การผลิตอย่างยั่งยืน 4.0


"การขับเคลื่อนระบบการเพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4" (Driving the Sustainability of Production Systems with Fourth Industrial Revolution Innovation) เป็นบทความทางวิชาการที่มีการวิจัยและการเขียนเป็นอย่างดี มีความประณีต มีข้อมูลและสถิติที่มากมาย มีโครงสร้างและมีข้อมูลสารสนเทศประกอบที่ดี มีแนวคิดที่ความสำคัญ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศสืบไปในอนาคต

การผลิตอย่างยั่งยืน 4.0

Sustainability of Production 4.0

พันเอก มารวย  ส่งทานินทร์

[email protected]

16 กรกฎาคม 2561

บทความเรื่อง การผลิตอย่างยั่งยืน 4.0 (Sustainability of Production 4.0) นำมาจาก เอกสารเรื่อง Driving the Sustainability of Production Systems with Fourth Industrial Revolution Innovation โดย World Economic Forum Annual Meeting, January 2018

ผู้ที่สนใจเอกสารนี้แบบ PowerPoint (PDF file) สามารถ Download ได้ที่ https://www.slideshare.net/maruay/sustainability-of-production-40

ใครสมควรอ่านบ้าง และเพราะเหตุใด

  • เอกสารนี้เขียนขึ้นโดย World Economic Forum ที่ไม่ได้เกี่ยวกับปัจจุบัน แต่เป็นการมุ่งเน้นอนาคต
  • เพราะการแข่งขันและผลกำไร มีความหมายน้อยมาก หากไม่มีแนวทางปฏิบัติอย่างยั่งยืนที่เหมาะสม เนื่องจากอาจไม่มีอะไรให้แข่งขัน และไม่มีอะไรที่จะทำกำไรได้ในพริบตา...อีกต่อไป
  • ดังนั้น ผู้นำ รัฐบาล และบริษัทต่างๆ ควรคำนึงถึง เพราะอนาคตขึ้นอยู่กับการใช้คำแนะนำจากเอกสารนี้!

เกี่ยวกับ World Economic Forum (WEF)

  • World Economic Forum เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่มุ่งมั่นในการปรับปรุงสภาวะของโลก โดยการมีส่วนร่วมของนักธุรกิจ นักการเมือง นักวิชาการ และผู้นำในสังคม เพื่อกำหนดวาระการประชุมระดับโลก ภูมิภาค และอุตสาหกรรม
  • ทุกปี มีการจัดการประชุมที่ Davos ซึ่งรวบรวมนักธุรกิจ ผู้นำทางการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบล ดารา และนักข่าว จำนวนกว่า 2,500 คน มาหารือไม่น้อยกว่า 3 วัน ในประเด็นที่เร่งด่วนที่สุด ที่โลกกำลังเผชิญอยู่

การปฏิวัติอุตสาหกรรม

  • ดังที่เราทุกคนทราบว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก เริ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 โดยการใช้พลังไอน้ำและพลังน้ำ เพื่อการผลิตโดยใช้เครื่องจักรกล
  • ครั้งที่สอง เกิดขึ้นในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อการผลิตเป็นจำนวนมาก
  • การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นยุคดิจิทัล ที่เราใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อทำให้กระบวนการต่างๆ เป็นไปโดยอัตโนมัติ
  • Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร WEF ได้ประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ได้เริ่มขึ้นแล้ว
  • เกิดขึ้นจากแนวคิดต่อจากครั้งที่สาม และมีลักษณะคือ "การหลอมรวมกันของเทคโนโลยี ที่ทำให้เส้นขอบระหว่างกายภาพ ดิจิตอล และทางชีวภาพ ไม่มีความชัดเจนอีกต่อไป"
  • เช่น AI (Artificial Intelligence) หุ่นยนต์ เทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์ที่เป็นอิสระ และการพิมพ์ 3 มิติ เป็นต้น

นี่คือความจริง

  • การผลิตทั่วโลก สิ้นเปลืองพลังงานประมาณ 54% ของโลก และเป็นหนึ่งในห้าของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) มีขยะอุตสาหกรรมที่ทำให้ปริมาณขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้นในแต่ละปี คิดเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของโลก กิจกรรมการผลิตกำลังกลืนกินทรัพยากรหลัก เช่น การสกัดแร่โลหะเพิ่มขึ้น 133% ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน มีการใช้ทรัพยากรที่ไม่หมุนเวียนเพิ่มขึ้น และมีการใช้ลดลงของแหล่งทรัพยากรที่หมุนเวียนได้
  • กล่าวอีกนัยหนึ่ง เราไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะรักษาอัตราการเติบโตนี้ได้
  • ปัญหาคือ ทรัพยากรมีจำกัด และทุกคนได้รู้เรื่องนี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จากการคาดการณ์ในศตวรรษที่ผ่านมา ได้คาดการณ์ไว้ว่า ถ้าเรายังพัฒนาแนวทางนี้ต่อไป เราจะใช้ประโยชน์ของทรัพยากรจนหมด จะเหลือแต่ความรกร้างว่างเปล่าของโรงงานอุตสาหกรรม และเกิดความยากจนทั่วโลก

ระบบทุนนิยม

  • เป็นเรื่องยากเกินไปที่จะทำให้บริษัทต่าง ๆ หันมาดูแลเกี่ยวกับปัญหาของโลก หรือใส่ใจกับการผลิตที่ไม่ยั่งยืน เพราะการผลิตจะต้องถูกหยุดทั้งหมด
  • ดังนั้น เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น ทำให้มีการใช้ทรัพยากรมากขึ้น และเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
  • รัฐบาลต่างๆ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะคิดว่า "ผลกำไรจากการทำลายโลกเป็นเรื่องของเอกชน" ส่วน "ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขความเสียหายนั้นเป็นเรื่องของสังคม"

ความได้เปรียบทางการแข่งขัน

  • ในสายตาของผู้นำธุรกิจ ความยั่งยืนเป็นค่าใช้จ่าย ที่ควรนำมาจากเงินของผู้เสียภาษี
  • ถึงเวลาแล้ว ที่ความคิดเหล่านั้นจะหมดสิ้นไป!
  • เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สามและครั้งที่สี่ ทำให้ความยั่งยืนไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายอีกต่อไป แต่เป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ
  • เพราะมีผู้คนมากขึ้น ตระหนักถึงสิ่งที่เรากำลังทำกับโลกใบนี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงกลายเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่สำคัญ

การเร่งรัดการผลิตอย่างยั่งยืน (Accelerating Sustainable Production - ASP)

  • นี่คือจุดเริ่มต้นของโครงการ การเร่งรัดการผลิตอย่างยั่งยืน (ASP) ของ World Economic Forum เกี่ยวกับการกำหนดอนาคตของการผลิต
  • อะไรคือเป้าหมายสุดท้าย?
  • "การสร้างนวัตกรรมเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ พัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษย์ และลดการสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม"

ทำได้อย่างไร

  • ด้วยการจัดหาเงินทุน เพื่อสร้างนวัตกรรมที่เป็นการข้ามอุตสาหกรรมห้าประการ ซึ่งเป็นสัญญาที่สำคัญที่สุดในการเร่งรัดการผลิตที่ยั่งยืน ได้แก่
  • 1. การผลิตแบบใหม่ขั้นสูง (Advanced Remanufacturing)
  • 2. ใช้วัสดุใหม่ (New Materials)
  • 3. การเกษตรขั้นสูง (Advanced Agriculture)
  • 4. ประสิทธิภาพของโรงงาน (Factory Efficiency)
  • 5. การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)

ข้อที่ 1. การผลิตแบบใหม่ขั้นสูง

  • ด้วยการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และวิธีการใหม่ในการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ที่ปฏิวัติกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้กระบวนการมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ข้อที่ 2. ใช้วัสดุใหม่

  • ด้วยความก้าวหน้าทางนาโนเทคโนโลยีและเทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุชนิดใหม่ สามารถใช้ทดแทนวัสดุดั้งเดิมได้อย่างรวดเร็ว และกลายเป็นสิ่งที่ดีกว่า แต่ราคาถูกลง
  • ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียวรูปแบบใหม่ บรรจุภัณฑ์ และวัสดุทางเลือกต่างๆ ที่ใช้ทดแทน เนื้อ หนัง และพลาสติก

ข้อที่ 3. เกษตรกรรมขั้นสูง

  • ขณะนี้ เรามีความแม่นยำมากขึ้นกว่าเดิม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจ ในการทำการเกษตรได้ทุกอย่าง ตั้งแต่การให้ปุ๋ย การชลประทาน ไปจนถึงระยะเวลาการเก็บเกี่ยว และระยะห่างของการปลูกเมล็ดพันธุ์
  • การวางแผนที่ดีขึ้น ไม่เพียงแต่แปลงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีขึ้น แต่หมายถึงการดูแลที่ดีขึ้น เช่น ปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหาร และสุขภาวะของระบบนิเวศ

ข้อที่ 4. ประสิทธิภาพของโรงงาน

  • อินเทอร์เน็ตของสิ่งต่างๆ (Internet of Things: IoT) ได้นำเรามาสู่ยุคที่โรงงานผลิตได้เอง ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ต้องการบุคลากรกำกับดูแลมาก ลดขั้นตอนการส่งมอบ และลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่สามารถหมุนเวียนได้

ข้อที่ 5. การตรวจสอบย้อนกลับ

  • เทคโนโลยี blockchain ที่กำลังถกเถียงกันอย่างแพร่หลาย ควบคู่ไปกับ การแท็กข้อมูล (data tags) และเซนเซอร์ ช่วยให้บริษัทสามารถติดตามและตรวจสอบข้อมูล ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นที่มาของวัสดุ ตลอดห่วงโซ่อุปทานที่บริษัทดำเนินการอยู่
  • ในอนาคตอันใกล้นี้ ควรให้แน่ใจว่า ผู้ส่งมอบขนาดเล็กมีรายได้ที่ยุติธรรม ในขณะเดียวกัน ลดกระบวนการที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำด้วย

การผลิตที่ยั่งยืน ตาม Oslo Symposium (1994)

  • การผลิตอย่างยั่งยืน คือการผลิตผลิตภัณฑ์และการบริการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและตลาด และนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและวัสดุที่เป็นพิษ ตลอดจนลดการปล่อยของเสียและสารมลพิษ ทำให้ไม่เป็นปัญหาต่อความต้องการของคนรุ่นต่อไป
  • Sustainable production is the manufacturing of products and creation of related services, which respond to consumer and market needs, and bring a better quality of life while minimizing the use of natural resources and toxic materials as well as the emissions of waste and pollutants so as not to jeopardize the needs of further generations.

ขอบเขตของการผลิตอย่างยั่งยืน

  • 4 มุมมอง จากการสะท้อนถึงประสบการณ์ของผู้มีส่วนได้เสีย ของอุตสาหกรรมการผลิต ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและต่ำ และมีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมสูง การมองเห็นได้ของผู้บริโภคขั้นสุดท้าย และโอกาสที่ดีในการเปลี่ยนแปลง คือ
  • 1. ยานยนต์ (Automotive)
  • 2. อิเล็กทรอนิกส์ (Electronics)
  • 3. อาหารและเครื่องดื่ม (Food and beverage)
  • 4. สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า (Textiles, apparel and footwear)

สามศักยภาพสูงสุดของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์

  • 1. รีไซเคิลแบบห่วงสั้นในการผลิต (Short loop recycling for manufacturing)
    • การใช้วงจรแบบ ห่วงสั้น (Short loops) ของกระบวนการรีไซเคิลในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อกู้คืนและรีไซเคิลวัสดุสำหรับการผลิตอีกครั้ง โดยใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล และความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์
    • มีตัวอย่างของห่วงสั้นดังกล่าวเพื่อรีไซเคิลวัตถุดิบ เช่น เหล็ก ทองแดง สิ่งทอ และพลาสติก ทำให้มีความเป็นไปได้มากที่สุด ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในท้องถิ่น
  • 2. พลาสติกและคอมโพสิตจากชีวภาพ (Bio-based plastics and composites)
    • เป็นการเปลี่ยนชิ้นส่วนโลหะและพลาสติกที่หนักด้วย โพลิเมอร์ชีวภาพเกรดวิศวกรรม (engineering-grade biopolymers) และ/หรือ พลาสติกที่เสริมด้วยเส้นใยธรรมชาติ (natural-fibre-reinforced plastics) ที่เบาขึ้น เป็นบางส่วนหรือทั้งหมด โดยใช้วัตถุดิบจากพืช
    • ตัวอย่างเช่น โครงสร้างที่ใช้เส้นใยลินินและเรซินอีพ็อกซี่ชีวภาพ ผสมกับเส้นใยคาร์บอนในวัสดุผสมไฮบริด ซึ่งมีน้ำหนักเบา ราคาถูก และยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าโพลิเมอร์ธรรมดา ที่เหมาะกับระบบของรถหลายประเภท
  • 3. การถอดชิ้นส่วนโดยหุ่นยนต์เพื่อการผลิตใหม่ (Robotic disassembly for re-manufacturing)
    • หุ่นยนต์มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ แต่ยังไม่สามารถใช้ในการผลิตซ้ำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนของการถอดชิ้นส่วน
    • ความก้าวหน้าในด้านนี้ อาจหมายถึงการถอดชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ ทำให้การผลิตใหม่จะกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น เร็วขึ้น และคุ้มค่ามากขึ้น
    • ซึ่งจะช่วยผลักดันการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ และทำให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน

สามศักยภาพสูงสุดของการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

  • 1. การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ 4.0 (Semiconductor Fab 4.0 )
  • 2. การถอดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติ (Autonomous disassembly for electronics)
    • หมายถึงการถอดชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำมาใช้ใหม่และการรีไซเคิล ลดความต้องการวัสดุที่บริสุทธิ์ ทำให้เกิดวงจรปิดของการใช้วัสดุ และ แบบจำลองธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy business models)
    • การพัฒนานี้ใช้ เทคโนโลยีการออกแบบโมดูลาร์และหุ่นยนต์ขั้นสูง (modular design technology and advanced robotics) และระบบอัตโนมัติ ภายในโรงงานขนาดเล็ก ที่ถอดแยกชิ้นส่วน
    • การลดความเสี่ยงของโซ่อุปทาน ช่วยลดความเสี่ยงด้านชื่อเสียงกรณีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแร่ธาตุที่ขัดแย้งกัน และช่วยให้มั่นใจได้ว่า จะนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่อย่างต่อเนื่อง
  • 3. วัสดุอิเล็กทรอนิกส์สีเขียว (Green Electronic Materials)
    • วัสดุชีวภาพสังเคราะห์จากแหล่งอินทรีย์ เช่นแบคทีเรียและจุลินทรีย์ สามารถตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการทำอุปกรณ์ขนาดเล็ก เช่น สายไฟ ทรานซิสเตอร์ และตัวเก็บประจุ ทำให้ลดการพึ่งพาทรัพยากรที่ไม่หมุนเวียน และเป็นการใช้ชิ้นส่วนที่เป็นพิษในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างคุ้มค่า
    • การประยุกต์ใช้รวมถึง ตัวเซ็นเซอร์ชีวภาพ (biocompatible sensors) อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบของแผงเซลล์แสงอาทิตย์

สามศักยภาพสูงสุดของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

  • 1. การเกษตรแบบแม่นยำ (Precision Agriculture)
  • 2. การเพาะปลูกแบบชีวภาพขั้นสูง (Advanced Bio Farming)
    • เป็นการรวมกันของความแม่นยำของ Ag-Tech และการแก้ปัญหาทางชีวภาพการเกษตร โดยใช้สารเคมีสีเขียวขั้นสูง (เช่นสารกระตุ้นชีวภาพ และสารกำจัดศัตรูพืชชีวภาพ) ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายของจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สำหรับการใช้งานก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว
    • วิธีแก้ปัญหานี้ เป็นการลดมลภาวะทางเคมีกับดินและน้ำ ช่วยลดความหลากหลายทางชีวภาพ และลดความเสี่ยงต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ จากการใช้สารเคมีเกษตรแบบดั้งเดิม
  • 3. การแก้ไขจีโนม (Genome Editing) (จีโนม คือ ชุดที่สมบูรณ์แบบของสารสนเทศทางพันธุกรรม ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตทำงานได้)
    • เป็นเทคนิคที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเจาะเข้าไปใน จีโนม (genomes) ตัดต่อได้แม่นยำ แล้วใส่ลักษณะที่ต้องการลงในพืช
    • ซึ่งต่างจากการดัดแปลงทางพันธุกรรมแบบดั้งเดิม ที่เปลี่ยนแปลง ดีเอ็นเอ (DNA) โดยการรวมยีนจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เพื่อสร้างลักษณะที่พึงปรารถนา
    • การแก้ไขจีโนม (Genome editing) สามารถส่งเสริมความทนทานต่อความแห้งแล้ง และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

สามศักยภาพสูงสุดของการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า และรองเท้า

  • 1. เส้นใยธรรมชาติทางเลือก (Alternative Natural Fibres)
  • 2. พืชเส้นใยจากการตัดแต่งยีน (Gen-Edited Fibre Crops)
    • การใช้ประโยชน์จากการแก้ไข จีโนม CRISPR/Cas9 เพื่อปรับปรุงเส้นใย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝ้าย
    • เทคโนโลยีนี้ มีศักยภาพในการแก้ปัญหาเรื่องผลผลิตที่ลดลง อันเนื่องมาจากการพังทลายของดิน ความเข้มของน้ำ และการใช้สารเคมีทางเกษตรมากเกินไป
    • ทำให้มีโอกาสในการสร้างมูลค่าให้กับผู้นำอุตสาหกรรม และประเทศผู้ส่งออกฝ้ายรายใหญ่ เช่น จีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา
  • 3. เครื่องหนังชีวภาพ (Biofabricated Leather)
    • การผลิตเครื่องหนังโดยไม่ต้องใช้สัตว์ ผ่านเนื้อเยื่อชีวภาพที่ปลูกในห้องปฏิบัติการ จากเซลล์คอลลาเจนที่สร้างขึ้นเอง
    • เป็นการช่วยลดการใช้สารเคมี และไม่มีการสูญเปล่า เนื่องจากขนาดและรูปร่างถูกกำหนดได้โดยการออกแบบ และสมบัติทางกายภาพของแผ่นสามารถปรับแต่งได้
    • กระบวนการนี้ทำได้รวดเร็วและสะอาด ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีจริยธรรม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โอกาสของภูมิภาคต่าง ๆ

  • ข้อมูลจากดัชนีความพร้อมระดับประเทศในเวทีเศรษฐกิจโลก และการวิเคราะห์กรณีศึกษา พบว่าแต่ละภูมิภาคมีบริบทของตัวเอง ซึ่งมีโอกาสพัฒนาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ได้
  • เพื่อให้การวิเคราะห์เป็นไปอย่างเฉพาะเจาะจง โดยมีตัวแทนของภูมิภาคต่างๆ คือ ยุโรป (โปแลนด์) แอฟริกา (เคนยา เอธิโอเปีย) เอเชียแปซิฟิก (อินเดีย ไทย เวียดนาม) และ ละตินอเมริกา (อาร์เจนตินา เม็กซิโก)

ยุโรป

  • โปแลนด์ เป็นประเทศเดียวที่มีโครงสร้างการผลิตที่ซับซ้อน มีการเชื่อมโยงของการค้ากับความต้องการที่แข็งแกร่ง และความรู้สึกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้บริโภค ในเรื่องผลกระทบของการผลิตต่อสิ่งแวดล้อม
  • มีนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมเช่น โคบอท (cobots = เครื่องจักรและหุ่นยนต์ ) และการตรวจสอบย้อนกลับของโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นโอกาสที่น่าตื่นเต้นสำหรับภูมิภาคนี้

แอฟริกา

  • เศรษฐกิจของ เคนยา และ เอธิโอเปีย สะท้อนให้เห็นถึงการมุ่งเน้นที่ความคล่องตัวและความสามารถในการปรับตัวของแรงงาน ตลอดจนความยั่งยืน
  • พื้นที่การเกษตรที่มีเทคโนโลยีสูงเช่น เคนยา มีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม ที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับนวัตกรรมด้านการเกษตร

ละตินอเมริกา

  • เศรษฐกิจของ เม็กซิโก และ อาร์เจนตินา ที่มีความต้องการของผู้บริโภค และมีโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง
  • เป็นประเทศผู้ผลิตเนื้อสัตว์ มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

เอเชียแปซิฟิก

  • เศรษฐกิจในภูมิภาคเช่น อินเดีย ไทย และ เวียดนาม มีลักษณะเป็นไปตามขนาดการไหลเข้าของเงินทุนที่แข็งแกร่ง และเป็นศูนย์กลางการผลิต
  • จากความเชื่อมโยงทางการค้าที่แข็งแกร่ง ประเทศเหล่านี้จึงมีการนำเข้านวัตกรรม ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ อย่างมีนัยสำคัญ
  • ภาคอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีต่ำ เช่นสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และการผลิตอาหารเกษตร ยังคงมีผลประโยชน์อย่างมาก

สิ่งที่รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายของไทยควรกระทำ

  • 1. การผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และโครงสร้างพื้นฐาน ICT มาใช้ประโยชน์ รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบาย ควรนำกลไกทางนโยบายผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที เพื่อให้มี ระบบการผลิตที่เชื่อมต่อกันได้อย่างรวดเร็ว (hyperconnected systems of production)
  • 2. การเพิ่มทักษะกำลังแรงงาน แรงงานต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรม และต้องให้พวกเขาคุ้นเคยตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาขึ้นไป

สรุป

  • "การขับเคลื่อนระบบการเพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4" (Driving the Sustainability of Production Systems with Fourth Industrial Revolution Innovation) เป็นบทความทางวิชาการที่มีการวิจัยและการเขียนเป็นอย่างดี มีความประณีต มีข้อมูลและสถิติที่มากมาย มีโครงสร้างและมีข้อมูลสารสนเทศประกอบที่ดี มีแนวคิดที่ความสำคัญ เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศสืบไปในอนาคต

*****************************************

 

 

หมายเลขบันทึก: 648954เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2018 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2018 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท