พลังศรัทธาสร้าง “ชุมชนจักรยานสุขภาวะ” ที่ตำบลบาเจาะ


พลังศรัทธาสร้าง “ชุมชนจักรยานสุขภาวะ” ที่ตำบลบาเจาะ

ร่วมใจใช้ “ซิก้า” สานสัมพันธ์สร้างสุขภาพดีด้วยวิถี “ปั่น-ถีบ”

          “ซิก้า” เป็นคำเรียกขาน “จักรยาน” ในภาษามลายูท้องถิ่น ที่นอกจากจะเป็นพาหนะที่ช่วยย่นระยะเวลาและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแล้ว การขี่จักรยานยังเป็นการออกกำลังกายที่ดีอีกอย่างหนึ่ง และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายหรือค่าน้ำมันจากการเดินด้วยพาหนะอื่นๆ ได้อีกด้วย

          ที่ ตำบลบาเจาะ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ประชากรเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งในวิถีชีวิตของชาวมุสลิมนั้นจะต้องไปละหมาดที่มัสยิดอย่างน้อยวันละ 5 ครั้ง จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่ว่าถ้าหากปรับเปลี่ยนค่านิยมและพฤติกรรมของคนในพื้นที่ ให้หันมาใช้ “ซิก้า” เป็นพาหนะในการเดินทางแทนรถมอเตอร์ไซค์ โดยเริ่มจากบ้านไปยังมัสยิดก่อนก็น่าจะเกิดประโยชน์และส่งผลดีต่อสุขภาพของคนในชุมชน

“โครงการชุมชนจักรยานเพื่อสุขภาวะบาเจาะ” จึงเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของ มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมี องค์การบริหารส่วนตำบลบาเจาะ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ โดยได้นำจักรยานมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนักให้กับคนในชุมชน ให้หันมาเห็นความสำคัญในเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง

          นายอดุลย์ ยีดิง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบาเจาะ และผู้รับผิดชอบโครงการเปิดเผยว่าในพื้นที่ตำบลบาเจาะนั้นหมู่บ้านหรือชุมชนต่างๆ จะอยู่ใกล้ๆ กันรวมเป็นชุมชนใหญ่ ถนนหนทางที่เชื่อมต่อแต่ละหมู่บ้านก็ร่มรื่นเหมาะที่จะใช้จักรยานในการเดินทาง จึงเกิดแนวคิดว่าจะเป็นไปได้ไหมถ้าเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในชุมชน โดยหันมาใช้จักรยานในการไปไหนใกล้ๆ เมื่อ 2 ปีที่แล้วก็เลยเริ่มต้นจากการจัดกิจกรรมสภากาแฟทุกวันศุกร์เว้นศุกร์ที่ อตบ.บาเจาะ โดยชวนชาวบ้านให้ปั่น “ซิก้า” หรือ “จักรยาน” มาพูดคุยกัน ทำให้เกิดการรวมกลุ่มปั่นจักรยาน พอปั่นแล้วไม่รู้สึกเขินอาย แล้วจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปใช้ในชีวิตประจำวัน

          “โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อต้องการให้พี่น้องประชาชนในตำบลบาเจาะได้หันกลับมาใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวันเพื่อสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นในชุมชนของเรา โดยได้มีการรณรงค์ให้ประชาชนได้ใช้จักรยานไปการเดินทางไปประกอบอาชีพ ปั่นจักรยานเพื่อร่วมกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ ปั่นจักรยานเพื่อประกอบศาสนกิจเพราะวิถีชีวิตของคนมุสลิมจะต้องออกจากบ้านเพื่อไปละหมาดที่มัสยิดอย่างน้อยวันละ 5 ครั้ง ซึ่งผลที่ได้ก็คือชาวบ้านให้ความร่วมมือและเริ่มหันกลับมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม  เมื่อมีการปั่นจักรยานมากขึ้น ประชาชนก็เริ่มเล็งเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการปั่นจักรยานที่สามารถลดค่าใช้จ่ายในการครองชีพ และช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นด้วย” ปลัด อบต.บาเจาะกล่าว

โดยจำนวนของผู้ใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทางของตำบลบาเจาะมีแนวโน้มที่จะใช้จักรยานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากทางคณะทำงานของ อบต.บาเจาะ นอกจากจะเป็นต้นแบบในการใช้จักรยานการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันแล้ว ยังได้พยายามชี้ชวนให้เห็นถึงประโยชน์และผลดีต่อสุขภาพโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่การปั่นจักรยานนั้นจะดีกว่าการวิ่งหรือการออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นๆ      

 “สำหรับที่ อบต.บาเจาะนั้นเรามีนโยบายสนับสนุนการใช้จักรยานในพื้นที่ เวลามีกิจกรรมอะไรก็ตามแต่ก็จะนำเรื่องของจักรยานแทรกเข้าไปตลอด ในการลงพื้นที่ทำงานกับชาวบ้านในชุมชนเกือบทุกครั้ง เจ้าหน้าที่ของ อบต. ก็จะรวมกลุ่มใช้จักรยานปั่นไปลงพื้นที่ หรือปั่นจักรยานไปทำกิจกรรมรณรงค์อะไรต่างๆ ร่วมกับชาวบ้าน โดยเฉพาะเมื่อเห็นว่าคนใช้จักรยานส่วนใหญ่จะมีสุขภาพดีขึ้นด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้กระแสของการใช้จักรยานเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในตำบลของเรา” นายตอพา อูแล นายก อบต.บาเจาะ ระบุ

          ซึ่งหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จของการขับเคลื่อน “ชุมชนจักรยานสุขภาวะ” ให้เกิดขึ้นได้ที่ตำบลบาเจาะ ก็คือการนำหลักธรรมคำสอนตามหลักศาสนาอิสลามมาช่วยตอกย้ำให้ชาวบ้านหันมาใส่ใจในเรื่องของสุขภาย โดยมีจักรยานเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงเรื่องของ “สุขภาพ” เข้ากับความ “ศรัทธา”

          “ตามหลักศาสนาอิสลามท่านนบีมูฮัมหมัดได้ตรัสไว้และให้ความสำคัญกับเรื่องของความพยายาม ใครที่มีความพยายามในการที่จะมามัสยิดมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งได้บุญมากเท่านั้น ดังนั้นการเดินมามัสยิดก็จะได้บุญมากกว่า และรองลงมาก็คือการปั่นจักรยานซึ่งจะได้บุญมากกว่าการใช้พานะหนะอื่นๆ อย่างมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์” นายมาหามะรอซี วาเด็ง อิหม่าม มัสยิดริยาฎอตุลญันนะห์ บ้านปาเบาะ ระบุ

          นายอาลีย๊ะ วาและ ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขตำบลบาเจาะ เล่าว่าการปั่นจักรยานนั้นมีแต่ข้อดี ดีต่อสุขภาพ ทั้งประหยัดพลังงาน ประหยัดเงิน ประกอบกับช่วงนี้สภาพเศรษกิจทางภาคใต้ไม่ค่อยจะดีนัก หากหั่นมาใช้จักรยานในการเดินทางไปไหนมาไหนในชุมชนก็จะช่วยลดรายจ่ายหรือค่าครองชีพได้

นายกอเดร์ ซาแมะ อายุ 70 ปี นายเจ๊ะหลง มะลี อายุ 65 ปี ชาวบ้านที่หันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การปั่นจักรยานนั้นทำสุขภาพร่างกายแข็งแรง วันไหนที่ไม่ได้ขี่ก็จะรู้สึกไม่ค่อยสบายตัว เวลาที่ไปทำงานต่างๆ เช่นกรีดยาง เลี้ยงวัว ก็จะใช้จักรยานเป็นในการเดินทางตลอด

“ที่สำคัญถ้าเรามีเงิน 20 บาทและขี่มอเตอร์ไซค์เราก็อาจจะไม่ได้กินข้าว เพราะต้องเอาเงินที่มีไปเติมน้ำมันจนหมด” คุณตากอเดร์ กล่าว

ด้าน นายอาแว หะมะโอะ อายุ 70 ปี ที่หันกลับมาเริ่มใช้จักรยานได้ประมาณ 2 ปีกล่าวว่า เมื่อก่อนไปไหนมาไหนก็จะใช้รถเครื่องตลอด แต่พอหันมาใช้จักรยานแทนก็รู้สึกว่าสุขภาพร่างกายดีขึ้น อาการปวดเมื่อยต่างๆ ก็ลดลงไป และทำให้นอนหลับสบาย

ในวันนี้ที่ตำบลบาเจาะ “ซิก้า” หรือ “จักรยาน” ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันไม่ถึง 10 คน ปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 60 คนหรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด โดยมีจุดเริ่มต้นด้วยการส่งเสริมให้ใช้จักรยานมาละหมาดที่มัสยิด ที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายแล้วยังส่งผลดีต่อสุขภาพอีกด้วย

ที่สำคัญในระหว่างการปั่นจักรยานยังเป็นโอกาสที่ดีที่คนในชุมชนจะได้พูดคุยสนทนาสอบถามสารทุกข์สุขดิบระหว่างกันและกัน เกิดเป็นการสานความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่ดีขึ้น และการเชื่อมโยงการใช้จักรยานเข้ากับหลักความศรัทธาในศาสนา ยังสร้างให้เกิดกระแสการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นที่หมายถึงความยั่งยืนของการดำเนินงานนั่นเอง.


 

หมายเลขบันทึก: 649314เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2018 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2018 17:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท