เก็บตกวิทยากร (52) : สำรวจต้นทุนชีวิตว่าที่คุณครูวิทยาลัยแม่ฮ่องสอน


ฟังดูทั้งสองหัวข้อก็ไม่มีอะไรซับซ้อนเป็นพิเศษ เพราะต้องการให้เริ่มต้นทบทวนจากเรื่องของตัวเอง หรือเรื่องใกล้ตัวเป็นหัวใจหลัก กล่าวคือ ทบทวนชีวิตในอดีต (ความทรงจำ) อันเป็น “ต้นทุนชีวิต” ที่ดีงามที่มีผลต่อการช่วยให้ตนเองหยัดยืนและเดินทางมาสู่ปัจจุบันได้ พร้อมๆ กับการทบทวนปัจจุบัน เพื่อปักหมุดการเรียนรู้ไปสู่อนาคต (ความฝัน) โดยแอบตั้งประเด็นล่วงหน้าอย่างเงียบๆ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างอดีตกับปัจจุบันและอนาคตของนักศึกษา ทัศนคติของนักศึกษาที่มีต่อการเรียน การใช้ชีวิต ทั้งที่เป็นส่วนบุคคลและสังคม หรือเรียกให้ดูเก๋ดูเท่หน่อยก็คือความเป็นพลเมืองขอสังคม นั่นเอง

จากบันทึกก่อนหน้านี้ กระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอในวันที่ 18  สิงหาคม 2561  ณ วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน  ผมให้นักศึกษาเลือกวาดภาพในหัวข้อ “ความทรงจำของชีวิต”  หรือ “ความฝันของชีวิต” 

ใช่ครับ – เลือกวาดเพียงหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งเท่านั้น  โดยให้สามารถเปิดดูภาพ  หรือข้อมูลใน “มือถือ”  ประกอบการวาดภาพด้วยก็ได้ 

กรณีการใช้มือถือประกอบกิจกรรมวาดภาพ  ผมลากความมาสู่การใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ตามแนวคิดทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21  และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา  (TQF) 


กรณีหัวข้อของการวาดภาพนั้น  ฟังดูทั้งสองหัวข้อก็ไม่มีอะไรซับซ้อนเป็นพิเศษ   เพราะต้องการให้เริ่มต้นทบทวนชีวิตจากเรื่องใกล้ตัวเป็นหัวใจหลัก   กล่าวคือ  ทบทวนชีวิตในอดีต (ความทรงจำ)  อันเป็น  “ต้นทุนชีวิต”  ที่ดีงามที่มีผลต่อการผลักให้ตนเองหยัดยืนและเดินทางมาสู่ปัจจุบันได้ 

พร้อมๆ กับการทบทวนปัจจุบัน  เพื่อปักหมุดการเรียนรู้ไปสู่อนาคต (ความฝัน)  โดยแอบตั้งประเด็นล่วงหน้าอย่างเงียบๆ  เช่น  ความสัมพันธ์ระหว่างอดีตกับปัจจุบันและอนาคตของนักศึกษา   ทัศนคติของนักศึกษาที่มีต่อการเรียน  การใช้ชีวิต  ทั้งที่เป็นส่วนบุคคลและสังคม  หรือเรียกให้ดูเก๋ดูเท่หน่อยก็คือความเป็นพลเมืองของสังคม  นั่นเอง  ฯลฯ


กรณีภาพวาดในประเด็น “ความทรงจำนั้น”  มีประเด็นที่สื่อสารออกมาให้เห็นถึง “รากเหง้า” หรือ โครงสร้างทางครอบครัว” ของนักศึกษาอย่างเด่นชัด  เป็นต้นว่า  ความทรงจำถึงอาชีพเกษตรกรรม หรือการเป็นชาวไร่ชาวนาของพ่อกับแม่  ซึ่งสื่อสารในมิติความภาคภูมิใจในฐานะของเกษตรกรผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ  รวมถึงการเกษตรกรรมในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง – เกษตรอินทรีย์ -การเลี้ยงสัตว์

เช่นเดียวกับการสื่อสารในมุมของความ “เรียบง่ายแต่งดงาม”  อันเป็นวิถีแห่งการใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติที่ไร้มลพิษ  ผูกโยงกับการดิ้นรนหาอยู่หากินของนักศึกษาและผู้ปกครอง

นอกจากนั้นก็เป็นภาพความทรงจำดีๆ อันเป็นกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว  เป็นต้นว่า  การเดินทางท่องเที่ยว  การรับประทานอาหารร่วมกัน  การพูดคุยปรึกษาหารือ  การให้กำลังใจ 

หรือแม้แต่ความทรงจำในวันที่พ่อกับแม่และญาติๆ มาส่งให้เข้าเรียนและเข้าพักที่หอพักในวิทยาลัยแม่ฮ่องสอน  ที่สะท้อนในมุมของความรักความผูกพัน  ความเหว่ว้าในยามห่างบ้าน   พลังของการเรียนรู้สู่การแบกความหวังของคนในครอบครัว

เช่นเดียวกับความทรงจำในการใช้ชีวิตกับเพื่อนๆ ในสมัยที่เรียนมัธยมปลาย    ทะลุถึงวีรกรรมแสนแสบ ก๋ากั่น และแสนฮาในชั้นเรียนและภายในรั้วโรงเรียน   ถึงขั้นถูกคุณครูทำโทษหน้าเสาธงและหน้าชั้นเรียนก็มีด้วยเหมือนกัน   ซึ่งกรณีนี้ทำให้นักศึกษาเรียนรู้ที่จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับบุคคลอื่น

นี่คือเรื่องราวที่นักศึกษาได้สื่อสารผ่านภาพวาดในกระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอ   หลักๆ แล้วก็คือการฝึกทักษะการทบทวนชีวิต (ต้นทุนชีวิต)  จากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว  ฝึกทักษะการสื่อสารเรื่องราวผ่านงานศิลปะที่เป็นภาพวาดและการเล่าเรื่อง  ผสมผสานกับการฟังไปแบบเนียนๆ

กระบวนการที่ว่านี้  ยังคงขับเคลื่อนเหมือนเช่นในอดีต  มีทั้งที่จับคู่บอกเล่าเรื่องราวความทรงจำให้เพื่อนฟัง  มีการเชื้อเชิญให้เล่าความประทับใจต่อเรื่องราวของเพื่อน  เพื่อฝึก หรือพิสูจน์ทักษะการฟังว่าจับประเด็นได้มากหรือน้อย  พร้อมๆ กับการสื่อสารเรื่องของเพื่อนผ่านการสื่อสารของตนเอง   ฯลฯ

ในทำนองเดียวกันก็เน้นย้ำหลักคิดของการแบ่งปันเรื่องราวอันดีงามร่วมกัน   คล้ายกับวาทกรรมที่ผมพูดมายาวนานว่า “โลกไม่เงียบเหงาเพราะมีเรื่องราว (คน) ให้คิดถึง”   ซึ่งการฟังแล้วสื่อสารต่อในวงกว้างนั้น  ผมก็ย้ำชัดเจนว่าคือกระบวนการของการแบ่งปัน  หรือสื่อสารความดีสู่สาธารณะ  มิใช่เก็บงำความดีงามที่ว่านั้นอยู่กับตัวเอง  หรือในวงอันจำกัดเพียงคน หรือสองคน –

ใช่ครับ – ความดีไม่สมควรที่จะเดินทางไปอย่างเดียวดาย


สำหรับผมแล้ว   อย่างน้อยที่สุด  กระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอที่ผมร้างเวทีมานาน  ก็มีโอกาสหวนกลับมาทำหน้าที่ของตัวเองอีกครั้ง  แถมยังหนกลับมาทำหน้าที่ในพื้นที่อันเคยก่อรูปก่อร่างของเรื่องนี้เมื่อหลายปีก่อนในแบบบันเทิงเริงปัญญา

ครับ – ความบังเอิญไม่มีในโลก   เฉกเช่นผมที่ไม่ตั้งใจที่จะต้องเปิดเวทีครั้งนี้ด้วยกระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอ  แต่เอาเข้าจริงๆ กลับถูกร้องขอให้นำกระบวนการนี้กลับมาเปิดเวทีเหมือนที่ผมเคยขับเคลื่อน   

ยิ่งทำยิ่งคลับคล้ายว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน

หรือแม้จะยาวนานก็เถอะ  แต่ก็ยังคงแจ่มชัดอย่างมหัศจรรย์   เสมือนความทรงจำที่ว่านั้นยังมีลมหายใจอยู่  เหมือนที่ผมมักพูดอยู่บ่อยๆ ว่า “ความทรงจำที่เป็นปัจจุบัน” ของชีวิตนั่นแหละ

เขียน : วันที่ 21 สิงหาคม2561

หมายเลขบันทึก: 650214เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2018 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2018 13:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ผมนี่แหละ แฟนคลับ “รู้จักฉัน รู้จักเธอ” ;)…

ชื่นชมกระบวนการเรียนรู้ที่ทรงพลังของ อ.แผ่นดิน และทีมเจ้าภาพนะคะ

ใช้บ่อยค่ะ ในกลุ่มคนทำงานแล้ว ส่วนใหญ่เช้า ๆ จะทบทวนชีวิตเชิงบวก ความสุข ความประทับใจ

พอช่วงท้าย ค่อยวาดฝัน วาดอนาคต เป้าหมายชีวิต Small success ต่อเนื่อง ๆ ไป จนถึงเป้าหมายสุดท้าย

ขอบคุณโอกาส เรื่องราว ช่วงเวลามิตรภาพดี ๆ ที่ถ่ายทอดนะคะ

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

นับถือจริงๆ เป็นแฟนคลับที่มักสร้างวีรกรรมให้ผมติดตาตรึงใจไม่รู้จบไม่รู้สิ้น 5555แถมมีขอให้รีเทิร์นรู้จักฉันรู้จักเธออีกต่างหาก - เยี่ยมจริงๆ

ยังไงเสียก็ขอบคุณนะครับ ที่ทำให้ผมได้ทบทวนตัวเองไปพร้อมๆ กัน

สวัสดีครับ พี่หมอ ธิ

ผมเห็นด้วยนะครับกับกระบวนการที่พี่หมอฯ ทำ วาดไปเรื่อยๆ ไล่เรียงสเต็ปไปเป็นจังหวะๆ หลายเวทีไปทำกระบนการแผนยุทธศาสตร์ แทนที่จะรัยกระบวนการแบบวิชาการจ๋าเลย หลายครั้งผมก็ประยุกต์เอากระบวนการประมาณนี้ แทรกเสริมด้วยงานศิลปะเข้าไป ก็ช่วยให้ได้ข้อมูลดีๆ ที่มีชีวิต

เป็นผมในแบบของผมจริงๆ ครับ 5555

-ความทรงจำมีชีวิต-ผมมักจะจดจำสิ่งต่างๆ และบ่อยครั้งที่เล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่าจำได้ไหมตอนนั้น……………..-บางคนมักจะบอกกับผมว่าจำไม่ได้ ทำไมเราถึงจำได้?-แต่ละเรื่องจะฉายภาพออกมาเป็นฉากๆ 55-คงเป็นความทรงจำดี ดี ที่ยากจะลืมน่ะครับอาจารย์-ด้วยความระลึกถึงครับ

ครับ อ.เพชรน้ำหนึ่ง

ยิ่งอยากลืม ยิ่งตอกย้ำกันจดจำ … นั่นอาจเป็นวาทกรรมกับเรื่องโศกเศร้า เจ็บปวด แต่ในอีกมุมเรื่องดีๆ ที่เราจดจำได้ จะมีประโยชน์อย่างยิ่งหากเราแบ่งปันต่อคนอื่น เพราะประสบการณ์ชีวิต ควรค่าต่อการสื่อสารแบ่งปันต่อกัน ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท