ดูงานด้านการศึกษาที่สิงคโปร์ : 4. เยี่ยมชมโรงเรียนมัธยม



เราไปเยี่ยมชมโรงเรียน ACS (Anglo-Chinese School)  ซึ่งก่อตั้งโดยพระนิกาย Methodist เมื่อปี ค.ศ. 1886   เขาเล่าว่าต้นเหตุเกิดจากพ่อค้าชาวจีนไปขอให้บาทหลวงสอนหนังสือให้แก่ตน   บาทหลวงตอบว่า จะตั้งโรงเรียนสอนลูกให้  

โรงเรียนนี้กลายเป็น Independent School ในปี 1986   ACS มีชั้นประถมด้วย (๖ ปี) แต่ตั้งอยู่ที่อื่น    เฉพาะชั้นมัธยมและเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย อยู่ที่นี่  รวมนักเรียน ๒,๔๐๐ คน    สถานที่ใหญ่โตโอ่อ่ากว้างขวางมาก   มีสนามฟุตบอลล์และลู่วิ่ง  สระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน    ถือเป็นโรงเรียนคุณภาพเยี่ยมของประเทศ    รัฐให้เงินสนับสนุนร้อยละ ๘๐ ของค่าใช้จ่าย    อีกร้อยละ ๒๐ ได้จากค่าเล่าเรียนเดือนละ ๓๐๐ เหรียญสิงคโปร์สำหรับเด็กสิงคโปร์ (แต่มีเด็กนักเรียนยากจนร้อยละ ๑๒  ต้องได้รับทุนเรียนจากกองทุนที่ศิษย์เก่าบริจาค)    ค่าเล่าเรียนเดือนละ ๘๐๐ เหรียญสำหรับเด็กจากประเทศอาเซียน  และ ๑,๒๐๐ เหรียญสำหรับนักเรียนจากชาติอื่นๆ   ค่าเล่าเรียนระดับมัธยมสำหรับโรงเรียนรัฐทั่วไปเดือนละ ๕๐ เหรียญ 

Ms. Yong Lee Ha รองครูใหญ่บอกว่า การสอบจบ ป. ๖ ที่เรียกว่า PSLE (Primary School Leaving Exam) เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับพ่อแม่    พ่อหรือแม่บางคนถึงกับลางาน ๑ ปี กวดวิชาให้แก่ลูกที่ขึ้นเรียนชั้น ป. ๖  เพื่อให้สอบได้คะแนนสูง จะได้เข้าสู่เส้นทางเรียนชั้นมัธยมเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยได้  

หลักสูตรระดับมัธยมศึกษาของ ACS มี ๒ สาย  คือสาย ๔ ปี  กับสาย ๖ ปี    แต่สาย ๔ ปี เปลี่ยนไปสาย ๖ ปีได้   สาย ๖ ปีนั้น ช่วง ๒ ปีหลังเรียกว่า IB (International Baccalaureate)   สำหรับเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย 

เพื่อสร้างคนออกไปเป็น “catalyst for change”  วิชาที่เรียนเป็นแบบ inter-disciplinary และโรงเรียนบังคับให้นักเรียนต้องทำ CCA (Co-Curricular Activities)    โดย CCA หลักที่รัฐบังคับคือ ต้องเข้าร่วมกลุ่มยุวชนทหาร (Uniformed Group)    และนักเรียนต้องเลือกเข้าร่วม CCA อีก ๑ กิจกรรม   เพื่อให้นักเรียนค้นพบตนเอง และบ่มเพาะคุณลักษณะที่ดีต่อชีวิตในอนาคต    กิจกรรม CCA อาจเป็นเรื่องกีฬา  ดนตรี  ศิลปะ  ศิลปะการแสดง  กิจกรรมอาสาสมัคร  กิจกรรมร่วมกับชุมชน ฯลฯ  

ผมมีความเห็นว่า โรงเรียนไทยควรส่งเสริมให้มี CCA เป็นกิจกรรมบังคับ แก่นักเรียนชั้นประถมปีที่ ๕ ขึ้นไป   โดยมีภาคีการศึกษาในพื้นที่ร่วมจัด CCA ที่มีคุณค่าต่อเด็กจริงๆ    ไม่ใช่ทำแบบหลอกๆ    

โรงเรียนเพิ่งเริ่ม Well-being Education ให้แก่นักเรียน เพื่อลดปัญหาความเครียดจากการเรียนที่เครียดเกินไป  

เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติจริง เพื่อค้นหาความถนัดและความชอบของตน มี Pathfinder Program สำหรับเด็ก ม. ๑ - ๒    และ Trailblazer Program สำหรับเด็ก ม. ๓ - ๔   ฟังดูแล้วเป็นการให้นักเรียนรวมตัวกันเป็นทีม ทำโครงการ (๘ สัปดาห์) ที่ท้าทาย และเสี่ยงที่จะไม่สำเร็จ   เพื่อฝึกทักษะเผชิญความไม่แน่นอนในอนาคต    พ่อแม่จะมีส่วนช่วยแนะนำด้วย  

คำขวัญของโรงเรียนคือ To God be the Glory   และอุดมการณ์คือ The Best is Yet to Be … ความเป็นเลิศรออยู่ในอนาคต       

หลังฟังรองครูใหญ่บรรยายสรุปและถามคำถาม   เขาพาไปชมบริเวณโรงเรียน    ไปดูหอพักนักเรียนจากต่างประเทศ    ที่รัฐบาลสิงคโปร์ให้ทุนมาเรียน   เป็นห้อง ๖ คน และ ๒ คน ไม่มีห้องน้ำในตัว     เด็กโตจะได้พักห้องแบบพัก ๒ คน    เขาบอกว่ารัฐบาลจะไปประกาศรับและคัดเลือกเด็กจากประเทศใกล้เคียง ให้มาเรียนที่สิงคโปร์    เดิมเขาไปคัดเด็กไทยมาด้วย    แต่เดี๋ยวนี้ไม่ไปคัดเด็กจากประเทศไทยแล้ว    เพราะเด็กไทยมาเรียนชั้นมัธยมแล้วไม่อยู่ต่อที่สิงคโปร์    จะเห็นว่า ประเทศสิงคโปร์มีนโยบายดึงดูดคนสมองดีมาเป็นพลเมือง   

คุณสมศักดิ์เล่าว่า ลูกชายของตนมาเรียนชั้นมัธยมที่สิงคโปร์    พอสอบเข้า NUS ได้ ทางการสิงคโปร์ส่งจดหมายมาทันทีว่าต้องการแปลงสัญชาติเป็นคนสิงคโปร์ไหม   เมื่อลูกชายไม่ตอบ เขาก็ไม่วอแวอีกต่อไป  

พอบอกว่าเป็นโรงเรียนเมโธดิสต์ ผมก็นึกถึงคุณเอด้า จิรไพศาลกุล แห่ง Thai Young Philantropist Network ที่ไปพูดในปาฐกถาไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ครั้งที่ ๕ เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๑ ที่บอกว่า การทำงานเพื่อสังคมส่วนหนึ่งได้แรงบันดาลใจจากตอนได้ทุนไปเรียนที่โรงเรียนเมโธดิสต์ที่สิงคโปร์    มีการให้ฝึกทำงานอาสาสมัคร ทำแล้วชอบ       

ตอนเดินชมสถานที่ ครูที่พาชมบอกว่า ทุกๆ ๒ สัปดาห์ จะมีวง PLC ของครูทั้งโรงเรียน เป็นเวลาครึ่งวัน    แต่ละกลุ่มครูเอา best practice ที่กลุ่มตนค้นพบจากการทำงาน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน 

วิจารณ์ พานิช        

๒๗ เม.ย. ๖๑

 

 

หมายเลขบันทึก: 647930เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2018 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2018 23:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท