รักที่หลุดพ้น (ตอนที่ 14 กิจกรรมกล่อมเกลาจิต)


วรรณกรรมอิงธรรมะ เชื่อมโยงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติการศึกษาไทยในชนบทแห่งหนึ่ง ของยุคหนึ่ง ในหลายๆมิติ

      
           
          นับตั้งแต่เปิดภาคเรียนใหม่เป็นต้นมา  นอกจากโรงเรียนจะมีกิจกรรมการเรียนการสอนในสาระการเรียนรู้ต่างๆแล้ว ยังต้องเปิดสอนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ทั้งลูกเสือ เนตรนารี และกิจกรรมชมรมอื่นๆ ตามความพร้อมและความสมัครใจของนักเรียนตามที่หลักสูตรกำหนดด้วย  
      ธรรศกับนิพาดานอกจากจะช่วยสอนในกิจกรรมลูกเสือและเนตรนารีแล้ว  ยังชวนครูสังคมศึกษาร่วมกันตั้ง “ชุมนุมวิถีธรรม”  เพื่อน้อมนำให้นักเรียนมีจิตสงบ โดยร่วมกันเขียนวัตถุประสงค์และกิจกรรมของชุมนุมติดประกาศไว้เพื่อให้นักเรียนพิจารณาสมัครเข้าร่วมกิจกรรม  สาระสำคัญของกิจกรรมคือ การปฏิบัติด้วยการทำอานาปานสติเพื่อให้เกิดสมาธิ พบกับความสุขความสงบ  นอกจากจะเป็นการบำเพ็ญกุศลแล้ว ยังจะเกิดผลดีต่อการศึกษาเล่าเรียนของนักเรียนให้เจริญก้าวหน้าเพิ่มขึ้นด้วย  ปรากฏว่ามีนักเรียนทุกระดับมาสมัครเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมนี้กัน 35 คน  ครูสอนสังคมศึกษาและพุทธศาสนาแนะนำว่าน่าจะใช้ห้องจริยศึกษาที่ใช้กันอยู่มาทำกิจกรรมชุมนุมนี้  นักเรียนทุกคนมีพื้นฐานการทำอานาปานสติกันบ้างแล้ว เพราะโรงเรียนจัดให้มีการนั่งสมาธิกันหลังพิธีเคารพธงชาติและสวดมนต์ที่หน้าเสาธงในทุกเช้าวันศุกร์วันละ 5 นาทีอยู่แล้ว แต่เป็นระยะเวลาที่สั้น และสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการนั่งสมาธิมากนัก  ดังนั้นการที่ทั้งครูและนักเรียนได้มานั่งสมาธิพร้อมกันในห้องที่มีบรรยากาศเอื้ออำนวย  ต่อหน้าพระพุทธรูป เป็นเวลาประมาณครั้งละ 50 นาที  โดยไม่เน้นพิธีกรรมมากนัก  นอกจากการสวดมนต์ไหว้พระและคำแนะนำสั้นๆของครูก่อนเริ่มปฏิบัติเท่านั้น  จึงเต็มไปด้วยความเงียบสงบ ดื่มด่ำ และมีความสุขกันทุกคน 
        ในชั่วโมงต่อๆไปนักเรียนทุกคนต่างมีระเบียบวินัยในตนเอง โดยไม่ต้องบอกต้องสอนกัน  ต่อมาไม่นานธรรศและนิพาดาก็พานักเรียนทั้ง 35 คนไปอบรมหลักสูตรอานาปานสติสำหรับเด็กและเยาวชน 1 วัน ที่ศูนย์วิปัสสนากรรมฐานใน กทม. ภายใด้การสนับสนุนของหลวงพ่อและผู้มีอุปการคุณ และนิศมาที่ทำงานในมูลนิธิส่งเสริมสมาธิ-วิปัสสนาซึ่งสนับสนุนกิจกรรมนี้โดยตรง คอยประสานงานช่วยเหลือ และร่วมเป็นคณะวิทยากรอบรมด้วย   ครูสังคมศึกษาที่ร่วมกิจกรรมชุมนุมด้วยกัน ก็ไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย  และภายหลังครูท่านนี้ก็ขอไปเข้ารับการอบรมหลักสูตรวิปัสสนา 10 วัน ตามโครงการของหลวงพ่ออีก
      นอกจากร่วมเปิดชุมนุมวิถีธรรมตามหลักสูตรของโรงเรียน ในวันปกติแล้ว ธรรศยังชวนนิพาดาทำกิจกรรมพิเศษอีกกิจกรรมหนึ่งที่เขาคิดไว้นานแล้วและนิพาดาก็เห็นด้วย คือกิจกรรม “ชมรมผู้บำเพ็ญประโยชน์” โดยรับสมัครนักเรียนที่มีจิตอาสา  ขี่จักรยานออกไปช่วยชาวบ้านปลูกผักทำสวนครัวและช่วยทำนาในวันเสาร์  มีนักเรียนทั้งชายและหญิงที่สนใจมาสมัครเข้าชมรมนี้รวม 12 คน   แต่ละวันเสาร์ นิพาดาจะซ้อนท้ายจักรยานของธรรศนำหน้าขบวนนักเรียนในชมรม 12 คน เดินทางไปยังจุดหมายที่ตกลงกันไว้แล้ว  ครูและเด็กๆต่างนำจอบ เสียม อุปกรณ์การเกษตรใส่ท้ายจักรยานไปด้วย  พร้อมทั้งห่อข้าวกลางวันไปทานกัน 
        วันเสาร์แรกๆจะไปบ้านของนักเรียนที่เป็นสมาชิกชมรมกันก่อนถือเป็นการไปเยี่ยมบ้านนักเรียน ได้พูดคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครอง แล้วหาที่ปลูกผักทำสวนครัวกัน  นักเรียน 3 คนจะร่วมกันทำแปลงปลูกผัก 1 แปลง โดยมีแปลงของธรรศกับนิพาดาด้วย 1 แปลง ไปหนึ่งบ้านในหนึ่งเสาร์ก็จะได้แปลงผัก 5 แปลง แรกๆธรรศกับนิพาดาจะเตรียมเมล็ดพันธุ์ผักไป ธรรศซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องนี้อยู่แล้วจะอธิบายวิธีปลูก การใส่ปุ๋ยคอกซึ่งแต่ละบ้านมีกันอยู่แล้ว และการดูแลรดน้ำพรวนดินให้ทั้งนักเรียนและผู้ปกครองฟังกันก่อนลงมือปฏิบัติ  ตอนหลังก็มีชาวบ้านข้างเคียงมาฟังและมาช่วยเด็กๆปลูกผักด้วยและเริ่มมีเมล็ดพันธุ์ผักมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น  จากนั้นก็มอบให้นักเรียนและผู้ปกครองบ้านนั้นๆ ดูแล รดน้ำ ใส่ปุ๋ยกันต่อ  ทำเช่นนี้ต่อเนื่องทุกเสาร์แต่ละบ้านก็จะมีผักหลากหลายชนิดนำมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน  บ้างก็ทำกับข้าวมาทานกันด้วย  พอถึงฤดูทำนาเด็กๆก็จะเปลี่ยนจากการปลูกผักมาลุยโคลนช่วยชาวบ้านทำนากันอย่างสนุกสนานไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยพอคุณตาธรรศทราบข่าวว่าหลานชายทำกิจกรรมนี้ก็ช่วยทำปุ๋ยหมักและสารชีวภาพเตรียมไว้ให้ธรรศมารับไปให้เด็กๆและชาวบ้านใช้กัน  และธรรศก็ถือโอกาสสอนให้เด็กๆและชาวบ้านทำปุ๋ยชีวภาพ ฮอร์โมนชีวภาพ และสารไล่แมลงใช้ในไร่นาไปด้วย             
        นิพาดาเองแม้ในชีวิตไม่เคยต้องลงมาตากแดดคลุกดินลุยโคลน แต่เธอก็ไม่แสดงความท้อถอยที่จะลงมือทำร่วมกับธรรศและเด็กๆ  ดูเธอมีความสุขที่ได้มาช่วยชาวบ้าน แม้ท่าทางจะไม่ทะมัดทะแมงเหมือนชาวไร่ชาวสวนแต่เธอก็พยายามเรียนรู้และสู้งาน  เห็นภาพผู้หญิงตัวเล็กๆทำงานจนเหงื่อโทรมกาย หน้าแดงก่ำเพราะกรำแดด ช่างเป็นภาพที่ดูน่ารักและน่าศรัทธายิ่งนัก        
        เพียงชั่วเวลาไม่กี่เดือนนิพาดาก็กลายเป็นขวัญใจของเด็กๆและชาวบ้านไปแล้ว


            -------------------------
                                              

    

หมายเลขบันทึก: 650048เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2018 12:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2020 19:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท