ตอนที่ 1 - ร้อยละ 97.99 ของผู้ชาย เจ้าชู้


...

เช้านี้ฟังรายการวิทยุรายการนึง

ขณะที่ดีเจกำลังสนทนากับเพื่อนดีเจอีกคนอย่างออกรสออกชาติ

ก็ได้มีการหยิบยกตัวเลขทางสถิติขึ้นมาอ้างอิงกอปรกับเรื่องที่กำลังเล่า ดูน่าเชื่อถือ

"ร้อยละ 80.37 ของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา พึงพอใจค่ะ"


นี่ก็เป็นอีกรูปประโยคนึงที่ได้ยินและพบเห็นกันได้บ่อยตามสื่อโฆษณา

แต่สังเกตกันดีๆสิครับ ร้อยละ 80.37 จริง แต่จากผู้ทดลองใช้ทั้งหมด 10 คน .. เอากับเค้าสิ

แว่บแรกที่ได้ยิน ก็รู้สึกเชื่อได้ในทันทีว่า เออหว่ะเรื่องที่เค้ากำลังบอกอยู่นั้นเป็นเรื่องจริงที่สมเหตุสมผลมากๆเลย

หลังจากฟังจบ นึกย้อนดูก็สงสัยว่าเท่าที่เคยฟังใครต่อใครสนทนากันมา

หลายครั้งได้มีการหยิบยกตัวเลขเปอร์เซ็นต์ขึ้นมาพูดคุย ซึ่งผลตอบรับที่ได้แทบจะทันทีกับคนฟังก็คือ

อาการนิ่ง และตั้งใจฟังในสิ่งที่ผู้พูดกำลังจะพูดคุยอธิบายต่อไป

เรามาลองเปรียบเทียบดูก็ได้ ไม่ต้องกับใครหรอกครับ กับตัวเราเองนี่แหละ

ระหว่างคนที่พูดโดยอ้างอิงตัวเลข กับ คนที่ไม่อ้างอิงตัวเลข เราจะมีแนวโน้มเชื่อใครมากกว่ากัน

"ร้อยละเจ็ดสิบสามจุดสองของจำนวนคนทั้งหมด เห็นด้วยกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน"

"กว่าเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ของพนักงานทั้งหมด ขอให้โรงอาหารในบริษัทเพิ่มจำนวนร้านค้า"

"สามสิบแปดเปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง"

"คนส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดอยู่ในตอนนี้"

"จากผลการสำรวจพบว่า วัยรุ่นไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มตั้งครรภ์ก่อนวันอันควร"

 

ลองเทียบประโยคต่อประโยค จะเห็นได้ชัดเลยครับว่า เรามักมีโอกาสเชื่อสิ่งที่ได้ฟัง หรือ อ่านมากขึ้น

หากเป็นการอ้างอิงจากผลสำรวจ , ตัวเลขเปอร์เซ็นต์ หรือ การอ้างถึงแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

เหตุผลเพราะมันฟังดูน่าเชื่อถือไงล่ะครับ


หลายครั้งที่เราใช้ตัวเลขเปอร์เซ็นต์ มาเทียบเคียงกับความรู้สึกของเราเอง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด

เพราะมันเป็นการอ้างอิงความรู้สึกของเราเอง ให้คนอื่นเข้าใจแล้วกะ ประมาณความรู้สึกเราต่อเหตุการณ์นั้นๆให้ชัดเจนมากขึ้น

A : "คุณมั่นใจมากแค่ไหนคะ กับการแข่งขันในวันนี้"

B : "อ๋อ มั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์เลยครับ เพราะผมเตรียมตัวมาอย่างดี"

C : "ส่วนผมก็ 50 : 50 ครับ คู่ต่อสู้เค้าเป็นถึงแชมป์ระดับเอเชียอยู่เหมือนกัน"

แต่หากเราใช้ตัวเลขมาอ้างอิง เพราะอยากได้รับความมั่นใจจากคนอื่นโดยขาดข้อมูลหรือหลักเหตุผลที่เหมาะสม ตัวเลขนั้นก็อาจสร้างผลกระทบต่อคนอื่นต่อได้ เราจึงควรระวังเวลาที่กำลังสนทนาในเรื่องที่สำคัญๆ เพราะประโยคใดก็ตามที่ถูกพูดขึ้นแล้วประโยคเหล่านั้นมีโอกาสนำไปถ่ายทอดต่อให้กับคนอื่นๆ

จากเรื่องไม่จริงก็มักจะกลายเป็นเรื่องที่จริงมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีคนมาหักล้างความคิดนั้นลงไป ท้ายที่สุดแล้ว หากนั่นเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ ก็ไม่สำคัญแล้วล่ะครับว่าเรื่องเหล่านั้นจะเป็นเรื่องจริงรึเปล่า เพราะวิธีที่ง่ายที่สุดของพวกเราก็คือ เลือกที่จะเชื่อในเรื่องนั้นๆต่อไปโดยไม่ถามเหตุผลจากใครอีกเลย

คำสำคัญ (Tags): #เรื่องเล่า#story telling
หมายเลขบันทึก: 649672เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2018 09:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 สิงหาคม 2018 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท