ภาพยนตร์ราชทัณฑ์: The Shawshank Redemption ความหวังของคนคุก


ภาพยนตร์ราชทัณฑ์: The Shawshank Redemption ความหวังของคนคุก

นัทธี จิตสว่าง

ถ้าจะกล่าวว่าภาพพจน์ของงานราชทัณฑ์โดยเฉพาะงานเรือนจำได้ถูกกำหนด ถูกแต่งเติมโดยนวนิยายและภาพยนตร์เรื่องราวเกี่ยวกับเรือนจำในอดีตก็คงจะไม่ผิด และภาพยนตร์เกี่ยวกับเรือนจำส่วนใหญ่ ถ้าไม่เติมสีสัน แสดงความโหดร้ายทารุณ การทุจริตคอร์รัปชัน การรักร่วมเพศ และความรุนแรงแล้ว ก็จะเป็นภาพยนตร์ที่จืดชืดไร้คนดู

ในภาพยนตร์เรื่อง Shawshank Redemption แม้จะไม่ใช่เรื่องนวนิยาย เพราะเป็นเรื่องที่เขียนขึ้นจากเค้าโครงของเรื่องจริงบางส่วนและแต่งเติมอีกหลายส่วน แต่ก็เป็นส่วนที่สะท้อนให้เห็นแง่มุมของงานราชทัณฑ์ที่คนราชทัณฑ์ไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง

 

Shawshank ซึ่งเป็นบทประพันธ์ของ Stephen King เป็นเรื่องเกี่ยวกับนายธนาคารหนุ่มผู้หนึ่ง (Andy Dufresne) ซึ่งถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต โทษฐานฆ่าภรรยาของตนเอง แอนดี้จึงถูกจองจำอยู่ในเรือนจำร่วม 20 ปี ก่อนที่เขาจะพบพยานที่จะช่วยพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขาและขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ แต่ก็ถูกปฏิเสธจากพัศดีซึ่งต้องการกักแอนดี้ไว้ใช้งาน โดยให้แอนดี้ดัดแปลงแก้ไขเรื่องภาษีและการฟอกเงินของเขา เป็นผลให้แอนดี้โกรธและดัดหลังพัศดีอย่างสาสม รวมทั้งได้หลบหนีออกมาจากเรือนจำ

แต่ก่อนที่แอนดี้จะหลบหนีออกจากเรือนจำได้ ชีวิตภายในเรือนจำกว่า 20 ปี ได้สะท้อนให้เห็นถึงสังคมคนคุกและเรื่องราวของชีวิตในเรือนจำได้อย่างดี

ชีวิตในคุกของ “แอนดี้” ได้เพื่อนที่ชื่อ “เรด” เป็นคนเล่าเรื่องราวตั้งแต่เริ่มเข้าเรือนจำในวันแรก และวันต่อๆมา จากเดือนเป็นปี จากปีเป็น 20 ปี ทำให้แอนดี้ได้สัมผัสกับความกักขฬะและสันดานดิบของผู้คุมและนักโทษด้วยกันเอง รวมไปถึงได้สัมผัสมิตรภาพอันงดงามจาก “เรด” นักโทษเพื่อนแท้ ถึงแม้โทษจำคุกตลอดชีวิตจะทำให้นักโทษบางคนท้อแท้ถึงที่สุด แต่ “แอนดี้” ไม่ท้อ เขาพยายามเจาะกำแพงคุกหนาด้วยฆ้อนด้ามเล็กๆ ใช้เวลากว่า 10 ปี จึงทะลุออกมาได้

ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเค้าโครงเรื่องมากจากเหตุการณ์ในปีค.ศ. 1950 – 1960 หรือเมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว สังคมคนคุกและวิธีการปฏิบัติของเรือนจำในสมัยนั้นจึงนำมาเปรียบเทียบกับในสมัยปัจจุบันแทบจะไม่ได้ การขังเดี่ยวในคุกมืดถูกยกเลิกไปในสหรัฐฯ (และในประเทศไทย) เพราะถือว่าเป็นการลงโทษที่ทารุณผิดปกติ (Unkind and unusual punishment) การซ้อมนักโทษ การรุมซ้อมกันเองของนักโทษ รวมทั้งการฆาตกรรมนักโทษ เป็นเรื่องที่ไม่อาจทำได้เหมือนดังเช่นแต่ก่อน เพราะสังคมคุกที่เปิดออก ทำให้การตรวจสอบจากภายนอกมีมากขึ้น และไม่อาจปิดกั้นปกปิดเรื่องราวดังกล่าวได้ดังเช่นในอดีต ดังนั้น “การซ้อม” จึงมีได้จำกัดมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมของเรือนจำแบบ “พึ่งพา” ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขัง

เรื่องของตลาดมืดแม้จะยังคงปรากฏในเรือนจำปัจจุบัน แต่ไม่ “ง่าย” ชนิดที่จะเอาอะไรไปได้ทุกอย่างดังเช่นในภาพยนตร์ แต่ต้องยอมรับว่า ในเรือนจำเปรียบเสมือนกับโลกอีกโลกหนึ่ง เป็นโลกของคนคุกโดยเฉพาะในเรือนจำที่มีความมั่นคงแข็งแรงระดับสูง เป็นโลกที่มีวัฒนธรรม ค่านิยม ภาษาและแบบพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากสังคมภายนอกในหลายๆ เรื่องซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก หากจะคิดแก้ไขคนเหล่านี้

แต่เรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้คือ การที่นายธนาคารหนุ่มมาติดคุกแล้วเป็นคนไร้ญาติขาดมิตร ไร้เครือข่ายทำให้ต้องถูกรุมทั้งจากนักโทษและผู้คุมโดยไม่มีการร้องเรียนใดๆ

ในเรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพของผู้ต้องขังที่พัฒนาขึ้นมาจากการที่ต้องมาอยู่รวมกัน พึ่งพากัน ทุกคนต้องมีเพื่อน มีพวก เลยทำให้เกิดการรวมกลุ่ม และถ่ายทอด โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายเรือนจำไม่ให้ความคุ้มครองดูแลได้เต็มที่

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราเรียนรู้ว่า สังคมของคนคุกมีผู้ต้องขังอยู่ 2 พวก พวกแรกคือ พวก “คนจริง” (The real man) ที่ยอมรับว่า ทำผิดจริง ยอมรับในการกระทำของตนเอง ยอมรับกรรม และยอมรับการถูกลงโทษและรับการแก้ไขปรับปรุงตัว พวกที่สอง คือ พวก “หน้าตัวเมีย” (The wolf) ที่ไม่เคยยอมรับในการกระทำผิดของตนเอง ทั้งปฏิเสธว่าไม่ได้ทำและหากปฏิเสธไม่ได้ก็จะโทษคนอื่นเสมอ โทษว่าถูกกลั่นแกล้ง ถูกชวนไป ถูกบังคับให้ทำ อีกนัยหนึ่งคือ ตนเองดีแต่คนอื่นชั่ว คนพวกนี้จึงไม่ยอมรับการอบรมแก้ไขของเรือนจำ เพราะไม่คิดว่าตนเองผิดและไม่ยอมที่จะถอนตัวออกมาจากความชั่ว การแก้ไขผู้ต้องขังเหล่านี้จึงมักจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง การปรับเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยมของพวกนี้เป็นเบื้องต้น จึงน่าจะเป็นเรื่องสำคัญก่อนจะมีการดำเนินการอบรมแก้ไขต่อไป

เรื่องที่น่าสนใจก็คือ การใช้โทษจำคุกระยะยาวกับคนที่ไม่มีสันดานเป็นผู้ร้าย แต่ทำผิดรุนแรง เช่นกรณีฆ่าคนตาย จะเกิดผลอะไรตามมา เราจะเห็นได้จากกรณีทั้งของบุ๊ค เรดและแจ็ค ที่ติดคุกกันคนละ 20 – 50 ปีว่าผลที่ตามมาคืออะไร

สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ พวกเขาจะยึดติดกับชีวิตภายในคุก พวกเขาถูก “กลืน” ให้กลมกลืนไปกับชีวิตในเรือนจำ (prisonization) เคยชินกับการปฏิบัติตัวใช้ชิวิตและสังคมของคนคุก ซึ่งเป็นสังคมที่ต่างไปจากสังคมภายนอก สังคมที่ทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดจากการถูกกดดัน ถูกข่มขืน ถูกรังแก ทำให้พวกเขาต้อง “เขี้ยว” ตามไปด้วย แอนดี้กล่าวไว้อย่างสะใจว่า “อยู่ข้างนอกผมเป็นคนตรงน่าดู ติดคุกอยู่ไม่นานก็เป็นอาชญากรได้” ผลที่ตามมาก็คือ เขาจะกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างไรในเมื่อเขาใช้เวลากว่าค่อนชีวิตของเขาในคุก

ฉากที่บุ๊คพ้นโทษ ยังคงสะท้อนสภาพการพ้นโทษของปัจจุบันได้อย่างดี บุ๊คเดินออกจากคุกอย่างเดียวดาย หลังจากติดคุกมาร่วม 50 ปี บุ๊คกลายเป็นคนหมดสภาพ แม้จะมีบ้านกึ่งวิถีรองรับ มีงานให้ทำ แต่คุณค่าในตัวเขาในสังคมได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว อยู่ข้างในตัวเขามีความสำคัญ เขาเป็นคนมีความรู้ เป็นเจ้าหน้าที่ห้องสมุดทุกคนต้องพึ่งเขา แต่ในสังคมภายนอก เขาไร้ค่าทำอะไรไม่เป็น เพราะเขาชินกับสภาพชีวิตในเรือนจำที่เขาใช้ชีวิตมาเกือบทั้งชีวิต “บางทีผมอยากจะยิงผู้จัดการร้านเพื่อที่ผมจะได้กลับเข้าไปในคุกอีก” บุ๊คเขียนไว้ในจดหมายก่อนที่จะผูกคอตายในบ้านกึ่งวิถี

เช่นเดียวกับเรด อยู่ข้างในเขามีความสำคัญ ใครอยากจะได้อะไร เขาหาให้ได้ แต่อยู่ข้างนอกใครจะต้องการอะไรก็เปิดสมุดหน้าเหลือง (หรือปัจจุบันก็เข้าเว็บกูเกิ้ล) ไม่มีใครต้องการเขา ดังนั้น เขาจึงต้องเลือกที่จะทิ้งงานที่ทางการหาให้เพื่อไปทำงานอิสระกับแอนดี้ที่ต่างประเทศ เรื่องนี้คงจะไม่ต้องสงสัยว่าทำไมผู้ต้องขังที่พ้นโทษจึงไม่ต้องการที่จะยุ่งเกี่ยวกับงานที่ทางราชการหาให้ แต่จะหนีหายไปในสังคม เพื่อให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์ของเขายังคงอยู่ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับค่านิยมและความรู้สึกของสังคมผู้ต้องขัง โดยเฉพาะคนที่ทำหน้าที่ในด้านการอบรมแก้ไขผู้ต้องขังด้วยแล้ว ไม่ควรพลาดภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะจะสะท้อนให้เห็นปัญหาหลายอย่างในสังคมที่ผู้แต่งสะท้อนออกมาได้อย่างดี แต่ก็อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของชีวิตในเรือนจำเมื่อ 50 กว่าปีมาแล้ว ดังนั้น หากจะนำมาเป็นภาพของเรือนจำในปัจจุบันก็จะห่างไกลจากความจริงไปในหลายๆเรื่อง แต่หากไม่ฉายภาพที่สนุกสนาน ตื่นเต้น และเรื่องราวเลวร้ายต่างๆ ออกมา ก็จะไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ชวนติดตามและไร้คนดูเท่านั้นเอง...

 

ภาพประกอบจาก google

หมายเลขบันทึก: 429989เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2011 19:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท