึ้นก็ให้ส่งขาได้กินปลาก็ให้ส่งรอยแก่แถน เมื่อนั้นคนทั้งหลายก็บ่ฟังคามแถน แม้นใช้มาบอกสองทีสามที ก็บ่ฟังหั้นแล”

ส่งอิทธิพลลงมายังการยอผีด้ำยกบรรพชนเพศชายทั้งหลายให้ขึ้นชั้นเป็น ‘ปู่’ ไม่ว่าผีบรรพชนเหล่านั้นจะมีสถานะเป็น ‘พ่อของพ่อ’ หรือไม่ก็ตาม เป็นคำความหมายที่กินความล้ำลึกเกินสถานภาพของ ‘ปู่’ แบบทั่วไปที่ว่าใหญ่ยิ่งแล้วในฐานะของ ‘paternal grandfather’ เป็นนัยยะที่อยากย่ำย้ำว่ามากล้นไปด้วยความ ‘อยำ’ (to respect) ยำเกรงยิ่งไปกว่า ด้วยฐานะของ ‘ancestor’ สอดคล้องกับพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า: “น. พ่อของพ่อ, ผัวของย่า, ญาติผู้ชายหรือชายที่นับถือชั้นปู่.” เน้นน้ำหนักตรงที่ ‘ชายที่นับถือชั้นปู่’

ความ ‘อยำ’ ยำเกรง ในพวกไทลุ่มเจ้าพระยาปรากฏหลักฐานชนิดชัดถ้อยชัดคำอย่างน้อยในจารึกสุโขไท เช่น จารึกนครชุม (อายุราวพุทธศักราช ๑๙๐๐ อ่านและแปลโดย ยอร์ช เซเดส์) ระบุถึง ‘ยำปู่’ ในฐานะครู และ ‘ยำผู้เถ้า’ ในฐานะคนแก่ เป็นต้น คัดความจากฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มาดังนี้:

“๓๗. แมพิงนิญาฃาดสกกเมิอใหอยําปู (ครู)

๓๘. นองอยําผูเถาผูแกใหรูปรานิไพรฝา”

คำปริวรรต:

“๓๗. แม่พิงนี้อย่าขาดสักเมื่อ ให้ยําปู่ครูู

๓๘. น้องยําผู้เถ้าผู้แก่่ให้รู้ปรานีไพร่ฟ้า”

กว่านั้น คำว่า ‘ปู่’ ยังถือเป็นคำที่ถูกขานนามเรียกใช้อย่างกว้างขวางในหมู่คนพูดไท-กะได เช่นในคำศัพท์พื้นฐานไท-ไตของอาจารย์ พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ (ค.ศ.๒๐๐๙) เรียกใช้คำว่า ‘ปู่’ ในฐานะ ‘paternal grandfather’ ดังนี้:

ไทสยาม และ Bao Yen เรียก pu:B1 /ปู่/

Sapa และ Cao Bang เรียก puB1 /ปุ่/

สืบสร้างเป็นคำไท-ไตโบราณว่า *pɯwB /ปึ่ว/

ในคำศัพท์พื้นฐานหลี/ไหลของ Dr. Peter Norquest (ค.ศ.๒๐๐๗) แสดงคำเรียก ‘grandfather’ ดังนี้:

พวก Bouhin และ Lauhut เรียก phow3 /โผ้ว/

พวก Ha Em, Tongzha, Zandui, Baisha และ Yuanmen เรียก phaw3 /เผ้า/

พวก Baoting เรียก (phǝ:w6) /เพิ่ว/

สืบสร้างเป็นคำหลี/ไหลโบราณว่า *phu:Ɂ /ผูอ์/ และขึ้นไปเป็นคำชนิดเก่ากว่าคำโบราณว่า *pu:Ɂ /ปูอ์/   

หากที่น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่งคือว่า พวกหลี/ไหลแต่ละกลุ่มต่างใช้คำเรียก ‘ปู่/ตา’ (grandfather) ด้วยคำเดียวกับคำเรียก ‘บรรพชน’ (ancestor) รวมไปถึงภาษาหลี/ไหลโบราณที่ได้สืบสร้างออกมาเป็นคำเดียวกันว่า *phu:Ɂ /ผูอ์/ ซึ่งสอดรับไปกับสถานะของ ‘ปู่’ ในพวกไท-ลาว-สยามอย่างค่อนข้างสนิทแนบ

และพวกหลี/ไหลยังมีคำกล่าวขาน ‘บรรพชน’ ทั้งในนิยามของ ‘ancestor’ และรวมไปถึง ‘paternal great grandpa’ อีกคำด้วยว่า:

Bouhin, Ha Em, Lauhut, Tongzha และ Zandui เรียกเหมือนกันว่า phut7 /ผุด/

Moyfaw และ Baisha เรียก phok7 /ผก/

สืบสร้างเป็นคำหลี/ไหลโบราณว่า *phut /ผุด/ และขึ้นไปเป็นคำเก่ากว่าว่า *put /ปุด/

จะเห็นว่า คำสืบสร้างในชั้นที่เก่ากว่าคำโบราณ หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า ‘Pre-Hlai’ ใช้เสียงขึ้นต้นคำด้วยเสียง ป.ปลา แทนเสียง ผ.ผึ้ง (หรือ พ.พาน ก็ตามที) สะท้อนนัยยะว่าเสียงแต่ดั้งแต่เดิมเป็นเสียง ป.ปลา คือเป็นเสียงที่ไม่มีลมพ่นกระแทกออกมาจากลำคอ หรือ ‘สิถิล’ ก่อนที่จะเคลื่อนกลายมาเป็นเสียง ผ.ผึ้ง หรือ พ.พาน คือเป็นเสียงที่มีลมพ่นกระแทกออกมาจากลำคอคล้ายเสียงขากถุย หรือ ‘ธนิต’ ในช่วงต้นๆ ของพวกหลี/ไหล

ในคำศัพท์พื้นฐานข้า/ขร้าของอาจารย์ วีระ โอสถาภิรัตน์ (ค.ศ.๒๐๐๐) แสดงคำเรียก ‘grandfather’ ซึ่งเป็นได้ทั้ง ‘ปู่’ และ ‘ตา’ ไว้ว่า:

พวก Paha เรียก baau B1/บ่าว/

พวก Buyang เรียก puu B1 /ปู่/

สืบสร้างเป็นคำข้า/ขร้าโบราณว่า *m-pau B /m-เป่า/

ในขณะที่คำศัพท์พื้นฐานพวกกัม-สุยของ Ilya Peiros (ค.ศ.๑๙๙๘) ไม่มีรายละเอียดคำเรียก ‘paternal grandfather’ แสดงไว้ หากแสดงคำโบราณสืบสร้างจ้วง-ไต (Proto-Zhuang-Tai) ว่า *pu.B /ปุ่/

เมื่อทำการขยายขอบเขตของ ‘ปู่’ ไปบนถนนแห่งนักเลงภาษา สอบพบว่านักภาษาศาสตร์บางท่านได้นำคำว่า ‘ปู่’ ในแบบ ‘ปู่/ตา’ (grandfather) ของพวกไท-กะได (Tai-Kadai) ไปเปรียบเทียบกับคำของทางออสโตรนีเซียน ซึ่งเป็นสองตระกูลภาษาที่มีความพัวพันแนบแน่นซึ่งกันและกันโดยพื้นฐาน เช่นในงานวิจัยของ Dr. Peter Norquest เรื่อง ‘A revised inventory of Proto Austronesian consonants: Kra-Dai and Austroasiatic evidence’ ตีพิมพ์ในวารสารมอญ-เขมรศึกษา ค.ศ.๒๐๑๓ ดังนี้:

ไท-กะได:

คำสืบสร้างพวกหลี/ไหลโบราณว่า (PHlai) *phu:ʔ /พูอ์/

คำสืบสร้างพวกไทสาขาเหนือโบราณว่า *pawh /เปาฮ์/

คำสืบสร้างพวกไทสาขากลางและตะวันตกเฉียงใต้ (ไท-ลาว) โบราณว่า *pu:h /ปูฮ์/

ออสโตรนีเซียน:

คำสืบสร้างออสโตรนีเซียนโบราณ (PAn และ RAn) ว่า *apu /อาปุ/

ซึ่งพบว่ามีความสอดคล้องต้องกันระหว่าง ‘ปู่/ตา’ ในภาษาไท-กะได ซึ่งเป็นคำสั้นแบบพยางค์เดียว กับ ‘ปู่/ตา’ ในภาษาออสโตรนีเซียน ซึ่งเป็นคำยาวแบบสองพยางค์

และเมื่อทำการสอบค้นไปในโลกอันกว้างใหญ่ของออสโตรนีเซียน ก็พบความน่าสนใจว่า มีคำสองพยางค์จำนวนมากมายที่เกี่ยวข้องกับคำว่า *apu ใช้กันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในสายมาลาโย-โพลีนีเซียน ผู้เป็นชาวทะเลอาศัยอยู่ตามหมู่เกาะทั้งหลายทั้งปวงนอก ‘เกาะไต้หวัน’ หากกินความหมายอย่างครอบคลุมถึงเรื่องของ ‘ปู่-ย่า-ตา-ยาย’ (grandparent), ‘บรรพชน’ (ancestor), ‘เจ้านาย’ (lord), ‘หัวหน้า/ผู้ทรงภูมิปัญญา’ (master), ‘เจ้าของ’ (owner) รวมไปถึงความเป็น ‘หลาน’ (grandchild), เป็นต้น ดังเช่นอ้างอิงจาก ‘Austronesian Comparative Dictionary’ ค.ศ.๒๐๑๐ ปรับปรุง ค.ศ.๒๐๑๘ ความว่า:

ภาษา Thao (หนึ่งในพวกฟอร์โมซาบนเกาะไต้หวัน) เรียก apu /อาปุ/ แปลว่าปู่-ย่า-ตา-ยาย

ภาษามาลาโย-โพลีนีเซียนตะวันตก (ชนเผ่าต่างๆ ในแถบถิ่นหมู่เกาะมาเลย์-อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์) เรียกคล้ายๆ กันว่า apo, apó, ápo, āpó, afú, ʔapú, ʔápu, apú, afo, ampu, ampu, sabu, abu และ avu ออกเสียงคล้าย /อาโปะ/ หรือ /อาปุ/ หรือ /อัมปุ/ แปลความหมายอยู่ในกลุ่มปู่-ย่า-ตา-ยาย, บรรพชน, หัวหน้า, ผู้ทรงปัญญา, ผู้เฒ่า, เจ้านาย, เจ้าของ และหลาน-เหลน

ที่น่าสนใจระหว่างบรรทัดคือ พวก Itawis ที่อาศัยอยู่ตอนบนของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ เรียก afú /อาฟุ/ กินความหมายไปถึงพระเจ้า (God) พวก Pangasinan ที่อาศัยอยู่บนเกาะลูซอนเช่นกัน เรียก ápo /อาโปะ/ ใช้ในหมวดของความเคารพนับถือ (term of respect used especially when addressing a priest) และพวก Kapampangan ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ไม่ห่างกรุงมะนิลาบนเกาะลูซอน เรียก ápu /อาปุ/ ใช้ในความหมายเฉพาะว่าย่า/ยาย (grandmother) 

ภาษาอินโดนีเซีย เรียก ampu /อัมปุ/ หรือ empu /เอิมปุ/ แปลว่ายกขึ้น, ชูขึ้น, บรรพชน, ด้านหัว, หัวหน้า, ผู้มากความสามารถ (KBBI ค.ศ.๒๐๑๒)

คำสืบสร้างภาษามาลาโย-โพลีนีเซียนโบราณ (PMP) คือ *ampu /อัมปุ/ ในความหมายว่าปู่-ย่า-ตา-ยาย และหลาน ซึ่งเสมือนเป็นส่วนกลับของกันและกัน

ดังนั้นเมื่อมองไปยังภาพรวม ที่รวบเอาทั้งไท-กะไดและออสโตรนีเซียนเข้ามาร้อยเรียงด้วยกันแล้ว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทั้งรูปและความหมายต่างพัวพันสอดรัดสัมผัสแน่นจนแทบกลายเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นรูปคำไท-กะได: (Proto-Tai) *pɯwB, (Proto-Hlai) *phu:Ɂ, (Proto-Kra) *m-pau B และ (Proto-Zhuang-Tai) *pu.B ที่ควรพัฒนามาจากคำไท-กะไดโบราณ (Proto-Tai-Kadai) ในแบบคำสองพยางค์ โดยพยางค์ที่สองเป็นพยางค์หลัก ซึ่งมีเสียงขึ้นต้นพยางค์เป็นเสียง ป.ปลา /*p/ ตามด้วยสระ –อุ /*-u/ หรือ *-pu เหมือนกับคำสืบสร้างออสโตรนีเซียนโบราณ *apu บนความหมายที่ประกอบไปด้วยสามนัยยะร่วมกันคือ ‘ปู่-ย่า-ตา-ยาย’ (grandparent), ‘บรรพชน’ (ancestor) และ ‘อยำ’ (term of respect)

ความหมายอย่างที่สาม ‘อยำ’ (term of respect) การให้ความเคารพยำเกรง ในความเห็นของผู้เขียน มีความสำคัญชนิดเอกอุ อย่างที่ได้ตั้งข้อสังเกตย้ำย่ำไว้ก่อนหน้า เพราะสื่อสะท้อนนัยยะระดับลึกถึงชั้นนามธรรม เป็นชั้นนามธรรมที่ควรเป็นต้นแบบของการก่อเกิดชั้นรูปธรรม เป็นต้นธารดึก ‘ด้ำ’ บรรพ์ (เธียรชัย อิศรเดช พ.ศ.๒๕๖๑) แหล่งหล่อหลอมสายวัฒนธรรมแห่งการให้ความเคารพยำเกรงต่ออำนาจที่เหนือกว่า ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดๆ ตั้งแต่เรื่องความลึกลับของธรรมชาติที่กว้างใหญ่ สิ่งที่มองไม่เห็นจับต้องไม่ได้ โลกของผีสางหลังความตาย ไล่ลงมายังอำนาจอันทรงพลังที่สิงสถิตอยู่ในบรรดาผู้คน อย่างมากล้นเสียจนถูกแห่หามอัญเชิญขึ้นเพื่อการแสดงความเคารพยำเกรง ดังเช่น ผู้ทรงภูมิปัญญา ผู้เป็นหัวหน้า ผู้มากประสบการณ์ ปู่-ย่า-ตา-ยาย ผู้กลับกลายเป็นบรรพชนผู้ล่วงลับ จนถึงผู้มีนามขับขานว่า ‘ปู่/ตา’ และ ‘ปู่’

การถือกำเนิดของนามธรรมที่ว่าด้วยความเคารพยำเกรงในคำเรียก *apu ไม่ใช่สิ่งที่ผุดขึ้นมาลอยๆ แบบพวกโอปปาติกะ เหตุเพราะความเคารพยำเกรงจนถึงขนาดแห่หามขึ้นหิ้งบูชานั้น แสดงนัยยะอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาของการ ‘ยกลอยตัวชูขึ้นเหนือหัว’ ชนิดสิ้นสงสัย เป็นความต่อเนื่องของรากความหมายที่พัวพันกันลึกซึ้งอยู่ในที ซึ่งอาการยกลอยตัวชูขึ้นเหนือหัวนี้ ปรากฏร่องรอยสอดแทรกให้เห็นอยู่ในคำของทางอินโดนีเซียคือคำว่า ampu /อัมปุ/ หรือ empu /เอิมปุ/ ซึ่งส่วนหนึ่งมีความหมายว่า ยกขึ้น, ชูขึ้น และด้านหัว

และนอกจากนั้นยังพบว่ามีคำคล้ายเช่นในภาษาอินโดนีเซีย ที่สร้างขึ้นจากคำความหมายในร่องเดียวกับข้างต้น ซึ่งขอยกคำที่โดดเด่นเป็นพิเศษในคำว่า pulau มาอภิปรายดังนี้:           

คำว่า pulau /ปุเลา/ แปลว่าหมู่เกาะในภาษาอินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในสองคำนอกเหนือจากคำว่า nusa /นูซ่ะ/ ที่ใช้เรียกหมู่เกาะในย่านมาเลย์-อินโดนีเซีย-ฟิลิปปินส์ เป็นคำที่คาดว่าเกิดจาก pu+laut โดย pu หมายถึงยกตัวลอยขึ้น และ laut แปลว่าท้องทะเลกว้าง (Proto-Austronesian *lahud /ลาฮุด/ ‘downstream’ แปลว่าปลายน้ำ และ ‘toward the sea’ แปลว่าออกไปทะเล) เมื่อรวมคำจึงแปลว่า ‘บางสิ่งผุดโผล่ขึ้นกลางน้ำกลางทะเล’ เขียนในรูปธรรมว่า ‘เกาะ’ ซึ่งคำนี้มีประเด็นให้ตีความต่อเนื่องได้อย่างสำคัญยิ่ง เพราะผู้เขียนได้ตีความว่าเป็นคำดั้งเดิมที่ได้ถูกพัฒนาลงมาเป็นคำเรียกอาหารมื้อหลักพื้นฐานของพวกไท-กะไดและพวกฟอร์โมซาบนเกาะไต้หวันตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณ คือคำว่า ‘ปลา’

ซึ่งในภาษาไท-กะได เรียกใช้ชื่อ ‘ปลา’ กันอย่างกว้างขวาง ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยมีคำโบราณสืบสร้างว่า:

พวกไท-ไต เรียก *pla:A /ปลา/

พวกหลี/ไหล เรียก *hla: /ฮลา/ (Norquest), *alaA /อะละ/ (Ostapirat)

พวกข้า/ขร้า เรียก *p-laA /ป-ละ/

พวกกัม-สุย เรียก *pa1 /ปะ/ หรือ *mprai3 /มไปร้/

เทียบได้ตรงกันกับหนึ่งในคำเรียก ‘ปลา’ แบบคำยาวสองพยางค์ของพวกฟอร์โมซา ซึ่งใช้มากถึง ๖ ใน ๙ สาแหรกสาขาออสโตรนีเซียนบนเกาะไต้หวัน คือพวก Atayalic, Puyuma, Paiwan, Tsouic, Western Plains และ Northwest Formosan ต่างเรียกคล้ายๆ กันว่า vulaw, quleh, qcurux, baute, kuraw, pulaw, alao, ʔalaw, ciqaw, vutukulu และ ʔælaw ออกเสียงคล้าย /ปุเลา/ หรือ /อะเลา/

จะเห็นว่าพวกไท-กะไดได้ควบรวมเสียงคำยาวให้สั้นลง แต่ยังพอเหลือเสียงขึ้นต้นคำ ที่ผู้เขียนเข้าใจว่าเป็นเสียง ป.ปลา เดิมเอาไว้ให้เห็น และรวมไปถึงสระปิดท้ายที่ยังพยายามคงเสียงสระ –เอา ของเดิมไว้ เป็นคำที่น่าจะพัฒนามาจากคำเก่าสองพยางค์คำเดียวกับคำว่า *pulau ที่แปลว่าหมู่เกาะกลางทะเล สอดรับซึ่งกันและกันระหว่างธรรมชาติของ ‘เกาะ’ และ ‘ปลา’ บนพื้นฐานร่วมกันว่า ‘บางสิ่งบางอย่างกำลังผุดโผล่อยู่หว่างกลางน้ำ (ทะเล)’ เน้นที่ความเป็นน้ำทะเลตามความหมายแรกเริ่มของ laut ดังนั้นคำว่า *pulau จึงควรเกิดขึ้นมาก่อน แล้วภายหลังจึงแปรเปลี่ยนความหมายชั้นบนไปเป็นคำว่า ‘ปลา’ ในพวกไท-กะไดและฟอร์โมซา จึงสรุประหว่างบรรทัดได้ว่า ‘ปลา’ มีรากความหมายถิ่นกำเนิดจากแถบชายฝั่งยันท้องทะเลเป็นสำคัญ ในฐานะของผู้ผุดโผล่ขึ้นกลางน้ำกลางทะเล อันสะท้อนนัยยะของผู้พูดผู้กิน ‘ปลา’ เป็นอาหารหลักได้อย่างดีว่า ควรมีต้นด้ำโคตรวงศ์ไม่หนีห่างจากความเค็มของเกลือทะเลเท่าใดนัก             

หรือในคำคล้ายอื่นๆ อีกหลากหลาย อย่างเช่นคำว่า kepuh /เกอปุฮ์/ แปลว่าบวมอืดลอยตัว, kapu /กาปุ/ แปลว่าขอนไม้ลอยน้ำ, lepuh /เลอปุฮ์/ แปลว่าตุ่มพุพอง, mampu /มัมปุ/ แปลว่าก้าวหน้า, อาจสามารถ, puak /ปุอัก/ แปลว่าเผ่าพันธุ์, pucuk /ปุจุก/ แปลว่าปลาย, ยอด, puguh /ปุกุฮ์/ แปลว่าชัดเจน, pukang /ปุกัง/ แปลว่าต้นขา, หว่างขา, pukul /ปุกุล/ แปลว่ายกขึ้น, ตี, pulan /ปุลัน/ แปลว่านุ่มเบาอ่อนตัว, pulung /ปุลุง/ แปลว่ารวมเข้า, ม้วนเรียวเข้า, pupu /ปุปุ/ แปลว่าบรรพชนเพศหญิง, puput /ปุปุด/ แปลว่าห่อผิวปาก, pusu /ปุซุ/ แปลว่าจอมปลวก, กองเพิ่มพูน, rapu /ราปุ/ แปลว่าเศษเล็บและเส้นผม, rapuh /ราปุฮ์/ แปลว่าอ่อนตัว, ไม่แข็งตัว, tempuh /เติมปุฮ์/ แปลว่าเริ่มต้น, เคลื่อนตัว, ออกไปจากที่ตั้ง เป็นต้น (Kamus Besar Bahasa Indonesia ค.ศ.๒๐๑๒)

ซึ่งเป็นคำที่ส่วนใหญ่แล้วพัวพันอยู่กับการ ‘เคลื่อนตัว, ผุดโผล่, ยกตัว, ลอยขึ้น, อยู่ด้านบน, ส่วนปลายยอด’ ดำเนินไปในเส้นทางเดียวกับ *apu, pulau และ ampu/empu ที่ระบุได้อย่างชัดแจ้งว่า /pu/ ควรเป็นส่วนของแก่นแกนอันแท้จริง

และเมื่อสอบยันกับรากคำพยางค์เดียว ‘monosyllabic roots’ ของทางออสโตรนีเซียนที่ได้เคยมีการจัดทำไว้โดยนักภาษาศาสตร์ พบความน่าสนใจอย่างยอดยิ่งว่า *pu เป็นรากคำพยางค์เดียวที่ถูกระบุตัวตนจัดจำแนกสถานะไว้โดยนักภาษาศาสตร์ชั้นนำถึง ๓ ท่าน ได้แก่ศาสตราจารย์ R. David Zorc (ค.ศ.๑๙๙๐) และ E.M. Kempler Cohen (ค.ศ.๑๙๙๙) ให้ความหมายตรงกันว่า ‘master, lord’ คือเป็นหัวหน้า, ผู้ทรงภูมิ, ผู้มากความสามารถ และเจ้านายผู้มีอำนาจบารมี ส่วนศาสตราจารย์ John Wolff (ค.ศ.๑๙๙๙) ให้ความหมายว่า ‘grandparent/child’ คือเป็นปู่-ย่า-ตา-ยาย และลูกหลาน ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างตอกย้ำถึงรากเหง้าแห่งความเคารพยำเกรงเป็นยวดยิ่ง ถึงขนาดที่ต้องพากันแห่หามยกชูชันขึ้นบูชาทั้งสิ้น

ในขณะที่ศาสตราจารย์ Robert A. Blust (ค.ศ.๑๙๘๘) ไม่ได้จัดให้เป็นรากคำพยางค์เดียว แต่ได้ถือว่าเป็นคำเก่าแก่ของทางพวกฟอร์โมซาที่สืบสร้างเป็นคำออสโตรนีเซียนโบราณว่า *pu- ในฐานะของ ‘อุปสรรค’ (prefix) ที่ใช้เติมเข้าไปข้างหน้าคำ บนความหมายว่า ‘causative of motion’ หรือเป็นสาเหตุของการเคลื่อนไหวเคลื่อนที่ ตัวอย่างเช่น:

พวก Thao ใช้เติมเป็น pu-lhilhi ‘to erect something’ แปลว่าตั้งขึ้น, pu-taun ‘put in a house’ แปลว่าใส่เข้าไปข้างในบ้าน, pu-caqi ‘to defecate’ แปลว่าขับถ่าย

พวก Puyuma ใช้เติมเป็น pu-dare ‘throw or put on the ground’ แปลว่าขว้างออกไปยังพื้นดิน, pu-enai ‘to water, put water on’ แปลว่าฉีดน้ำ ปล่อยน้ำ, pu-Taqi ‘spread manure on the fields’ แปลว่าใส่ปุ่ยในนาในไร่

พวก Paiwan ใช้เติมเป็น pu-zaLum ‘put water on or in’ ปล่อยน้ำ ใส่น้ำ, pu-tsaqi ‘to defecate’ แปลว่าขับถ่าย

ซึ่งคงไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่าคำความหมายตัวอุปสรรค *pu- ของศาสตราจารย์ Robert A. Blust ควรเป็นส่วนหนึ่งของรากคำพยางค์เดียว *pu อันถือเป็นรากคำชนิดต้นด้ำโคตรวงศ์ร่วมกันของทั้งพวกออสโตรนีเซียนและไท-กะได บนความหมายพื้นฐานนามธรรมชั้นแรกสุดว่า ‘เคลื่อนไหวผุดโผล่’ (to rise/to raise)  

และด้วยรูปคำความหมายพื้นฐานของรากคำ *pu ที่หามแห่ผ่านการเคลื่อนไหวยกตัวขึ้น ผ่านความเคารพ ‘อยำ’ ยำเกรง ผ่านหับหิ้งเครื่องบูชา ผ่านผีบรรพชนผู้ลับล่วง ผ่านเจ้านายมากอำนาจ ผ่านผู้ทรงภูมิอาจสามารถ ผ่านหัวหน้ามากบารมี ผ่านปู่-ย่า-ตา-ยาย สามารถสืบโยงสาวใยมาถึงคำร่วมรากอื่นใดที่ยังปรากฏร่องรอยในหมู่ไท-กะได ที่นอกเหนือไปจากคำว่า ‘ปู่’ และ ‘ปลา’ เช่นในคำว่า ‘พุ’, ‘ผุด’, ‘ปุด’ ตลอดจนถึงคำว่า ‘พ่อ’, ‘ผัว’ และ ‘ผู้’

คำว่า ‘พุ’ (to spout, spring):

พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้คำจำกัดความไว้ว่า:

“(๑) ว. อาการที่น้ำหรือแก๊สเป็นต้นผุดขึ้นมา เช่น น้ำร้อนพุขึ้นมา แก๊สธรรมชาติพุขึ้นมา, อาการที่น้ำเหลืองเป็นต้นผุดขึ้นมา เช่น ฝีฝักบัวพุ. (๒) น. นํ้าที่พุขึ้นมา เรียกว่า นํ้าพุ.”

คำว่า ‘ผุด’ (to rise):

พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้คำจำกัดความไว้ว่า:

“ก. ขึ้นมาให้ปรากฏ เช่น ปลาผุด ผุดลุกผุดนั่ง, โผล่ให้เห็น เช่น น้ำลดตอผุด.”

คำว่า ‘ปุด’ (foam up):

พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้คำจำกัดความไว้ว่า:

“(๑) น. เรียกการเย็บผ้าทีหนึ่ง ว่า ปุดหนึ่ง. (๒) ก. อาการที่นํ้าหรือของเหลวผุดขึ้นน้อย ๆ. (๓) ว. เสียงดังเช่นนั้น.”

สังเกตว่าทั้งสามคำข้างต้นล้วนพัวพันอยู่กับความเป็นน้ำแทบทั้งสิ้น และคำว่า ‘ผุด’ กับ ‘ปุด’ ยังไปพ้องกับคำความหมาย ‘บรรพชน’ (ancestor และ paternal great grandpa) ในพวกหลี/ไหลอีกด้วย ดังเช่นคำสืบสร้างโบราณว่า *phut /ผุด/ และขึ้นไปเป็นคำดั้งเดิมชนิดเก่ากว่าว่า *put /ปุด/

คำว่า ‘ผู้’ (human being/people) ‘พ่อ’ (father) และ ‘ผัว’ (husband):

คำว่า ‘ผู้’ เป็นคำที่พิเศษมาก แสดงความเป็นมาของพวกไท-ลาว-สยามอย่างสำคัญ ถูกมัดปมผูกแน่นไว้อย่างยาวนานภายใต้สาแหรกไท-ไตตะวันตกเฉียงใต้ ถูกค้นหาความหมายกันมากมายนับเนื่องโดยบรรดาลูกหลานในชั้นหลัง เช่นพวกที่อพยพข้ามน้ำเขาชันเข้ามาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ลงมาจนถึงปากเจ้าพระยา บ้างเรียก ‘ผู้ไท’ บ้างเรียกตัวเองว่า ‘ภูไท’ ดังคัดถ้อยคำส่วนหนึ่งจาก เกรียงไกร หัวบุญศาล ลูกหลานชาวภูไท ที่ได้รวบรวมเรื่องราวของบรรพชน เขียนลงในเว็บเพจ OKnationblog ในหัวข้อ ‘ภูไท หรือผู้ไท: ชนเผ่าไทยแห่งสิบสองจุไทในประเทศไทย’ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ ความว่า:

“คนหมู่บ้านอื่นที่ไม่ใช่คนภูไทมักจะเรียกคนภูไทในหมู่บ้านของผู้รวบรวมว่า “ภูไท” หรือ “ผู้ไท” บ้างก็มี แต่คนภูไทเองนั้น (ในหมู่บ้านของผู้รวบรวม) จะเรียกตัวเองว่า “ภูไท” จะไม่เรียกตัวเองว่า “ผู้ไท” แต่เมื่อพิจารณาจากการแยกคำว่า “ผู้ไท” ออกอีกครั้ง ทำให้ได้แนวคิดว่า คำว่า “ผู้” ในความหมายของภาษาไทยหมายถึง “คน” หรือหมายถึง “ผู้คน” เช่น ผู้หญิง ผู้ชาย ในความหมายของคนหมู่บ้านอื่นที่เรียกคนภูไทว่า “ผู้ไท” คงจะหมายถึง “คนไท” หรือ “คนผู้เป็นคนไท” นั่นเอง”

ในพวกไทลุ่มเจ้าพระยา มีการเรียกใช้คำว่า ‘ผู้’ กันอย่างกว้างขวาง ปรากฏหลักฐานมาแต่ครั้งโบราณ ทั้งในจารึกหลักต่างๆ ของพวกสุโขไท และในคำร่ายโองการแช่งน้ำและในสมุดไทยพระอัยการเบ็ดเสร็จของพวกอยุธยาที่ประเมินกันว่าเก่าก่อนการสร้างกรุง ตัวอย่างเช่น:

ในจารึกวัดศรีชุม คัดคำปริวรรตมาส่วนหนึ่งในคำว่า ‘ผู้หนึ่ง’ จากฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ความว่า:

“๓๗. นทราทิตย์ผู้หนึ่งชื่อพ่อขุนรามราชปรา(ช)ญ์รู้ธรรม

 ก่อพระศรีรัตนธาตุอันหนึ่งในศรีสัชนาลัยหลานพ่อขุนศ-

๓๘. รีอินทราทิตย์ผู้หนึ่งชื่อธรรมราชาพุล(๔๒)รู้บุญรู้ธรรม

มีปรีชญา(๔๓)แก่กม บ่มิกล่าวถี่เลย(๔๔) ๐ พ่อขุนผาเมือง

 เจ้าเมือง”

ในโองการแช่งน้ำ คัดยกมาส่วนหนึ่งตรงที่ปรากฏคำว่า ‘ผู้ต้อนแต่งบรรณา’ และ ‘ผู้ยิ่งยศเป็นราชาอะคร้าว’ จากห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ ความว่า:

“๏ แลมีคํ่ามีวัน            กินสาลีเปลือกปล้อน

บมีผู้ต้อนแต่งบรรณา      เลือกผู้ยิ่งยศเปนราชาอะคร้าว

เรียกนามสมมติราชเจ้า   จึ่งตั้งท้าวเจ้าแผ่นดิน ฯ”

ในสมุดไทยพระอัยการเบ็ดเสร็จ คัดจากหนังสือเรื่อง ‘สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา’ โดย จิตร ภูมิศักดิ์ (พ.ศ.๒๕๔๗) หน้า ๔๙ ตรงคำว่า ‘ผู้มีช้างม้าโคกระบือ’, ‘ผู้นั้นเสียมลักช้างม้าโคกระบือ’ และ ‘ผู้เถ้าผู้แก่’ ความว่า:

“ให้ตีฆ้องร้องป่าวโฆษนาแก่ผู้มีช้างม้าโคกระบือให้ผูกถือไว้ อย่าให้ปล่อยปละละเสีย”

ในอีกท่อนที่ว่า:

“ท่านว่าผู้นั้นเสียมลักช้างม้าโคกระบือท่าน ๆ ให้เอาค่าช้างม้าโคกระบือดั้งไหม”

และในอีกท่อนที่ว่า:

“นายบ้านนายเมืองผู้เถ้าผู้แก่ให้รู้จงคำนับ ให้เจ้าช้างม้าโคกระบือใช้เข้าท่านตาม”

ถ้าเปิดหนังสือแจงคำอธิบาย คำว่า ‘ผู้’ ในความหมายของพจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ได้ความว่า:

“(๑) น. คำใช้แทนบุคคล เช่น นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ หรือใช้แทนคำว่า คน เช่น ผู้นั้น ผู้นี้ ทุกผู้ทุกนาม หรือใช้แทนสิ่งที่ถือเสมือนคน เช่น ศาลเป็นผู้ตัดสิน (๒) น. คำใช้ประกอบคำกริยาหรือประกอบคำวิเศษณ์ให้เป็นนามขึ้น เช่น ผู้กิน ผู้ดี. (๓) ว. คำบอกเพศ หมายความว่า ตัวผู้ เช่น ม้าผู้ วัวผู้. (๔) ส. ที่, ซึ่ง, เช่น บุคคลผู้กระทำความดีย่อมได้รับความสุข.”

ตามที่ยกคำอธิบายมาข้างต้น อาจแจกความหมายของคำว่า ‘ผู้’ เป็นสองนัยยะที่สำคัญ คือ ‘เพศชาย’ (male) และ ‘ความเป็นคน’ (human being/people)

ในความหมายแรกว่า ‘เพศชาย’ แสดงถึงการแบ่งเพศสภาพออกจากเพศเมียโดยเด็ดขาดสิ้นเชิง ในลักษณะของคู่ตรงข้าม หากเป็นของกันละกันอย่างถึงที่สุดเมื่อยามโต้ลมโล้สำเภา เป็นคำบ่งชี้เพศสภาพที่สะท้อนรูปร่างของเครื่องเพศ ‘ผู้’ อย่างถึงแก่น ในฐานะของท่อนแกนที่ผุดโผล่ (to rise) ยื่นงุ้มยาวออกมานอกลำตัวตรงกลางหว่างขา เป็นสิ่งสำแดงสถานะความแข็งแกร่งอันโดดเด่นในหมู่เพศชาย เคียงคู่กับโลกแห่งการสืบเผ่าพันธุ์ด้วยวิธีการแยกเพศมานานนับอสงไขย เป็นสิ่งที่ชี้ตรงไปยังรูปคำและความหมายของรากคำพยางค์เดียวชนิดโคตรเหง้า *pu ผู้เคลื่อนไหวผุดโผล่เลยทีเดียว

ในความหมายที่สองว่า ‘ความเป็นคน’ ผู้เขียนได้รวมเอาทั้ง ‘human being’ และ ‘people’ เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งทั้งสองเป็นคำความหมายที่ จิตร ภูมิศักดิ์ เคยวิพากษ์แยกแยะไว้ในหนังสือเรื่อง ‘ความเป็นมาของ คำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ’ (พ.ศ.๒๕๔๐) ดังคัดคำจำกัดความที่เกี่ยวเนื่องยัง ‘ไต-ไท’ ในหน้า ๓๖๒ ว่า:

“เป็นที่สรุปกันทีว่า ไต-ไท มีความหมายดั้งเดิมว่า คน และหมายถึงคนทางสังคมที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เป็นหมู่พวก, มิใช่คนทางธรรมชาติที่บอกประเภทพืชพันธุ์ว่าเป็นชนิดหนึ่งของสัตว์โลก, นั่นคือมิได้หมายถึง human being ซึ่งต่างจากสัตว์, หากหมายถึง people”

เหตุเพราะ ‘ความเป็นคน’ ภายใต้คำว่า ‘ผู้’ นี้ มักถูกใช้ในความหมายที่เจือสมปะปนอยู่ด้วยกัน ถึงแม้ว่าน้ำหนักของความหมายจะเน้นไปที่ ‘people’ กลุ่มคนทางสังคมก็ตาม ‘ความเป็นคน’ เป็นการแสดงออกอย่างเปิดเผยไม่ปิดบังว่า ‘กูเป็นคน’ แม้อยู่ท่ามกลางฝูงสายตาหยามชั้นเหยียดต่ำก็ตามที ขอให้ได้เป็นคนแม้เพียงกระผีกเสี้ยว ซึ่งความเป็นคนยังให้ผุดโผล่ขึ้นก็ด้วยการยอมรับยำเกรง (to respect) หาใช่สิ่งอื่นใด ถึงฝูงสัตว์ชั้นเดรัจฉานถ้าได้รับการยอมรับยำเกรง เชื้อค่าความเป็นคนก็อาจถือว่าได้ก่อตัวขึ้นในทันทีทันใดนั้น

เป็น ‘อยำ’ ความเคารพยำเกรงนี่เองที่คือสาระสำคัญของความเป็นคน สังเกตได้จากการใช้คำว่า ‘ผู้’ แทน ‘คน’ เมื่อทำการจดจารหนังสือต่างๆ ไล่ย้อนกลับขึ้นไปถึงชั้นโบราณกาล เป็นต้นว่า ‘ผู้หวาน’, ‘ผู้หนึ่ง’, ‘ผู้เถ้าผู้แก่’, ‘ผู้ต้อนแต่ง’, ‘ผู้ยิ่งยศ’, ‘ผู้มีช้างม้า’, ‘ผู้นั้น’ ดังที่ปรากฏในจารึก พงศาวดาร คำร่าย พระอัยการอ้างอิงข้างต้น คือเป็นคำที่มีลักษณะเป็นทางการมากกว่า หรือแม้แต่การเรียก ‘คน’ โดยทั่วไปก็มักใช้คู่กันว่า ‘ผู้คน’ มากกว่าที่จะใช้ ‘คน’ เพียงลำพัง เสมือนยกสถานะความเป็นคนของคำว่า ‘คน’ ให้สูงขึ้นผ่านคำว่า ‘ผู้’     

และเป็นสิ่งที่นำพาพัวพันไปยังรากคำพยางค์เดียวชนิดต้นขั้ว *pu อันไม่แตกต่างจากความเป็น ‘เพศชาย’ เลยแม้แต่น้อย

เมื่อขยายการสอบค้นไปยังคำศัพท์พื้นฐานจาก ‘Austronesian Basic Vocabulary Database’ ค.ศ.๒๐๐๘ พบว่าคำคล้าย ‘ผู้’ มีการใช้อย่างกว้างขวางและโยงใยกันไปมาโดยเฉพาะในพวกไท-ไตและข้า/ขร้า ระหว่างคำในความหมายว่า ‘ผู้ชาย/เพศชาย’ (man/male), ‘ผัว’ (husband) และ ‘พ่อ’ (father) ในขณะที่ ‘ความเป็นคน’ (human being) จะใช้คำว่า ‘คน’ และคำอื่นๆ แทน ซึ่งมักใช้ในลักษณะคำสองคำประกอบกันขึ้น เหมือนคำเรียกของทางไท-ลาวอย่าง ‘ผู้ชาย’, ‘พ่อชาย’, ‘ผู้บ่าว’ โดยมีคำคล้าย ‘ผู้’ เป็นผู้กำกับหรือส่วนผสมหลัก เช่น:

สาแหรกไท-ไตสาขากลาง เรียก ‘ผู้ชาย/เพศชาย’ ในทำนอง phu2 zau5, la:k10 pø6, to:i1 po6, ti6 po6, tho:i6 pho6, phou3 tsa:i2, po6 tsa:i2, phu3 tɕa:i2, la6 bu6 dzɒ2, to:i1 po6 คำหลักส่วนใหญ่วางอยู่ในรูป /โปะ/ ซึ่งยังพบว่ามีการใช้คำว่า po6 เรียก ‘พ่อ’ ในพวก Guangnan Nong และ Yanshan Nong และใช้แบบคำประกอบในความหมายของ ‘ผัว’ ในพวก Ningming และ Chongzuo เรียก tu1 po6 (ฟังคล้าย ‘ตัวผู้’), Jingxi เรียก po6 phu1(ฟังคล้าย ‘ผู้ผัว’), po6 khi1 (ฟังคล้าย ‘ผู้ขี่’), พวก Guangnan Nong เรียก po6 pho1 (ฟังคล้าย ‘ผู้ผัว’) และพวก Longzhou กับ Daxin เรียกแบบคำเดี่ยว po6, pho6 ตามลำดับ

สาแหรกไท-ไตสาขาเหนือ เรียก ‘ผู้ชาย/เพศชาย’ คล้ายๆ กันว่า pou4 θa:i1, pou4 sa:i1, pou4 θa:i1, pu4 θa:i1, pou4 ɬa:i1คำหลักอยู่ในรูป /โปว/ และยังใช้ pou4 เรียก ‘พ่อ’ ในพวก Long’an ว่า pou4 pɔ6 (ฟังคล้าย ‘ผู้พ่อ’) ใช้เรียก ‘ผัว’ ในพวก Guigang ว่า pou4 kwa:n1 (ฟังคล้าย ‘ผู้ขวัญ’), Yongnan และ Long’an ว่า pou4 koŋ1 (ฟังคล้าย ‘ผู้คง’) นอกจากนั้นยังพบว่าพวก Zhuang (Wuming), Shanglin, Laibin และ Lianshan ใช้คำว่า po6 เรียก ‘พ่อ’ เหมือนกับไท-ไตสาขากลางว่า ta4 po6, po6, po6 และ ʔa0 po6 ตามลำดับ และพวก Lianshan กับ Qinzhou ใช้คำว่า pu4 เรียก ‘ผัว’ ว่า pu4 และ pu4 ʔuŋ1 ตามลำดับ

ที่น่าสนใจคือ สาแหรกกัม-สุย ใช้คำว่า pu4 เช่นกัน โดยใช้เรียก ‘พ่อ’ แบบคำเดี่ยว อย่างในพวก Then, Mulam และ Sui    

พวกแสกเรียกใช้เป็นคำเดี่ยวคล้ายพวกไทลุ่มเจ้าพระยา เช่น ‘พ่อ’ phɔ:5 /ผ่อ/, ‘ความเป็นคน’ (คำหนึ่ง) phu:6 /พู่/, ‘ผู้ชาย/เพศชาย’ เรียกเหมือน ‘พ่อ’ คือ phɔ:5 /ผ่อ/ และอีกคำ phɔ:5 phu:6 /ผ่อพู่/ ส่วน ‘ผัว’ เรียกต่างออกไป

สาแหรกไท-ไตสาขาตะวันตกเฉียงใต้ เช่น:

Dehong เรียก ‘ผู้ชาย/เพศชาย’ ว่า pu1 tsaai2 /ปุซาย/, เรียก ‘ความเป็นคน’ (คำหนึ่ง) pu1 /ปุ/, เรียก ‘พ่อ’ เหมือนทางสาขากลางและเหนือ (อาจเป็นคำยืม) ว่า Po6 /โป่ะ/ และเรียก ‘ผัว’ ว่า pho1/โผะ/ คล้ายพวก Guangnan Nong (ไท-ไตสาขากลาง)

Tai Phake เรียก ‘ผู้ชาย/เพศชาย’ phɔ5 /เผ่าะ/ และ pɔ5 /เป่าะ/, เรียก ‘พ่อ’ pɔ5 (เหมือน ‘ผู้ชาย/เพศชาย’) และ ‘ผัว’ pho6 /โพ่ะ/ เหมือนพวก Daxin (ไท-ไตสาขากลาง)

Tai Aiton เรียก ‘ผู้ชาย/เพศชาย’ และ ‘พ่อ’ เหมือนกันว่า phɔ2 /เพาะ/ และ ‘ผัว’ phu:1 /ผู/      

สาแหรกข้า/ขร้า พบเรียก ‘ผู้ชาย/เพศชาย’ ทั่วไปในพวก Gelao เช่น paɯ55 ʔlo55, pu13 sa35, pɑɯ42 ʔlo42, pu33 ʂa35, pu55 ho35, nji0 po22, pei31 li35 po44, pau55 ba33, pau55 ʔlo55, pau55 ba35, pəɯ55, pau53 lʉ53, pu55 ho55 คำหลักส่วนใหญ่อยู่ในรูป /เปา/ และ /ปุ/ และคำสืบสร้างข้า/ขร้าโบราณ *C-paɯ C /*C-เป้า/ และยังพบว่าใช้ pau53/55 เรียก ‘ผัว’ ในพวก Gelao (Wantao) และ Gelao (Moji) ว่า pau53/55 ba31 (ฟังคล้าย ‘ผู้บ่า’ หรือในความหมายว่าผู้ใช้แรงงานแบกหามตามคำนิยามของ ‘ผู้บ่าว’) ใช้ pu55 เรียก ‘ผัว’ ในพวก Gelao (Hongfeng) ว่า pu55 ho35 (เหมือนคำเรียก ‘ผู้ชาย/เพศชาย’) และในพวก Gelao (Bigong) ว่า pu55 sa31 เป็นต้น     

ดังนั้นอาจพอสรุปภาพได้ว่าคำคล้าย ‘ผู้’ ถูกนำมาใช้ในเรื่องของ ‘ผู้ชาย/เพศชาย’ (man/male) อย่างแพร่หลายกว้างขวางที่สุด การป่ายพัวพันไปยังคำว่า ‘ผัว’ (husband) และ ‘พ่อ’ (father) มีอยู่บ้างพอสมควร ที่น่าสนใจคือมีบางพวกใช้เรียก ‘พ่อ’ แบบคำเดี่ยวๆ และบางพวกใช้เรียก ‘ผู้ชาย/เพศชาย’ และ ‘พ่อ’ ด้วยคำเดียวกัน ซึ่งทำให้ประเมินลงน้ำหนักได้ว่าคำคล้าย ‘ผู้’ บนความหมายทั้งสามแสดงความเป็นเครือญาติที่สนิทชิดเชื้อยิ่ง และน่าจะเป็นคำที่มีความหมายแกนกลางอยู่ที่ความเป็น ‘เพศผู้’ ก่อนจะขยับไปเป็น ‘พ่อ’, ‘ผัว’ และ ‘ผู้ชาย/เพศชาย’

โดยความเป็น ‘พ่อ’ และ ‘ผู้ชาย/เพศชาย’ มีการซ้อนทับของความหมายเป็นอย่างมากจนสามารถใช้ในฐานะของคำเดียวกันได้ สอดคล้องกับคำศัพท์ไท-ไตพื้นฐานของอาจารย์ พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์ (ค.ศ.๒๐๐๙) ที่จัดให้ ‘father’ และ ‘man’ อยู่ในคำศัพท์เดียวกัน หมายเลข ๒๖๓ สืบสร้างเป็นคำโบราณว่า *bo:B /โบ่/ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากความสัมพันธ์อันลึกซึ้งและความเคารพยำเกรงชั้นแรกเริ่มภายในครอบครัวก่อนจะขยายไปมีคำว่า ‘ผัว’ ผู้มาจากภายนอกครัว     

มากไปกว่านั้นการผสมคำสองคำที่มีคำคล้าย ‘ผู้’ เป็นตัวหลัก เพื่อแยกแยะบอกความหมาย เช่น ‘ผู้ชาย/เพศชาย’ เรียก po6 tsa:i2, pou4 sa:i1, pau55 ʔlo55, ‘พ่อ’ เรียก ta4 po6, pou4 pɔ6 และ ‘ผัว’ เรียก po6 phu1, pou4 kwa:n1, pau55 ba35 บ่งชี้ว่า นอกจากการสะท้อนความเป็น ‘เพศผู้’ ของคำคล้าย ‘ผู้’ แล้ว ยังสะท้อนอย่างมีน้ำหนักยวดยิ่งถึง ‘ความเป็นคน’ ที่ประกอบไปด้วย ‘human being’, ‘people’ และโดยเฉพาะ ‘term of respect’ ในอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่ง ‘term of respect’ ความเคารพยำเกรงอาจผุดโผล่ขึ้นมาจากทั้งความเป็นคนทางธรรมชาติ คนทางสังคม และการเคลื่อนรวมผสมกับความเป็น ‘พ่อ’ ผู้ครองความเคารพนับถือรองจากชนชั้น ‘ปู่’

อันเป็นไปในทิศทางเดียวกับคำความหมายของ ‘ผู้’ ในพวกไท-ลาว-สยาม เป็นต้นว่าใช้กำกับความเป็น ‘ชาย’ ที่หมายถึงคนชายและเพศชายให้กลายเป็น ‘ผู้ชาย’ อย่างเต็มตัว หรือกำกับ ‘บ่าว’ คนชื่นชอบการแบกไถและทาสในเรือนเบี้ยของผู้สาวผู้เป็นเจ้าของนาข้าว ให้กลายเป็น ‘ผู้บ่าว’ เจ้าบ่าวอย่างเต็มกำลัง รวมไปถึงกำกับ ‘คน’ ทางธรรมชาติและ ‘คน’ ทางสังคมให้กลายเป็น ‘ผู้คน’ อย่างสมฐานะสมศักดิ์ศรี และยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับ ‘พ่อ’ และ ‘ผัว’ ในพวกไท-ลาว-สยาม ที่อาจย่ำย้ำอีกครั้งว่า ‘ผู้’, ‘พ่อ’ และ ‘ผัว’ ของไท-กะได ล้วนเป็นคำร่วมรากร่วมสาแหรกเดียวกันมาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์

เป็นชุดคำความหมายรวมเหล่ากอร่วมสายใยกับ ‘พุ’, ‘ผุด’ และ ‘ปุด’ ที่ไม่ควรแปลกใจว่าทำไมจึงเอื้อมถึง ‘ผุด’ และ ‘ปุด’ ผู้เป็นบรรพชนของพวกหลี/ไหล รวมถึง ‘ปลา’ อาหารหลักแต่ครั้งบรรพกาลผู้ดำผุดดำว่ายอยู่กลางน้ำกลางทะเล ร่วมโคตรเหง้าขึ้นไปจนถึงชั้น ‘ปู่’ ผู้ยิ่งใหญ่ในฐานะพ่อของพ่อและผู้ถูกยอยกขึ้นบูชา ทะลุข้ามกำแพงแห่งมายาคติจนถึงชั้นต้นด้ำออสโตร-ไท ผู้เป็นโคตรวงศ์แห่ง ‘อยำ’ ความยำเกรงที่ถูกยกขึ้นบูชาในนามของ *apu ทั้ง ปู่-ย่า-ตา-ยาย, ผีด้ำ, ผีบรรพชน, เจ้าที่เจ้าทาง, ผู้มลากและรู้หลวก, ผู้รู้ทั่ว, เจ้าข้านายคน และหัวหน้าเผ่า ผู้ต่างเป็นวงศ์วานหว่านเครือที่เคลื่อนตัวผุดโผล่ขึ้นมาจากก้นบึ้งของรากคำพยางค์เดียว *pu ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

ดังนั้นแล้ว ถึงแม้ ‘ปู่’ จะมีลำดับเชื้อสายความเป็นมาที่ลึกล้ำและกว้างขวาง หากความเป็น ‘ปู่’ ของพวกไท-ไต (Tai) ที่รวมเอาไท-ลาว-สยามเข้าไว้ภายใต้ปีกภาษาอันกว้างใหญ่ สยายครอบคลุมตั้งแต่จีนตอนใต้ เวียดนามตอนเหนือ พม่าตอนเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ลาว ลุ่มเจ้าพระยา ลงไปจนถึงคาบสมุทรมาลายา เป็นความหมายที่เกิดขึ้นภายหลังยิ่ง เหตุเพราะยึดถือเอาเพียง ‘เพศผู้’ ในฐานะของ ‘พ่อของพ่อ’, ‘บรรพชนเพศชาย’ และ ‘ผู้นำยิ่งใหญ่เพศชาย’ เป็นความหมายอย่างแคบที่ย่อหดตัวเคลื่อนตัวออกจากความหลากหลายหรือทวิเพศของ ‘ปู่-ย่า-ตา-ยาย’ และ ‘ผีบรรพชน’ ผู้ดำรงอยู่ก่อนหน้าอย่างช้านาน

ซึ่งอาจเกิดขึ้นในห้วงเวลาแห่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจในสังคมจาก ‘มาตาธิปไตย’ ที่ ‘นาย’ (ผู้หญิง) เป็นใหญ่ มาเป็นสังคม ‘ปิตาธิปไตย’ ที่ ‘ปู่’ เป็นใหญ่ ดังคัดถ้อยคำของศาสตราจารย์ ชลธิรา สัตยาวัฒนา ในหนังสือเล่มเดียวกัน จากบทที่ ๖ หน้า ๑๒๓ ความว่า:

“ทว่า... ก่อนห้วงเวลาดังกล่าว มีห้วงเวลายาวๆ อีกห้วงหนึ่ง ที่ผู้หญิงเคยเป็นใหญ่มาก่อน  แต่ความที่ "ผู้รู้ หนังสือ" สมัยก่อนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นผู้ชาย เรื่องราวเกี่ยวกับผู้หญิง ปรีชาญาณของผู้หญิง ศักยภาพการนำพาสังคมและสมาชิกชุมชนของผู้หญิงที่เป็นผู้นำหรือชนชั้นนำ จึงถูกละเลย มองข้าม หรือทำเป็น ไม่รู้ไม่เห็นเสีย สถานภาพของความเป็น "แม่" กับบทบาทของความเป็น "นาย" ของผู้หญิง ในระบอบสังคม ชุมชนบรรพกาลช่วงต้นๆ ได้ดำเนินคู่ขนานกันไปในห้วงเวลาที่ยาวนานมากห้วงหนึ่ง ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านจาก "สังคมมาตาธิปไตย" ที่มีแม่เป็นใหญ่ ไปสู่ "สังคมปิตาธิปไตย" ที่พ่อเป็นใหญ่”                          

และท้ายที่สุดจึงขอเสนอเรื่องราววงศ์วานเครือญาติด้ำ ‘ปู่’ ผู้มีความหมายโดยแท้จริงว่า ‘ผู้ถูกยกขึ้นบูชา’ เป็นทางเผื่อเลือกเพื่อการถกเถียงมาในโอกาสนี้

 

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 09 มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๑ 

 

อ้างอิง:

เกรียงไกร หัวบุญศาล. พ.ศ.๒๕๕๔. ภูไท หรือผู้ไท: ชนเผ่าไทยแห่งสิบสองจุไทในประเทศไทย: OKnationblog. (www.oknation.net/blog/kriengkr...)

กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ. พ.ศ.๒๔๕๗. พงศาวดารล้านช้าง บริเฉทที่ ๒. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑. กรุงเทพฯ: พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย ณ สะพานยศเส. (www.th.wikisource.org)

จิตร ภูมิศักดิ์. พ.ศ.๒๕๔๐. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. พิมพ์ครั้งที่สี่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม.

จิตร ภูมิศักดิ์. พ.ศ.๒๕๔๗. สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา. พิมพ์ครั้งที่สาม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน.

ชลธิรา สัตยาวัฒนา. พ.ศ.๒๕๖๑. ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไท สาวรกรากต้นตอ คนไท ชุมชนไท-ลาว และความเป็นไท/ไต/ไทย/สยาม. ทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ชนนิยม.  

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พ.ศ.๒๕๕๔. พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา. (www.royin.go.th)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จารึกวัดศรีชุม. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. จารึกนครชุม. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). (www.sac.or.th)

ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. ลิลิตโองการแช่งน้ำ. ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. (www.vajirayana.org)

Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa. 2012. Kamus Besar Bahasa Indonesia (KBBI) Online: Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa, Kemdikbud (Pusat Bahasa). (www.kbbi.web.id)

Blust, Robert and Trussel, Stephen. 2010: revision 2018. Austronesian Comparative Dictionary. (www.trussel2.com)

Chamberlain, James R. 1985 and revision 1991. The Black Tai Chronicle of Muang Mouay: Chulalongkorn University. (www.sealang.net)

Cohen, E. M. Kempler. 1999. Fundaments of Austronesian roots and etymology. Canberra: Pacific Linguistics, Research School of Pacific and Asian Studies, Australian National University. (www.en.wiktionary.org)

Greenhill, S.J., Blust. R, & Gray, R.D. 2008. The Austronesian Basic Vocabulary Database: From Bioinformatics to Lexomics. Evolutionary Bioinformatics 4: 271-283. (www.language.psy.auckland.ac.n...)

Norquest, Peter K. 2007. A Phonological Reconstruction of Proto-Hlai. In Partial Fulfillment of the Requirements for the Degree of Doctor of Philosophy with a Major in Anthropology and Linguistics in the Graduate College of University of Arizona. (www.arizona.openrepository.com)

Norquest, Peter K. 2013. A Revised Inventory of Proto Austronesian Consonants: Kra-Dai and Austroasiatic Evidence. Mon-Khmer Studies Volume 42. (www.mksjournal.org)

Ostapirat, Weera. 2000. Proto-Kra. In Linguistics of the Tibeto-Burman Area, vol. 23. no. 1: 1-251. (www.sealang.net)

Peiros, Ilya. 1998. Kam-Sui Etymology. (www.starling.rinet.ru)

Pittayaporn, Pittayawat. 2009. The Phonology of Proto-Tai. In Partial Fulfillment of the Requirements for the Degree of Doctor of Philosophy, Faculty of the Graduate School of Cornell University. (www.ecommons.cornell.edu)

Wolff, John U. 1999. The monosyllabic roots of Proto-Austronesian. In Elizabeth Zeitoun and Paul Jen-kuei Li, eds. 1999. Selected papers from the Eighth International Conference on Austronesian Linguistics: 139-194. Taipei, Taiwan: Academia Sinica. (www.en.wiktionary.org)

Zorc, R. David. 1990. The Austronesian monosyllabic root, radical or phonestheme. Linguistic Change and Reconstruction Methodology: De Gruyter. (www.zorc.net)       

หมายเลขบันทึก: 650831เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2018 07:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2018 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท