CADL_KM-GE_๖๑-๑ : เรียนรู้การเขียนเค้าโครงงานวิจัยจาก ผศ.ดร.มาเรียม นิลพันธุ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปกร


วันนี้ (๘ มิถุนายน ๖๑) บุคลากรสำนักศึกษาทั่วไป (GE) มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่อง R2R (Routine to Reseach) จากวิทยากรรับเชิญ ผศ.ดร.มาเรียม นิลพันธุ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป้าหมายภายใน ๕ ชั่วโมงคือ ภายในบ่ายสองครึ่ง จะต้องได้ proposal หรือเค้าโครงงานวิจัยออกมาให้ได้ โดยแบ่งให้แต่ละกลุ่มงานทำ workshop กัน ผม AAR ว่าตนเองได้ทั้ง delearn เข้าใจผิด relearn เข้าใจมากขึ้น และ plearn เพลินกับการเรียนรู้เทคนิคใหม่ในการบรรยายจากท่าน และประทับใจมาก ... มีแรงบันดาลใจอยากบันทึกแบ่งปันสำหรับใครที่อยากจะฟังท่านบรรยายครับ

R2R คืออะไร


ท่านยกเอาความหมายที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ให้นิยามไว้ ในการบรรยายครั้ืงหนึ่ง ว่า

R2R ย่อมาจาก Routine to Research  แปลว่า การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย หมายถึง การทำงานวิจัยจากงานประจำ ทำงานประจำจนเป็นงานวิจัย ทำวิจัยโดยใช้ปัญหาจากงานประจำ ผู้วิจัยคือผู้ที่ปฏิบัติงานประจำ โดยมุ่งเน้นการนำผลการวิจัยไปพัฒนาการทำงานประจำของตนให้ดีขึ้นเป็นลำดับแรก ไม่เน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ และไม่ใช้แนวคิดแบบวิทยานิพนธ์

ในการนิยาม R2R เบื้องต้น ท่านเน้นว่า ศ.นพ.วิจารณ์ ย้ำว่า R2R ไม่มีความหมายตายตัว แต่ละหน่วยงานต้องนิยามเอาเองให้เหมาะสมต่อสถานการณ์และความต้องการของตน  การอบรมวันนี้เป็นการนำเอาประสบการณ์ในการทำ R2R ของสำนักวิจัยด้านการศึกษาของ ม.ศิลปกร มาแลกเปลี่ยน และท่านเองก็เคยเป็นผู้บริหารที่รับผิดชอบงานวิจัยโดยตรง มีความเชี่ยวชาญเรื่องวิจัยอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ การอบรมเชิงปฎิบัติการในวันนี้จึงเข้มข้นไปด้วยระเบียบวิธีวิจัย เทคนิค และเคล็ดวิชาในการกำหนดปัญหาวิจัย การกำหนดกรอบแนวคิดในการวิจัย และความคิดรวบยอดในการเขียนเค้าโครงงานวิจัย

ปัญหาของการวิจัยแบบ R2R

ปัญหาของการวิจัยแบบ R2R คือ ความไม่สอดคล้องของสภาพที่เกิดขึ้นจริงกับเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดตามเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กำหนด การวิจัยจะช่วยให้ช่องว่างระหว่างเป้าหมายและสภาพจริงลดน้อยลง

สังเกตว่าเป็นการนิยามให้ปัญหาวิจัยมุ่งไปเกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องปัญหาหน้างานเพื่อให้เกิดการพัฒนางาน เคล็ดวิชาสำคัญในการมองปัญหาวิจัย คือการมองไปที่ "เหตุและปัจจัย" ที่ส่งผลต่องาน ได้แก่

  • ความรู้ความเข้าใจ
  • ทักษะในการปฏิบัติงาน/ความสามารถในการปฏิบัติงาน
  • ความสามารถในการสื่อสาร 
  • ความสุขในการทำงาน
  • ความสามารถในการแก้ปัญหา
  • พฤติกรรมการทำงาน/การแลกเปลี่ยนเรียนรู้
  • ความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน
  • สภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนางาน
  • การให้บริการ
  • ความต้องการ
  • การมีส่วนร่วม/ความร่วมมือ
  • ฯลฯ

การตั้งชื่อเรื่องงานวิจัย

การกำหนดชึ่อเรื่อง(งาน)วิจัย ต้องสอดคล้องกับปัญหา เรื่องที่ต้องการพัฒนา มีความชัดเจน ชี้ให้เห็นว่าผู้วิจัยต้องการศึกษา/พัฒนาเรื่องอะไร (ตัวแปรที่ศึกษาคืออะไร) กับใครที่ไหน (ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง)

ท่านให้เคล็ดวิชาในการกำหนดหัวเรื่องการวิจัยแบบ R2R ที่สำคัญๆ มา ๕ แนวทาง ได้แก่

  • การศึกษา ................สำหรับ............................
  • การพัฒนา ...............สำหรับ(ของ)..................
  • การประเมิน.....................................................
  • การสร้าง...........................................................
  • การเปรียบเทียบ..............................................
  • ฯลฯ

รูปแบบการเขียนเค้าโครงวิจัย

รูปแบบการเขียนเค้าโครงงานวิจัยของแต่ละมหาวิทยาลัยจะแตกต่างกัน สำหรับคณะศึกษาศาสตร์ ม.ศิลปกร ใช้ รูปแบบดังต่อไปนี้

  • ชื่อโครงการวิจัย (ระบุทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) 
  • ชื่อผู้วิจัย
  • ชื่อที่ปรึกษา (ถ้ามี)
  • ความสำคัญและที่มาของปัญหาการวิจัย
  • กรอบแนวคิดทางทฤษฎีที่ใช้ในการวิจัย หรือ กรอบแนวคิดที่ใช้ในการวิจัย
  • วัตถุประสงค์ของการวิจัย
  • ขอบเขตของการวิจัย
  • นิยามศัพท์เฉพาะ
  • ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการวิจัย 
  • เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (เขียนย่อๆ)
  • วิธีการดำเนินการวิจัย
    • ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
    • เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย (แยกเป็น ประเภทของเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย และ  วิธีการสร้างและตรวจสอบคุณภาพ)
    • การเก็บรวบรวมข้อมูล
    • การวิเคราะห์ข้อมูล
    • สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์
    • ระยะเวลาและแผนการดำเนินการวิจัย ให้เขียนเป็น Grant Chart
  • งบประมาณการวิจัย
  • บรรณานุกรม/เอกสารอ้างอิง
  • ประวัติผู้วิจัยและประวัติผลงานวิจัยของที่ปรึกษา (ถ้ามี) 
ผมถอดบทเรียนมาถึงตรงนี้ สรุปในใจตนเองว่า รูปแบบการเขียนเค้าโครงวิจัยแบบนี้ คงจะต้องเป็น R2R เฉพาะในหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการวิจัยการศึกษาเป็นแน่แท้... เพราะนี่คือรูปแบบระเบียบวิธีวิจัยไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการและเป็นงานวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษานั่นเอง 

วิธีการตั้งชื่อเรื่องงานวิจัย

นอกจากต้องให้สอดคล้องกับปัญหา ต้องให้ชัดเจนในประเด็นต่อไปนี้ โดยให้สั้นกระทัดรัดที่สุด
  • พัฒนาอะไร แก้ปัญหาอะไร/ผลที่ต้องการให้เกิดขึ้น (ตัวแปรตาม) ค้ออะไร 
  • ใช้เทคนิค/วิธี/นวัตกรรมกลยุทธ์รูปแบบใด (ตัวแปรต้นหรือตัวแปรอิสระ)
  • ทำกับใคร+ที่ไหน (ประชากร/กลุ่มเป้าหมาย)
หลักในการเขียนความสำคัญและความเป็นมาของปัญหา

เขียนเรียบเรียงในเชิงสังเคราะห์ให้ผู้อ่านเห็นประเด็นดังต่อไปนี้ 
  • มีความสำคัญอย่างไร ใครว่าสำคัญบ้าง(ให้อ้างอิง)
  • อ้างความสำคัญจากทฤษฎี แนวคิด ผลการวิจัย 
  • รู้ได้อย่างไรว่าเป็นปัญหาและปัญหานั้นสำคัญอย่างไร
  • ปัญหานี้มีสาเหตุมาจากอะไรบ้างจะแก้ไขที่สาเหตุใด
  • วิธีใดนวัตกรรมใดดีที่สุด 
การเขียนกรอบความคิดที่ใช้ในการวิจัย

เขียนให้เห็นว่า ผู้วิจัยใช้แนวคิด ทฤษฎีของใครในการวิจัยครั้งนี้ โดยผู้วิจัยต้องทบทวนวรรณกรรมและกำหนดว่าจะใช้แนวคิดใด ทฤษฎีของใครในการวิจัย หรือเมื่อศึกษาหลายๆ แนวคิดแล้ว ผู้วิจัยสังเคราะห์แนวคิดที่ใช้การวิจัยอย่างไร โดยเขียนพรรณแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย และควรแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ใช้ในการวิจัย และควรแสดงเป็นแผนภูมิ หรือโมเดลแสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร 

ผมขอแสดงความเห็นแย้งต่อวิธีการสร้างกรอบแนวคิดในการวิจัยแบบนี้ นี่เป็นกรอบแนวคิดที่ใช้สำหรับระเบียบวิธีวิจัยทางวิทยาศาสตร์วัตถุ (วิทยาศาสตร์กายภาพ) ไม่เหมาะสำหรับการวิจัยด้านสังคมหรือการศึกษา ซึ่งปัจจัยและสภาพการพัฒนาแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม การยึดติดกรอบการวิจัยลักษณะนี้ และสอนกันให้ทำต่อไปแบบรุ่นต่อรุ่น จะไม่ทำให้เกิดทฤษฎีใหม่ใดๆ มากนัก นอกจากนี้ การทบทวนวรรณกรรรมที่นำเอางานวิจัยที่ทำสำหรับ "คนตะวันตก" มาใช้กับ  "คนตะวันออก" และมองข้ามภูมิปัญญาและศรัทธาของตนเอง  เช่น ไม่มีใครอ้างอิงวรรณกรรมจากพระไตรปิฏก หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งๆ ที่ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาและพัฒนา .... 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ท่านแนะนำวันนี้ก็มีประโยชน์มากในการ "ดำรงวิชาชีพอยู่ในระบบหรือกระแสปัจจุบัน" ท่านให้เคล็ดวิชาในการเขียนกรอบแนวคิดดังนี้ 
  • ให้เขียนเสนอในเชิงสังเคราะห์ โดยสังเคราะห์เป็นของผู้วิจัยเอง 
  • แสดงความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้นและตัวแปรตาม
  • สังเคราะห์เป็นของผู้วิจัยเอง
  • ได้จากการสังเคราะห์ทฤษฎี แนวคิด และผลการวิจัย
  • เรียบเรียงแล้วเสนอเป็นแผนภูมิ แผนภาพ 
การเขียนวัตถุประสงค์ในการวิจัย

ให้เขียนถึงความมุ่งหมายที่ผู้วิจัยต้องการว่า ต้องการศึกษาอะไร กระทัดรัด ได้ใจความ  เขียนเป็นประโยคบอกเล่าเป็นข้อๆ ด้วยข้อความว่า "เพื่อ....." การเขียนวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนจะช่วยกำหนดขอบเขตการวิจัยได้ ลักษณะของวัตถุประสงค์ที่ดี มีดังนี้ 
  • สอดคล้องกับปัญหาวิจัย เรื่องที่วิจัย 
  • สั้นกระทัดรัด ได้ใจความ 
  • ครอบคลุมสิ่งที่ต้องการศึกษา
  • ตอบปัญหาโจทย์วิจัย 
ตัวอย่าง เช่น เพื่อศึกษา... เพื่อเปรียบเทียบ... เพื่อประเมิน.... เพื่อพัฒนา.... เพื่อสร้าง... เพื่อวิเคราะห์....  

ขอบเขตการวิจัย

กำหนดให้ชัดเจนว่า ผู้วิจัยต้องการทำวิจัยครอบคลุมแค่ไหนเพื่อให้ตอบวัตถุประสงค์การวิจัย ประชากรและกลุ่มตัวอย่างเป็นใคร จำนวนเท่าไหร่ กำหนดตัวแปรต้นและตัวแปรตาม หรือกำหนดขอบเขตวิจัยด้านเนื้อหา ระยะเวลา และสถานที่ (ผมเข้าใจว่า ขอบเขตวิจัยจะต้องบอกเกี่ยวกับตัวแปรควบคุมให้ชัดเจนเป็นสำคัญ)  โดยมีแนวทางในการเขียนตามประเด็นดังนี้ 
  • ทำแล้วต้องการผลอะไร แก้ปัญหาอะไรได้ พัฒนาอะไร (ตัวแปรตาม)
  • ทำกับใคร ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง วิธีการสุ่มตัวอย่าง 
  • ทำเมื่อไหร่/ที่ไหน ระะยะเวลาเท่าใด สถานที่ใด
  • เรื่องอะไร เนื้อหาสาระ มาตรฐาน ตัวชี้วัด สมรรถนะที่สำคัญ คุณลักษณะอันพึงประสงค์
  • ฯลฯ 
ตัวอย่าง
  • ประชากร  เช่น นักศึกษาจำนวน....... คน ภาคเรียนที่ ..... ปีการศึกษาที่..... คณะ......... 
  • กลุ่มตัวอย่าง เช่น นักศึกษาจำนวน......คน ภาคเรียนที่.....ปีการศึกษาที่..... คณะ........
  • วิธีการสุ่มตัวอย่าง เช่น สุ่มนักศึกษาด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย (Simple Randoทm Sampling) แบบจับสลาก 
  • เนื้อหา เช่น งาน........
  • ระยะเวลา เช่น ระหว่างเดือน......... ภาคเรียนที่..... ปีการศึกษาที่.....
  • ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เช่น ตัวแปรต้น คือ ...........................   ตัวแปรตาม คือ .................ง
  • เป็นต้น 
การนิยามศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการวิจัย

กำหนดความหมายที่ได้จากการสังเคราะห์ของผู้วิจัยเอง ไม่ใช่แนวคิดหรือทฤษฎี เพื่อให้เข้าใจตรงกันระหว่างผู้วิจัยและผู้อ่านงานวิจัย โดยต้องครอบคลุมสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้ 
  • ตัวแปรที่จะศึกษา ตัวแปรต้น ตัวแปรตาม
  • ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง
  • สิ่งอื่นที่สำคัญและเกี่ยวข้อง
ลักษณะของคำศัพท์เฉพาะ จะต้องเป็นนิยามเชิงปฏิบัติการที่วัดได้ ทดสอบได้ สังเกตได้ และเก็บคะแนนได้ 

การเขียนประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

ให้คาดคะเนว่า เมื่อดำเนินการวิจัยสิ้นสุดลง ใครหรือหน่วยงานใดเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ได้รับประโยชน์อย่างไร และได้รับมากน้อยเพียงใด  เช่น 
  • อาจารย์มี..................... 
  • นักศึกษามี..................
  • ได้..............................
  • เป็นแนวทาง................ในการพัฒนา..................
  • ฯลฯ
การเขียนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (เขียนย่อๆ)

ให้เขียน ๓ ประเด็นต่อไปนี้ 
  • แนวคิด ทฤษฎี เกี่ยวกับการบริหารจัดการ....................
  • บริบทและข้อมูลทั่วไปของหน่วยงาน..........................
  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ .................. ควรจะเป็นงานวิจัยย้อนหลังไปไม่เกิน ๕ ปี ยกเว้น ผลงานวิจัย classics  มีการอ้างอิงมาอย่างต่อเนื่อง 
  • ฯลฯ 
การเขียนวิธีดำเนินการวิจัย

เขียนรายละเอียดของกลุ่มตัวอย่าง วิธีการกำหนดกลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย วิธีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ (ขอบันทึกแบบแสดงสไลด์ของท่านแบบเล่าด้วยภาพ เพราะเนื่องเวลาจำกัดมากในช่วงท้ายในการอบรม จึงเป็นการบรรยายสรุปอย่างรวดเร็ว)

ท่านเน้นให้ เขียนวิธีการดำเนินการวิจัย แบบสรุปรวมและนำเสนอแบบตารางความสอดคล้องระหว่าง วัตถุประสงค์ วิธีการ กลุ่มตัวอย่าง เครื่องมือ และ การวิเคราะห์ข้อมูล ดังตารางด้านล่าง

และเน้นอีกว่า การเขียนแผนการดำเนินการวิจัย ให้เขียนเป็นแบบแผนผัง Grant Chart  ดังรูป

การเขียนงบประมาณการวิจัย



ท่านแนะนำว่า การเขียนให้ชัดเจนและแยกเป็นหมวดๆ  เช่น 

  • ค่าตอบแทน แบ่งเป็น ค่าตอบแทนนักวิจัย ค่าตอบแทนผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้เชี่ยวชาญ ค่าตอบแทนที่ปรึกษา ฯลฯ 
  • ค่าใช้สอย เช่น ค่าพิมพ์เอกสาร ค่าจัดทำเล่มรายงาน ฯลฯ  
  • ค่าวัสดุ เช่น ค่าหมึกพิมพ์ ค่ากระดาษอัดสำเนา ฯลฯ 

การเขียนบรรณานุกรมหรือเอกสารอ้างอิง



ส่วนใหญ่มักใช้แบบ APA style  ตัวอย่างดังภาพ



ทดลองเขียนเค้าโครงการวิจัยแบบไวๆ

๑) ชื่อโครงการวิจัย: การประเมินประสิทธิผลของการพัฒนางานบริการห้องเรียนรวม ตามคำขวัญ "เปิดง่าย ใช้ดี มีสำรอง" ของสำนักศึกษาทั่วไป 

๒) ชื่อวิจัย: (บุคลากรผู้รับผิดชอบงานบริการห้องเรียนรวมทุกคน)

๓) ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา: (ผู้บริหารที่รับผิดชอบ) 

๔) ความสำคัญและที่มาของปัญหาการวิจัย 

การพัฒนางานบริการห้องเรียนรวมและสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของสำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (อ้างอิงเล่มแผนฯ) เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินงานที่ผ่านมาของกลุ่มงานสาระสนเทศ ผู้รับผิดชอบงานดังกล่าว ได้ยึดเอาคำขวัญ "เปิดง่าย ใช้ดี มีสำรอง" ซึ่งบุคลากรในกลุ่มงานร่วมกันกำหนดขึ้นตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๘ เป็นต้นมา เพื่อให้การพัฒนางานบริการห้องเรียนรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรให้มีการศึกษาสภาพการให้บริการในปัจจุบัน และประเมินผลลัพธ์

๕) กรอบแนวคิดทางทฤษฎีหรือกรอบความคิดที่ใช้ในการวิจัย

ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจและการประเมินเชิงคุณภาพ

๖) วัตถุประสงค์
  • เพื่อศึกษาสภาพการให้บริการห้องเรียนรวมของสำนักศึกษาทั่วไป 
  • เพื่อประเมินประสิทธิผลของการพัฒนางานบริการบริการห้องเรียนรวมตามคำขวัญ "เปิดง่าย ใช้ดี มีสำรอง" 
  • เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนางานบริการห้องเรียนรวมของสำนักศึกษาทั่วไป 
๗) ขอบเขตการวิจัย 
  • ขอบเขตด้านประชากร: ประชากร บุคลากรและนิสิตผู้ใช้งานห้องเรียนรวมทั้งหมด กลุ่มตัวอย่าง เป็นอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไปและตัวแทนนิสิตกลุ่มการเรียนละ ๒ คนต่อกลุ่มการเรียน โดยเลือกแบบเจาะจง 
  • ขอบเขตด้านเนื้อหา:  ประเมินเฉพาะประสิทธิผลของการให้บริการสื่อและโสตทัศณูปกรณ์ที่ติดตั้งในห้องเรียนรวมที่สำนักศึกษาดูแลเท่านั้น ไม่รวมอุปกรณ์ที่ให้บริการเสริมพิเศษ
  • ขอบเขตด้านระยะเวลา: ระยะเวลาในการเก็บข้อมูลเฉพาะภาคเรียนที่ ๒๕๖๑ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๖๑ - กันยายน ๒๕๖๒ 
๘) คำนิยามศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการวิจัย
  • การให้บริการห้องเรียนรวม หมายถึง ....
  • สภาพการให้บริการห้องเรียนรวม หมายถึง....
  • ปัจจัยที่ส่งผลต่อการให้บริการห้องเรียนรวม หมายถึง...
  • แนวทางการให้บริการห้องเรียนรวม หมายถึง...
  • อาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป หมายถึง ...
  • นิสิต หมายถึง ...
  • เจ้าหน้าที่ บร. หมายถึง ...
  • นิสิตผู้ช่วยอาจารย์ หมายถึง ...
  • แม่บ้าน หมายถึง ...
  • สื่อโสตทัศณูปกรณ์ หมายถึง อุปกรณ์ที่ติดตั้งให้บริการให้ห้องเรียนรวมต่อไปนี้ ๑) เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ๒) เครื่องฉายโปรดเจ็คเตอร์ ๓) ระบบเสียงภายในห้อง ได้แก่ ไมค์ เครื่องขยายเสียง ลำโพง 
  • ห้องเรียนรวม หมายถึง....
  • การพัฒนางานห้องเรียนรวม หมายถึง ...
  • ประสิทธิผลของการพัฒนา หมายถึง ....
การเขียนคำนิยามศัพท์ต้องเรียงลำดับความสำคัญของศัพท์สำคัญ จากสำคัญมากที่สุด และในคำนิยามศัพท์ อย่าใช้คำว่า "เช่น" ต้องใช้คำว่า ได้แก่ หรือ ประกอบด้วย  ต้องชัดเจน 

๙) แผนการดำเนินงาน 

๑๐) แผนการใช้งบประมาณ 

๑๑) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ 
  • ทราบสภาพปัจจุบันของการให้บริการห้องเรียนรวม 
  • ทราบประสิทธิผล
๑๒) เอกสารและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
  • ทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง  ควรอ้างอิงงานวิจัยย้อนหลังไม่เกิน ๕ ปี เว้นแต่เป็นงานวิจัย
โดยสรุปแล้ว ผมว่านี่ไม่ใช่ R2R ที่เหมาะสมกับบุคลากรและงานของสำนักศึกษาทั่วไป เพราะเราไม่ได้เน้นการวิจัยและการก้าวไปสู่ความก้าวหน้าด้านการงานของบุคลากรสายสนับสนุน จะเน้นการจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน และการถอดบทเรียนประสบการณ์แห่งความสำเร็จและแนวปฏิบัติที่ดีในการปฏิบัติงาน








หมายเลขบันทึก: 648006เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2018 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2018 09:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท