นิวรณ์๕


นิวรณ์ ๕

สามเณร ณัฐพล ดวงเย็น

นิวรณ์ คือ  เครื่องกีดกั้นการทำงานของจิต สิ่งที่ขัดขวางความดีงามของจิตมี  ๕  อย่างคือ

             ๑. กามฉันทะ  ความพอใจในกาม  คือ  ความอยากได้ในกามคุณทั้ง  ๕  คือ  รูป เสียง  กลิ่น รส  โผฎฐัพพะ   ที่น่าปรารถนา  น่าใคร่  น่าพอใจ  เป็นกิเลสพวกโลภะ 

             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบกามฉันทะเหมือน “หนี้”   ผู้ที่เป็นหนี้เขา  แม้จะถูกเจ้าหนี้ทวงถามด้วยคำหยาบ ก็ไม่อาจโต้ตอบอะไรได้   ต้องสู้ทนนิ่งเฉย  เพราะลูกหนี้เขา  แต่ถ้าเมื่อใดชำระหนี้หมดสิ้นแล้ว  มีทรัพย์เหลือเป็นกำไร  ย่อมมีความรู้สึกเป็นอิสระและสบายใจ  อุปมาข้อนี้ฉันใด  ผู้ที่สามารถละกามฉันทะในจิตใจได้เด็ดขาดแล้ว  ย่อมมีความปราโมทย์ยินดีอย่างยิ่งฉันนั้น

             ๒. พยาบาท   ความขัดเคืองแค้นใจ  ได้แก่  ความขัดใจ  แค้นเคือง  เกลียดชัง   ความผูกใจเจ็บ  การมองในแง่ร้าย  การคิดร้าย  มองเห็นคนอื่นเป็นศัตรู  

             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบพยายาทเหมือน “โรค”    ผู้ที่เป็นโรคต่างๆ  ย่อมมีความทุกข์  มีความเจ็บป่วย ไม่สบายทั้งกายและใจ  เมื่อจะทำการสิ่งใดก็ต้องฝืนทำด้วยความทรมาน  ยากที่จะพบความสุขความสำเร็จได้ฉันใด  ผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจ   พยาบาท  ใจย่อมเป็นทุกข์  กระสับกระส่าย  แม้จะพยายามปฏิบัติธรรม  ก็ยากที่จะซาบซึ้ง ในรสแห่งธรรม ไม่อาจพบความสุขอันเกิดจากฌานได้ฉันนั้น

             ๓. ถีนมิทธะ  คือ  ความหดหู่และเซื่องซึม  หรือเซ็งและซึม  แยกเป็นถีนะ  ความหดหู่  ห่อเหี่ยว  ถดถอย   ท้อแท้  ความซบเซา  เหงาหงอย  ละเหี่ย   ที่เป็นอาการของจิตใจกับมิทธะ  ความเซื่องซึม  เฉื่อยเฉา  ง่วงเหงาหาวนอน  โงกง่วง  อืดอาด มันมัว  ตื้อตัน  อาการซึมๆ เฉาๆ  ที่เป็นไปทางกาย

             พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทรงเปรียบถีนมิทธะเหมือน  “การถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ” คนที่ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ นั้น  ย่อมหมดโอกาสที่จะได้รับความบันเทิงจากการเที่ยวดูหรือชมทมหรสพต่าง ๆ   ในงานนักขัตฤกษ์ฉันใด   ผู้ที่ตกอยู่ ในอำนาจถีนมิทธะ  นิวรณ์ย่อมหมดโอกาสที่จะรับรู้รสแห่งธรรมบันเทิง  คือ  ความสงบสุขอันเกิดจากฌานฉันนั้น

             ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ  คือ  ความฟุ้งซ่านและเดือดร้อนใจ  แยกเป็นอุทธัจจะ  ความที่จิตฟุ้งซ่าน  ไม่สงบซัดส่าย  กับกุกกุจจะ  ความวุ่นวายใจ  รำคาญใจ ระแวง  เดือดร้อนใจ  ยุ่งใจ กลุ้มใจ

             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบอุทธัจจกุกกุจจะเหมือน  “ ความเป็นทาส “ ผู้ที่เป็นทาสเขา  จะไปไหน ตามความพอใจไม่ได้  ต้องคอยพะวงถึงนาย เกรงจะถูกลงโทษ  ไม่มีอิสระในตัว

             ๕. วิจิกิจฉา  คือ  ความลังเลสงสัย  ได้แก่  ความเคลือบแคลง  ไม่แน่ใจ สงสัย  เกี่ยวกับพระศาสดา  พระธรรม  พระสงฆ์   เกี่ยวกับสิกขา  เป็นต้น  

             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบวิจิกิจฉาเหมือน  “ บุรุษผู้มั่งคั่งเดินทางไกลและกันดาร พบอุปสรรคมากมาย “ บุรุษที่เดินทางไกล  หากเกิดการสะดุ้งกลัวต่อพวกโจรร้าย  ย่อมเกิดความลังเลใจว่า  ควรจะไปต่อหรือจะกลับดี   ความสะดุ้งกลัวพวกโจรผู้ร้าย  เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางไกลของบุรุษฉันใด  ความลังเลสงสัยในคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุอริยภูมิของพระภิกษุฉันนั้น

       

เอกสารอ้างอิง:

DMC.TV. นิวรณ์คืออะไร มีอุปมาอย่างไรบ้าง [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: http://www.          dmc.tv/index.php?module=meddetail&type=26&no=214 [10 มิ.ย. 2561].

หมายเลขบันทึก: 648955เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2018 17:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2018 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท