เก็บตกวิทยากร (44) ทบทวนแผนและเขียนแผนพัฒนานิสิตในแบบฉบับของผม


ผมจริงจังและใส่ใจต่อข้อมูลที่จะได้กลับมาเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะนำไปถกคิดร่วมกับเจ้าหน้าที่กองกิจการนิสิตและเจ้าหน้าที่ของและคณะ (ปลายเดือนมิถุนายน) สู่การหารือกับผู้นำนิสิต (ปลายเดือนกรกฎาคม) แล้วกลับมาหลอมรวมอีกครั้งกับทุกภาคส่วน (สิงหาคม) ทั้งที่เป็นผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ผู้นำนิสิตและนิสิต เพื่อประกาศเป็นแผนพัฒนาและยุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนานิสิต


วันนี้  (วันพุธที่  20  มิถุนายน  2561)  เป็นเวทีสำคัญของผู้บริหารฝ่ายพัฒนานิสิตของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  เพราะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนานิสิตในปีการศึกษา 2561  โดยมีวิทยากรจากภายนอกมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน


ก่อนหน้านี้หลายวัน  ผมทำหนังสือไปยังคณะทั้ง 20 คณะ  เพื่อให้ส่งข้อมูลโครงการหรือกิจกรรมสำคัญๆ ที่ตอบโจทย์การพัฒนานิสิตภายใต้กรอบแนวคิดอันเป็น “ค่านิยม” ของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  (MSU FOR ALL :  พึ่งได้)   โดยจำแนกเป็นกิจกรรมที่จัดโดยคณะ (มหาวิทยาลัยเพื่อนิสิต)  และที่จัดโดยองค์กรนิสิต (นิสิตเพื่อนิสิต) 

กรณีดังกล่าว  ผมกำหนดให้แต่ละคณะคัดเลือกโครงการสำคัญๆ  ในการตอบโจทย์ข้างต้น  โดยนำตัวอักษรย่ออันเป็นชื่อมหาวิทยาลัยฯ (MSU)  มาเป็นโจทย์  คือ 

  • M : Maturity  
  • S : Responsibility 
  • U : unity

สาระสำคัญที่ให้คณะสังเคราะห์มาก็คือ  ชื่อโครงการ วัตถุประสงค์ วันเวลา สถานที่ งบประมาณ ลักษณะกิจกรรม และผลลัพธ์

นี่คือกระบวนการเบื้องต้นที่ผมออกแบบไว้  เพื่อให้แต่ละคณะได้  “ทบทวนตัวเอง”  หรือ “ทบทวนแผน”  ดีๆ นั่นเอง  พร้อมๆ กับการเชื้อเชิญให้แต่ละคณะนำข้อมูลดังกล่าวมาจัดเรียงเป็นฐานข้อมูลสารสนเทศสู่การสื่อสารร่วมกัน  หรือแม้แต่นำมาเป็นวัตถุดิบในการเสวนา – แลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือ “โสเหล่” ร่วมกัน

ผมก็เป็นคนประมาณนี้แหละ   ชอบที่จะ “ให้งาน” คนอื่นล่งหน้าเสมอ  แต่ก็มิใช่คนปะเภทจิกตามให้ได้มาซึ่งข้อมูลอันครบครันเสร็จสรรพ  เพราะผมมักจะเปิดกว้างไว้ประมาณว่า “ใครใคร่ส่งก็ส่ง...ใครไม่พร้อม ผมก็รอได้” 

แต่สำหรับวันนี้  ในห้วงที่กำลังรอวิทยากร (รศ.ดร.ธนิต ธงทอง)  เดินทางมาจากสนามบินฯ (ขอนแก่น)  ผมให้ทีมงานเปิดวีดีทัศน์เกี่ยวกับกิจกรรมนิสิตไปพรางๆ   เสร็จจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการด้วยการให้ผู้เข้าร่วมเวทีฯ  ที่ส่วนใหญ่คือผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนานิสิตจากคณะต่างๆ ได้ทบทวนตัวเองอีกรอบผ่านบัตรคำ

กล่าวคือ – ผมและทีมงานแจกบัตรคำให้ผู้เข้าร่วมเวทีฯ  คนละ 2  ใบ

ใบที่ 1  – ให้เขียนสะท้อนผลสำเร็จ-ความล้มเหลวของนโยบายเชิงรุก 4 ประเด็นของการพัฒนานิสิตผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตรในปีการศึกษา  2560   

ใบที่  2  - ให้เขียนสะท้อนถึงประเด็น หรือทิศทางที่อยากขับเคลื่อนในปีการศึกษา 2561   ซึ่งอาจเป็นประเด็นเดิมจากปีการศึกษา 2560  ก็ได้  รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่ยังไม่ขับเคลื่อน แต่อยากให้ขับเคลื่อน

ใช่ครับ – ผมยืนยันว่านี่คืออีกหนึ่งในกระบวนการทบทวนแผนพัฒนาในแบบฉบับของผม  ซึ่งก่อนนั้นผมทยอยทำมาเป็นระยะๆ บ้างแล้วในเวทีสรุปงาน-มอบงานขององค์การนิสิต -  สภานิสิตและสโมสรนิสิต

เอาจริงๆ เลยนะ   ประเด็นเหล่านี้  ผมจริงจังและใส่ใจต่อข้อมูลที่จะได้กลับมาเป็นอย่างยิ่ง  เพราะจะนำไปถกคิดร่วมกับเจ้าหน้าที่กองกิจการนิสิตและเจ้าหน้าที่ของและคณะ (ปลายเดือนมิถุนายน)  สู่การหารือกับผู้นำนิสิต (ปลายเดือนกรกฎาคม)  แล้วกลับมาหลอมรวมอีกครั้งกับทุกภาคส่วน (สิงหาคม) ทั้งที่เป็นผู้บริหาร  เจ้าหน้าที่ ผู้นำนิสิตและนิสิต  เพื่อประกาศเป็นแผนพัฒนาและยุทธศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนานิสิต

นั่นเป็นเจตนารมณ์  หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้  และออกแบบเส้นทางของกระบวนการที่เกี่ยวข้องรองรับไว้อย่างกว้างๆ ประมาณนี้

โดยรวมแล้ว  ประเด็นพัฒนาเชิงรุก ทั้ง 4 ประเด็นในปีการศึกษา 2560  ยังคงได้รับความสนใจ ทั้งในมิติของการ "ต่อยอด-ยกระดัย"  หรือแม้แต่การหวนกลับไปคลี่คลายสะสางหลังจากล้มเหลว  หรือยังไม่ประสบกความสำเร็จ  นั่นคือ  

  • คุณธรรมจริยธรรม  
  • สิ่งแวดล้อม  (การจัดการขยะ) 
  • สุขภาพและสวัสดิภาพ (วินัยจราจร)  
  • ภาษาสากล และประชาคมอาเซียน

ซึ่งบัตรคำบางบัตรคำ ได้เขียนอธิบายถึงมูลเหตุของการหยิบยกมากล่าวถึงไว้อย่างน่าสนใจ  เช่น  การมุ่งสู่ความเข้มแข็ง  มุ่งสู่การสร้างการมีส่วนร่วมในวงกว้าง  มุ่งสู่การกลับไปกลบหลุมดำ  ฯลฯ  

ขณะที่ประเด็นความสนใจที่จะขับเคลื่อนในปี 2561  ก็ยังครอบคลุม หรือร้อยรัดอยู่กับประเด็นของปี 2560  รวมถึงประเด็นใหม่ๆ  เช่น  ผู้สูงอายุ  ระบบสุขภาพที่เจาะเน้นไปยังเรื่องสุขภาพจิต (ความเครียด-โรคซึมเศร้า)  สติ สมาธิ  

หรือแม้แต่เรื่องศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบัน ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง

หรือแม้แต่  ประเด็นการขับเคลื่อนเรื่องเครือข่าย  (ภายใน-ภายนอก-นานาชาติ)  การบูรณาการในแบบสหกิจกรรม (Hard skills & Soft skills)  ค่ายอาสาพัฒนาเชิงรุกในมิติเรียนรู้คู่บริการ  ทั้งเฉพาะศาสตร์ และสหศาสตร์  

ครับ - นี่เป็นเพียงการเริ่มต้น  เป็นแค่การทบทวนย้อนหลังเล็กๆ ผ่านบุคคลหรือกลุ่มคนใน "ระบบและกลไก"   ข้อมูลที่ได้มาจึงเป็นเสมือนภาพร่างแบบดิบด่วนกว้างๆ  โดยยังไม่หยิบจับเอาทฤษฎีใดๆ  มาอธิบายจำกัดความ  แต่ก็พร้อมที่จะขยับในยกต่อไป

แน่นอนครับ  ส่วนตัวผมนะ  ผมไม่ได้ทำงานในแบบวิ่งตามตัวชี้วัดจนลืมความจริงและความสุข  แต่ก็พอรู้ว่าบนฐานวัฒนธรรมของที่นี่ควรเริ่มอย่างไร  ส่วนเรื่องราวระหว่างทางเป็นเรื่องที่แต่ละส่วนต้องช่วยกันออกแบบเขียนฝันร่วมกัน  หรือแม้แต่กำหนดด้วยตนเอง  ดังคำที่ผมชอบพูดเสมอว่า "กระบวนการ (อาจ)  แตกต่าง  แต่เป้าหมายเดียวกัน"  

-11111.pdf


หมายเหตุ   ภาพ : พนัส ปรีวาสนา / สุริยะ  สอนสุระ

หมายเลขบันทึก: 648376เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2018 13:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2018 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ อาจารย์ JJ

จากวันนั้น ถึงวันนี้ ผมก็ยังยืนยันว่ายัง “งูๆ ปลาๆ” อยู่เลยครับ ยังต้องเรียนรู้อีกมากมายก่ายกอง ครับ แต่ก็ยังศรัทธาต่อการเรียนรู้อยู่ทุกวัน ครับ

ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท