รักที่หลุดพ้น (ตอนที่ 15 ความใกล้ชิดที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง)


วรรณกรรมอิงธรรมะ เชื่อมโยงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติการศึกษาไทยในชนบทแห่งหนึ่ง ของยุคหนึ่ง ในหลายๆมิติ

       

       
 วันธรรมดาธรรศกับนิพาดาจะตั้งหน้าตั้งตาสอนและอบรมนักเรียนด้วยความเอาใจใส่  นิพาดากับธรรศอยู่ห้องพักครูคนละห้องเพราะโรงเรียนจัดให้นั่งตามหมวดวิชา  แต่พอมีชั่วโมงว่างเมื่อไรทั้งสองก็จะผลัดกันเดินไปหากัน  ไม่ได้คุยเรื่องอื่นเลยนอกจากแลกเปลี่ยนกันในเรื่องเด็กๆและเรื่องการสอน  ซึ่งส่วนใหญ่ความคิดทั้งสองคนจะตรงกัน  นิพาดามีความฝันมีโลกในใจที่อยากดูแลเด็กๆเช่นเดียวกับธรรศ  โดยเฉพาะเด็กที่ด้อยโอกาส 

นิพาดาอยู่บ้านพักครูหลังติดกันกับธรรศ เป็นบ้านพักครูโสดหญิง ส่วนธรรศอยู่บ้านพักครูโสดชาย อยู่กันหลังละ 4 คน ส่วนใหญ่จะเป็นครูบรรจุใหม่ที่อยู่ต่างจังหวัด ต่างอำเภอ   ตอนเย็นครูโสดชายครูโสดหญิงมักจะทำอาหารมาร่วมรับประทานกันที่ใต้ถุนบ้านพัก ได้พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน  บ้างก็จับกลุ่มแยกย้ายกันไปทำกิจกรรมตามที่ตนเองถนัด เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย เล่นดนตรี ไปเดินเล่นในตลาดตัวอำเภอ เป็นต้น ซึ่งจะไม่มีเรื่องชู้สาวมาปะปนให้เสื่อมเสีย   ส่วนธรรศกับนิพาดาจะหาเวลาไปเยี่ยมบ้านเด็กๆด้อยโอกาสที่ตนเป็นครูประจำชั้น แล้วรวบรวมเขียนประวัติเสนอขอรับทุนการศึกษาและพยายามติดตามจนได้รับทุนกันเกือบทุกคน  ทุกวันทั้งเช้าและก่อนนอนทั้งสองคนก็ไม่ลืมที่จะสวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิภาวนาตามที่อาจารย์สอนมามิได้ขาด
พักกลางวันวันหนึ่งธรรศเห็นเด็กที่ตนเองสอนคนหนึ่ง ไปนั่งเก็บตัวอยู่ที่ห้องสมุด สอบถามทราบว่าไม่ได้ทานข้าวกลางวันมาตลอด  จึงเจียดเงินค่าอาหารกลางวันให้ไปทานหนึ่งมื้อ  แล้วมาคุยเรื่องนี้กับนิพาดาว่าจะช่วยเขาอย่างไรดี  นิพาดาเองก็มีข้อมูลเด็กที่ไม่ได้ทานอาหารกลางวัน แต่หลบไปนั่งตามร่มไม้ ไปเล่นกีฬาเหมือนกัน  ทั้งสองคนจึงรวบรวมรายชื่อเด็กเหล่านั้นได้ 8 คน แล้วไปชวนเขาคุยอย่างเข้าใจไม่ให้เขารู้สึกว่ามีปมด้อย แล้วธรรศกับนิพาดาแบ่งเด็กไปดูแลกันฝ่ายละ 4 คน ช่วยกันทำคูปองอาหารเป็นของส่วนตัวของตนเอง แล้วเก็บคูปองนี้ไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของแต่ละคน จากนั้นก็ไปตกลงกับแม่ค้าขายข้าวแกงในโรงเรียน ว่าให้เด็กที่ถือคูปองนี้มารับประทานอาหารกลางวันได้คนละ 1 จาน แล้วสิ้นเดือนเราก็จะเอาเงินค่าอาหารมาจ่ายให้กับแม่ค้าตามจำนวนคูปอง  ตอนพักกลางวันเด็กๆก็จะมาหยิบคูปองในลิ้นชักโต๊ะ เพื่อไปทานอาหารกันคนละ 1 จาน และดื่มน้ำเปล่าที่โรงเรียนจัดให้  ซึ่งเป็นการช่วยเหลือไปพร้อมกับการอบรมสั่งสอนเขาให้รู้จักสู้ชีวิตและเป็นคนดี  โดยไม่ให้รับไปเปล่าๆ แต่ต้องมาบริการช่วยเหลือครูทำงานในห้องพักครูเมื่อมีเวลาว่าง ภายหลังเมื่อครูคนอื่นและศิษย์เก่าทราบว่าธรรศกับนิพาดาช่วยเหลือนักเรียนอย่างนี้เขาก็เข้ามาร่วมสมทบด้วย  ที่ต้องให้เป็นคูปองไม่ให้เป็นเงินสด เพราะนิพาดาและธรรศมั่นใจได้ว่าเด็กๆจะได้ทานอาหารที่เขาเลือกเองอย่างอิ่มท้องแน่นอน ไม่นำเงินไปใช้ในทางอื่น
         ผลพลอยได้จากการมาช่วยครูทำงาน ทำให้เด็กเหล่านั้นได้เรียนรู้งาน สามารถวางตนได้อย่างเหมาะสม ได้รับการกล่อมเกลาให้เป็นเด็กกตัญญูมีน้ำใจ  กลายเป็นเด็กที่มีเสน่ห์ ได้รับความรักความเมตตาจากครูคนอื่นๆในห้องพักครูด้วย
         การที่ธรรศได้มีโอกาสใกล้ชิดทำงานร่วมกันกับนิพาดาบ่อยๆ  นานวันเข้าก็ยิ่งเพิ่มความผูกพันที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  ในส่วนลึกของธรรศยังรู้สึกว่าตนเองเป็นลูกชาวสวน จึงไม่กล้าคิดอะไรที่เกินเลยไปกว่านี้ เพียงแต่เก็บความรู้สึกดีๆซ่อนไว้ภายในก็เพียงพอแล้ว  ธรรศคิดว่านิพาดาเองก็คงคิดกับเขาเหมือนพี่ชายที่ใจดี ไว้วางใจได้ และมีความคิดใกล้เคียงกัน  ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่มีเด็กเป็นสะพานเชื่อมใจให้ทั้งสองมาร่วมกันสร้างสรรค์ภาระหน้าที่เพื่อดูแลช่วยเหลือเขาตามอุดมการณ์ของตน ด้วยใจที่ตรงกัน          
        ทั้งสองคนคุ้นเคยสนิทสนมรู้ใจกันและกันมากขึ้น เมื่อธรรศติดขัดเรื่องเทคนิควิธีสอนหรือเทคโนโลยีใหม่ๆนิพาดาก็จะเป็นทางออกที่สร้างสรรค์ให้กับเขาทุกครั้ง  หากเป็นเรื่องข้อมูลเด็ก ข้อมูลท้องถิ่น ธรรศก็จะเป็นตัวช่วยที่ดีให้เธอเพราะธรรศชอบไปคุยกับชาวบ้าน ชอบศึกษาข้อมูลของชุมชนท้องถิ่น    ทั้งสองคนสนิทสนมกันมากจนเพื่อนครู พี่ๆพากันเชียร์ให้เป็นคู่ที่แท้จริงกัน   ผู้อำนวยการโรงเรียนอีกคน ท่านคงมีนโยบายลึกๆไม่อยากให้ทั้งสองคนย้ายกลับกรุงเทพฯ เลยออกหน้าเป็นสื่อกลางพูดแซวกันในงานเลี้ยง งานประชุมบ่อยๆ  นิพาดาเธอเพียงแต่ยิ้ม ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธใดๆต่อแรงเชียร์ให้เห็นสักครั้ง  ธรรศเองต่างหากที่ใจเต้นตุ๊บๆ อยากให้ความฝันเป็นจริง แต่ก็ต้องยิ้มและนิ่งเก็บอาการเช่นเดียวกับเธอ
         แม้ทั้งสองไม่เคยพูดความในใจต่อกัน  แต่ความใกล้ชิดผูกพันทำให้ธรรศเริ่มมั่นใจว่า  นิพาดาเองก็ไม่ได้รังเกียจเขา แต่คำสอนของอาจารย์ อุดมการณ์และภาระหน้าที่ย่อมอยู่เหนือความรักแบบหนุ่มสาว  ธรรศจึงคิดว่า        
        “ปล่อยให้ทุกอย่างสุกงอมไปตามครรลองของธรรมชาติดีกว่า  สักวันหนึ่งถ้าพรหมลิขิตบันดาลชักพาจริง เราก็คงไม่คลาดจากกัน”
          --------------------------                                 

       

หมายเลขบันทึก: 650049เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2018 12:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2020 07:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท