โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

ผู้ให้แสงสว่าง


โสภณ เปียสนิท

..............................

            ระหว่างสายฝนพรมพร่ำน้อยบ้างมากบ้างในบางแห่ง สมกับคำว่า ฝนตกไม่ทั่วฟ้า ที่มีมากก็มากเสียจนเขื่อนแตก ที่มีน้อยก็ถึงกับแล้งแห้งผากไม้ไร่ยืนต้นตาย ใช่ครับเข้าหน้าฝนอีกหนึ่งฤดูกาล ฤดูฝนมีความสำคัญกับเกษตรกรช่าวไรชาวนา ผู้ปักดำกล้ารอวันเจริญเติบโตของพืชพันธุ์ธัญญาหาร แต่อาจไม่มีความสำคัญสำหรับแม่ค้าแม่ขายหรือผู้ทำอาชีพอื่นๆ

            แม้ผมจะทำราชการมานาน แต่ผมเป็นลูกชาวไร่ชาวนา สืบเชื้อสายชาวไร่ชาวนา ภาพของพ่อแม่เพื่อนพีน้องหมู่ญาติในหมู่บ้านพากันทำไร่ไถนาตัดไม้จากป่า โดยผิดกฏหมายไปขายให้พ่อค้าคนกลาง เพื่อนำไปให้คนในเมืองใช้งานอย่างถูกกฏหมายต่อไป แปลกที่การตัดไม้เป็นความผิด แต่การขายไม้ในเมืองมักไม่ค่อยจะมีความผิดให้เดือดร้อนสักเท่าไร

            ความเป็นลูกชาวไร่ชาวนาทำให้ผมรับรู้ซึมซับวิชาการเกษตรมาทางสายเลือด แปลกที่หน้าฝนหรือวสันตฤดูทำให้ผมคิดถึงความหลังวัยเด็กที่หมู่บ้านท่ามะนาวริมราวป่า ชนบทเมืองกาญจนบุรี คิดถึงครอบครัว คิดถึงหมู่ญาติ คิดถึงวิถีชีวิตของคนชานเมืองที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเลี้ยงชีพกันไปตามวิถีแห่งตน อยู่กันตามประสา ชีวิตของชาวชนบทเรียนง่าย แค่มีบ้านอยู่อาศัย บ้างก็ทำไร่มัน ไร่อ้อย ไร่มะระกอ ตัดไม้ไผ่ไม้รวกไปขาย การตัดไม้ใหญ่ไปขายทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะไม้ใหญ่หายาก และมีความเข้มงวดในการตรวจตรามาก

            เมื่อถึงวันพืชมงคล ชาวบ้านมักทำไร่ทำนาเข้าป่าหาของป่ามาขายกันตามมีตามได้ ความอุดมสมบูรณ์ของป่าหล่อเลี้ยงชาวบ้านแถวๆนี้มาเนิ่นนาน ผ่านมาจนถึงวันนี้ การหาของป่าลำบากมากขึ้น ของป่าหายากขึ้นทุกที มีบางคนมองการไกล หาของป่ามาปลูกไว้เป็นของบ้าน เช่น การนำผักหวานป่า มาปลูกในที่ของตน กลายเป็นผักหวานป่าบ้าน มีไว้ขายไว้กินได้เอง โดยไม่ต้องเข้าป่าหาอีกต่อไป

            แรกๆ ถูกมองว่า เป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อมีความพยายาม ความสำเร็จก็เกิดขึ้นได้ เมื่อมีต้นผักหวานป่าบ้านต้นแรก ต้นต่อๆไปก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นผักหวานป่าในไร่ของหลายๆ คน เพราะเกิดองค์ความรู้ในการปลูกผักหวานป่าที่ถ่ายทอดกันต่อไป ผู้พยายามปลูกคนแรกได้รับการยกย่องว่า เป็นครูภูมิปัญญา

            ผมกลับบ้านที่เมืองกาญจน์เกือบทุกอาทิตย์เพราะเดี๋ยวนี้ ผมมีบ้านเล็กๆ เป็นของตัวเอง ใช่เป็นบ้านหลังแรกเมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยชรา 56 ปี การมีบ้านเป็นของตัวเอง จะว่าง่ายก็อาจจะง่ายสำหรับบางคน จะว่ายากก็ยากสำหรับบางคน สำหรับผมเอง อาจอยู่ในระดับกลางๆ จะยากก็ไม่ยาก จะง่ายก็ไม่เชิง เพราะกว่าจะมีบ้านอายุผ่านไปนานถึงปูนนี้

            กลับบ้านที่กาญจน์คราวนี้ท่ามกลางสายฝนบางๆ บางเสียจนเป็นฝอยฝน ถึงบ้านที่เมืองกาญจน์ถามญาติว่า “ฝนตกมากไหม” คำตอบที่ได้รับหน้าแปลกใจ “ฝนตกหญ้าตายต้นไม้งาม” อ้าว เอ๊ะ อย่างไรกัน ผมทำหน้าสงสัย ญาติอธิบายต่อโดยไม่ต้องให้ถาม เหมือนว่า จะมีคำตอบรออยู่ก่อนแล้ว “ตกเป็นฝอยฝนเม็ดเล็กๆ ดังที่เห็นอยู่นี่ ต้นหญ้าบนผิวดินเปียกชื้นพอได้รับความชุ่มชื่นบ้างเล็กน้อย แต่ว่า ฝนไม่โชกลงลึกสู่รากไม้ใหญ่ ชาวไร่ที่ปลูกไม้ใหญ่ไว้ เห็นฝนตกก็คิดว่า ไม่ต้องรดน้ำ กว่าจะรู้ว่าฝนแบบนี้ไม่ซึมลงสู่รากไม้ใหญ่ที่ปลูกไว้พากันเหี่ยวเฉาตายไปไม่น้อย ส่วนหญ้านั่นมีความทรหดอดทนมากกว่าต้นไม้ใหญ่บางชนิด พัฒนาตัวเองได้ดีกว่า ดำรงชีวิตได้ง่ายกว่า เพียงน้ำฝนเล็กน้อยเท่านี้ก็อยู่ได้อย่างสบาย”

            ผมนั่งเอนหลังพิงเก้าอี้โยกมองฝ่าสายฝอยฝนปรอยๆ ลงบนพื้นหญ้างามขจี ปล่อยความคิดล่องลอยไปลมฝน การปลูกบ้านหลังนี้ช้าไปไม่น้อย เพราะต้นไม้ใหญ่กว่าจะเติบโตได้ อย่างน้อย 4-5 ปีเป็นต้นไป แต่ผมเหลือเวลาอายุราชการอีกเพียงสามปี ช้าไปนิด แต่ก็ยังดีใจว่า ยังไม่ช้าจนเกินไป เพราะอีกสามปี นานพอที่จะทำให้ต้นไม้เติบโตได้ระดับหนึ่ง

            เกษตรกรทุกทีมีปัญหาแตกต่างกันไป เพราะการปลูกพืชไม่ว่าจะเป็นชนิดใด มีเวลาเป็นตัวสำคัญในการเจริญเติบโต ตามแต่ชนิดของพืชพันธุ์นั้นๆ มีแมลงรบกวน มีสัตว์อื่นๆ จากเล็กๆ ไปหาใหญ่คอยรบกวน ในหมู่บ้านท่ามะนาวที่ผมอาศัย มีช้างป่าปล่อยคอยรบกวน เมื่อก่อนตอนผมยังเด็กไม่มีช้าง อายุสามสิบกว่าเริ่มมีช้างป่าปล่อยมาอาศัยป่าเล็ก รอบๆ หมู่บ้านยามค่ำคืนก็ตระเวนออกเดินตามบ้านคน เหยียบย่ำคุ้ยเขี่ยหากินผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านทุกค่ำคืน

            พืชที่ช้างชอบ ผมต้องพยายามคิดหลายตรลบหาช่องหทางหลบซ่อนไว้มุมนั้นมุมนี้ ปลูกแยกๆ ให้ไกลกันเข้าไว้ เพื่อว่า ช้างอาจมาดึงกินต้นทางนี้ อาจเหลือต้นทางโน้นไว้ให้เจ้าของได้กินบ้าง แบ่งกันกินไปคนละนิดคนละหน่อยก็ยังดี พืชที่ผมปลูกจึงเป็นพืชที่ทนแล้งได้ ทนช้างได้ เช่นมะขามเปรี้ยวฝักใหญ่ มะขามเปรี้ยวฝักธรรมดา มะขามป้อม ขี้เหล็ก ก่อไผ่ก่อรวกจำนวนหนึ่ง

            แรกๆ ผมสังเกตว่า อะไรที่ทนช้างได้ ไผ่คิดว่าผ่าน เพราะช้างมาแอบรูดใบไปกินสองสามรอบแล้ว ใบโกร๋นไปหน่อย แต่ก็ยังดำรงต้นอยู่ได้ไม่นานก็ออกกิ่งก้านใบมาใหม่ เท่าที่สังเกตได้ในปัจจุบันเป็นอย่างนี้ จึงคิดจะปลูกก่อไผ่กอรวกเสริมแนวไว้บ้างบางส่วน มีสะเดาไม้พื้นถิ่นงอกงามอยู่เองบ้าง ปลูกเสริมไปบ้าง ปลูกพืชกินได้ไปหลายอย่าง อาจถูกช้างแอบมาขอไปกินบ้างซึ่งก็คงต้องทำใจ แต่วาดหวังไว้ว่า ผมจะมีป่าไม้ใช้สอย ป่าไม้กินได้  ป่าไม้ที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง

            หน้าฝนทุกครั้ง ผมคิดถึงวันเข้าพรรษา พระเณรต้องอยู่จำพรรษา ณ อาวาสแห่งใดแห่งหนึ่ง เป็นเวลานาน 3 เดือน ซึ่งหมายถึงหมดฤดูฝนแล้วจึงออกพรรษาสัญจรรอนแรมไปที่อื่นๆ ได้ตามสะดวก เพื่อเปลี่ยนที่ปลีกวิเวกปฏิบัติธรรมตามแต่สัปปายะของแต่ละองค์

            แรกๆ พระยังไม่มีพรรษา เพราะยังมิได้บัญญติไว้ในข้อห้ามของพระเถรเณรชี พระเณรจึงยังคงสัญจรรอนแรมไปตามเรีอกสวนไร่นาของชาวบ้าน จนเป็นที่กล่าวขานกันทั่วไปว่า ไม่สมควร เพราะนอกจากจะเปียกปอนแล้ว ยังเหยียบย่ำต้นกล้าพืชพันธุ์ของชาวบ้าน จึงมีบัญญัติให้พระเณรอยู่จำพรรษา

            เมื่อมีการอยู่จำพรรษา มีการถวายผ้าอาบน้ำฝน ถวายต้นเทียนเพื่อให้แสงสว่าง เป็นการถวายการบำรุงพระเจ้าพระสงฆ์ที่จำพรรษา ณ อารามใกล้บ้านของแต่ละชุมชน มีการถวายภัตตาหารตลอดพรรณา ไม่นานหลังการออกพรรษาก็มีประเพณีถวายผ้ากฐินไตรจีวรแด่พระสงฆ์ สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

            นึกถึงผู้ให้แสงสว่างนึกถึงนิทานคนตาบอดถือคบเพลิงขึ้นมาได้ จึงขอหยิบยกมาเล่าต่อไว้ในที่นี้ เรื่องนี้มีชื่อเรื่องว่า “    

ตาบอดกับโคมไฟ” เรื่องมีอยู่ว่า ตรอกสายหนึ่งที่ทั้งมืดทั้งแคบ ทั้งยังไม่มีดวงไฟส่องทางให้ความสว่างแม้แต่น้อย ดังนั้นเมื่อถึงยามค่ำคืน การเดินทางในตรอกแห่งนี้จึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก คืนวันหนึ่ง พระรูปหนึ่งเดินผ่านเข้ามายังตรอกดังกล่าวเพื่อมุ่งหน้าไปยังอาราม ทว่าด้วยความที่ตรอกนี้มืดมิด กระทั่งนิ้วมือทั้งห้าของตนเองยังไม่อาจมองเห็นได้ เมื่อเดินไปเรื่อยๆ พระรูปนี้จึงทั้งเดินไปชนผู้อื่น และถูกผู้อื่นเดินมาชนไม่หยุดหย่อน สร้างความลำบากยิ่งนัก

ตอนนั้นเอง คนผู้หนึ่งถือโคมไฟเดินเข้ามายังตรอกดังกล่าว พลันทำให้ในตรอกเกิดแสงสว่างขึ้นพอสมควร พระรูปนั้นได้ยินคนเดินผ่านทางกล่าวว่า "คนตาบอดผู้นั้นช่างแปลกนัก ตนเองมองไม่เห็นแท้ๆ ใยต้องถือโคมไฟให้วุ่นวาย"

เมื่อพระได้ยินก็รู้สึกแปลกใจ รอจนกระทั่งคนตาบอดถือโคมไฟคนนั้นเดินผ่านมา จึงเอ่ยถามขึ้นว่า "ขออภัย ท่านตาบอดจริงๆ หรือ?"

คนผู้นั้นตอบว่า "ถูกแล้ว ข้าเกิดมาก็พิการ ตาสองข้างมองไม่เห็น สำหรับข้านั้นไม่ว่าจะยามเช้าสายบ่ายเย็นล้วนไม่ต่างกัน ทั้งยังไม่ทราบว่าแสงสว่างหน้าตาเป็นเช่นไร"

พระได้ยินดังนั้นก็ยิ่งงุนงงมากขึ้น เอ่ยถามต่อไปว่า "เช่นนั้นท่านจะถือโคมไฟไปเพื่ออะไร?" คนตาบอดตอบว่า "เนื่องเพราะข้าเคยได้ยินคนพูดกันว่าในยามกลางคืนไร้แสงสว่าง คนตาดีทั้งหลายก็เป็นเช่นเดียวกับข้า คือมองไม่เห็นสิ่งใด เมื่อครู่ท่านเดินอย่างมืดมนในตรอกใช่โดนคนเดินสวนไปมาชนเอาหรือไม่ "

ท่านดูข้าเองนั้นแม้เป็นคนตาบอด แต่ข้าไม่โดนผู้อื่นเดินชนเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนข้าก็เป็นเช่นเดียวกับท่าน คือโดนคนเดินมาชนเอาบ่อยครั้ง แต่เมื่อข้าถือโคมไฟทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ที่ข้าจุดโคมไปไหนมาไหนด้วยนั้น ข้าจุดเพื่อให้แสงสว่างกับผู้อื่น และเพื่อให้ผู้อื่นมองเห็นตัวข้า ตั้งแต่นั้นมาข้าก็ไม่โดนผู้ใดเดินชนอีกเลย" พระได้ยินความดังนั้นก็บรรลุปัญญา ......."การช่วยเหลือผู้อื่น ประโยชน์สูงสุดล้วนกลับคืนมาสู่ผู้ให้"

อ่านเรื่องนี้ครั้งเดียวก็จำได้ดี อาจเป็นเพราะสารัตถะอันลำเลิศ หรืออาจเป็นเพราะผู้บันทึกเรื่องราวใช้ภาษาได้สละสลวย หรืออาจเป็นเพราะเรามีความชอบในเนื้อหาท้วงทำนองแนวนี้ จึงเกิดความสงบในจิตใจ ระหว่างการนั่งเก้าอี้โยกหน้าบ้านเล็กในป่าใหญ่แถบเขาชนไก่เมืองกาญจน์ มองฝอยฝนหล่นลงบำรุงภาคพื้นเมทนีดล เรื่องนี้แวบขึ้นในจิตอีกครั้ง เหมือนมาทบทวนในเห็นความงดงามของความดีเมื่อทำแล้ว ย่อมเกิดความสุขแก่ผู้ทำและผู้ที่ซาบซึ้งกับการกระทำนั้นๆ

ชายตาบอดแต่จิตใจสว่างโพลนมองเห็นได้ลึกซึ้งเกินกว่าคนตาดี อาจเป็นข้อดีของคนตาบอดที่มีความสุขุมในการใช้ตาในเพื่อการมองได้ลึกซึ้งกว่า หรือกล่าวได้ว่า ต่างมุมมอง คนตาดีอาจมองว่า เมื่อมีแสงไฟมองเห็นหนทางเดินไปข้างหน้าได้อย่างสบายก็ดีแล้ว แต่คนตาบอดกลับมองว่า ส่องทางให้สว่างไว้ คนตาดีมีมาก เมื่อมองเห็นคนตาบอดเดินมาจะได้ระมัดระวัง ทำให้ตนเองรอดพ้นจากการถูกเดินชนได้

หมายเลขบันทึก: 649270เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2018 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2018 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท