วิจารณ์ภาพยนตร์ราชทัณฑ์เรื่อง The Shawshank Redemption


                                                    วิจารณ์ภาพยนตร์ราชทัณฑ์เรื่อง The Shawshank Redemption

                                                                                                                         ตฤณห์ โพธิ์รักษา

                 ภาพยนตร์เรื่อง The Shawshank Redemption ของผู้กำกับ Frank Darabont ซึ่งได้เค้าโครงเรื่องมาจากนวนิยายเรื่องสั้นของ Stephen King จากนวนิยายเรื่องสั้นชื่อ "Rita Hayworth and Shawshank Redemption"[1] เป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนด้านมืดและความอยุติธรรมในระบบกระบวนการยุติธรรมในสหรัฐอเมริกาที่จำลองขึ้นให้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1965 แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำขึ้นในปี ค.ศ.1994[2] เนื้อเรื่องกล่าวถึงเรื่องราวของ Andy Dufresne นายธนาคารหนุ่มไฟแรงที่โดนศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในข้อหาฆาตกรรมภรรยาและชู้ของเธอ[3] โดยการยิงด้วยปืนสั้นลูกโม่ใส่ภรรยา 4 นัดและชายชู้อีก 4 นัด รวมเป็น 8 นัด ซึ่งเขาได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ทั้งยังไม่พบหลักฐานที่ใช้ก่อเหตุ แต่ศาลก็ได้พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต เนื่องจากการฆาตกรรมไม่ใช้การฆ่าโดยบันดาลโทสะ แต่เป็นการฆ่าด้วยความแค้น ตัดสินจากการใช้ลูกกระสุนปืน เกินกว่าที่ลูกโม่จะใส่ได้ถึง 2 นัด ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นการกระทำที่เหี้ยมโหดเกินกว่าที่จะปล่อยสู่สังคมได้ จึงสั่งจำคุก Andy Dufresne ตลอดชีวิต

               Dufresne ถูกส่งตัวไปที่เรือนจำชื่อว่า Shawshank ภายใต้การควบคุมของพัศดี Warden Norton[4] จอมคอรัปชั่น และหัวหน้าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์สุดโหด Captain Hadley ผู้ซึ่งซ้อมนักโทษจนเสียชีวิตภายในวันแรกของการกักตัวในเรือนจำของกลุ่มนักโทษใหม่ที่เข้ามาพร้อม Dufresne แค่เพียงเพราะนักโทษที่ถูกเรียกว่า Fat ass ร้องไห้อยากกลับบ้านเท่านั้นเอง การกระทำของ Captain Hadley สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่มีต่อนักโทษอย่างโหดร้ายทารุณและเกินกว่าเหตุ ทำร้ายร่างกายโดยไม่สนว่านักโทษจะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือไม่ พร้อมทั้งวัฒนธรรมในคุกซึ่งได้แก่ “การพนัน” ว่านักโทษใหม่คนใดจะร้องไห้ออกมาคนแรก เดิมพันด้วยบุหรี่ซึ่งถือเป็นของมีค่าในนั้นเทียบได้กับเงินเลยทีเดียว 

              ขั้นตอนแรกของการเข้าเรือนจำที่ปรากฏให้เห็นในภาพยนตร์คือการฉีดน้ำ เปรียบเสมือนการล้างบาป และสาดแป้งฆ่าโลน ใส่นักโทษใหม่ทุกคน พร้อมทั้งให้นักโทษทุกคนเดินเรียงเปลือยกายมารับของใครประจำตัว พร้อมคัมภีร์ไบเบิ้ล และคำต้อนรับจากพัศดีที่ว่า I believe in two things: discipline and the Bible. Here you'll receive both. Put your trust in the Lord; your ass belongs to me. Welcome to Shawshank. สะท้อนให้เห็นถึงการใช้คำสอนของพระเจ้าผ่านการอ่านคัมภีร์ไบเบิ้ล ทำให้นักโทษมีความสำนึกผิดในบาปและกลับตัวเป็นคนดี และเชื่อในคำสอนของพระเจ้า นี่คือหนึ่งในการบำบัด ขัดเกลาจิตใจ ซึ่งประเทศไทยก็ได้มีการใช้วิธีนี้เช่นกัน หากแต่ประเทศไทยเป็นการ นำธรรมะ และคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้ขัดเกลาและฝึกสมาธิ ให้นักโทษมีสติ คิดไตร่ตรองดีชั่วนั่นเอง

               Dufresne ใช้เวลาไม่นานในเรือนจำเพื่อที่จะทราบว่า ใครเป็นผู้ที่สามารถหาของได้ทุกย่างที่เขาต้องการ หรือจะเรียกว่า “พ่อค้า” ในเรือนจำก็ไม่ผิด นั่นเป็นจุดเริ่มต้นมิตรภาพระหว่างเขาและเพื่อนนักโทษด้วยกันนั่นก็คือ Ellis Boys ‘Red’ Redding นั่นเอง ก่อนที่ Red จะกลายมาเป็นเพื่อนสนิทของ Dufresne เขาได้จับตามองนักโทษใหม่คนนี้ตั้งแต่วันแรก ยิ่งไปกว่านั้น Red ยังได้เดิมพันกับเพื่อนนักโทษด้วยกันว่า นายธนาคารหนุ่มตัวสูงจากคดี ฆาตกรรมภรรยาและชู้ที่มีนามว่า Dufresne นี่แหละ ที่จะร้องไห้เป็นคนแรก ในคืนต้อนรับสมาชิกใหม่ของ Shawshank แต่แล้วเขาก็คาดเดาผิดไปถนัด Dufresne ไม่แม้แต่จะส่งเสียงใดใดออกมา มีแต่ความเงียบเท่านั้นที่ลอยอยู่ในห้องขังของเขา การมีกิริยาที่สงบเยือกเย็นของ  Dufresne ยิ่งทำให้ Red สนใจในตัวเขามากยิ่งขั้น และแล้ววันที่ Dufresne เดินมาหาเขาเพื่อขอให้หาสิ่งของสิ่งหนึ่งให้ Red ยิ่งกลับต้องประหลาดใจกว่าเดิม เพราะสิ่งที่ Dufresne ต้องการนั้นเป็นเพียงแค่ ค้อนแกะสลักด้ามจิ๋วด้านหนางเท่านั้น Red หัวเราะในใจ ของสิ่งนี้ไม่สามารถทำให้นักโทษคนหนึ่งใช้ขุดอุโมงค์หนีออกไปได้หรอก เขาคิดกับตัวเอง

                  ต่อมาไม่นาน Dufresne และบุคคลิกอันเยือกเย็นของเขา กลับทำให้เขาเป็นที่หมายปองของแก็งค์นักโทษอันธพาลซึ่งเป็นกลุ่มรักร่วมเพศที่ใช้ความรุนแรง ที่นำโดย Bogs Diamond หัวหน้าแก็งค์ที่มีเรื่องชกต่อยกับ Dufresne ตลอดในช่วงสองสามปีแรก ซึ่ง Dufresne ก็สู้สุดชีวิตทุกครั้งไป แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ตกเป็นของเล่นให้กับอันธพาลกลุ่มนี้อยู่เสมอ จนกระทั่ง Captain Hadley ได้ซ้อม Bogs จนถึงแก่ชีวิตในเวลาต่อมา (เป็นการจำลองสังคมรักร่วมเพศในเรือนจำได้อย่างน่าสนใจ หดหู่และรุนแรงในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการดำเนินชีวิตในเรือนจำทุกๆแห่ง) ต่อมาไม่นาน Dufresne ซึ่งเป็นนายธนาคารมากความสามารถ ได้เสนอความช่วยเหลือการทำเรื่องหลีกเลี่ยงภาษีให้กับ Captain Hadley ซึ่งเขาก็ได้ขอเบียร์คนละ 3 ขวดให้กับกลุ่มเพื่อนของเขาเป็นการตอบแทน ซึ่ง Hadley ก็ได้ตกลงยินยอมให้ Dufresne ช่วยทำเรื่องทุจริตนี้ ต่อมาเมื่อพัศดีทราบถึงความสามารถทางการจัดการทางการเงินของ Dufresne เขาจึงให้ Dufresne จัดการโยกย้ายเงิน และฟอกเงินให้ตลอดระยะเวลาที่ Dufresne ถูกจำคุกอยู่ที่ Shawshank ซึ่งการที่ได้เป็นคนโปรดของพัศดี Dufresne ถูกอนุโลมในการมีสิ่งของต้องห้ามแต่ไม่เป็นอันตรายอยู่ในห้องขัง อาทิเช่นโปสเตอร์รูปภาพของ Racquel Welch (ภายหลังถูกเปลี่ยนเป็นรูปภาพของ Rita Hayworth ในฐานะของของขวัญต้อนรับการกลับมาจาก การขังเดี่ยว 1 เดือนเต็มจาก Red เพื่อนสนิทของเขา ซึ่งตรงกับชื่อของนวนิยายเรื่องสั้นที่เป็นต้นฉบับของภาพยนตร์เรื่องนี้) และตัวหมากรุกจากการสลักหินของเขา

             ต่อมาไม่นานได้มีหัวขโมยวัยรุ่นชื่อ Tommy ได้เข้ามาใหม่ เขาเป็นคนโปรดของ Dufresne เพราะ Dufresne อยากให้ Tommy ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเพื่อสอบเทียบมัธยมปลาย โดยมี Dufresne คอยสอนและติวหนังสือเป็นเวลา 1 ปีเต็ม (สะท้อนการส่งเสริมการศึกษาให้แก่นักโทษภายในเรือนจำ และการให้พื้นที่ในการแสดงศักยภาพตามอัธยาศัยของนักโทษ)แต่น่าเสียดาย ในวันเดียวกันกับที่ผลสอบออกว่า Tommy ผ่านการสอบคัดเลือก เขาได้ถูกพัศดียิงเสียชีวิต เนื่องจากเขาเป็นกุญแจสำคัญ เป็นพยานในการรื้อคดีของ Dufresne เนื่องจาก เขาได้ฟังการพูดโอ้อวดจากปากของฆาตกรที่ลงมือฆ่าชายชู้และภรรยาของ Dufresne ในเรือนจำแห่งหนึ่งก่อนเข้ามาที่ Shawshank และ Tommy ยินดีจะเป็นพยานให้ Dufresne หากมีการรื้อคดีขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง พัศดีจึงกลัวว่า Tommy จะทำให้เขาสูญเสียเครื่องฟอกเงินชั้นดีไป จึงกำจัดทิ้งเสีย วันต่อมาพัศดีได้ให้เหตุผลในการเสียชีวิตของ Tommy ว่า เป็นการพยายามหนีออกจากเรือนจำ ซึ่งเหตุผลอันน่าขันนี้ไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย เนื่องจากเหลือเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น Tommy ก็จะเป็นอิสระจากการถูกคุมขังแล้ว การพยายามหนีออกจากเรือนจำแล้วถูกเจ้าหน้าที่ยิงเสียชีวิตนั้นจึงเป็นเหตุการณ์ที่มีข้อกังขา น่าสงสัยมากมาย การเสียชีวิตของ Tommy นั้น สะท้อนให้เห็นถึงระบบเผด็จการ ซึ่งไม่มีการตรวจสอบ ถ่วงดุลจากโลกภายนอกใดใดเลย การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และรวมอำนาจอยู่ที่บุคคลคนเดียว คือการใช้อำนาจโดยปราศจากความยุติธรรม การกระทำของพัศดีแสดงให้ประจักษ์อย่างชัดเจนว่า ผู้กุมอำนาจไม่สนใจ และเพิกเฉยต่อสิทธิ์ของผู้ต้องโทษภายในเรือนจำ การทำงานอันปราศจากระบบ เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในเรือนจำแห่งนี้ การใช้อำนาจการปกครองตามอำเภอใจและละเลยสิทธิมนุษยชน และสิทธิคุ้มครองของนักโทษ ทำให้พัศดีเป็นผู้กุมชะตาชีวิตของทุกคนในเรือนจำอย่างหลีกเลี่ยงมิได้

                 ระหว่างนั้นเองนักโทษชายชราที่มีหน้าที่เป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดชื่อ Brooks Hatlen[5] ซึ่งถูกจำคุกตั้งแต่ปี 1905 และได้รับการปล่อยตัวในปี 1955 รวมแล้วใช้ชีวิตอยู่ในคุกมา 50 ปี ปีที่เขาได้เป็นอิสระพ้นโทษเป็นปีเดียวกันกับที่เขาได้ฆ่าตัวตายโดยการแขวนคอเนื่องจาก มีความยึดติดกับสถาบัน (Prisonisation/ Institutionalization) นั่นเอง ก่อนหน้าที่ Brooks จะได้รับการปล่อยตัว เขาได้พยายามทำร้ายร่างกายเพื่อนนักโทษด้วยกันโดยการเอามีดจ่อที่คอ เพื่อที่จะได้รับโทษเพิ่มอีก เนื่องจากเขาไม่ต้องการที่จะออกไปจากคุก อยู่ในคุกเขาเป็นคนสำคัญ เป็นบรรณารักษ์ เพื่อนในคุกต้องการเขา แต่เมื่อออกไปเผชิญโลกแห่งความจริง เขากลับเป็นแค่ชายชราคนหนึ่ง ที่ไม่สามารถแม้กระทั่งทำงานในร้านสะดวกซื้อเนื่องจากมีอาการมือสั่นจากโรคชรา การตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองลงจึงเป็นทางออกที่ Brooks คิดว่าเหมาะสมแล้วกับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน ต่างจากโลกที่เขาเคยอาศัยอยู่ก่อนถูกต้องโทษอย่างสิ้นเชิง เมื่อพ้นโทษอันแสนยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ไม่แปลกเลยที่ Brooks จะปรับตัวเข้ากับโลกใหม่ภายนอกไม่ได้ ทุกอย่างเคลื่อนที่เร็วไปหมด เขากลายเป็นคนที่ไม่รู้อะไรเสียเลยเกี่ยวกับโลกใบนี้ ทุกอย่างช่างดูแปลกตา มันช่างเป็นอิสรภาพที่เงียบเหงาเสียเหลือเกิน มันต่างกันราวฟ้ากับเหวเมื่อเปรียบเทียบกับคุกที่เขาจากมา ที่ซึ่งเต็มไปด้วยเพื่อนๆของเขา ทุกคนให้ความเคารพเขา เขาเป็นคนสำคัญในนั้น มันจะมีประโยชน์อะไรกับการที่เขาได้รับอิสรภาพทางกาย แต่ทางจิตใจและสังคมเขาถูกทิ้งให้อยู่เดียวดายไรค่า การตายคงจะเป็นทางออกที่ง่ายที่สุดสำหรับ Brooks นั่นเอง

                  เช่นเดียวกับ Red ซึ่งเป็นเสมือนพ่อค้าในเรือนจำ Shawshank เขาสามารถหาของได้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่ หรือค้อนแกะสลักอันเล็กๆที่ Dufresne ไหว้วานให้เขาหาให้ตั้งแต่ตอนแรก เขาพูดเสมอว่า hope is a dangerous thing my friend, it can kill a man... เมื่อได้ทราบว่าความฝันและความหวังของเพื่อนรักของเขาคือการได้ออกไปจาก Shawshank และมีโรงแรมเล็กๆของตนเองที่ Mexico แต่กลับตรงข้ามกับ Dufresne ที่มีความหวังอยู่เสมอ และได้พูดกับ Red ว่า Remember Red, hope is a good thing, maybe the best of things, and no good thing ever dies. ความหวังสำหรับเขานั้น เปรียบเสมือนแสงสว่างในชีวิตที่ผลักดันให้เขามีความมานะอดทน และโดยการได้รับการอนุโลมจากพัศดีในการมีสิ่งของต้องห้ามแต่ไม่เป็นอันตราย เขาได้ใช้ความอดกลั้นและใจเย็นโดยการใช้เวลากว่า 19 ปี ใช้ค้อนแกะสลักด้ามเล็กด้ามนั้น เจาะรูบนกำแพงที่อยู่เบื้องหลังโปสเตอร์รูปสาวสวย Rita Hayworth ทีละนิด และนำเศษหินออกมาทิ้งที่ลานวันละ 1 กำมือเป็นเวลา 19 ปี ก่อนจะแหกคุกได้สำเร็จและหนีออกมาพบกับอิสรภาพ พร้อมทั้งมีของกำนัลเป็นเงินของพัศดีที่เขาได้ช่วยยักยอกออกมาในชื่อใหม่ที่เขาสมมติขึ้น เขาใช้กลเม็ดหักหลังเอาเงินคืนมาได้อย่างแสบสันต์ พร้อมทั้งแฉเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการฟอกเงินของพัศดีผ่านทางจดหมายที่ส่งไปยังบริษัทหนังสือพิมพ์ ทำให้เรื่องแดงนำไปสู่การยิงตัวตายของพัศดีเพื่อหนีความผิดในที่สุด

               นอกจากนี้ภายในเรื่องยังแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของ Super นักโทษ ซึ่งก็คือนักโทษที่ถูกต้องโทษเป็นระยะเวลายาวนานจนสามารถสร้างอิทธิพลและอำนาจภายในเรือนจำ โดยการรังแก ทำร้ายร่างกายนักโทษคนอื่นๆเพื่อให้ได้มาถึงสิ่งที่ตนต้องการ อาศัยการมีพรรคพวกหรือลูกสมุนเยอะๆ หรือสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่เรือนจำเป็นอย่างดี การกระทำเช่นนี้เป็นการแสดงออกถึงอำนาจของตน และคนเหล่านี้จะถือว่าตนเป็นชนชั้นที่สูงกว่า มีอำนาจมากกว่า คนต้องยำเกรง ถึงแม้ว่าจะอยู่ในเรือนจำก็ตาม กลายเป็นวัฒนธรรมทางอำนาจของเรือนจำไปโดยปริยาย

                 และอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจในภาพยนตร์เรื่องนี้คือ การเรียนรู้อาชญากรรมในคุกดังเช่นที่นายธนาคารหนุ่มกล่าวไว้ในภาพยนตร์ “It's funny. On the outside, I was an honest man. Straight as an arrow. I had to come to prison to be a crook.” นั่นคือเรือนจำเป็นสถานที่สอนการก่ออาชญากรรมได้เป็นอย่างดี หรือเรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนสำหรับโจร สภาพแวดล้อมและสมาชิกในเรือนจำจะบังคับให้นักโทษที่ไม่มีสันดานเป็นผู้ร้าย กลับต้องเอาตัวรอดในเรือนจำโดยการทำความผิด หรือกลายเป็นคนชั่วเพื่อที่จะเข้ากลุ่มกับนักโทษส่วนใหญ่ที่มีสันดานเป็นผู้ร้ายได้ ในประเทศไทยนั้นจะเห็นได้ชัดจากการที่เยาวชนที่ถูกส่งไปอยู่ที่สถานพินิจฯ เมื่อกลับออกมาสู่สังคม เด็กเหล่านั้นได้ก่ออาชญากรรมที่รุนแรงขึ้น หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และถูกส่งตัวกลับไปบำบัดอยู่บ่อยๆ

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราเรียนรู้ว่า สังคมของคนคุกมีผู้ต้องขังอยู่ 2 พวก พวกแรกคือ พวก “คนจริง” (The real man) ที่ยอมรับว่าทำผิดจริง ยอมรับในการกระทำของตนเอง และยอมรับการถูกลงโทษและรับการแก้ไขปรับปรุงตัว พวกที่สอง คือ พวก “หน้าตัวเมีย” (The wolf) ที่ไม่เคยยอมรับในการกระทำผิดของตนเอง[6]

             เรื่องที่น่าศึกษาจากการชมภาพยนตร์คือ การใช้โทษจำคุกระยะยาวกับคนที่ไม่มีสันดานเป็นผู้ร้าย แต่ทำผิดรุนแรง เช่นกรณีฆ่าคนตาย จะเกิดผลอะไรตามมา เราจะเห็นได้จากกรณีทั้ง Dufresne, Brook และ Red ที่ติดคุกกันคนละ 20 – 50 ปีว่าผลที่ตามมาคืออะไร พวกเขาสมควรที่จะได้รับโอกาสแก้ตัว หรือพิสูจน์ความจริงโดยการสู้คดีอีกครั้งหรือไม่ การบำบัดนักโทษด้วยวิธีที่เหมือนกันกับนักโทษที่กระทำผิดต่างกันสมควรแล้วหรือ กระบวนการยุติธรรมควรจะหาทาง Rehabilitate ผู้ต้องขังให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไปหรือไม่ ที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมตัวให้ผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษได้มีการเตรียมพร้อมก่อนที่จะกลับคืนสู่สังคม สามารถปรับตัว ใช้ชีวิตในสังคม หางานทำได้เฉกเช่นคนสามัญทั่วไป และรู้สึกถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ไม่คิดสั้นอย่าง Brook การได้รับอิสรภาพ เป็นสิ่งที่ควรจะเป็นความหวังและพลังในการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังพ้นโทษ เพื่อที่จะผลักดันให้ผู้ต้องขังมีความประพฤติที่ดี รอคอยวันพ้นโทษ ไม่ใช่การกลัวการพ้นโทษหรือการยึดติดกับสถาบัน(Prisonisation/ Institutionalization) ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์

                                               Extra references (เรื่องจริงที่เกิดขึ้นคล้ายกับในภาพยนตร์)

'Real-life Shawshank Redemption' prison escapee recaptured after 56 years (2015)

        Harold Frank Freshwaters, left, in a Feb. 26, 1959 Ohio State Reformatory photo released by the U.S. Marshals Service, and right, in a May 4, 2015, booking photo released by the Brevard County Sheriff's Office[7]

A convict who was once imprisoned at the Ohio prison used to film The Shawshank Redemption has been recaptured after 56 years on the run.

In a case bearing remarkable similarities to the critically acclaimed 1994 film, Frank Freshwaters, 79, had "quickly earned the trust of prison officials" before escaping jail in 1959, according to Peter Elliott, the US Marshal for the Northern District of Ohio. Freshwaters was convicted of manslaughter for killing a pedestrian with a vehicle in July 1957, and his initially suspended sentence of one to 20 years in prison was imposed in 1959 after he violated his probation by driving and getting a driver's licence, according to the marshals and old court documents they provided.

He was imprisoned at the old Ohio State Reformatory before being moved to a lower-security camp, from where he escaped in September 1959, the statement said.

[1] Frank Darabont.The Shawshank Redemption [Online].1994.Available from:

http://www.imdb.com/title/tt01... 5]

[2] Moviemistakes.The Shawshank Redemption 41 mistakes.[online].1994.Available from:

https://www.moviemistakes.com/... 5]

[3] IMDb.Plot Summary of The Shawshank Redemption [Online].1994.Available from:

http://www.imdb.com/title/tt01... 5]

[4] Fandom.The characters in The Shawshank Redemption.[Online].Available from:

http://shawshank.wikia.com/wik... 5]

[5] Fandom.Brooks Hatlen.[Online].Available from

http://shawshank.wikia.com/wik... 5]

[6] นัทฐี จิตสว่าง.ภาพยนตร์ราชทัณฑ์: The Shawshank Redemption ความหวังของคนคุก.[Online].2012.Available from:

https://www.gotoknow.org/posts... 6]

[7] Andrew Marszal, and AP.Real-life Shawshank Redemption' prison escapee recaptured after 56 years.[Online].2015.Available from :

http://www.telegraph.co.uk/new... 5]

หมายเลขบันทึก: 649047เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2018 20:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2019 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท