เรียนรู้ "การศึกษาชุมชน" จากประธานสาขาวิชาพัฒนาชุมชน"


สำนักศึกษาทั่วไปจัดการเรียนการสอนรายวิชา "หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน" มาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๘ หนึ่งในบทเรียนสำคัญที่เรากำหนดให้นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามต้องเรียนคือ "การศึกษาพัฒนาชุมชน" และผู้ที่น่าจะรู้เรื่องนี้ดีที่สุดท่านหนึ่งก็คือ ประธานสาขาวิชาพัฒนาชุมชน" คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ท่านอาจารย์สายไหม ไชยศิรินทร์ วันนี้โอกาสดี ผมเอาคลิปวีดีโอที่ท่านบรรยายมาศึกษาจับประเด็น จะได้นำเอาแก่นที่เห็นส่งต่อให้อาจารย์ผู้สอนต่อไป

ท่านบรรยายใน ๓ ประเด็นสำคัญ อันเป็นความรู้เบื้องต้นที่ทุกคนที่จะเข้าไปเรียนรู้เพื่อพัฒนาสังคม โดยเฉพาะการกิจกรรมการเรียนรู้ของรายวิชา "หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน" ได้แก่ ๑) ความหมายของ "ชุมชน" ในบริบทของรายวิชาฯ ๒) ความหมายของการพัฒนาชุมชน ๓) กระบวนการพัฒนาชุมชน ๔) วิธีการและเครื่องมือศึกษาชุมชน และ ๓) จรรยาบรรณในการศึกษาชุมชน

๑) ความหมายของ "ชุมชน" ในบริบทของรายวิชา "หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน" 

  • ชุมชนมีความหมายที่หลากหลายมาก 
  • ส่วนใหญ่คนมักนึถถึงภาพชุมชน สิ่งก่อสร้าง หมู่บ้าน 
  • มาร์วิน อี.โอลเซน บอกว่า ชุมชนคือ "องค์กรทางสังคมประเภทหนึ่ง" 
  • เออร์วิน ที. แซนเดอร์ส บอกว่า ชุมชน "เป็นกลุ่มบุคคลหลายๆ กลุ่มมารวมกันในบริเวณเดียวกัน ภายใต้กฎหมายหรือข้อบังคับอันเดียวกัน"
  • เดนนิส อี. พอพลิน บอกว่า ชุมชนคือ "กลุ่มคนที่มีความร่วมมือกัน มีความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชนร่วมกัน"
  • ศาสตราจารย์ สัญญาวิวัฒน์ นักสังคมวิทยาอาวุโสของสังคมไทย ได้ให้ความหมายของชุมชนไว้ว่า "องค์การทางสังคมอย่างหนึ่งที่มีอาณาเขตครอบคลุมท้องถิ่นหนึ่ง ที่ปวงสมาชิกสามารถบรรลุถึงความต้องการพื้นฐานส่วนใหญ่และสามารถแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่ในชุมชนของตนเองได้"
  • ศาตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสของสังคมไทย ได้ให้ความหมายว่า " การที่คนจำนวนหนึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความพยายามทำอะไรร่วมกัน มีการรับรู้ร่วมกันซึ่งรวมถึงการติดต่อสื่อสารกัน 
  • การนิยามความหมายมาจากหลายศาสตร์ ได้แก่ 
    • ภูมิศาสตร์  คือ มีอาณาเขต อาณาบริเวณ พื้นที่ 
    • สังคมวิทยา คือ ความสัมพันธ์ของคน วัฒนธรรม วิถีชีวิต แบบแผนการดำเนินชีวิต 
    • มานุษยวิทยา คือ  มีอุดมการณ์ จิตวิญญาณ และเป้าหมายในการพัฒนาร่วมกัน
    • จิตวิทยา คือ การมีสำนึกร่วมกัน มีความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องกัน 
  • ความหมายในทัศนะเดิม (ชุมชนร่วมสมัย) มักเข้าใจว่าชุมชนคือ หมู่บ้าน ซึ่งมีคน ความสัมพันธ์ของคน และมีพื้นที่ๆ ชัดเจน หรือสรุปว่า ชุมชนคือ "กลุ่มคนที่มาอยู่ร่วมกันในเขตหรือบริเวณเดียวกัน มีวิถีการดำเนินชีวิต มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน อยู่ภายใต้กฎระเบียบหรือกฎเกณฑ์ทางสังคมเดียวกัน 
  • เมื่อมีมีความเจริญรุ่งเรือง "ชุมชน" ไม่ได้หมายถึงชุมชนในลักษณะหมู่บ้านแล้ว วิถีชีวิตของคนในชุมชนที่เปลี่ยนไป ชุมชนมีลักษณะแตกต่างกัน แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ตามลักษณะความสัมพันธ์ของคน คือ ชุมชนชนบทและชุมชนเมือง 
    • ชุมชนชนบท เป็นชุมชนที่ประชุากรยังไม่หนาแน่น อาจแบ่งเป็นสองลักษณะคือ ชุมชนชนบทแบบดั้งเดิมที่คนในชุมชนมีอาชีพและฐานะทางเศรษฐกิจคล้ายคลึงกัน และชุมชนชนบททั่วไป ที่ผู้คนต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพมากขึ้น มีความต้องการผลิต มีการกู้ยืมเงิน ฯลฯ เริ่มเกิดความแตกต่างหลากหลายด้านอาชีพและฐานะทางการเงินมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ชุมชนแบบนี้จะมีการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจเลี้ยงตนเอง 
    • ชุมชนเมือง เป็นชุมชนที่มีความหนาแน่นของประชากรมาก คนมีการแบ่งแยก บุกรุกและกระจายออกจากศูนย์กลางของเมือง เป็นชุมชนที่มีพลวัตรสูง คือมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว  มักเป็นชุมชนของคนจน เป็นคนจนในเมืองซึ่งไปอาศัยร่วมกันในแหล่งรับจ้างใช้แรงงาน 
  • ชุมชนทัศนะใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์  เป็นชุมชนไร้พรมแดน เป็น "เครือข่ายพื้นที่่ชุมชนทางอากาศ" มีองค์ประกอบสำคัญคือ คนและความสัมพันธ์ของคน ซึ่งมีความสนใจและความต้องการเดียวกัน เช่น ชุมชนออนไลน์ เครือข่ายผู้ใช้เฟสบุ๊ค ชุมชนคนรักป่า เป็นต้น 
  • ทั้งในทัศนะเดิมและทัศนะใหม่ สามารถสรุปความหมายของชุมชนออกเป็น ๓ แบบ ได้แก่ 
    • พื้นที่ทางภูมิศาสตร์  คือ อยู่ร่วมกัน อยู่ในพื้นที่เดียวกัน 
    • กลุ่มทางสังคม คือ มีความสนใจเหมือนกันหรือคล้ายกัน 
    • องค์กรทางสังคม คือ มีกฎเกณฑ์หรือระเบียบร่วมกัน 
  • โครงสร้างทางสังคม หมายถึง ระบบความสัมพันธ์อย่างเป็นระเบียบของกลุ่มคนที่มารวมกันในสังคม อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภท ได้แก่ องค์การทางสังคมและสถาบันทางสังคม 
    • องค์การทางสังคม คือกลุ่มคนที่มีการสร้างกฏระเบียบหรือข้อตกลงของชุมชน เช่น ความเชื่อ ค่านิยม บรรทัดฐาน สถานภาพ บทบาท ซึ่งในชุมชนแบบดั้งเดิมจะสืบทอดต่อกันแบบจารีตประเพณี  เช่น 
      • กลุ่มสังคม 
      • ครอบครัว
      • ชุมชน
      • ชนชั้น
      • ฯลฯ
    • สถาบันทางสังคม คือ สิ่งที่คนส่วนรวมในสังคมจัดตั้งขึ้นเพราะเห็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจำเป็นแก่วิถีชีวีต เป็นรูปแบบพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม เช่น 
      • สถาบันครอบครัว
      • สถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียน ศูนย์เรียนรู้ ฯลฯ อาจมีทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
      • สถาบันทางศาสนา เช่น วัด สำนักสงฆ์ ฯลฯ
      • สถาบันด้านการเมือง เศรษฐกิจ ศิลปะ นันทนาการ อนามัยสาธารณสุข วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 
      • เป็นต้น 
    • เนื่องจากรายวิชา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน เป็นรายวิชาที่นิสิตจากทุกหลักสูตรระดับปริญญาตรีต้องเรียน ทำให้ลักษณะของชุมชนที่สอดคล้องกับธรรมชาติของสาขาหรือหลักสูตรแตกต่างกันมาก ดังนั้น ความหมายของชุมชนในบริบทของรายวิชา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน จึงควรกำหนดให้ครอบคลุมความหมายทั้งหมดที่กล่าวมา และมีความยืดหยุ่นเพื่อส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งผู้เรียนและชุมชน 
    • ชุมชนในบริบทของรายวิชา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน หมายถึง กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน หรือกลุ่มคนที่มีความสนใจเหมือนกัน หรือองค์กรทางสังคมที่มีการใช้กฎเกณฑ์หรือกฎระเบียบร่วมกัน ที่สมาชิกมีปฏิสัมพันธ์กันหรือความสัมพันธ์กันหรือมีการรับรู้ร่วมกัน มีการสื่อสารเพื่อทำอะไรร่วมกัน 
    • ดังนั้น "ชุมชน" ในรายวิชา ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน จึงเป็นชุมชนที่แตกต่างหลากหลายไปตามธรรมชาติทางวิชาการของแต่ละหลักสูตร เช่น 
      • ชุมชนเชิงพื้นที่ (กำหนดอาณาบริเวณ) เช่น หมู่บ้าน เทศบาล ฯลฯ
      • ชุมชนที่เป็นกลุ่มคน (มีความสนใจเดียวกัน) เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผู้เลี้ยงปลา กลุ่มทำฟาร์มเห็ด สมาคม ครูสอนสาระวิชาเดียวกัน ฯลฯ
      • ชุมชนสถาบันทางสังคม เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย วัด ฯลฯ 
      • ชุมชนนักปฏิบัติ (Coperative Community; CoP) หรือชุมชนทางวิชาชีพ (Professional Learning Community) เช่น ครู อาจารย์ ช่างยนต์ มัคคุเทศก์ ฯลฯ
      • ชุมชนเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งครอบคลุมถึงการซื้อขายออนไลน์ด้วย เช่น ตลาดนัด ตลาดนัดออนไลน์  ฯลฯ 
      • ฯลฯ
๒) ความหมายของการพัฒนาชุมชน
  • คำว่า "พัฒนา" หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปยังอีกสภาพหนึ่งในทางที่ดีขึ้น 
  • การพัฒนา อาจแยกได้เป็น ๒ แบบ คือ การริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ เช่น การประดิษฐ์คิดค้น ฯลฯ และการปรับปรุงพัฒนาสิ่งเดิมให้ดีขึ้น 
  • การพัฒนาต้องพิจารณาให้ครอบคลุมทั้งด้านวัตถุและจิตใจไปพร้อมๆ กัน 
  • การพัฒนาชุมชน หมายถึง การพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น ด้วยวิธีการ (Method) ขบวนการ (Movement) และกระบวนการ (Process) ที่กำหนดขึ้นอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ชุมชนส่วนรวมดีขึ้น โดยให้สมาชิกของชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ 
  • จุดมุ่งหมายหลักของการพัฒนาชุมชน  ๓  ประการ ได้แก่ ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนอยู่ดีมีสุข และชุมชนน่าอยู่
    • ชุมชนเข้มแข็ง หมายถึง คนมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ปัญหาของตนเองและชุมชนได้ สมาชิกแต่ละคนนำความสามารถของตนเองออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และที่สำคัญคือสมาชิกในชุมชนให้ความร่วมมือในการพัฒนาชุมชน มีความสามัคคีกัน 
    • ชุมชนอยู่ดีมีสุข หมายถึง คนในชุมชนคุณภาพชีวิตที่ดี มีฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวและชุมชนดีขึ้น 
    • ชุมชนน่าอยู่ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ผู้คนมีจิตใจดี เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ มีสิทธิและอิสรภาพตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 
๓) กระบวนการพัฒนาชุมชน
  • กระบวนการพัฒนาชุมชน มีอย่างน้อย ๕ ขั้นตอน ได้แก่ 
    • การศึกษาชุมชน 
    • การวิเคราะห์ชุมชน จัดลำดับปัญหาและความต้องการของชุมชน
    • การวางแผนพัฒนาในลักษณะโครงการ
    • การดำเนินโครงการพัฒนาชุมชน
    • การประเมินผลความสำเร็จของโครงการ 
    • การทบทวนปัญหาและอุปสรรค์

  • การศึกษาชุมชน คือ การเข้าไปศึกษาเพื่อทำความเข้าใจในสถานการณ์ต่างๆ ของชุมชน ทั้งทางด้านกายภาพ สังคม วัฒนธรรม ประเพณี เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์ของการศึกษาชุมชนที่แตกต่างกันไปตามความต้องการของผู้ศึกษา
  • วัตถุประสงค์ของการศึกษาชุมชนหลักๆ ที่สำคัญ ได้แก่ 
    • เพื่อหาข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน
    • เพื่อค้นหาองค์ความรู้ใหม่หรือเพิ่มเติมองค์ความรู้เดิมเกี่ยวกับชุมชนเป้าหมายมากยิ่งขึ้น 
    • เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะอื่นๆ ตามความต้องการของผู้ศึกษา 

๔) วิธีการและเครื่องมือศึกษาชุมชน

  • วิธีการหลักในการศึกษาชุมชนมี ๒ ประการ ได้แก่ การสังเกต (Observation) และ การสัมภาษณ์ (Interview) 
  • การสังเกต คือ การเฝ้าดูอย่างเป็นระบบ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของสิ่งที่เราต้องการศึกษา อาจเป็นบุคคล สิ่งแวดล้อม หรือวัตถุต่างๆ โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง ๕ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น หรือผิวกาย ในการติดตามอย่างใกล้ชิด 
  • ขอบเขตสำคัญของการสังเกต (สิ่งที่ต้องสังเกต) ได้แก่
    • ฉากและบุคคล ได้แก่ ลักษณะทางกายภาพและทางสังคมของเหตุการณ์ที่เราเฝ้าดูอยู่ ดูว่าเป็นใคร เกิดที่ไหน ฯลฯ
    • พฤติกรรม การกระทำที่ผู้สังเกตเห็นในเหตุการณ์ที่เฝ้าดูอยู่ ดูว่าเขาทำอะไร ทำอย่างไร 
  • การสังเกตอาจแบ่งออเป็น ๒ ประเภทได้แก่ การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม
  • การสังเกตแบบมีส่วนร่วม คือ การสังเกตที่ผู้สังเกตเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับกลุ่มคนที่ถูกศึกษา มีการทำกิจกรรมราวกับว่าผู้สังเกตมีสถานภาพและบทบาทเดียวกัน ผู้สังเกตต้องปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มคนที่ศึกษา โดยอาจเข้าไปฝังตัวอยู่ในเหตุการณ์ เข้าไปอาศัยอยู่ในชุมชนเป็นเวลานาน จนคนในชุมชนรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา
  • ข้อมูลที่เหมาะสมกับการสังเกตแบบมีส่วนร่วม ได้แก่ 
    • ข้อมูลด้านความเชื่อและทัศนคติ เช่น ความเชื่อทางศาสนา ความเชื่อและทัศนคติทางการเมือง ฯลฯ 
    • ข้อมูลด้านพฤติกรรม เช่น ความสามัคคีและความขัดแย้งของคน วิถีชีวิตด้านต่างๆ  การบริโภคอาหาร วิถีการทำงาน การเล่น การผักผ่อน การทิ้งขยะ ฯลฯ 
  • การสัมภาษณ์ เป็นกระบวนการสื่อสารระหว่างบุคคลด้วยการพบปะกับผู้ให้ข้อมูลโดยตรง ซึ่งอาจจะโดยการพูด ท่าทาง สัญลักษณ์ และความรู้สึกที่แสดงออกได้ เป็นวิธีการที่เหมาะสมในการศึกษาชุมชนจากเด็กๆ และผู้ไม่รู้หนังสือมากนัก 
  • การสัมภาษณ์แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่  การสัมภาษณ์แบบมาตรฐาน (Standardized Interview) ที่กำหนดคำถามไว้ล่วงหน้า หรือเรียกว่าการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structured Interview) และการสัมภาษณ์แบบไม่มีคำถามแน่นอน หรือการสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง (Unconstructed Interview) หรืออาจแบ่งตามจำนวนคนเป็น สัมภาษณ์เดี่ยวรายบุคคลหรือสัมภาษณ์กลุ่ม/พร้อมกันหลายคน (Group Interview)
  • เครื่องมือศึกษาชุมชนที่ได้รับความนิยมมากคือ เครื่องมือ ๗ ชิ้น ที่นำเสนอโดย นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ได้แก่ 
    • แผนที่เดินดิน
    • ผังเครือญาติ
    • โครงสร้างองค์กรชุมชน
    • ปฏิทินชุมชน
    • ประวัติศาสตร์ชุมชน
    • ประวัติชีวิต
  • แผนที่เดินดิน เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุด เพราะ การเดินสำรวจด้วยตนเองจะทำให้รู้จักโลกของชาวบ้าน เห็นภาพจริง เห็นภาพรวม เห็นโครงสร้างของชุมชน และได้ข้อมูลมาก เร็ว และเชื่อถือได้ นอกจากนี้แล้วยังจะทำให้เกิดความสัมพันธ์กับชุมชน เกิดความคุ้นเคยกับชาวบ้าน 
  • การเดินสำรวจเพื่อทำแผนที่ชุมชน นิสิตจะต้อง
    • เดินทั่วทั้งชุมชน
    • ดูด้วยตาตนเองทุกบ้าน
    • เห็นพื้นที่ทางกายภาพ
    • เข้าใจพื้นที่ทางสังคม 
(ขอขอบคุณ นักศึกษาคณะพยาบาล มหาวิทยาลัยราชธานี วิทยาเขตอุดรธานี)
  • ผังเครือญาติ จะทำให้รู้ระบบความสัมพันธ์ซึ่งเป็นรากฐานของสังคม  การทำผังเครือญาติจะเห็นความเชื่อมโยงของคนในสังคม 

  • โครงสร้างองค์กรชุมชน เป็นแผนผังแสดงความสัมพันธ์เชิงอำนาจของบุคคลในชุมชน ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ การทำแผนผังโครงสร้างองค์กรชุมชนที่ครอบคลุมครบถ้วน จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจด้านอื่นๆ เกี่ยวกับคนหรือกลุ่มคน 
  • แผนผังโครงสร้างองค์กรชุมชน จะช่วยให้นิสิตทราบว่า ใครเป็นกลุ่มไหน ใครเป็นคนของใคร ซึ่งอาจมีประโยชน์ในการเลือกกลุ่มเป้าหมายในการสัมภาษณ์

  • ระบบสุขภาพชุมชน  เป็นข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของชุมชน อาจจะนำเสนอในรูปของแผนผังความคิดแบบต่างๆ  หรือเป็นแผนภาพแสดงองค์ประกอบ ดังภาพ 

  • ปฏิทินชุมชน เป็นเครื่องมือศึกษวิถีชีวิตในชุมชนที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน วัฒนธรรม ประเพณี หรือกิจกรรมสำคัญๆ ของชุมชน  อาจนำเสนอในรูปแบบต่างๆ  

  • ผังประวัติศาสตร์ชุมชน  ใช้ในการศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของดชุมชนด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง การเกษตร ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เข้าใจปรากฎการณ์ในชุมชนได้ 

  • ประวัติชีวิต  มักเขียนในลักษณะ Timeline อธิบายปัญญาปฏิบัติของคนสำคัญในชุมชน 



๕) จรรยาบรรณในการศึกษาชุมชน
  • สิ่งที่ควรทำเมื่อจะลงพื้นที่หรือเข้าศึกษาชุมชน ที่สำคัญๆ ได้แก่ 
    • นัดหมายล่วงหน้า และตรงต่อเวลาเสมอ
    • เตรียมความพร้อม 
    • แต่งกายให้เหมาะสม
    • นอบน้อมถ่อมตน
    • บอกจุดมุ่งหมายในการศึกษาชุมชน
    • ขออนุญาตและขอบคุณ 
    • ศึกษาข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง 
  • สิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อเข้าพื้นที่ศึกษาชุมชน ที่สำคัญๆ ได้แก่
    • พฤติกรรมก้าวร้าว ชี้นำ สั่งการ
    • บังคับ เร่งรัด ให้ตอบคำถาม 
    • นำความลับหรือข้อมูลส่วนตัวไปเปิดเผย
    • ไม่เป็นกลาง ลำเอียง ยุยงให้คนทะเลาะกัน
    • วิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็น
    • วิเคราะห์เอง สรุปเอง 
  • ผลของการศึกษาชุมชนที่ถูกต้อง จะเกิด ๓ สิ่งดังต่อไปนี้ 
    • เข้าใจ คือเข้าใจบริบทชุมชน ศักยภาพ ปัญหา และความต้องการของชุมชน
    • เข้าถึง คือ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย มีสัมพันธภาพอันดี และรักในงานการพัฒนาชุมชน
    • พัฒนา คือ ดำเนินโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์สุขอย่างแท้จริง 
ขอขอบพระคุณอาจารย์สายไหม ไชยศิรินทร์ หัวหน้าภาควิชามานุษยวิทยา และประธานสาขาวิชาพัฒนาชุมชน อีกครั้งหนึ่งมา ณ โอกาสนี้ 

หมายเลขบันทึก: 649665เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2018 00:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 สิงหาคม 2018 00:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจมากครับกับคำนี้ “ชุมชนร่วมสมัย”ล่าสุด ผมนำเรื่องสั้นร่วมสมัยเมื่อ 50-60 ปีมาให้นิสิตอ่านประกอบการเรียนรู้นอกหลักสูตรก่อเกิดกระบวนทัศน์ถกคิดวิพากษ์กันหลากประเด็น อย่างน้อยก็ชวนมองว่า เรื่องที่นำมานั้นเกิดขึ้นจริงเมื่อหลายปีก่อน หรือแค่พยากรณ์มาสู่ปัจจุบัน

แต่ที่แน่ๆ มันคือความ “ร่วมสมัย”

ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท